เศรษฐกิจ 'จีน' ช้ำใน สกัดคนเที่ยวนอก! ไทยส่อวืดเป้าทัวริสต์จีน 5 ล้านคนปีนี้

เศรษฐกิจ 'จีน' ช้ำใน สกัดคนเที่ยวนอก! ไทยส่อวืดเป้าทัวริสต์จีน 5 ล้านคนปีนี้

ภาคท่องเที่ยวไทยกังวลกับสถานการณ์ 'เศรษฐกิจจีน' ช้ำใน ฟื้นตัวช้าเกินคาดในยุคหลังโควิด! แม้ทางการจีนจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ ว่ากำลังสกัดการเดินทางออกนอกประเทศของชาวจีน แต่ก็เห็นสัญญาณการบล็อกบางส่วน เพื่อส่งเสริมให้ชาวจีนท่องเที่ยวในประเทศ จนกว่าเศรษฐกิจจะฟื้น!

ธเนศ ศุภรสหัสรังสี เจ้าของโรงแรมราวินทรา รีสอร์ท แอนด์ สปา และเครือโรงแรมซันไชน์ พัทยา กล่าวว่า ตอนนี้เศรษฐกิจจีนไม่ดี เมื่อหนังสือเดินทาง (พาสปอร์ต) ของชาวจีนหมดอายุในช่วงการระบาดของโควิด-19 ทางการจีนจึงพยายามกันไม่ให้ชาวจีนออกนอกประเทศ บล็อกไว้ก่อน เพื่อส่งเสริมให้ชาวจีนท่องเที่ยวในประเทศ เรื่องนี้เขาอาจจะไม่ได้พูดออกมาตรงๆ จึงมองว่าไม่มีทางที่นักท่องเที่ยวจีนจะออกมาเที่ยวต่างประเทศจำนวนมากเหมือนในอดีต จนกว่าเศรษฐกิจจีนจะเริ่มดี เริ่มผ่อนคลายมากขึ้น

“ที่ผ่านมามีประเด็นข้อจำกัดเรื่องเข้มงวดชาวจีนขอวีซ่าเข้าไทย มองว่าเรื่องนี้เป็นปลายทางมากกว่า แต่ข้อจำกัดต้นทางคือ ทางการจีนยังไม่อยากให้ชาวจีนออกนอกประเทศ เพราะตราบใดที่เศรษฐกิจจีนยังไม่ฟื้น ถือว่าลำบาก ทางการจีนจึงกันไว้ เพียงแค่ไม่ได้พูดออกมา ทำให้โอกาสที่จะเห็นนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยถึง 5 ล้านคนในปีนี้ตามเป้าหมายของ ททท. เป็นไปได้ยาก”

ทั้งนี้ ก่อนโควิด-19 ระบาด มี “นักท่องเที่ยวจีน” เดินทางเข้าไทยมากเป็นอันดับ 1 ด้วยจำนวน 11 ล้านคนเมื่อปี 2562 โครงสร้างนักท่องเที่ยวจีนมีสัดส่วนระหว่าง “กลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง” (FIT) และ “กรุ๊ปทัวร์” ใกล้เคียงกัน โรงแรม 3 ดาวส่วนใหญ่รับตลาดกรุ๊ปทัวร์จีน แต่พอเจอวิกฤติโควิดเข้าไป ตอนนี้ธุรกิจโรงแรมเชน 5 ดาวและร้านอาหารแพงๆ กลับมาดี แต่ผู้ประกอบการรายย่อยหรือ “เอสเอ็มอี” ยังไม่ฟื้น ตราบใดที่กรุ๊ปทัวร์จีนยังไม่กลับมา!

“ตั้งแต่ช่วงโควิดระบาด ทางการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) บอกจะเน้นดึงกลุ่มนักท่องเที่ยวคุณภาพสูง จำนวนอาจจะน้อยลง แต่ใช้จ่ายมากขึ้น ผมก็ถามทุกครั้ง แล้วจะปล่อยให้ธุรกิจเอสเอ็มอีตายใช่ไหม ก็ไม่มีคำตอบ”

ธเนศ กล่าวเพิ่มเติมว่า ภาพรวมตลาดนักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางเข้า “พัทยา” หลังจีนเปิดประเทศเมื่อเดือน ม.ค. 2566 ส่วนใหญ่เป็นคนมีเงิน เดินทางด้วยตัวเอง นิยมเช่ารถตู้หรูราคา 2-3 หมื่นบาทต่อวัน ไปร้านอาหารราคาแพง เพราะตอนนี้สถานการณ์ราคาตั๋วเครื่องบินยังแพง! และมี “เที่ยวบินตรง” จากจีนแค่ 10 กว่าเมืองเท่านั้น ต่างจากเมื่อก่อนที่มีมากกว่า 20 เมือง จึงเป็นเหตุผลที่ไม่ค่อยเห็นกรุ๊ปทัวร์จีนเดินทางด้วยรถบัสในประเทศไทยมากนัก เพราะส่วนใหญ่เป็นชาวจีนที่อาศัยอยู่ในเมืองรองซึ่งยังไม่มีการกลับมาเปิดเที่ยวบินตรงเข้าไทย

ชัยรัตน์ รัตโนภาส นายกสมาคมสปาและเวลเนส ภาคตะวันออก กล่าวเสริมว่า นักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาพัทยา เป็นกลุ่มคน “เจนใหม่” ที่มีกำลังซื้อสูง พำนัก 3-4 วัน ใช้จ่ายหนักหลายหมื่นบาทต่อวัน ไปเที่ยวกันเองแบบส่วนตัว ไม่มีการจัดโปรแกรมท่องเที่ยวแบบตายตัว แต่จะเลือกเดินทางไปหลายจุด ไปตรงไหนก็ได้ที่เสิร์ชเจอแล้วคิดว่าน่าสนใจ เช่น เน้นชอปปิงและไปร้านอาหารตามรอยวัยรุ่นไทยผ่านโซเชียลมีเดียอย่างติ๊กต็อก (TikTok) โดยมีไกด์คอยตามใจ ให้ทิปหนัก รวมถึงการตามรอยซีรีส์วาย สวมชุดนักเรียนไทยถ่ายรูป ทำให้ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องขยันบูสต์อัป (Boost Up) หรือเพิ่มการเข้าถึงคอนเทนต์ของสินค้าและบริการบนช่องทางออนไลน์มากยิ่งขึ้น

ชูวิทย์ ศิริเวชกุล ผู้อำนวยการภูมิภาคเอเชียตะวันออก การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวจีนปี 2566 น่าจะเดินทางเข้าไทยเกิน 4 ล้านคนแน่นอน มีสิทธิ์ลุ้นได้ถึงเป้าหมาย 5 ล้านคน จากปริมาณที่นั่งเส้นทางบินระหว่างไทย-จีน มีจำนวน 6 ล้านที่นั่งในปีนี้ ฟื้นตัวประมาณ 40% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาดซึ่งมีกว่า 13 ล้านที่นั่ง

โดยตลาดที่ยังไม่กลับมาคือกรุ๊ปทัวร์ เพราะยังติดข้อจำกัดเรื่องการขอวีซ่า ขณะที่ปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวจีนเข้าไทยสะสมตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.-10 ก.ค. ประมาณ 1.6 ล้านคน เฉลี่ยเดินทางเข้ามา 1.2-1.5 หมื่นคนต่อวันในช่วงนี้ จึงประเมินว่า 6 เดือนหลังของปีนี้จะเดินทางเข้ามากกว่า 2.2 ล้านคน โดยเฉพาะจากกลุ่มนักเดินทางเพื่อเป็นรางวัล (อินเซนทีฟกรุ๊ป) ที่กำลังฟื้นตัว

“จากสถานการณ์เศรษฐกิจจีนในปัจจุบัน ทำให้ทางการจีนมีนโยบายสกัดการเดินทางออกนอกประเทศ ขณะเดียวกันต้นทุนการเดินทางยังสูง อาทิ ค่าตั๋วเครื่องบินที่ค่อนข้างแพง รวมถึงค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าจากสถานกงสุลไทยอยู่ที่ประมาณ 200 หยวนต่อครั้ง ส่วนค่าธรรมเนียมการขอวีซ่าหน้าด่าน (Visa on Arrival: VoA) อยู่ที่ 500 หยวนต่อครั้ง แม้แพงกว่า แต่นักท่องเที่ยวจีนส่วนใหญ่ยอมจ่าย”

ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 ก.ค.ที่ผ่านมา ททท.ได้เปิดตัว E-VoA ร่วมกับ “อาลีเพย์” (Alipay) ที่นครหางโจว ประเทศจีน เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวจีนในขั้นตอนการจ่ายค่าธรรมเนียม E-VoA ใช้เวลาการกรอกข้อมูลและชำระเงินไม่เกิน 10 นาที โดยข้อมูลล่าสุดจากกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา พบว่ากว่า 87% ของนักท่องเที่ยวจีน เลือกขอวีซ่า VoA เข้าประเทศไทย

อย่างไรก็ตาม ททท. ยังรอการกลับมาของตลาดกรุ๊ปทัวร์ขนาดใหญ่ ซึ่งพึ่งพาการขอวีซ่าผ่านช่องทางของสถานกงสุล โดยขณะนี้ ททท. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) อยู่ระหว่างพัฒนาโปรแกรม VPSS” (Visa Pre-Screening System) เพื่อทำให้ขั้นตอนการอนุมัติวีซ่ามีความรวดเร็วและมั่นใจมากขึ้นตามเงื่อนไขที่ กต.กำหนด

“นักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มมีกำลังซื้อ ใช้จ่ายสูง สอดรับกับยุทธศาสตร์ของ ททท.ในการดึงนักท่องเที่ยวคุณภาพ ซึ่ง 5 สำนักงาน ททท.ในประเทศจีนตอนนี้กำลังเร่งสปีดทำการตลาดอย่างเต็มที่ โดยพฤติกรรมการเดินทางตอนนี้เปลี่ยนไปชัดเจน พบว่านักท่องเที่ยวจีนนิยมเที่ยวเชิงลึกและอยู่ในพื้นที่ใดพื้นที่หนึ่ง เช่น พัทยา หรือ ภูเก็ต นานวันขึ้น ไม่ได้กระจายการเดินทางให้ครอบคลุมหลายพื้นที่มากที่สุดเหมือนแต่ก่อน”

ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ขณะนี้ ททท.คลายกังวลเรื่องตลาดจีนได้ระดับหนึ่ง จากเดิมที่เกรงว่าจะไม่ถึงเป้าที่วางไว้ 5 ล้านคนในปีนี้ เนื่องจากปัญหาการนำระบบ E-VISA มาใช้ ทำให้ผู้ประกอบการตลาดกรุ๊ปทัวร์ออกมาร้องเรียน ซึ่งขณะนี้ ททท.กำลังวางระบบร่วมกับ กต. พร้อมหารือกับสมาคมโรงแรมไทย (THA) และสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) เพื่อแก้ปัญหานี้ผ่านระบบ Visa Pre-Screen System (VPSS) เพื่อลดระยะเวลาในการพิจารณาอนุมัติวีซ่า ซึ่งจะทำให้จำนวนที่ได้รับการอนุมัติเพิ่มขึ้นตามไปด้วย

ขณะเดียวกัน ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวจีนกลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง ซึ่งเป็นกลุ่มกำลังซื้อสูงได้เข้าไทยโดยยื่นขอวีซ่าหน้าด่าน (VoA) คนกลุ่มนี้ใช้จ่ายเฉลี่ยสูงถึงทริปละกว่า 6 หมื่นบาทต่อคน สูงกว่าปีก่อนเกิดโควิด โดยในปี 2562 ใช้จ่ายเฉลี่ยทริปละ 5 หมื่นบาทต่อคน ทำให้ในปี 2566 มีโอกาสได้รายได้จากนักท่องเที่ยวจีนชาติเดียวถึง 3 แสนล้านบาท จากคาดการณ์รายได้นักท่องเที่ยวต่างชาติ 1.62 ล้านล้านบาท