แตกเพื่อโต 'สหพัฒน์' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง

แตกเพื่อโต 'สหพัฒน์' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง

"เครือสหพัฒน์" ยังคงปรับโครงสร้างธุรกิจ ให้น้ำหนักกับธุรกิจบริการ กระจายพอร์ตโฟลิโอ หาจิ๊กซอว์เติบโตในอนาคต หลัง "ภาคการผลิต" เผชิญโจทย์ต้นทุน คู่แข่ง "จีน-เวียดนาม" ได้เปรียบดึงทุนข้ามชาติ "เอสพีไอ" ควง "โตคิว" ลุยโปรเจคหมื่นล้านบาท

ภาพจำสำคัญของ “เครือสหพัฒน์” คือเป็นผู้ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภครายใหญ่ของเมืองไทย ตลอดระยะเวลา 81 ปี ธุรกิจมีรากฐาน “การผลิต” มีโรงงานมากมาย ทั้งของกินของใช้จำเป็นในชีวิตประจำวัน ไปจนถึงสินค้าแฟชั่น เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” ผงซักฟอก “เปา” ยาสีฟัน “ซอลส์” เสื้อผ้า รองเท้า “ลาคอสต์-กีลาโรซ-แอล-บีเอสซีฯ” ชุดชั้นใน “วาโก้-เวียนนา” เป็นต้น

ทว่า หลายปีที่ผ่านมา เครือสหพัฒน์ มีการปรับโครงสร้างธุรกิจ ให้น้ำหนักกับธุรกิจบริการมากขึ้น เพื่อกระจายพอร์ตโฟลิโอ บริหารจัดการความเสี่ยง รวมถึงเพิ่มโอกาสจากธุรกิจที่มีศักยภาพรองรับการเติบโตในอนาคต

ปี 2566 “เครือสหพัฒน์” มีเมกะโปรเจคมูลค่ากว่า “หมื่นล้านบาท” เป็นการลงทุนใหญ่ครั้งประวัติศาสตร์กว่า 7,000 ล้านบาท เสริมแกร่งอาณาจักร 3 แสนล้านบาท

  • ภาคการผลิตถูกท้าทายจาก “ต้นทุน”

วรยศ ทองตัน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท สหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง จำกัด(มหาชน) ฉายภาพว่า เหตุผลที่เครือสหพัฒน์ให้ความสำคัญกับธุรกิจบริการมากขึ้น เพราะต้องการกระจายพอร์ตโฟลิโอให้มีความหลากหลาย เป็นการบริหารความเสี่ยง รวมถึงเห็น “โอกาส” ของธุรกิจใหม่ๆที่มีศักยภาพ

 

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง วรยศ ทองตัน

นอกจากนี้ ปฏิเสธไม่ได้ว่า “ฐานการผลิต” ที่เป็นธุรกิจหลักของเครือสหพัฒน์มาอย่างยาวนาน กำลังเผชิญความท้าทายด้าน “ต้นทุน” และไทยต้องต่อกรกับ “ขีดความสามารถด้านการแข่งขัน” ในภาคการผลิตกับประเทศ “จีน” และ “เวียดนาม” กลายเป็นฐานทัพการผลิตที่เข้มแข็ง มีความได้เปรียบด้านต้นทุน ค่าจ้างแรงงาน ฯ

“เดิมฐานการผลิตของเครือสหพัฒน์แข็งแกร่งอยู่แล้ว เราชำนาญ มีพันธมิตรต่างชาติช่วยเสริมความแข็งแรง แต่อนาคตการผลิตเราต้องรับมือกับการแข่งขันด้านต้นทุน ประเทศอื่นมีฐานผลิตเข้มแข็งเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ภาคการผลิต บริษัทยังไม่ลดความสำคัญ เพราะเชื่อว่าธุรกิจหลายเซ็กเตอร์ยังมีศักยภาพซ่อนอยู่ ไม่ว่าจะเผ็น แฟชั่น สิ่งทอ ฯ และอนาคตบริษัทจะไปในทิศทางใดต่อ ต้องติดตาม

  • หน้าที่ดึง “ต่างชาติ” ลงทุนในไทย

เครือสหพัฒน์ นอกจากเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายสินค้า อีกบทบาทคือพยายามทำหน้าที่ในการดึง “นักลงทุนต่างชาติ”​ ให้ลงหลักปักฐานการผลิตในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง

ภายใต้เครือกว่า 200 บริษท พันธมิตรสำคัญที่นำเงินมาขยายกิจการค้าขายในประเทศไทยคือ “ญี่ปุ่น” แม้เวียดนาม จีน จะเนื้อหอมดึงดูดเม็ดเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI)ให้เข้าไปสร้างโรงงาน แต่ “สหพัฒน์” ยืนยันว่าต่างชาติ ยังคง “เพิ่มการลงทุน” ในประเทศไทยอย่างต่อเนื่อง นอกเหนือจาก “ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้” บริษัทจะขยายความร่วมมือ และชวนนักลงทุนจาก “จีน” เข้ามาปักหมุดในประเทศไทยด้วย

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง

ตัวอย่างพันธมิตรของเครือสหพัฒน์

“ทุนญี่ปุ่นเป็นพันธมิตรที่มาลงทุนกับเครือสหพัฒน์หลายบริษัท เป็นเวลา 40-50 ปีแล้ว เข้าใจสถานการณ์ในประเทศไทยอย่างดี เช่น การเมือง เพราะเป็นวัฏจักรมาตลอด ขณะเดียวกันประเทศอื่นๆมีการดึงดูดนักลงทุนต่างชาติไปสร้างฐานผลิต มีผลให้ลดการลงทุนในไทยไหม..ในมิติของเครือสหพัฒน์ ทุนต่างชาติยังลงทุนกับสหพัฒน์เพิ่ม และหน้าที่ของบริษัทต้องการพันธมิตรที่แข็งแรง จึงพยายามดึงดูดนักลงทุนต่างชาติทั้งญี่ปุ่น เกาหลี และจีนมาที่ไทย”

  • ควง “โตคิว” ผุด “คิง สแควร์ คอมเพล็กซ์” หมื่นล้าน!

วรยศ เล่าแผนการขับเคลื่อนธุรกิจของสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้งว่า ปี 2566 บริษัทมีโครงการลงทุนขนาดใหญ่ภายใต้ชื่อ “คิง สแควร์ คอมเพล็กซ์” (King Square Complex) มูลค่าโครงการกว่า “หมื่นล้านบาท” และคาดว่าจะใช้เงินลงทุนไม่ต่ำกว่า 7,000 ล้านบาท

โครงการดังกล่าว ประกอบด้วย คอนโดมิเนียมหรูและอาคารสำนักงานสูง 52 ชั้น จะอยู่ภายใต้บริษัท คิง สแควร์ ดีเวลลอปเม้นท์ จำกัด ร่วมทุนกับ “โตคิว คอร์ปอเรชั่น” ประเทศญี่ปุ่น สัดส่วนการถือหุ้น 65% เป็นฝั่งของเครือสหพัฒน์(นอกจากเอสพีไอ ยังมีบริษัทอื่นด้วย)

“การร่วมทุนกับโตคิว นอกจากได้เงินทุน บริษัทยังได้องค์ความรู้ต่างๆจากพันธมิตร เพราะโตคิวถือเป็นผู้ให้บริการรถไฟรายแรกในประเทศญี่ปุ่นมีการทำรถไฟ และพัฒนาอสังหาริมทรัพย์”

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง

King Square Complex หมื่นล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีห้างค้าปลีกประเภทคอมมูนิตี้มอลล์ ซึ่งจะมีบริษัทในเครือร่วมทุนกันลุยโปรเจคนี้ ซึ่ง 2 เฟสแรกคาดใช้เวลา 30 เดือนในการก่อสร้าง โดยจะเริ่มคิกออฟสร้างไตรมาส 4 ส่วนสุดท้ายคือการพัฒนาเซอร์วิส อพาร์ทเมนต์ ซึ่งเป็นครั้งแรกของเครือ ที่รุกตลาดอสังหาริมทรัพย์ประเภทดังกล่าว

“โครงการคิง สแควร์ คอมเพล็กซ์ เป็นการ Unlock Value การใช้ที่ดินและบริษัทในเครือได้ประโยชน์ตจากการพัฒนาโครงการ”

สำหรับโครงการคิง สแควร์ คอมเพล็กซ์ ตั้งอยู่ย่านพระราม 3 ต่อยอดจากการพัฒนาโรงเรียนนานาชาติคิงส์คอลเลจกรุงเทพ ซึ่งเครือถือหุ้นอยู่ 10% การพัฒนาโครงการดังกล่าว ยังตอบโจทย์ลูกค้าเป้าหมาย คือพ่อแม่ผู้ปกครองของนักเรียนที่มีกว่า 1,200 ชีวิต และชาวต่างชาติในพื้นที่ด้วย

วรยศ กล่าวอีกว่า แต่ละปีสหพัฒนาอินเตอร์โฮลดิ้ง มีการตั้งงบลงทุนปกติราว 2,000 ล้านบาท เพื่อหาโอกาสและขยายธุรกิจสร้างการเติบโต โดยปี 2565 ใช้เงินลงทุนราว 2,000-3,000 ล้านบาท ส่วนปี 2566 ตั้งงบลงทุนไว้ราว 2,000 ล้านบาท

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง

  • ยึดปรัชญา “เร็ว-ช้า-หนัก-เบา” เคลื่อนธุรกิจ

จากภาคการผลิตที่แข็งแกร่ง ขยับขยายอาณาจักร เดินเกมลงทุนสู่ธุรกิจบริการ บริษัทจะยึดมั่นปรัชญาของ “ดร.เทียม โชควัฒนา” ผู้ก่อตั้งเครือสหพัฒน์ และถ่ายทอดแก่ทายาทคือ “เร็ว ช้า หนัก เบา” สร้างการเติบโต

ส่วนอนาคตจะมีการ “ปรับโครงสร้าง” ของธุรกิจอีกหรือไม่ ต้องพิจาณาจังหวะ และสถานการณ์โดยรวม

“เรายึดถือหลักเร็วช้าหนักเบา ดูจังหวะไปก่อนว่าบริษัทหรือธุรกิจไหนต้องปรับเปลี่ยนแปลงโครงสร้างเพิ่มเติม”

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง จากการรุกธุรกิจบริการมากขึ้น ภายใน 3 ปีสัดส่วนรายได้ยังคงเดิม ซึ่งมาจาก 3 กลุ่ม ได้แก่ สวนอุตสาหกรรม พลังงานไฟฟ้า ฯ 45-50%, อาหารและเครื่องดื่ม 30-40% ที่เหลือคือกลุ่มสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) โดยธุรกิจบริการทำเงินราว 5% เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม การปรับโครงสร้างธุรกิจของเครือช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สร้างรายได้ให้บริษัทโตต่อเนื่อง 7.5% โดยปี 2555 อยู่ที่ 4,056 ล้านบาท เพิ่มเป็น 8,392 ล้านบาท ในปี2565 ส่วน “กำไร” โตแกร่ง 9.7% ต่อปี จากปี 2555 อยู่ที่ 1,337 ล้านบาท เพิ่มเป็น 3,361 ล้านบาท ในปี 2565

แตกเพื่อโต \'สหพัฒน์\' พลิกภาคการผลิต รุกธุรกิจบริการ เสริมอาณาจักรโตแกร่ง กำไร 10 ปี โตแกร่ง

“การทำธุรกิจถ้าหยุดอยู่กับที่เท่ากับเป็นผู้ล้าหลัง ดังนั้นคำสอนที่อยู่ในใจทุกคนในเครือ รวมถึงเอสพีไอ คือการไม่หยุดอยู่กับที่ มีการเติบโตก้าวหน้าต่อเนื่อง ภายใต้นโยบายของคุณบุณยสิทธิ์ โชควัฒนา ประธานเครือ ให้ลงทุนอย่างระมัดระวัง”