'กรุงศรี' จับมือ 'MUFG' ดันสตาร์ทอัพไทย-อาเซียน ทะยานไกลระดับโลก

'กรุงศรี' จับมือ 'MUFG' ดันสตาร์ทอัพไทย-อาเซียน ทะยานไกลระดับโลก

"กรุงศรี" ผนึก "MUFG" ปักธงเดินหน้า ดันสตาร์ทอัพไทย-อาเซียน โตไกลระดับโลก ผ่านเครือข่าย "รัฐ-เอกชน" ที่แข็งแกร่งทั่วโลก

"สตาร์ทอัพ" เป็นวิสาหกิจกลุ่มใหม่ที่มีแนวโน้มการเติบโตก้าวกระโดด ผ่านการนำทฤษฎีความรู้ทางด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยี และองค์ความรู้เชิงสังคมศาสตร์ มาผสมผสานและพัฒนาไปเป็นนวัตกรรมที่แก้ปัญหาในชีวิตประจำวัน (Pain Points) ของประชาชน ซึ่งมีศักยภาพในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจอย่างมีนัยสำคัญ หากอ้างอิงตามข้อมูลจากสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (NIA) พบว่า ประเทศไทยมีสตาร์ทอัพกว่า 1,700 ราย สอดคล้องกับแนวโน้มตลาด เศรษฐกิจดิจิทัล (Digital Economy) ที่อยู่ในช่วงขยายตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดคลี่คลายลง 

อย่างไรก็ตาม ในจำนวนดังกล่าวยังมี ธุรกิจสตาร์ทอัพ จำนวนมากที่ขาดเงินทุนสนับสนุนในขั้นเริ่มต้น (Early Stage) จนไม่สามารถไปถึงฝันการเป็น "ยูนิคอร์น" ได้ ดังนั้นเมื่อต้นเดือนมิถุนายนที่ผ่านมา ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) หรือ กรุงศรี ซึ่งอยู่ในเครือ มิตซูบิชิ ยูเอฟเจ ไฟแนนเชียล กรุ๊ป หรือ MUFG สถาบันการเงินระดับโลกจากญี่ปุ่น พร้อมด้วยพันธมิตรจากกระทรวงเศรษฐกิจ การค้า และอุตสาหกรรม (METI) ประเทศญี่ปุ่น สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (depa) เทโช สตาร์ทอัพ เซ็นเตอร์ (Techo Startup Center) และขแมร์ เอ็นเทอร์ไพรส์ (Khmer Enterprise) หน่วยงานภายใต้กระทรวงเศรษฐกิจและการคลังของประเทศกัมพูชา จัดงาน "Japan-ASEAN Startup Business Matching Fair 2023" เพื่อจับคู่สตาร์ทอัพที่มีคุณภาพกับนักลงทุนที่ต้องการสนับสนุนการเติบโตของธุรกิจดังกล่าว

\'กรุงศรี\' จับมือ \'MUFG\' ดันสตาร์ทอัพไทย-อาเซียน ทะยานไกลระดับโลก

นายบุนเซอิ โอคุโบะ ประธานกลุ่มธุรกิจธนกิจพาณิชย์เกี่ยวกับญี่ปุ่นและบรรษัทข้ามชาติ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) ให้สัมภาษณ์กับ กรุงเทพธุรกิจ เกี่ยวกับประเด็นความร่วมมือดังกล่าวว่า ธนาคารฯ เป็นธนาคารที่มีเครือข่ายที่แข็งแกร่งทั้งในประเทศไทย และหลายประเทศในอาเซียน ไม่ว่าจะเป็นเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ รวมทั้ง MUFG ในฐานะบริษัทแม่ ก็เป็นสถาบันทางการเงินที่ใหญ่และมีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานทุกภาคส่วนในรัฐบาลญี่ปุ่น ส่วนในประเทศไทย ธนาคารฯ ในฐานะธนาคารท้องถิ่นก็มีความสัมพันธ์ที่ดีกับหน่วยงานของรัฐบาลไทยด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เป็นต้น ดังนั้นจึงสามารถอาศัยความสัมพันธ์อันดีของทั้ง 2 ประเทศ รวมทั้งเครือข่ายของธนาคารที่เป็นพาร์ทเนอร์ในอาเซียน ทั้งเวียดนาม อินโดนีเซีย และฟิลิปปินส์ เพื่อสร้างโอกาสให้ลูกค้าของกรุงศรี ขยายธุรกิจสู่อาเซียนต่อไป ที่สำคัญธนาคารฯ เป็นหนึ่งในธนาคารไม่กี่แห่งในไทยที่มีเครือข่ายระดับโลกที่แข็งแกร่ง

นายโอคุโบะ กล่าวถึงผลประโยชน์ที่ไทยจะได้ในการจัดงานครั้งนี้ว่า ด้วยความที่ไทยมี ธุรกิจสตาร์ทอัพ คุณภาพจำนวนมาก และมีความสามารถในการแข่งขัน (Competitiveness) ในด้านของแรงงานคน ค่าแรง และโครงสร้างพื้นฐานภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ทั้งยังตั้งอยู่ในจุดยุทธศาสตร์ที่ดีตรงกลางอาเซียน ดังนั้นงานจับคู่ทางธุรกิจครั้งนี้ จะช่วยเสริมทัพให้เม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาในไทยเพิ่มขึ้นอีกมหาศาล

"สตาร์ทอัพของไทยหลายรายมีไอเดียดี แต่ขาดเงินทุนในช่วงแรก ถึงแม้จะมีสำนักงานส่งเสริม เศรษฐกิจดิจิทัล ของรัฐบาลไทยคอยให้ทุนสนับสนุนในขั้นเริ่มต้นแล้วก็ตาม ทว่าก็ยังไม่เพียงพอ ซึ่งหากพวกเขามาสามารถหาเงินทุนได้ก็อาจไม่สามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้"

\'กรุงศรี\' จับมือ \'MUFG\' ดันสตาร์ทอัพไทย-อาเซียน ทะยานไกลระดับโลก

นายโอคุโบะ กล่าวต่อไปว่า ส่วนในมุมมองของ กรุงศรี ซึ่งอยู่ภายใต้การดำเนินงานของ MUFG ของญี่ปุ่น ก็มี "กรุงศรี ฟินโนเวต" ผู้นำด้านการสนับสนุนและลงทุนในเทคโนโลยีนวัตกรรมและสตาร์ทอัพทั้งในระดับประเทศและภูมิภาค ที่คอยสนับสนุนการเติบโตของกลุ่มธุรกิจดังกล่าวอยู่แล้ว โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจในกลุ่มฟินเทค สุขภาพ ความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยมีความน่าสนใจว่า ที่ผ่านมากรุงศรี ร่วมมือกับ MUFG และพันธมิตรในหลายประเทศ จัดงานจับคู่ธุรกิจอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลากว่า 9 ปี และสามารถจับคู่ผู้ซื้อและผู้ขายที่มีศักยภาพมากมาย และในครั้งนี้ธนาคารฯ ได้ต่อยอดความสำเร็จมาจัดงานจับคู่ธุรกิจบริษัทสตาร์ทอัพกับนักลงทุน ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดีจากบริษัทสตาร์ทอัพกับนักลงทุนทั้งในไทยและอาเซียน รวมทั้งยังช่วงส่งเสริมสตาร์ทอัพไทยให้ดังไกลถึงต่างประเทศผ่านเครือข่ายระดับโลกของเอ็มยูเอฟจี เช่น สตาร์ทอัพในกลุ่มการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ และเครื่องดื่ม เป็นต้น 

ดังนั้นจากความสำเร็จในช่วง 9 ปีที่ผ่านมา นายโอคุโบะ เน้นย้ำว่า จะร่วมมือกับ MUFG และบรรดาพันธมิตรทั่วโลกเพื่อสานต่อกิจกรรมดีๆ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกเช่นนี้ต่อไป มากไปกว่านั้นในปี 2566 ธนาคารฯ ให้ความสำคัญกับการเชื่อมต่ออาเซียน โดยได้ยกระดับบริการที่ปรึกษาทางธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อทั้งภูมิภาคอาเซียนด้วยบริการใหม่ "อาเซียนลิงก์" (ASEAN LINK) ที่พร้อมตอบโจทย์ทุกความต้องการในการทำธุรกิจ เพื่อช่วยให้ลูกค้าเติบโตใน 9 ประเทศทั่วทั้งอาเซียน และต่อยอดได้ในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของ MUFG  

"Krungsri ASEAN LINK เป็นบริการด้านการทำธุรกิจในระดับภูมิภาคอาเซียน ผ่านเครือข่ายที่แข็งแกร่งของกรุงศรี และ MUFG มีความเข้าใจอุตสาหกรรมที่แตกต่างและหลากหลาย พร้อมออกแบบและนำเสนอโซลูชันทางการเงินที่ตรงกับความต้องการของลูกค้าโดยเฉพาะ (Tailor-made) เริ่มตั้งแต่ให้คำปรึกษา วิเคราะห์ และสนับสนุนข้อมูลด้านการตลาด รวมถึงแนวโน้มทางเศรษฐกิจเพื่อค้าการลงทุนในต่างประเทศ การพัฒนาและจัดตั้งสำนักงานธุรกิจในระดับภูมิภาค รวมทั้งการจับคู่ทางธุรกิจ เป็นต้น"

นายโอคุโบะ กล่าวทิ้งท้ายว่า กรุงศรี ในฐานะสถาบันทางการเงินในประเทศที่มีศักยภาพ และมีเครือข่ายแข็งแกร่งระดับโลกอย่าง MUFG ต้องการช่วยขยายธุรกิจของลูกค้า ด้วยการใช้เครือข่ายจากพันธมิตรของเราทั้งในประเทศไทย ญี่ปุ่น และอาเซียน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดธุรกิจของพวกเขาและเดินหน้าจัดหน้าจับคู่ทางธุรกิจทั้งในไทยและอาเซียนเช่นนี้ต่อไป