สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! 'แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! 'แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71

ร้านชานมไข่มุกลดการแข่งขันในทะเลแดงเดือด เข้าสู่น่านน้ำสีคราม เมื่อสงครามการแข่งขันเป็นเวทีที่แบรนด์ใหญ่ได้ไปต่อ แบร์เฮาส์ เดินทางฉลอง 4 ปี เติบโต่อเนื่อง ลุยเปิดร้านเพิ่มให้แตะ 109 สาขา ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย ปูทางเข้าตลาดฯ

แบร์เฮาส์ (BEARHOUSE) ร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทยที่เกิดจากการปลุกปั้นโดย 2 ยูทูปเบอร์ดัง ที่มีผู้ติดตามกว่า 3.8 ล้านราย และเคยทำเงินหลักสิบล้านบาทต่อปีซึ่งเป็น “กำไร” เน้นๆ

ทว่า ความหลงใหลหรือ Passion ชอบทาน “ชานมไข่มุก” ตระเวนชิมแบรนด์อร่อยทั้งไทยและต่างประเทศ นำมาสู่การสร้างธุรกิจ และทำให้ทั้งคู่ “จริงจัง” กับบทบาทการเป็นผู้ประกอบการ “นักธุรกิจรุ่นใหม่” เต็มตัว

ปี 2566 “แบร์เฮาส์” เดินทางครบ 4 ปี มีร้านชานมไขมุกแล้ว 23 สาขา แต่เป้าหมายใหญ่ คือ การพาแบรนด์ไทยโตแกร่งในประเทศ เพื่อเข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย นำเงินขยายสู่ตลาดต่างแดนและเวทีโลกต่อไป

ซาร์ต ปัทมพร ปรีชาวุฒิเดช ผู้ก่อตั้งและกรรมการผู้จัดการ และ กานต์ อรรถกร รัตนารมย์ ผู้ร่วมก่อตั้งและผู้จัดการทั่วไป บริษัท 21 ซันแพสชั่น จำกัด ฉายภาพความสำเร็จ 4 ปีของ “แบร์เฮาส์” และปี 2565 สร้างยอดขาย 210 ล้านบาท เติบโต 79% แต่ภารกิจการเบ่งธุรกิจต้องเร่งเครื่องต่อ โดยปี 2566 จะขยายร้านชานมไขมุกให้แตะ 33 สาขา และปักธงในต่างจังหวัด “ภาคอีสาน” เพิ่มขึ้น หลังชิมลางจังหวัดนครราชสีมาแล้วผลตอบรับดีมาก

สำหรับ การเปิดร้านจะใช้งบลงทุนราว 3.5 ล้านบาทต่อสาขา โมเดลร้านมี 3 ขนาด ประกอบด้วย พื้นที่เล็กกว่า 50 ตารางเมตร(ตร.ม.) 50 ตร.ม.ขึ้นไป และ 80 ตร.ม.ไป ส่วนผลิตภัณฑ์ในร้านยังชูจุดขาย “ชานมไข่มุก” ที่ใช้วัตถุดิบชาในประเทศไทย แม้จะราคาสูงกว่าจากจีนเกือบ 50% แต่บริษัทต้องการรักษาคุณภาพ และอัตลักษณ์ของแบรนด์ ตอบโจทย์ผู้บริโภค

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! \'แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71 การเดินเกมเชิงรุก เพราะ “แบร์เฮาส์” เห็นโอกาสตลาดชานมไข่มุกโดยรวม “เปลี่ยนไป” จากเดิมเป็นทะเลแดงเดือด หรือ Red Ocean มีผู้เล่นมากมายที่ขับเคี่ยวกันในตลาดทุกเซ็กเมนต์ ทว่า วิกฤติโควิด-19 ระบาด กวาดผู้ประกอบการจำนวนมากให้หายไปจากตลาด บริบทที่เกิดขึ้นคือตลาดพลิกภาพสู่น่านน้ำสีครามหรือ Blue Ocean เหลือผู้เล่นแบรนด์ชั้นนำที่ผู้บริโภครู้จักดีราว 5 แบรนด์

“ย้อนไป 4-5 ปีก่อน ตลาดชานมไข่มุกถูกมองเป็น Red Ocean ผู้เล่นใหม่ไม่เข้ามา ส่วนคนรุ่นใหม่ที่อยากทำธุรกิจ ให้ความสนใจชาบู หมาล่าค้อนข้างมาก ร้านชานมไข่มุกเลยมีผู้เล่นน้อยมาก แต่ตลาดมีอัตราการเติบโต่อเนื่อง”

ตลาดชานมไข่มุกถูกประเมินขนาดใหญ่ถึง 2.5 หมื่นล้านบาท แต่จากการคร่ำหวอดในวงการ ทั้งคู่มองมูลค่าไม่เกิน 5,000 ล้านบาท จาก 3-4 ปีก่อน มูลค่าราว 3,000-4,000 ล้านบาท ทั้งนี้ ปัจจัยที่ส่งผลให้ตลาดชานมเติบโต ส่วนหนึ่งพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เข้าร้านเครื่องดื่ม คาเฟ่ ไม่ได้ดื่มแค่เครื่องดื่มเมนูโปรด แต่ไปสัมผัส เสพบรรยากาศร้าน ปลดปล่อยไลฟ์สไตล์ของตนเองด้วย

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! \'แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71 เมื่อตลาดชานมยังเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาส “ปัทมพร” และ “อรรถกร” จึงวางแผนการเติบโตระยะยาว ด้วยการเดินหน้าเปิดร้านชานมไข่มุก “แบร์เฮาส์” ให้แตะ 109 สาขา ภายในปี 2571 เพื่อให้ครอบคลุมผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย สร้างรายได้ขั้นต่ำให้ทะลุ 500 ล้านบาท สานภารกิจการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ เพื่อระดมทุนนำไปต่อยอดการเติบโต โดยเฉพาะนำร้านชานมไข่มุกสัญชาติไทยไปเปิดต่างประเทศ เคลื่อนตัวสู่การเป็นแบรนด์ระดับโลก

“อยากเห็นแบร์เฮาส์เป็นระดับโลก เป็นเป้าหมายตั้งแต่วันแรกที่ทำธุรกิจ เพื่อสร้างความสำเร็จให้ครั้งหนึ่งในชีวิต แต่การทำธุรกิจเราไม่ต้องการทัดเทียมหรือเบนช์มาร์กกับใคร เคยอยากเป็นเหมือนสตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ แต่พอเทียบกับแบรนด์อื่นแล้วเครียด เพราะทุกแบรนด์มีความยากลำบากหรือ Tough ในแบบของเขา”

สำหรับการโกอินเตอร์บริษัทศึกษาโมเดลธุรกิจของแบรนด์ชาขมไข่มุกชั้นนำในตลาด เช่น การร่วมทุนกับพันธมิตรในท้องถิ่น การขยายตลาดผ่านแฟรนไชส์ เป็นต้น ซึ่งการเริ่มไปต่างประเทศอยากเห็นภายในปี 2568

นอกจากร้านชานมไข่มุก “แบร์เฮาส์” บริษัทยังมองการแตกไลน์แบรนด์ใหม่ เพื่อสร้างพอร์ตโฟลิโอธุรกิจให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น

สงครามร้านชานมไข่มุกพลิกสู่บลูโอเชี่ยน! \'แบร์เฮาส์’ ผุด 109 สาขา ปี 71 กานต์-ซาร์ต จากยูทูปเบอร์ดัง สู่นักธุรกิจรุ่นใหม่เต็มตัว

อย่างไรก็ตาม ปี 2566 แบร์เฮาส์ สร้างแบรนด์ก้าวสู่ปีที่ 5 ยังเปิดตัวเครื่องดื่มเมนูใหม่กลุ่มชาผลไม้(Fruit Tea Series) ใน 2 หมวดสินค้าคือ ชาผลไม้นุ่มชีส และชาใสนุ่มชีส ชู 3 รสชาติ คือ ชาพีชลิ้นจี่นุ่มชีส ชาเนื้อส้มนุ่มชีส และชาเสาวรสมะม่วงนุ่มชีส มาตอบโจทย์ผู้บริโภค และเมนูดังกล่าวยังเกิดจากความตั้งใจนำเทรนด์ชาผลไม้ที่ฮิตในต่างประเทศ เช่น จีน มาบุกเบิกตลาดไทย แต่จังหวะตลาดและผู้บริโภคยังไม่ตอบรับเท่าที่ควร จึงนำมาสร้างกระแสอีกครั้ง

สำหรับแผนการรุกตลาดชานมไข่มุกตลอดปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายรายได้เติบโต 50% จากปีก่อน แต่ความท้าทายคือกำลังซื้อผู้บริโภคที่เปราะบาง ส่งผลให้ตลาดระดับแมสเติบโต และบริษัทต้องปรับตัวอัดโปรโมชั่นกระตุ้นยอดขายมากขึ้น