‘แบรนด์เนม’ ระส่ำ คนรุ่นใหม่จีนหันหา ‘ของปลอม’ เกรด SuperFake

'ของปลอม' เกรด 'SuperFake' มาแรงในจีน! เหมือนจน ‘แบรนด์เนม’ อยู่ยาก

เหล่า “แบรนด์เนม” ใจคอไม่ดี เมื่อคนรุ่นใหม่ชาวจีนเริ่มหันมาซื้อใช้ “ของปลอม” แบบไม่เขินอาย โดยเฉพาะสินค้าปลอมเกรด “Superfake” ที่เดี๋ยวนี้ปลอมเนียนเหมือนของแท้ ขนาดผู้เชี่ยวชาญยังแยกลำบาก

Key Points :

  • นักช้อปเจน Z ชาวจีน เริ่มนิยมใช้สินค้าแบรนด์เนม ที่เป็น "ของปลอม" แบบรู้ทั้งรู้ แถมส่วนหนึ่งรู้สึกภูมิใจโดยมองว่าเป็นเรื่องเจ๋งว่าซื้อของได้ถูกกว่าราคาจริง
  • สินค้าลักชัวรีปลอมเกรด "Superfake" มีความเนียนเหมือน "ของแท้" จนแยกออกได้ยาก เนื่องจากใช้วัสดุคุณภาพดี บางรายนำเข้าหนังแท้จากอิตาลีคุณภาพเทียบเท่าแบรนด์ดัง ขณะที่ราคาขายต่ำกว่าหลายเท่าตัว
  • หากกระแสของปลอมเกรด "Superfake" ในหมู่ชาวจีนขยายวงกว้างยิ่งขึ้น ย่อมกระทบเหล่าแบรนด์เนม สินค้าลักชัวรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ เพราะจีนถือเป็นตลาดสำคัญที่สินค้าหรูหวังพึ่งพิง

สองเหตุการณ์เขย่าขวัญเหล่า “แบรนด์เนม” เมื่อแนวโน้มคนรุ่นใหม่ชาวจีนซึ่งเป็นตลาดเป้าหมายที่แบรนด์หรู​ และ สินค้าลักชัวรี หวังจะจับให้อยู่หมัด กำลังมีแนวโน้มที่เปลี่ยนไป เพราะเริ่ม “รับได้” กับการใช้ “ของปลอม” โดยเฉพาะถ้าเป็นของปลอมเกรด Superfake ที่คุณภาพเนียนกริ๊บ แต่ราคาถูกกว่าเกินเท่าตัว!

ทั้งนี้ เป็นที่รู้กันดีในแวดวง “แบรนด์เนม” และ “ลักชัวรี” ว่า การจะแยกระหว่าง “ของปลอม” กับ “ของแท้” นั้นยากมากๆ เพราะเดี๋ยวนี้ของก๊อปเขาทำกันเนียนถึงระดับ “Superfake” ซึ่งถือเป็นสงครามสุดหินของเหล่าแบรนด์หรูที่ต้องต่อสู้กับสินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ที่พัฒนาความปลอมจนแม้กระทั่งผู้เชี่ยวชาญก็ยังแทบแยกไม่ออก

‘แบรนด์เนม’ ระส่ำ คนรุ่นใหม่จีนหันหา ‘ของปลอม’ เกรด SuperFake

- ผู้บริโภคหนุ่มสาวชาวจีน คือ ความหวังของเหล่าแบรนด์หรู (ภาพ : AFP) -

เว็บไซต์ South China Morning Post (SCMP) รายงานถึงเส้นทางการเติบโตของสินค้าของปลอมที่พัฒนาตัวเองจนมาถึงขั้น “Superfake” ที่กำลังได้รับความนิยมสูงขึ้นในหมู่เจน Z ชาวจีน ซึ่งถือเป็นตลาดหลักที่เหล่าแบรนด์หรูหวังจะพึ่งพิง

  • เส้นทางนักก๊อป! พัฒนา “ของปลอม” ก่อนเข้าขั้น “Superfake”

อันที่จริง ประวัติศาสตร์ของปลอมนั้นเกิดขึ้นมายาวนานมากๆ โดยแม้เหล่าแบรนด์หรูรวมถึงเจ้าหน้าที่รัฐประเทศต่างๆ จะพยายามยับยั้งขบวนการนี้แค่ไหน แต่ก็ดูจะไม่เป็นผลเท่าไรนัก เพราะมันยังสามารถซื้อหาได้ทั่วไป

อย่างในสหรัฐอเมริกา ก็เป็นที่รู้กันว่า เราสามารถหาซื้อแบรนด์เนมปลอมได้ที่ canal street ในมหานครนิวยอร์ก ที่มีให้เลือกทั้งกระเป๋าถือ กระเป๋าสตางค์ รองเท้า สารพัดแบรนด์หรูให้เลือกซื้อ

‘แบรนด์เนม’ ระส่ำ คนรุ่นใหม่จีนหันหา ‘ของปลอม’ เกรด SuperFake

- สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ยุคก่อน แยกไม่ยาก ด้วยคุณภาพที่สัมพันธ์กับราคา (ภาพ : AFP) -

แต่แม้ว่าจะติดป้ายยี่ห้อสุดหรูใดๆ ทว่าด้วย “คุณภาพ” ตามราคา ก็ทำให้เราพอจะแยกได้ ทั้งการใช้หนังเทียม การตัดเย็บไม่สม่ำเสมอ เป็นต้น โดยเฉพาะสำหรับลูกค้าที่ใช้หรือรู้จักแบรนด์นั้นๆ เป็นอย่างดี แค่มอง หรือ หยิบจับ ก็พอจะแยกออกได้แล้ว

แต่!! ไม่ใช่กับของปลอมในปัจจุบัน ที่ก้าวไปถึงขั้น “Superfake” โดยเฉพาะในจีน ด้วยทักษะการผลิตสุดแอดวานซ์ จนสามารถปลอมได้เหมือนจริงมาก ขนาดที่แม้แต่ผู้เชี่ยวชาญเองยังแยกลำบาก

South China Moring Post ได้อ้างอิงรายงานของ “นิวยอร์กไทม์ส” ระบุถึงเบื้องหลังสกิลการก๊อประดับเทพ ว่า นอกจากผู้ผลิตสินค้าปลอมจะสามารถเข้าถึง “แหล่งวัตถุดิบ” แหล่งเดียวกับแบรนด์หรูต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นซัพพลายเออร์เครื่องหนังจากอิตาลีเจ้าประจำที่เมซงชื่อดังใช้อยู่

ที่สำคัญ คือ เหล่านักก๊อปยังลงทุนซื้อ แบรนด์เนม “ของจริง” มาถอดแบบ วิเคราะห์การตัดเย็บแทบทุกฝีเข็ม เพื่องานก๊อปที่ออกมาได้เหมือนต้นฉบับที่สุด

  • 'ของปลอม' เกรด 'SuperFake' มาแรงในจีน!

นอกจากสินค้าปลอมแบบสุดเหมือนแล้ว ปัจจุบันใน TikTok ก็ยังเต็มไปด้วยผู้ขายสินค้าก๊อปในแบบ “คล้ายๆ” ที่เรียกว่า “Dupe” มาจากคำว่า “duplicate” ซึ่งจะไม่ได้เหมือนเป๊ะ มองผ่านๆ อาจจะคล้าย แต่ถ้าดูอย่างละเอียดก็จะเห็นว่าไม่ใช่ เช่น สะกดชื่อแบรนด์ให้ต่างไปเล็กน้อย

อาทิ Chanel เป็น Chanal ส่วนโลโก้ก็ทำให้ดูเผินๆ เหมือนจะใช่ ซึ่งสินค้าปลอมในกลุ่มนี้ก็มีมาก แต่จับยาก เพราะตัวสินค้าขออนุญาตผลิตอย่างถูกต้อง จนกลายเป็น “คนซื้อ” ผิดเองที่ไม่ดูให้ดี เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม สำหรับเหล่า เจน Z ชาวจีน กลับไม่ได้รู้สึกว่า ถูกหลอก เพราะพวกเขายินดีซื้อของก๊อปเหล่านั้น ทั้งที่มาแบบคล้ายๆ แบบ Dupe จนถึงการซื้อสินค้าที่ปลอมแบบเหมือนเด๊ะ อย่างที่ภาษาอังกฤษเรียกว่า Knock-offs แบบรู้ทั้งรู้

‘แบรนด์เนม’ ระส่ำ คนรุ่นใหม่จีนหันหา ‘ของปลอม’ เกรด SuperFake

- ชาวจีนแผ่นดินใหญ่ กำลังต่อแถวเข้าร้านดัง หลุยส์ วิตตอง ที่ฮ่องกง (ภาพ : AFP) -

SCMP ขยายความนักช้อปเจน Z ที่เกิดระหว่างปี 1997 - 2012 ว่า พวกเขายินดีจะใช้ของปลอม แถมยังถือมันด้วยความภูมิใจ ซึ่งต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า ที่ไม่ชื่นชมการใช้ของปลอม แม้ว่าจะเป็นเรื่องที่เจอได้ทั่วไปก็ตาม

เมื่อบวกเข้ากับความเฟื่องฟูของโซเชียลมีเดียหลากหลายแพลตฟอร์ม โดยเฉพาะอีคอมเมิร์ซที่โตไม่หยุดจากการระบาดของโควิด-19 ทำให้เหล่าเจน Z เพิ่มความสนใจในสินค้าแบรนด์เนมมากขึ้น แต่เมื่อเงินในกระเป๋าสตางค์ไม่อำนวย “ของปลอม” ระดับ Superfake จึงเป็นทางเลือกที่ “ง่ายกว่า”

  • "ปลอม" สุดเนียน แต่ราคาไม่ถึงครึ่งกับ "ของแท้"

สำหรับสนนราคาของปลอมเกรด Superfake นั้น SCMP ยกตัวอย่างกระเป๋า Hermes Birkin ลูกรักของเซเลบริตี้ทั่วโลก ที่จะต้องจ่ายแพงถึง 2,000 ดอลลาร์ หรือ กว่า 6 หมื่นบาท!

ดูแล้วอาจแพง ถ้าต้องจ่ายเพื่อแลกกับของปลอม แต่ถ้าเทียบกับการซื้อของจริง หรือ ของแท้ ที่ราคาว่ากันที่ไม่ต่ำกว่า 10,000 ดอลลาร์ หรือ กว่า 3 แสนบาท เงิน 6 หมื่นดูจิ๊บจ๊อยไปเลย โดยเฉพาะถ้าปลอมจนเหมือนสุดๆ

อย่างไรก็ตาม สินค้าปลอมเกรด Superfake ไม่ได้วางขายให้หาซื้อได้โดยทั่วไป โดยส่วนใหญ่จะเป็นแบบปากต่อปาก เช่น ได้คอนแทคจากคนรู้จักที่เคยซื้อใช้มาก่อน เป็นต้น นอกจากนี้ ก็ไม่ใช่ว่า จ่ายเงินแล้วได้ของเลย เพราะด้วยกระบวนการผลิตที่ต้องควบคุมคุณภาพ และเป็นแบบทำตามสั่ง หรือ made to order จึงต้องอดใจรอสินค้า โดยผู้ขายจะอัปเดตขั้นตอนให้เป็นระยะๆ

ทั้งนี้ที่ผ่านมา สินค้าละเมิดลิขสิทธิ์ทุบอุตสาหกรรมแฟชั่นจนสูญเม็ดเงินยอดขายที่ควรจะได้ไปมากกว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ แม้ว่าจะมีการทุ่มเงินหลายล้านดอลลาร์เพื่อต่อสู้กับของปลอม แต่ก็หยุดยั้งมันไม่ได้ ตรงกันข้ามยังลุกลามอย่างรวดเร็ว

ยิ่งหากซ้ำด้วย “ทัศนคติ” ดังกล่าวที่เกิดขึ้นในหมู่คนรุ่นใหม่ชาวจีน ซึ่งถือเป็นตลาดใหญ่ของสินค้ากลุ่มลักชัวรีด้วยแล้ว ก็จะยิ่งสั่นสะเทือนอุตสาหกรรมลักชัวรีอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และต้องจับตาต่อไปว่า แนวคิดนี้ จะขยายตัวในวงกว้าง หรือจะเป็นเพียง “กระแส” ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป

 

อ้างอิง ​: South China Morning Post