WHAUP กับภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ สู่การเติบโตยั่งยืน ในยุค Digital Transformation

WHAUP กับภารกิจขับเคลื่อนธุรกิจ สู่การเติบโตยั่งยืน ในยุค Digital Transformation

"ความยั่งยืน" กำลังมีบทบาทขับเคลื่อนโลก การทำธุรกิจในยุคนี้จึงไม่อาจให้ความสำคัญแค่การสร้างผลกำไร หรือการเติบโตทางธุรกิจเท่านั้น แต่ต้องคำนึงถึงความยั่งยืนและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกภาคส่วน

สมเกียรติ  เมสันธสุวรรณ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ดับบลิวเอชเอ ยูทิลิตี้ส์ แอนด์ พาวเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ WHAUP เปิดเผยว่า จากการที่ WHA Group นำนโยบายความยั่งยืนมาใช้กับทั้ง 4 กลุ่มธุรกิจ WHAUP จึงยึดมั่นแนวทางดังกล่าว โดยมุ่งมั่นการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน ภายใต้การคำนึงถึงสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance) หรือ ESG  

"ความยั่งยืนเป็นเป้าหมายที่ท้าทายสำหรับองค์กร อย่างไรก็ดีเรามีแนวทางการดำเนินการและกิจกรรมต่างๆ ในหลายด้าน ซึ่งยอมรับว่าแม้การลงทุนด้านนี้จะเป็นต้นทุนที่ค่อนข้างสูง แต่โชคดีที่มีลูกค้าพันธมิตรหลายรายที่เห็นความสำคัญเรื่องสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืน จึงยินดีให้ความร่วมมือมาโดยตลอด และถือเป็นอีกกุญแจสำคัญที่ทำให้หลายโครงการประสบความสำเร็จด้วยดี"

หนุนวัฒนธรรมนวัตกรรม ยกระดับความยั่งยืน

WHAUP เป็นผู้ให้บริการด้านการบริหารจัดการระบบสาธารณูปโภค และพลังงานชั้นนำของไทย ซึ่งให้บริการอย่างครบวงจร เช่น การผลิตและจำหน่ายน้ำเพื่ออุตสาหกรรม การบำบัดน้ำเสียจากอุตสาหกรรม โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงเชิงพาณิชย์ โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน โซลาร์ การผลิตไฟฟ้าจากขยะอุตสาหกรรม และอื่นๆ

สมเกียรติ กล่าวต่อว่า นอกจาก WHAUP ตระหนักถึงการดำเนินธุรกิจภายใต้การกำกับดูแลกิจการที่ดี มีความรับผิดชอบต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม บริษัทฯ ยังตระหนักถึงความสำคัญภายใต้การบริหารจัดการที่ยึดหลักธรรมาภิบาล รวมทั้งกลยุทธ์การพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมุ่งเน้นสู่การเป็นผู้นำในธุรกิจสาธารณูปโภคและธุรกิจพลังงานอย่างครบวงจร การสร้างและสนับสนุนวัฒนธรรมนวัตกรรม (Innovative Culture) ด้วยความรับผิดชอบที่มีต่อชุมชน สังคม และสิ่งแวดล้อม

"บริษัทฯ ยังมีโครงการ Mission To The Sun หรือโครงการสร้างนวัตกรและนวัตกรรมใหม่ๆ ภายในองค์กร ซึ่งในปีนี้มีการจัดการประกวดนวัตกรรมในหัวข้อ How might we leverage WHA's strengths & capabilities to deliver sustainability innovation which lead to WHA’s sustainable growth เพื่อส่งเสริมให้มีนวัตกรรมการดูแลรักษาสิ่งแวดล้อม ลดผลกระทบจาก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ด้วยการใช้เทคโนโลยี ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกิจกรรมเพื่อสนับสนุนความยั่งยืนที่ทำมาอย่างต่อเนื่อง โดยปัจจุบันเราได้บรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอนไปแล้วในปี ค.ศ. 2022 สำหรับเป้าหมายต่อไปคือ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net zero greenhouse gas emissions) ในปี ค.ศ. 2050"

ก้าวสู่การเป็น Tech Company ยั่งยืนระดับโลก 

สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า การบูรณาการด้านเทคโนโลยี และดิจิทัลยุคใหม่เป็นหนึ่งในองค์ประกอบหลักการขับเคลื่อนความยั่งยืนยุคนี้ โดย WHAUP ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมอัจฉริยะ ควบคู่ไปกับการรักษางบดุลที่แข็งแกร่ง ตามแผนกลยุทธ์การเติบโตยั่งยืน เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของ WHA Group ที่จะเป็น Technology Company

"ปัจจุบันการดำเนินงานสำคัญในสองส่วน ส่วนแรกเราได้พัฒนาโครงการโซลาร์เพื่อใช้เป็น พลังงานสะอาด สำหรับทำธุรกิจภายใน WHA Group เอง และส่วนที่สองได้ขยายธุรกิจโซลาร์ให้กับลูกค้าภายนอกด้วย ซึ่งตรงกับวิสัยทัศน์ของบริษัทฯ และเป็นการตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าในเรื่องของ พลังงานหมุนเวียน ซึ่งเป็นหนึ่งธุรกิจที่เราดำเนินการอยู่และประสบความสำเร็จเป็นอยางดี"

ด้านธุรกิจด้านพลังงาน สมเกียรติ กล่าวว่า ปี 2566 ทาง WHAUP พร้อมเดินหน้าขยายพอร์ตพลังงานหมุนเวียน ทั้งพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานจากขยะอุตสาหกรรม และพลังงานประเภทอื่นๆ ทั้งภายในและต่างประเทศ โดยตั้งเป้ายอดเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนสะสมเพิ่มเป็น 300 เมกะวัตต์ จากปีก่อนที่มียอดเซ็นสัญญาสะสม 136 เมกะวัตต์ โดยล่าสุดบริษัทฯ ได้รับการคัดเลือกจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ให้ได้สิทธิ์เป็นผู้พัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ระยะแรก (เฟส 1) สำหรับโครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (Solar Farm) จำนวน 5 โครงการ คิดเป็นกำลังการผลิตติดตั้ง (installed capacity) ตามสัดส่วนการถือหุ้น 125.4 เมกะวัตต์ โดยคาดว่าจะสามารถเซ็นสัญญา PPA ได้ภายในปีนี้ และมีกำหนดเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (SCOD) ในช่วงปี 2572-2573

ขณะเดียวกัน บริษัทฯ ให้ความสำคัญในเรื่องการนำโซลูชันดิจิทัลที่เป็นนวัตกรรมใหม่ๆ เข้ามาใช้ต่อยอดทางธุรกิจด้วยการร่วมทุนจัดตั้ง "บริษัท รีเนกซ์ เทคโนโลยี จำกัด" (RENEX TECHNOLOGY) เพื่อดำเนินการพัฒนาและลงทุนในธุรกิจการให้บริการดิจิทัลแพลตฟอร์มซื้อขายพลังงานไฟฟ้าหมุนเวียนสำหรับลูกค้าอุตสาหกรรมและผู้ใช้บริการรายอื่นๆ (Peer-to-Peer Energy Trading Platform) มีเป้าหมายเพื่อดำเนินการประกอบธุรกิจพัฒนาและให้บริการแพลตฟอร์มสำหรับการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยตรงระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า (Peer-to-Peer) หรือการซื้อขายพลังงานไฟฟ้าโดยไม่ผ่านคนกลาง โดยใช้ระบบ Two-Sided Bidding Algorithm รวมทั้งเพิ่มความปลอดภัยในการทำธุรกรรมและอำนวยความสะดวกการซื้อขายพลังงานให้กับผู้ผลิตไฟฟ้ารายย่อยกับผู้ใช้พลังงานด้วยเทคโนโลยี Blockchain ซึ่งปัจจุบันมีผู้ประกอบการชั้นนำในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นผู้ซื้อขายพลังงานบนแพลตฟอร์ม RENEX แล้ว ถึง 54 ราย

"นอกจากนี้ WHAUP เชื่อมั่นว่าแพลตฟอร์ม RENEX จะรองรับการให้บริการกับลูกค้าในนิคมอุตสาหกรรมของดับบลิวเอชเอ เพื่อส่งเสริมการใช้พลังงานทดแทนได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด นอกจากนี้แพลตฟอร์ม RENEX ยังมีศักยภาพที่สามารถพัฒนาเพื่อรองรับการให้บริการกับผลิตภัณฑ์อื่นๆ เช่น คาร์บอนเครดิต และพัฒนาขยายขอบเขตเพื่อรองรับการบริการระหว่างนิคมอุตสาหกรรม และระบบที่ใหญ่ระดับประเทศได้"

สมเกียรติ กล่าวต่อไปว่า สำหรับธุรกิจสาธารณูปโภค ในปีที่ผ่านมา บริษัทฯ มีการจัดการน้ำประปาและน้ำเสียสูงถึง 145 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งรวมปริมาณน้ำอุตสาหกรรมและการบำบัดน้ำเสียในประเทศเวียดนามจำนวน 28 ล้านลูกบาศก์เมตร และน้ำมูลค่าเพิ่ม (Premium Clarified Water and Demineralized Water) จำนวน 5 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยในปี 2566 ปริมาณน้ำประปาและการจัดการน้ำเสียทั้งหมด คาดว่าจะสูงถึง 168 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะเพิ่มจากความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นจากผู้ใช้อุตสาหกรรมรายใหญ่ ที่ได้ทำการเซ็นสัญญาซื้อขายน้ำในปี 2565 คิดเป็นปริมาณน้ำรวมทั้งสิ้น 15 ล้านลูกบาศก์เมตร นอกจากนี้โรงผลิตน้ำและโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 ได้เริ่มดำเนินการแล้ว โดยมีกำลังการผลิตรวม 3.3 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี และจะเริ่มก่อสร้างโรงบำบัดน้ำเสียแห่งใหม่ที่นิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อินดัสเตรียล เอสเตท ระยอง (WHA IER) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2566 โดยมีกำลังการผลิตรวม 5.8 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี

"WHAUP มีโครงการเพื่อจัดหาน้ำดิบทดแทนเพื่อความมั่นคงด้านการจัดหาน้ำถึง 2 โครงการ กำลังการผลิตน้ำรวม 10 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อปี โดยโครงการน้ำดิบแห่งแรกมีขึ้นเพื่อรองรับนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง 36 และเขตประกอบการอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ ระยอง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มดำเนินการแล้ว ส่วนโครงการที่สองในนิคมอุตสาหกรรมดับบลิวเอชเอ อีสเทิร์นซีบอร์ด 4 (WHA ESIE 4) จะเริ่มก่อสร้างในไตรมาสที่ 1 ปี 2566"

นอกจากนั้นบริษัทฯ ยังนำความรู้ที่ได้รับการพิสูจน์แล้วนำมาขยายผลโดยการขับเคลื่อนโครงการด้านการจัดการน้ำเพื่อชุมชน ภายใต้โครงการ Clean Water for Planet ด้วยการก่อสร้างระบบบําบัดน้ำเสียให้กับชุมชนในเขตเทศบาลตําบลหนองคล้า และแบ่งปันความรู้ด้านการจัดการน้ำเสีย สร้างพื้นที่ชุ่มน้ำ อีกทั้งยังปรับปรุงคุณภาพน้ำในลำคลอง และส่งมอบระบบบำบัดน้ำเสียให้แก่ชุมชนต่างๆ อาทิ องค์การบริหารส่วนตำบลปลวกแดง จังหวัดระยอง เป็นต้น 

"บริษัทฯ มีความมุ่งมั่นที่จะดำเนินธุรกิจและการบำบัดน้ำเสียให้สูงกว่ามาตรฐานทั่วไป เพราะน้ำที่ได้รับการบำบัดเหล่านั้น เราสามารถนำกลับมาใช้ใหม่ให้เกิดประโยชน์ได้จริง จึงตอบโจทย์ตั้งแต่เรื่องการรักษาแหล่งน้ำธรรมชาติ การปลดปล่อยน้ำเสียตามแนวคิด Circular Economy"

"ความยั่งยืน" ไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอด

สมเกียรติ กล่าวต่อไปอีกว่า จากการที่โลกเรามีประชากรมากขึ้น อีกทั้งการทำธุรกิจที่ผ่านมา ยอมรับว่าเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ต้องใช้ทรัพยากรมากขึ้น ขณะเดียวกันยังสร้างปัญหาให้กับโลกในหลายด้าน ปัจจุบันนี้เราเริ่มเห็นผลกระทบหลายอย่างที่เกิดขึ้นกับโลกนี้แล้ว ไม่ว่าจะเป็น ภาวะโลกร้อน ภาวะวิกฤติต่างๆ ปัญหามลพิษ เป็นต้น 

"ทุกอย่างที่เรากระทำ ส่งผลกระทบกับทรัพยากรธรรมชาติ และส่งผลกระทบทุกเรื่อง เคยมีคำพูดว่าความยั่งยืนไม่ใช่ทางเลือก แต่เป็นทางรอดของเราทุกคน และถ้าเราไม่เริ่มทำตั้งแต่วันนี้อาจสายเกินไป ซึ่งในโลกธุรกิจการค้าเองก็ต้องมีการปรับตัวเพื่อความยั่งยืน เรื่องของกำไรที่เคยคิดเป็นเรื่องสูงสุด อาจไม่ใช่เรื่องสำคัญที่สุดต่อไป แต่ความยั่งยืนในการจัดการทรัพยากรให้เหมาะสมในทุกผู้ที่เกี่ยวข้องหรือมีส่วนได้ส่วนเสีย (Stakeholder) อาจเป็นเรื่องที่สำคัญกว่า อย่างไรก็ดีเรามองว่าการขับเคลื่อนเรื่องความยั่งยืนจะเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าทุกคนหรือทุกภาคส่วนไม่ร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นภาคนโยบาย ประชาชน รวมทั้งภาคเอกชนธุรกิจต้องร่วมกันทำ สำหรับ WHA Group เราถือเป็นอีกหนึ่งหน่วยในสังคมที่ตั้งเป้าหมายลุกขึ้นมาเริ่มทำ"

สมเกียรติ กล่าวเสริมว่า องค์กรธุรกิจยุคปัจจุบันนอกจากผลกำไรแล้วการดูแลสิ่งแวดล้อมและชุมชนมีความจำเป็น แม้บางอย่างอาจจำเป็นต้องมีการลงทุนสูง แต่ได้ผลประโยชน์หลายทางในระยะยาว นอกจากนี้ในการดำเนินการเหล่านี้จำเป็นต้องใช้เวลา ฉะนั้นสิ่งสำคัญคือ ทุกคนต้องมีส่วนร่วม จึงอยากชวนให้ทุกคนมาร่วมกันทำด้วยกันตั้งแต่วันนี้

สเตฟาน นูสส์ ประธานกลุ่มคลัสเตอร์ ดูแลประเทศไทย เมียนมา และลาว ชไนเดอร์ อิเล็คทริค กล่าวว่า การร่วมกันต่อสู้กับ การเปลี่ยนแปลงด้านสภาพภูมิอากาศ และสร้างความยั่งยืน นับว่าเป็นความท้าทายที่สำคัญสำหรับทุกธุรกิจในปัจจุบัน และเป็นความท้าทายที่ยิ่งใหญ่ที่ต้องอาศัยความร่วมมือกันในทุกระดับ ทุกองค์กรไม่ได้จำกัดเฉพาะบริษัทใหญ่ๆ จะเป็นองค์กรขนาดกลางและขนาดย่อม หรือสถาบันต่างๆ เราก็สามารถมาร่วมแบ่งปันเรื่องราวด้านความยั่งยืนร่วมกัน เพื่อสร้างแรงกระตุ้นให้เกิดกระแสและการปฏิบัติไปสู่ความยั่งยืนของโลกได้รวดเร็วยิ่งขึ้น

"เราได้รับการตอบรับที่ดีจากองค์กรและหน่วยงานต่างๆ มาร่วมเล่าถึงเป้าหมายด้านความยั่นยืนและวิธีดำเนินการขององค์กรนั้นๆ ในโครงการ Green Heroes for Life ถือเป็นก้าวสำคัญที่แต่ละองค์กรมาร่วมกันแบ่งปันประสบการณ์และความเป็นผู้นำในการก้าวสู่องค์กรที่ยั่งยืน มาร่วมเป็น Green Heroes for Life ด้วยกัน เพื่อสร้างองค์กรที่ยั่งยืน และเพื่อมุ่งไปสู่เป้าหมาย Net Zero ในอนาคตร่วมกัน" สเตฟาน กล่าวทิ้งท้าย

สนใจเข้าร่วม คลิกที่นี่