คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน 'ประเทศถดถอย' สูงสุดในอาเซียน

คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน 'ประเทศถดถอย' สูงสุดในอาเซียน

ผ่านพ้นวิกฤติโควิด แต่คนไทยและทั้งโลก ยังเจอโจทย์ใหญ่ ที่ท้าทายการใช้ชีวิต การจับจ่ายใช้สอยอย่างต่อเนื่อง เพราะเศรษฐกิจถดถอย เงินเฟ้อ การเมือง ค่าครองชีพสูง กลายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนวิตกกังวลอนาคต โดยเฉพาะ 6 เดือนข้างหน้า หรือครึ่งปีหลัง 2566

“อิปซอสส์” ผู้ดำเนินการวิจัยตลาดและสำรวจความคิดเห็นผู้บริโภคครบวงจร ได้ศึกษา “ความกังวลสูงสุดของประชากรโลก และไทย” หรือ What Worries the World – What worries Thailand ใน 30 ประเทศทั่วโลก เช่น เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น อินเดีย สิงคโปร์ ฯ ส่วนไทย การสำรวจตลอดระยะเวลา 6 เดือนที่ผ่านมา ผ่านกลุ่มประชากรตัวอย่างจำนวน 6,000 คน อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป ครอบคลุมประชากรศาสตร์ทั่วไทย ผลของรายงาน ประกอบด้วยข้อมูล 3 ส่วน สำคัญ ได้เแก่ ความกังวลด้านสังคม เศรษฐกิจ และการปรับใช้แนวทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน(ESG) ในภาคธุรกิจ

อุษณา จันทร์กล่ำ กรรมการผู้จัดการ บริษัท อิปซอสส์ จำกัด เปิดเผยว่า ผลการวิจัยผู้บริโภคระดับโลก ในช่วง 15 เดือนที่ผ่านมา “เงินเฟ้อ” เป็นตัวแปรใหญ่สุดที่ผู้คนวิตกกังวล โดยเฉพาะฝั่งสหรัฐฯ ที่เผชิญอัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

กลับมามองที่ประเทศไทย ช่วง 6 เดือนที่ผ่านมา ความกังวลใจ 5 อันดับแรก เป็นดังนี้ 1.คนไทย 40% กังวลมากสุดคือด้านการเงิน การจับจ่ายใช้สอย การเมือง และปัญหาการคอร์รัปชั่น ซึ่งถือเป็นปมปัญหาที่อยู่ในใจมาหลายปีต่อเนื่องกัน ตามด้วย 39% มีความกังวลเกี่ยวกับความยากจน ความเหลื่อมล้ำ และปัญหาสังคม นอกจากนี้ 29% ยังกังวลภาวะเงินเฟ้อที่ปรับตัวสูงขึ้น แม้ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)จะมีนโยบายดูแลเงินเฟ้อไม่ให้เกินระดับ 4% ก็ตาม

อันดับ 4 คนไทย 26% กังวลอัตราการว่างงานอีกครั้ง ปัจจัยสำคัญคือการเข้ามามีบทบาทของเทคโนโลยีต่างๆ เช่น เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI ที่อาจเข้มามาแทนที่ในตำแหน่งงานที่ตัวเองทำอยู่ และอันดับ 5 คนไทย 25% กังวลใจเกี่ยวกับปัญหาอาชญากรรม ความรุนแรง หากจะลดทอน หรือคลายความวิตกประเด็นนี้ได้ การบังคับใช้กฎหมายต้องมีความเข้มข้นกับผู้กระทำผิดมากขึ้น

คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน \'ประเทศถดถอย\' สูงสุดในอาเซียน

“ภาพใหญ่ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนกังวลเรื่องเดิมๆคือความเท่าเทียม ความยากจน แต่ปี 2565 กังวลเรื่องเงินเฟ้อมากถึง 40% และมองว่าปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครนทำให้เงินเฟ้อ และค่าครองชีพสูงขึ้น”

ทั้งนี้ เจาะลึก 2 มิติ ที่คนไทยกังวลใจอย่างยิ่ง คือ “ภาวะเศรษฐกิจ” และ “สังคม” โดย ด้านเศรษฐกิจถือว่าเกี่ยวข้องกับรายได้ ปากท้อง ชีวิตและความเป็นอยู่ของทุกคนโดยตรง และจากสถานการณ์ต่างๆที่เกิดขึ้น ทำให้คนไทย 57% ประเมินสถานการณ์เศรษฐกิจในประเทศห้วงเวลาปัจจุบัน “เลวร้าย” ยิ่งกว่านั้น 72% ยังมองว่าประเทศกำลังอยู่ในภาวะ “ถดถอย” ด้วย สูงสุดในอาเซียน และสูงกว่าความกังวลของค่าเฉลี่ยประชากรโลกซึ่งมีเพียง 49% ที่มองการถดถอยเกิดขึ้น

หากเจาะลึกประชากรโลก ความกังวลเกี่ยวกับเศรษฐกิจถดถอยมากสุด อันดับ 1 คือประชาชนเกาหลีใต้ คิดเป็น 79% อันดับ 2 ประชากรญี่ปุ่น คิดเป็น 63% อันดับ 3 ประชากรไทย คิดเป็น 72% อันดับ 4 ประชากรมาเลเซีย คิดเป็น 62% และอันดับ 5 ประชากรอินเดีย คิดเป็น 44%

“ตอนนี้คนไทยมองเศรษฐกิจไม่ดี เงินฝืดเคืองไปหมด เกิดภาวะ Recession ทำให้ผู้บริโภคต้องระวังการใช้จ่าย ไม่บริโภคเกินตัว ซื้อสินค้าที่จำเป็นและแบรนด์ที่คุ้นเคย แบรนด์ใหม่เสี่ยงไม่ตรงปก ซื้อแล้วเสียเงินฟรี และปัญหานี้อาจส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจ ยอดขายไม่เป็นไปตามเป้าด้วย”

สำหรับประเทศไทย เหตุแห่งความกังวลใจ เกิดจาก 2 ตัวแปรสำคัญ ได้แก่ “เงินเฟ้อ” ซึ่งผู้บริโภคคาดการณ์ครึ่งปีหลัง 2566 จะเห็นแนวโน้มการพุ่งขึ้น รวมถึงอัตราดอกเบี้ยจะเพิ่มสูงขึ้น ทำให้ต้นทุนชีวิตเพิ่ม รวมถึงเศรษฐกิจไทยพึ่งการท่องเที่ยวมาก แต่นักท่องเที่ยวโดยเฉพาะจีนยังไม่กลับเข้ามา หรือไปเที่ยวประเทศอื่นแทนไทย

“ตอนสงครามรัสเซีย-ยูเครนเริ่ม เงินเฟ้อยังไม่มาก กระทั่งผ่านไปครึ่งปี เงินเฟ้อพุ่งแตะระดับ 6% ปลายปีเริ่มอ่อนตัว ส่วนหนึ่งเพราะไทยมีนักท่องเที่ยวเข้ามาล้นหลาม ทำให้คนมีเงินจับจ่ายใช้สอย ลดผลกระทบเงินเฟ้อได้”

คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน \'ประเทศถดถอย\' สูงสุดในอาเซียน นอกจากนี้ ประเด็นความวิตกกังวลเรื่อง “ค่าครองชีพที่สูงขึ้น” ยังเป็นเงาตามตัว เมื่อเศรษฐกิจ สังคม การเมืองเต็มไปด้วยความไม่แน่นอน ทำให้มอง 6 เดือนข้างหน้า ค่าใช้จ่ายจะสูงขึ้น โดยคนไทย 65% เชื่อว่าค่าสาธารณูปโภค ทั้งแก๊ส ค่าไฟฟ้า ค่าน้ำ ฯ จะเพิ่มขึ้น เทียบค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 71%

ตามด้วย 65% ของคนไทยมองราคาพลังงาน ทั้งน้ำมันดีเซล น้ำมันเบนซิน ฯ จะเพิ่มขึ้น สูงกว่าค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 60% และคนไทย 64% คาดว่าค่าใช้จ่ายเพื่อซื้ออาหารจะเพิ่มขึ้น ต่ำกว่าค่าเฉลี่ยความกังวลของประชากรโลกอยู่ที่ 67% เนื่องจากบางประเทศ เช่น สหรัฐ เผชิญเงินเฟ้อสูงกว่า เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังมีค่าใช้จ่ายเพื่อสังสรรค์ เช่น ดูหนัง ร้านกาแฟ ร้านอาหาร รวมถึงค่าสมาชิกต่างๆ ทั้งรับชมวิดีโอสตรีมมิงหรือโอทีที ค่าสมาชิกการออกกำลังกาย เป็นต้น

“6 เดือนข้างหน้า คนไทยมองว่าการใช้ชีวิต และการใช้จ่ายจะมีความยากลำบากมากขึ้น เพราะแนวโน้วราคาสินค้าอาจปรับขึ้นอีกรอบ และนอกจากจะจ่ายยค่าอาหารที่แพงขึ้น สินค้าเครื่องใช้ส่วนบุคคลเป็นอีกหมวดที่คนไทยต้องจ่ายแพงขึ้นด้วย โดยความกังวลเรื่องเหล่านี้ เกิดจากความไม่แน่นอน และมองว่ารัฐจะไม่มีมาตรการอุดหนุนราคาพลังงาน ค่าไฟฟ้า เมื่อเจอกับเงินเฟ้อสูง ทำให้เงินในกระเป๋าลดลง ดังนั้นจึงต้องการให้ภาครัฐขยายเวลาตรึงราคาพลังงานออกไป เพื่อลดผลกระทบค่าครองชีพด้วย”

ภาวะเศรษฐกิจถดถอย คนไทยจะประคับประคองชีวิตอย่างไรให้อยู่รอดในอนาคตอันใกล้ อุษณา ระบุว่า ผลวิจัยพบ 25% มองการจัดการด้านการเงินตะกุกตะกัก หามาได้ใช้หมดไปแต่ละวัน แต่กระนั้น ยังมี “มุมมองบวก”​ จากคนไทย 64% เชื่อมั่นว่าภายใน 1 ปีข้างหน้าสถานการณ์ทุกอย่างจะ “ดีขึ้น”

คนไทยกังวลเศรษฐกิจ-ค่าครองชีพทะยาน \'ประเทศถดถอย\' สูงสุดในอาเซียน

อุษณา จันทร์กล่ำ

“ยังมีคนไทยที่มองโลกในแง่ดีว่าชีวิตในอีก 1 ปีข้างหน้าจะปรับตัวดีขึ้น เนื่องจากมีความหวังใหม่ มีรัฐบาลใหม่ อีกด้านเห็นว่าคงไม่มีอะไรแย่ไปกว่านี้แล้ว”

อย่างไรก็ตาม การมอง 1 ปีข้างหน้าจะดี ยังเป็นการสำรวจก่อนปัญหาความวุ่นวายทางการเมืองจะเกิดขึ้นด้วย ปัจจัยดังกล่าวจึงมีผลต่องานวิจัย

สำหรับการเมืองที่ยังอยู่ระหว่างจัดตั้งรัฐบาล ผู้บริโภคมองว่าไม่ควรปล่อยให้มีความล่าช้า โดยเฉพาะการรอให้ สว.หมดวาระ ซึ่งใช้เวลาอีก 10 เดือน แต่ต้องการให้จัดตั้งรัฐบาลได้แล้ว เพื่อไม่ให้กระทบการเบิกจ่ายงบประมาณ การแก้ไขปัญหาเศรษกิจ ปากท้องประชาชน

“คนไทย 81% ยังมองเศรษฐกิจโลกถดถอย 79% หากรัฐไม่ช่วยตรึงราคาค่าน้ำค่าไฟจะกระทบชีวิตตัวเองแน่นอน รวมถึง 73%มองดอกเบี้ยขาขึ้นทำให้ต้นทุนการใช้ชีวิตเพิ่ม”