เปิดอินไซด์ความหวังคนไทยปี 66 ชีวิต-การเงินดีขึ้น ขานรับรัฐบาลใหม่ ศก. ฟื้น

เปิดอินไซด์ความหวังคนไทยปี 66 ชีวิต-การเงินดีขึ้น ขานรับรัฐบาลใหม่ ศก. ฟื้น

เปิดอินไซด์คนไทยปี 2023ใน 4 ด้าน มองความหวัง เชื่อ 'ชีวิต' ดีขึ้นกว่าปีก่อน มีรัฐบาลใหม่เข้ามา 'การเงิน' กลับมาทำงานประจำหลังตกงานสองปีจากโควิด 'สื่อ' เลือกรับคอนเทนต์แบบสั้น TikTok ครองใจ แบบยาว Netflix และสื่อ TV ยังไม่ตาย 'อนาคต' มีโอกาส เทคโนโลยีทำให้ทุกคนชีวิตเปลี่ยน

งานสัมมนาการตลาดประจำปี “GroupM FOCAL” จัดต่อเนื่องปีที่ 13  เปิดอินไซต์ของผู้บริโภครอบด้าน รวมถึงคำแนะนำศาสตร์ กลยุทธ์ให้นักการตลาด แม่ทัพธุรกิจ และยังมีมุมมองสถานการณ์อุตสาหกรรมสื่อโฆษณา

ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) ฉายภาพว่า ผ่านพ้นครึ่งปีแรก สิ่งที่นักการตลาด คนโฆษณาประเมินเศรษฐกิจปี 2566 ยังไม่ฟื้นตัวกลับมาอย่างที่ตั้งใจ อีกทั้งยังเผชิญกับโลกที่เต็มไปด้วยความไม่แน่นอนหรือ VUCA ความซับซ้อน คลุมเครือเกิดขึ้น ทำให้ผู้บริโภคหากลไกในการรับมือปัจจัยดังกล่าว โดย 41% ของคนใช้ชีวิตยืดหยุ่นมากขึ้น 56% มีการรีเซ็ทมุมมอง การใช้ชีวิตใหม่ และ72% ที่มีการต่อสู้มากขึ้น เช่น สู้งานแต่กลับเจองานสู้กลับ เป็นต้น

ขณะที่ผลวิจัยผู้บริโภคเชิงลึก “2023 Consumers untold” เพื่อให้นักการตลาดเข้าใจกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น ณัฐวีร์ ณีว มาวิจักขณ์ ผู้บริหารแผนกพัฒนาและการตลาด และ แพน จรุงธนาภิบาล รองผู้อำนวยการแผนกพัฒนาและการตลาด กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย) สรุปอินไซด์คนไทยปี 2566 มองว่าภาพรวมดีขึ้นจากปีก่อน

จากสถานการณ์โควิดหายไปแล้ว ทุกคนกลับมาใช้ชีวิตปกติ และมีผลบวกจากนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศมากขึ้น รวมถึงการมีรัฐบาลใหม่ ซึ่งจะมีนโยบายปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ สร้างความหวังให้แก่กลุ่มคนไทย จะส่งผลต่อเศรษฐกิจปรับตัวดีขึ้น

 

เปิดอินไซด์ความหวังคนไทยปี 66 ชีวิต-การเงินดีขึ้น ขานรับรัฐบาลใหม่ ศก. ฟื้น

เมื่อเจาะลึกแต่ละมิติพบว่า ด้านชีวิต (Life) ภาพรวมคนไทยมองชีวิตจากปีก่อน เนื่องจากมีความหวังจากมีรัฐบาลใหม่เข้ามาในประเทศ และมองภาพรวมสถานการณ์โควิดเป็นสิ่งที่ทุกคนชินไปแล้ว แต่สิ่งที่ผู้บริโภคจะกังวลมากกว่าจะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพของคนไทยมากกว่า

รวมถึงยังส่งผลกระทบต่อรายได้ตามมาด้วยเพราะหากมีฝุ่นจะทำให้นักท่องเที่ยวไม่กลับเข้ามาในพื้นที่ จึงส่งผลกระทบต่อรายได้ เนื่องจากในปีนี้การท่องเที่ยวที่ดีขึ้น จากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาจากจีนและยุโรป มีผลดีต่อสถานการณ์โดยรวมของประเทศ

ด้านการใช้เงิน (Money) ภาพรวมคนในประเทศมองดีขึ้นจากปีก่อน วิธีการหาเงิน (Money in) มาจากกลับมาทำงานประจำได้ หลังจากตกงานไปสองปีจากโควิด และสนใจหาอาชีพเสริม ส่วนการใช้จ่าย (Money out) มีการควักเงินมากขึ้นให้แก่ร้านค้าผ่านร้านประชารัฐแม้ว่าร้านจะอยู่ในพื้นที่ไกล เพราะมองว่าจะเป็นช่องทางที่ช่วยให้ประหยัด แต่ร้านค้าที่เข้าร่วมประชารัฐจะไม่อยากเข้าร่วมโครงการเนื่องจากต้องเสียภาษี ทำให้อยากยกเลิกเข้ามาร่วมโครงการ

นอกจากนี้ คนสนใจเลือกซื้อสินค้าในห้างมากขึ้น จากที่ผ่านมาเน้นซื้อสินค้าผ่านออนไลน์เป็นช่องทางหลัก ซึ่งหากออนไลน์ต้องการดึงฐานกลับมาคืน โปรโมชั่นและราคา อาจเป็นตัวดึงดูด

เปิดอินไซด์ความหวังคนไทยปี 66 ชีวิต-การเงินดีขึ้น ขานรับรัฐบาลใหม่ ศก. ฟื้น “จากการสำรวจห้างค้าปลีกแห่งหนึ่งพบว่า แคชเชียร์ กลับมาโกยยอดทะลุ 100,000 บาท ต่อวันต่อหนึ่งเครื่องแล้ว เทียบกับช่วงโควิดอยู่ที่ 50,000 บาทต่อวันต่อหนึ่งเครื่อง”

ด้านการบริโภคสื่อ (Media) คนไทยมีพฤติกรรมในเสพคอนเทนต์ ทั้งสั้นและยาว แต่ต่างแพลตฟอร์ม เช่น เนื้อหา คลิปสั้น เน้น TikTok และ Facebook ส่วนแบบยาว สนใจผ่านทาง ยูทูป ทีวีและ Netflix

“คอนเทนต์บนทีวี ไม่ตาย แต่จะอยู่บนแพลตฟอร์มอื่น ขณะเดียวกันสิ่งที่คนสนใจคอนเทนต์ที่มาเร็ว ดูง่าย เช่น คลิปสั้น บน TikTok ใช้เวลา 2-3 นาที เพราะดูแล้วไปทำอย่างอื่นได้ และกลับมาดูใหม่ ที่สำคัญสอดคล้องกับชีวิตกับคนต่างจังหวัดที่ต้องทำมาหากิน ไม่สามารถดูอะไรยาวได้ อีกประเด็นที่น่าจับตา คอนเทนต์ละครคุณธรรมมาแรง แบรนด์สามารถนำไปต่อยอดการตลาดได้”

การมองไปข้างหน้า มองบวกอยู่และมีโอกาสใหม่ จากเทคโนโลยีที่เข้าถึงทุกคน ส่งผลให้วิถีชีวิตเปลี่ยนแปลงไป และอย่าประมาทคนที่ไม่คุ้นเคยกับเทคโนโลยี ยกตัวอย่าง กลุ่มชาวนา ชาวสวน ในปัจจุบันไม่ได้ล้าหลัง แต่อยู่บนโลกดิจิทัล มีการใช้แอปพลิเคชั่นดูการทำเกษตร เพราะทุกอย่างไม่ได้แข่งขันกันเอง แต่เป็นการแข่งกันระดับภูมิภาคและระดับโลกแล้ว

ขณะเดียวกัน คนไทยบางส่วนยังมองถึงปีนี้เป็นสัญญาณที่ดีในการขยายการลงทุนใหม่ และการนำเงินไปเปิดร้านต่างๆ เพื่อร่วมวางรากฐานในอนาคต เพราะยิ่งลงทุนเร็วก่อนคนอื่นจะยิ่งสร้างโอกาสที่ดีในระยะยาว เนื่องจากในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา คนไทยชะงักลงทุนไปจากสถานการณ์โควิด รวมถึงสนใจลงทุนใหม่ๆ อย่างในตลาดหุ้น สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นต้น

“ความหวังกลับมาแล้ว อย่างน้องที่จังหวัดขอนแก่น โดยเป็นช่างซ่อมแอร์ ฝึกงานในบริษัทซ่อมแอร์ ตอนนี้พอมีเลือกตั้งใหม่ นำมาซึ่งการเปลี่ยนที่ดีขึ้นต่อเศรษฐกิจ เกิดการพัฒนาใหม่ มองอนาคตน่าจะดี ทำให้เริ่มเก็บเงินและออกจากงานเดิม เพื่อเปิดร้านซ่อมแอร์ เชื่อมั่นว่าการเริ่มธุรกิจเร็วจะดีกว่าคนอื่น และการเริ่มต้นธุรกิจดีมีธุรกิจของตัวเอง เป็นสร้างการอัพเกรดที่ดี”

นอกจากนี้ยังเห็นสัญญาณที่คนไทยสนใจวางแผนจะเดินทางไปท่องเที่ยวในต่างประเทศมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์เริ่มกลับมาสู่ภาวะปกติ

อย่างไรก็ตาม เทคโนโลยีที่เข้ามามีผลต่อกลุ่มลูกค้าคนไทย ผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแบรนด์สินค้าต้องใช้เทคโนโลยีมาร่วมสื่อสารกับลูกค้าให้เหมาะสมและถูกเวลาก่อนที่จะวางแผนกลยุทธ์การตลาด

เปิดอินไซด์ความหวังคนไทยปี 66 ชีวิต-การเงินดีขึ้น ขานรับรัฐบาลใหม่ ศก. ฟื้น ปัทมวรรณ สถาพร ประธานกรรมการบริหาร กรุ๊ปเอ็ม (ประเทศไทย)

ทั้งนี้จาก อินไซด์ของกลุ่มลูกค้าคนไทยทั้งหมด ทำให้ “กรุ๊ปเอ็ม” แนะนักการตลาดว่า Brand is key คือ สิ่งที่นักการตลาด ต้องนำไปใช้สร้างแบรนด์อย่างยั่งยืน เนื่องจากในปัจจุบันผู้ประกอบการต่างลืมสร้างแบรนด์ หันไปมุ่งสร้างยอดขายให้เติบโต แต่เมื่อสถานการณ์ทุกอย่างกลับสู่สถานการณ์ปกติ ทำให้แต้มบุญของแบรนด์หมดแล้ว จึงไม่ควรลืมทำการตลาด เพื่อสร้างแบรนด์มาร์เก็ตติ้งไปถึงลูกค้า