อนาคตธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการ ไม่ GO GREEN ไม่ได้แล้ว!

อนาคตธุรกิจค้าปลีกค้าส่งและบริการ  ไม่ GO GREEN ไม่ได้แล้ว!

ในปัจจุบันเทรนด์ GO GREEN ถือว่าเป็น Social movement สำคัญของโลก ส่งผลกระทบให้ในทุกวงการต้องปรับตัว หันมาใส่ใจกับประเด็นเรื่องสิ่งแวดล้อมกันไปหมด ไม่เว้นแม้แต่แวดวงของร้านค้าปลีก-ค้าส่ง ภัตตาคาร-ร้านอาหาร ที่ต้องปรับตัวมาใช้ GO GREEN เพื่อให้ร้านทันสมัย

จากผลการวิจัยหลายแห่งยังแสดงผลออกมาว่าลูกค้าจะมีความรู้สึกเป็นแง่บวกกับร้านที่ GO GREEN มากกว่าร้านทั่วไปที่ไม่ได้ GO GREEN

GO GREEN คืออะไร

สำหรับ GO GREEN หรือ  'ธุรกิจสีเขียว' หมายถึง ธุรกิจที่ยึดมั่นในการประกอบกิจการที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน เน้นการพัฒนา ปรับปรุงกระบวนการผลิต การจำหน่าย และการบริหารจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างต่อเนื่อง รวมถึงความรับผิดชอบต่อสังคมทั้งภายในและภายนอกองค์กร ตลอดห่วงโซ่อุปทาน ธุรกิจที่ดำเนินการโดยคำนึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม มีลักษณะสำคัญ คือ ลดการปล่อยมลพิษ, ใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ, ปล่อยก๊าซเรือนกระจกต่ำ, ใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ, ใช้พลังงานทดแทน และลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

Go Green ไม่ได้แค่การปลูกต้นไม้ แนะนำ 8 วิธี ทำได้ง่ายๆ

1. No Bag งดให้บริการถุงพลาสติกหูหิ้วกับลูกค้า เพื่อลดการสร้างขยะ และลดการผลิตถุงพลาสติกที่จะสร้างมลพิษสู่สิ่งแวดล้อม

2. Eco-friendly Packaging การลดการใช้พลาสติกในบรรจุภัณฑ์​ โดยการ ปรับเปลี่ยนเป็นพลาสติกให้บางลงแต่ยังคงคุณสมบัติในการใช้งาน การใช้ฝายกดื่มแทนการใช้หลอด สำหรับน้ำดื่ม ยกเลิก การใช้พลาสติก หุ้มห่อฝาขวด หรือแคปซิลทุกแบรนด์น้ำดื่มที่ขายในร้าน จนถึงการใช้วัสดุที่มาจากแหล่งที่มีการจัดการที่ยั่งยืน

3. Minimize Food Loss เป็นการสูญเสียในขั้นตอนก่อนได้มาซึ่งผลิตภัณฑ์อาหารขั้นสุดท้าย อาหารซึ่งเสียหายระหว่างกระบวนการผลิตอาหาร นับตั้งแต่ผู้ผลิตไปจนถึงตลาด อาจจะเป็นปัญหาจากการเก็บเกี่ยว โรคแมลง การเก็บรักษา การขนส่ง บางครั้งปัญหา ก็อาจจะมาจากการโครงสร้างพื้นฐาน การตลาด ปัญหาด้านราคา แม้แต่ปัญหาทางกฎหมาย

4. Reduce Food Waste  การที่อาหารถูกทิ้งให้เสียหรือหมดอายุ ทิ้งเพราะบริโภคไม่หมด ทิ้งจากการเข้าใจผิดว่าไม่สามารถบริโภคได้ เช่น การคัดทิ้งผักผลไม้ที่รูปร่างหน้าตาไม่สวย (Ugly Food) ไม่เป็นที่นิยมของตลาด หรือตรงตามความต้องการของผู้บริโภค การทิ้งอาหารที่ใกล้ถึงวัน Best-before date ทั้งที่ยังพอกินได้ แต่คุณภาพหรือรสสัมผัสอาจจะด้อยลง การช่วยกันลดปริมาณขยะอาหารจึงเป็นหน้าที่ของทุกคน

โดยอาศัยหลักการ 3R ซึ่งประกอบด้วย

1) Reduce ได้แก่ การลดปริมาณอาหาร ไม่กักตุน เตรียมอาหารในปริมาณเท่าที่จำเป็น

2) Reuse ได้แก่ การนำวัตถุดิบที่เหลือมาทำเป็นอาหารเมนูใหม่ หรืออาจจะนำอาหารที่เหลือซึ่งยังอยู่ในสภาพที่ดีจำหน่ายลดราคา นำไปบริจาคหรือมอบให้แก่พนักงานไปบริโภค

3) Recycle ได้แก่ การนำขยะอาหารไปทำปุ๋ยหมักหรืออาหารสัตว์ การนำน้ำมันพืชใช้แล้วไปผลิตเป็นเชื้อเพลิงชีวภาพ (biofuel)

5. Energy Saving ประหยัดพลังงาน  ติดตั้ง Solar Rooftop หรือหลังคาโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้น โดยเฉพาะร้านค้า โรงงาน คลังสินค้า เนื่องจากมีราคาถูกลงและมีประสิทธิภาพสูงขึ้นจากเทคโนโลยีการพัฒนาแบตเตอรี่สำหรับการใช้ในเชิงพาณิชย์

6. Reduce Wasteful Use of Water ลดการใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง เมื่อพูดถึงเรื่องการรักษาสิ่งแวดล้อมในปัจจุบันผู้คนอาจจะหลงลืมไปถึงเรื่องของการประหยัดพลังงาน และทรัพยากร โดยเฉพาะเรื่องการใช้น้ำ ที่ร้านอาหารมักจะใช้น้ำอย่างสิ้นเปลือง

7. Environmental Friendly จำหน่ายสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม มีมาตรฐานการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมโดยตลอดวัฎจักรชีวิตของผลิตภัณฑ์ สินค้าที่อยู่ในหมวดนี้ คือ ไม้ตกแต่ง ฉนวนกันความร้อน ไม้พื้นตกแต่ง ไม้ฝาลามิเนต สี  สินค้าประหยัดพลังงานไฟฟ้าหรือใช้พลังงานไฟฟ้าอย่างมีประสิทธิภาพ เครื่องใช้ไฟฟ้าต่างๆ เช่น เครื่องซักผ้า ตู้เย็น เตารีด แอร์ ไมโครเวฟ และยังรวมถึงหลอดไฟ และแผงโซล่าร์เซลล์

8. Clean Energy พลังงานสะอาด รถยนต์พลังงานสะอาดที่ถูกสร้างขึ้นมาแก้ไขปัญหารถยนต์ทั่วไปที่ถูกมองว่าเป็นปัญหาสำคัญของภาวะโลกร้อน โดยรถยนต์สะอาดก็มีทั้งรถยนต์ไฟฟ้า, Eco Car, รถยนต์พลังงานไฮโดนเจน

ประโยชน์จากการเป็นธุรกิจ GO GREEN

1. ลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ มีคำถามว่าการต้องปรับธุรกิจให้ Go Green แบบนี้เท่ากับต้องเพิ่มต้นทุนให้สูงขึ้นด้วยหรือไม่ ในระยะสั้นแน่นอนว่ามีต้นทุนที่ต้องเพิ่มขึ้นจากการติดตั้งอุปกรณ์ต่างๆ แต่ในระยะยาวสามารถคืนทุนได้เหมือนกัน เช่น การติดตั้งโซลาร์เซลล์สามารถคืนทุนได้ภายใน 7-8 ปี หากธุรกิจเป็นกิจการที่ใช้ไฟในช่วงกลางวัน จะสามารถชดเชยค่าไฟได้ถึง 100% ยิ่งพื้นที่ใหญ่ ต้นทุนค่าติดตั้งก็จะยิ่งถูกลงอีก

2. สร้างภาพลักษณ์ที่ดี และเป็นทางเลือกใหม่ให้ลูกค้า ลูกค้าในปัจจุบันเองก็ให้ความสำคัญกับธุรกิจที่ “ Go Green ” เมื่อธุรกิจที่ใส่ใจสิ่งแวดล้อมก็เท่ากับใส่ใจลูกค้าด้วย ลูกค้าเองก็เป็นส่วนหนึ่งในการดูแลสิ่งแวดล้อม

3. ลดของเสีย และการกำจัด เมื่อธุรกิจ  'Go Green' หมายถึงพลังงานถูกใช้อย่างคุ้มค่ามากขึ้น มลพิษน้อยลง ของเสียน้อยลง การกำจัดของเสียน้อยลง โลกก็ดีขึ้น เราก็สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสงบสุขมากขึ้น ธุรกิจเองก็สามารถมีวัตถุดิบที่ดีมาใช้ในการผลิตได้ต่อ ลูกค้าก็จะได้สินค้าที่ดีต่อไป

4. เพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน  แนวโน้มการกีดกันสินค้าและบริการที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สูง ผ่านมาตรการทางการค้าระหว่างประเทศต่างๆ เช่น European Green Deal ซึ่งจะมีการบังคับใช้มาตรการปรับภาษีสินค้าที่ปล่อยคาร์บอนสูง (Carbon Border Adjustment Mechanism : CBAM) ซึ่งจะคล้ายกับภาษีที่จัดเก็บคาร์บอนฟุตปริ๊นต์ของสินค้าต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญทำให้ธุรกิจต้องเดินหน้าปรับตัวเพื่อรักษาความสามารถในการแข่งขัน การบังคับใช้มาตรการ CBAM ไม่เพียงแต่กระทบธุรกิจขนาดใหญ่ที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศในสหภาพยุโรป แต่ SME ที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิตของธุรกิจใหญ่ ก็ได้รับผลกระทบเช่นกัน เพราะการคำนวณปริมาณการปล่อยคาร์บอนภายใต้มาตรการ CBAM จะคิดทั้งวงจรการผลิตสินค้านั้นๆ

5. ได้รับการส่งเสริมต่างๆ ภาครัฐ  โดย

1) การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) ก็มีนโยบายสนับสนุนธุรกิจ Go Green ด้วยการจัดให้มีที่ปรึกษาฟรีในเรื่องผลประหยัดจากการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ เพื่อการอนุรักษ์พลังงาน หรือ เพื่อใช้พลังงานทดแทนกับผู้ประกอบการในทุกธุรกิจ และทุกขนาดสถานประกอบการ

2) สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ให้การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคล 8 ปี สำหรับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ และการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร การยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นระยะเวลา 3 ปี เป็นสัดส่วน 50% ของเงินลงทุน

3) สถาบันสิ่งแวดล้อมไทยก็สนับสนุนธุรกิจ 'Go Green' ให้ได้รับสิทธิ์การจัดอยู่ในรายชื่อผู้ผลิตสินค้าสีเขียวสำหรับการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ รวมถึงได้รับการรับรองฉลากสิ่งแวดล้อมในระดับสากล เพื่อประโยชน์ในการนำเข้า-ส่งออก เท่ากับว่าในระยะยาวแล้ว ธุรกิจ Go Green สามารถคืนทุนได้ พร้อมกับได้รับการสนับสนุนที่มากขึ้นไปด้วย ซึ่งเป็นผลดีกับธุรกิจ