อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว!

อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว!

Consumers Untold สำรวจ “Insight” ชีวิต-การเงิน ของคนไทยปี 2566 กลับสู่วิถีสายเปย์ พร้อมกิน ช้อป เดินทางท่องเที่ยว หลังเก็บกดมา 2-3 ปี และการซื้อหวย ยังเป็นความชอบ แต่คนซื้อเพื่อสนุก ไม่ใช่หวังรวยเหมือนช่วงเจอโรคระบาด

งานสัมมนาด้านการตลาด GroupM FOCAL 2023 ถือเป็นของเอเยนซี “กรุ๊ปเอ็ม” และสิ่งที่ผู้คน นักการตลาดรอคอย คือเรื่องของ “Insight” หรือการสำรวจพฤติกรรมผู้บริโภคเชิงลึกหลากมิติทั้งชีวิต การเงิน การบริโภคสื่อ แต่ละปีเปลี่ยนแปลงอย่างไร

Consumers Untold เป็นสิ่งที่ทีมงานกรุ๊ปเอ็ม ลงพื้นที่ทั่วไทยทุกภาค ตั้งแต่กรุงเทพฯสัดส่วน 40% ที่เหลือภาคเหนือ อีสาน ภาคใต้ ภาคกลางอย่างละ 15% โดยการสำรวจมีทั้งสัมภาษณ์แบบเจาะลึกผ่านกลุ่มตัวอย่าง 200 คน และเชิงปริมาณอีก 2,600 คน

ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด และ แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ได้เผยผลสำรวจที่น่าสนใจ 2 มิติ โดยเฉพาะด้าน “ชีวิต” และ “การเงิน” เป็นสิ่งที่ผู้บริโภคชาวไทยมองบวกว่า “มีความหวัง” จากเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวกลับมาเยือนไทย ทำให้มีเม็ดเงินสะพัดในระบบเศรษฐกิจการค้า ที่สำคัญคือการมี “รัฐบาลใหม่”

“ผู้บริโภคมองชีวิตปี 2566 เป็นปีที่ดีขึ้น เพราะมีสถานการณ์ต่างๆทำให้รู้สึกดี ไม่ว่าจะเป็นโควิด-19 หายไปแล้ว โลกเปิด ส่งผลให้นักท่องเที่ยวกลับมา เงินจะสะพัดในประเทศมากขึ้น ถัดมาคือการมีรัฐบาลใหม่ เป็นความหวังทำให้ชีวิตดีขึ้น”

  • ช่วงพร้อมเปย์กิน ช้อป เที่ยว สร้างเนื้อสร้างตัว

เมื่อชีวิตดี๊ดี ผู้บริโภควางแผนตัวเองอย่างไร จากการลงพื้นที่สอบถามกลุ่มตัวอย่างที่จังหวัดขอนแก่น ซึ่งทำอาชีพช่างแอร์ให้ความเห็นว่าการเลือกตั้ง มีรัฐบาลใหม่ นำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลง การพัฒนาทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้น มองอนาคตตัวเองน่าจะดี จึงเริ่มเก็บเงิน ออกจากงานเดิม เพื่อเปิดร้านซ่อมแอร์

“ที่ผ่านมาคนชะงักการลงทุน ตอนนี้เป็นช่วงที่ดี และการเริ่มธุรกิจเร็ว ย่อมดีมีโอกาสเหนือคนอื่น ได้ยกระดับชีวิตความเป็นอยู่”

อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว! กลุ่มตัวอย่างผู้หญิงรุ่นใหม่ทำอาชีพกราฟฟิกดีไซเนอร์ กลับมาใช้จ่ายคึกคัก กระเป๋ายอดฮิตจากเกาหลีเข้ามาไทย พร้อมซื้อด้วย “เงินสด” นำเงินที่มีออกมาใช้จ่ายหลังจากเก็บกดมานาน เมื่อกระเป๋ามีโควต้าจำกัดต่อคน ยังใช้สิทธิ์แฟนเพื่อซื้อเพิ่ม ช่วงเวลานี้ยังเป็นจังหวะกลับมาเดินทางท่องเที่ยวต่างประเทศอีกครั้ง

“คนไม่ต้องเก็บเงินเหมือนเมื่อก่อน ได้เวลาใช้เงินให้มีความสุข คนอื่นไปเที่ยวต่างประเทศ ใช้ชีวิตดีๆ ถึงคิวเราบ้าง เริ่มวางแผนเก็บเงินเที่ยว บางคนออกไปกินสตรีทฟู้ด เดินเล่นนอกบ้านทุกวัน หลังเก็บกดมานาน ไม่ได้ใช้เงิน 2-3 ปี”

  • อย่ามองข้ามพลังชาวนา เพราะไม่ใช่คนล้าหลัง

การใช้ชีวิตของผู้คนยุคดิจิทัล คงปฏิเสธไม่ได้ว่า เทคโนโลยี เครื่องไม้เครื่องมือ อุปกรณ์การสื่อสาร เป็นสิ่งที่ทุกคนต้องมีติดตัว อดีตกลุ่มเกษตรกร โดยเฉพาะ “ชาวนา” อาจถูกมองล้าหลัง ไม่ทันสมัย

ทว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่าง กลับตรงข้าม เพราะชาวนายุคนี้ใช้ชีวิตอยู่ในโลกดิจิทัลตลอดเวลา ทำเรือกสวนไร่นา มีการใช้แอปพลิเคชันวิเคราะห์ดิน การใช้ปุ๋ย น้ำอะไร จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตร ซึ่งจะช่วยยกระดับการแข่งขันในพื้นที่ และนำชุมชนให้แข่งในภูมิภาคด้วย

“ประมาทชาวนาไทยไม่ได้เลย อย่ามองข้ามพลังของพวกเขา เพราะยุคนี้ไม่ได้ล้าหลัง หรือไม่ทันสมัยแล้ว ตอนนี้นอกจากชีวิตดี ความรู้ยังดีด้วย”

อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว! การลงสนามของทีมงานกรุ๊ปเอ็ม บางพื้นที่เคยมีเครือข่ายสัญญาณมือถือ

เพียง 1 ค่าย ปัจจุบันมีครบ ยิ่งกว่านั้นการใช้งานของเกษตรกรชาวสวนกาแฟ ยังแชร์เพื่อดูทีวี เพิ่มโอกาสเข้าถึงสิ่งต่างๆ สถานการณ์ในเมือง ทำให้ “ชีวิตเปลี่ยน” ด้วย เช่น เคยขายเมล็ดกาแฟให้พ่อค้าคนกลาง ไปสู่การขายให้ “คาเฟ่ อเมซอน” ได้ “กำไร” มากขึ้น บางรายขายเสื้อผ้าให้นักท่องเที่ยวไทย พัฒนาไปสู่การขายบนออนไลน์ ป้อนกลุ่มเป้าหมายทั่วโลก

“คนเพิ่มโอกาสชีวิตที่ดีจากการเข้าถึงเทคโนโลยี”

  • มุมดาร์กของชีวิต

เมื่อเหรียญมี 2 ด้าน มุมดีมาแล้ว มุมมืดก็มาเยือนเช่นกัน โดยกลุ่มตัวอย่างในจังหวัดอยุธยา ให้ความเห็นว่าไม่กลัว หรือกังวลโรคระบาดแล้ว มีความชินชา แต่สิ่งที่ “ร้ายแรง” กว่าไวรัสกลับเป็นสถานการณ์ของฝุ่น PM 2.5 เพราะยังคงเป็นปัจจัยทำให้ผู้คนเสียสุภาพ ลามไปถึงรายได้ เพราะอาจทำให้นักท่องเที่ยวไม่มาไทยได้

ส่วนผู้หญิงรุ่นใหญ่ภาคอิสาน เจอผลกระทบจากโลกดิจิทัล ด้วยการถูกแฮคเฟซบุ๊ก จนข้อมูลส่วนตัวหลุดออกไป สร้างผลกระทบให้เพื่อนเพราะเกิดการสูญเสียเงิน ทำให้เกิดการระแวงการเข้าถึงข้อมูล และต้องระวังตัวมากขึ้น เพราะบางครั้งข้อมูลส่วนตัวอาจไม่อยู่ในมือของคนดีๆเสมอไป

“ปัจจุบันคอลเซ็นเตอร์นอกจากโทรศัพท์มาหาผู้คน ยังลามไปถึงแพลตฟอร์มเฟซบุ๊ก ไลน์ เรียกว่าเป็นการอินทิเกรตการโกงเลยทีเดียว”

  • งาน-เงิน กลับมา

นอกจากชีวิตดี มิติด้าน “การเงิน” ของผู้คนก็เป็นไปทิศทางเดียวกัน ช่วงโควิด-19 ระบาด ผู้คน “สูญเสียงานประจำ” ไปค่อนข้างมาก ต้องทำงานออนไลน์ หางานอื่นทำเพื่อพยุงรายได้เลี้ยงชีวิต อย่างไรก็ตาม ปี 2566 สถานการณ์ต่างๆเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้คนกลับเข้าสู่การทำงานประจำอีกครั้ง

นอกจากนี้ การหาเงินเข้ากระเป๋า บางคนมีการเล่นหุ้น บางคนขับรถม้า และขายอาหารม้า เมื่อนักท่องเที่ยวคือความหวัง แหล่งท่องเที่ยวต่างๆจึงถ่ายรูปสวยๆเพื่ออัพโหลดลงโซเชียลมีเดียให้คนตามรอยไปเที่ยว เพราะกระแสอยู่บนสื่อสังคมออนไลน์จำนวนมาก

  • คนไทยชอบใช้บัตรประชารัฐ แต่ร้านเลิกร่วมโครงการ

ถึงจะมีงาน หาเงินมาได้ แต่การใช้จ่ายเงินของคนภูธร ยังเลือกร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ เพราะใครที่ได้บัตรดังกล่าว จะช่วยประหยัดเงินในกระเป๋า 300 บาทต่อเดือน ทำให้ร้านค้าอยู่ไกลแค่ไหน ก็พร้อมจะไปซื้อสินค้าที่นั่น

อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว! นอกจากนี้ ประชาชนยังมีการรวมกลุ่มนำบัตรประชารัฐใช้ซื้อสินค้าด้วยกัน เช่น ราคาก๊าซหุงต้มแพง ก็จะให้บ้านนี้ไป อีกรูปแบบมีการดีลกับร้านค้าไว้ หากสะสมเงินครบ สิ้นเดือนไปซื้อข้าวของที่หมายตาไว้ เช่น ซื้อพัดลม เป็นต้น

ที่น่าสนใจคือ ร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการร้านธงฟ้าประชารัฐ ส่วนหนึ่ง “ยกเลิก” เพราะมองว่าโดนรัฐบาลแกง ทำให้ต้องจ่ายภาษีค่อนข้างมาก

“คนยังชอบใช้บัตรประชารัฐ เพราะช่วยประหยัด”

  • ชอปปิงห้างร้าน ออนไลน์ ดับเบิ้ลเดย์ ต้องแก้เกม

สำหรับพฤติกรรมการใช้จ่ายเงินของผู้บริโภค นอกจากข้าวของจำเป็นในชีวิตประจำวัน “หวย” เป็นอีกความหวังของคนไทยที่พร้อมจ่ายทุกวันที่ 1 และ 16 ของเดือน

“คนไทยยังชอบซื้อหวย ปีนี้เพื่อความสนุก จากปีก่อนๆเป็นความหวัง(รวย)”

ทั้งนี้ ในการซื้อสินค้าจำเป็น ห้างค้าปลีก ช่องทางหน้าร้าน เป็นคำตอบ เพราะได้ใช้เวลากับครอบครัวไปในตัว คนทำงานได้เดินดูสิ่งของต่างๆ หลังเลิกงาน เป็นต้น

อำนาจ “เงิน”กลับมาแล้ว คนไทยพร้อมกิน ช้อป เที่ยว! ในการซื้อสินค้าห้างค้าปลีกแห่งหนึ่ง พบว่าเครื่องคิดเงินหรือแคชเชียร์ทำเงินแตะหลัก “แสนบาท” ต่อวันต่อเครื่อง เทียบตอนโควิดอยู่ระดับ 5 หมื่นบาทต่อวันต่อเครื่อง

“คนกลับมาใช้เงินเยอะกว่าปกติ”

นอกจากนี้ ผู้บริโภคขี้เกียจซื้อวัตถุดิบหรือของสด เพราะต้องตระเตรียมประกอบอาหาร อีกทั้งเป็นของที่เน่าเสียได้ จึงเน้นซื้ออาหารสำเร็จรูป อาหารปรุงสำเร็จ(กับข้าวถุง)มาบริโภคแทน

ด้านการชอปปิงออนไลน์ ถูกมองส่วนลด โปรโมชันมีอยู่บ้าง ยิ่งวัน “ดับเบิลเดย์” เริ่มซื้อน้อยลง ซื้อแบบเหมา บางอย่างหมดอายุ ดังนั้นจึงวางแผนไปซื้อที่ห้าง เพราะเช็กวันหมดอายุของสินค้าได้ ส่วนเดลิเวอรี เริ่มมอง “ค่าส่งแพงขึ้น” ได้สินค้าน้อยลง ต้องหาทางประหยัด ชวนเพื่อนบ้านสั่งซื้ออาหาร สินค้าพร้อมกัน สุดท้ายผู้บริโภคยังต้องการ “ประสบการณ์ชอปปิง” นั่นจึงเห็นตลาดนัดดังๆ เช่น จ๊อดแฟร์ คนแน่นขนัด เป็นต้น

อย่างไรก็ตาม พฤติกรรมการชอปปิงดังกล่าว ส่งผลให้นักการตลาด แบรนด์ที่รุกช่องทางออนไลน์ ต้องปรับตัว คิดกลยุทธ์ โปรโมชั่น “สะใจ” เพื่อดึงกลุ่มเป้าหมาย

Insight ผู้บริโภคทั่วไทยที่กรุ๊ปเอ็ม สำรวจ เชื่อว่า นักการตลาด นำไปต่อยอดวางแผนมัดใจกลุ่มเป้าหมายได้มากขึ้น