ลุ้นเหนื่อย? 'จีนเที่ยวไทย' ถึงเป้า 5 ล้านคน 'FETTA' เปิดแผนหลังแยกทาง 'สทท.'

ลุ้นเหนื่อย? 'จีนเที่ยวไทย' ถึงเป้า 5 ล้านคน  'FETTA' เปิดแผนหลังแยกทาง 'สทท.'

เป้าหมาย “นักท่องเที่ยวจีน” เดินทางเข้าไทยในปี 2566 จำนวน 5.3 ล้านคน สร้างรายได้ 4.46 แสนล้านบาท ตามที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) มั่นใจว่าจะทำได้นั้น ยังคงเผชิญความท้าทายจากการแข่งขันของนานาประเทศที่รุกช่วงชิงนักท่องเที่ยวจีน รวมถึงการฟื้นตัวของเที่ยวบิน

หลัง “จีนเปิดประเทศ” มาร่วม 6 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 8 ม.ค.2566 

ศิษฎิวัชร ชีวรัตนพร นายกสมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (แอตต้า) กล่าวว่า ภาคธุรกิจท่องเที่ยวไทยต้องจับตาช่วงไตรมาส 3 ของปีนี้ (ก.ค.-ก.ย.) ซึ่งเป็นช่วงไฮซีซันของตลาด "นักท่องเที่ยวจีน" ตรงกับช่วงปิดภาคเรียนฤดูร้อน ว่าจะมีนักท่องเที่ยวจีนไปถึง 2 ล้านคนหรือไม่ หลังช่วงไตรมาส 1-2 (ม.ค.-มิ.ย.) มีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าไทยสะสม 1 ล้านกว่าคน เพราะถ้าในไตรมาส 3 ยังมีนักท่องเที่ยวจีนเฉลี่ยแค่ 1-1.2 หมื่นคนต่อวัน หรือประมาณ 3 แสนคนต่อเดือน จะกระทบต่อภาพรวมนักท่องเที่ยวจีนตลอดปี 2566 ซึ่งภาครัฐตั้งเป้าหมายไว้ที่ 5 ล้านคน

“ต้องจับตาตลาดนักท่องเที่ยวจีนมาไทยว่าไตรมาส 3 นี้จะดีขึ้นหรือไม่ ถ้าได้ 2 ล้านคน ถึงเป้าหมาย 5 ล้านคนได้แน่นอน ไม่มีปัญหา แต่ถ้าไตรมาส 3 ได้ไม่ถึง 2 ล้านคน กระแสการเดินทางเข้าไทยยังอยู่ที่เฉลี่ย 1 หมื่นคนต่อวันแบบนี้ สิ้นปีนี้จะไปให้ถึง 5 ล้านคนยังเหนื่อย”

ทั้งนี้ การทำตลาด “กรุ๊ปทัวร์จีน” ไม่ง่ายเหมือนยุคก่อนโควิด-19 หลังจีนประกาศเปิดประเทศมาเกือบ 6 เดือน ตั้งแต่เดือน ม.ค.2566 เพราะแนวโน้มนักท่องเที่ยวจีนนิยมเดินทางด้วยตัวเอง (FIT) มากขึ้น โดยปัจจุบันมีกลุ่ม FIT ชาวจีนเดินทางเข้าไทยด้วยสัดส่วนมากถึง 90% ขณะที่ตลาดกรุ๊ปทัวร์ชาวจีนมีสัดส่วนแค่ 10% เท่านั้น ส่งผลให้บริษัททัวร์ต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของตลาด

ขณะเดียวกัน “อุปสรรค” ของการทำตลาดนักท่องเที่ยวจีนยังคงมีอยู่ โดยเฉพาะเรื่อง “จำนวนเที่ยวบิน”  ของสายการบินทั้งฝั่งไทยและจีน มีไม่เพียงพอต่อความต้องการเดินทาง ทำให้ตลาดกรุ๊ปทัวร์จีนที่ต้องการมาไทย เปลี่ยนจุดหมายไปเที่ยวประเทศอื่นแทน ด้านการออกวีซ่าแก่ชาวจีน ต้องเร่งปรับปรุงอำนวยความสะดวกให้คล่องตัวมากกว่านี้

ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า คาดการณ์ว่านับจากนี้จะมีนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยมากขึ้น ภายใต้การอำนวยความสะดวกในด้านต่างๆ มากขึ้น อาทิ การยื่นขอวีซ่าเข้าประเทศไทย โดย ททท. ร่วมกับกระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เตรียมเปิดตัวระบบ “VPSS” (Visa Pre-Screening System) ราวเดือน ก.ค.นี้ เพื่อทำให้ขั้นตอนการอนุมัติวีซ่ามีความรวดเร็วมั่นใจมากขึ้นตามเงื่อนไขที่ กต.กำหนด

“ททท.ยังคงมั่นใจว่าตลาดนักท่องเที่ยวจีนเดินทางเข้าประเทศไทยปีนี้จะไปถึงเป้าหมายไม่น้อยกว่า 5 ล้านคน และมั่นใจว่าค่าใช้จ่ายด้านของนักท่องเที่ยวจีนเกิน 5 หมื่นบาทต่อคน เพิ่มขึ้น 10-15% เทียบกับยุคก่อนโควิด-19 ระบาด เพราะมาเที่ยวไทยแล้วอยู่นานขึ้น จึงประเมินว่าปีนี้จะมีรายได้จากนักท่องเที่ยวจีนตามเป้าหมายอย่างแน่นอน”

สำหรับนักท่องเที่ยวจีนที่เป็นฐานลูกค้าหลักและตลาดแห่งความคาดหวังของเศรษฐกิจไทย ถือเป็นนักท่องเที่ยวคุณภาพที่อยากเห็นเป็นหลัก เพราะใช้จ่ายมากขึ้น พำนักในไทยนานขึ้น โดยแนวโน้มตลาดในตอนนี้ ไม่ค่อยเห็นตลาดแบบถือธงนำกรุ๊ปทัวร์เหมือนอดีตแล้ว

“แม้ก่อนหน้านี้จะมีกระแสข่าวเชิงลบที่มีต่อประเทศไทยแพร่หลายในโซเชียลมีเดียของจีน แต่ ททท.ได้เดินหน้าทำการตลาดฟื้นความเชื่อมั่นอย่างต่อเนื่อง”

จาก “สถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ” เดินทางเข้าประเทศไทยล่าสุด ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.- 25 มิ.ย. 2566 มีจำนวนสะสม 12,464,812 คน สร้างรายได้ 514,237 ล้านบาท โดยตลาดที่เดินทางมามากที่สุด 5 อันดับแรก คือ มาเลเซีย 1,983,854 คน จีน 1,384,761 คน รัสเซีย 784,428 คน เกาหลีใต้ 741,909 คน และอินเดีย 732,523 คน

ทั้งนี้ ททท.ยังคงตั้งเป้าหมายรายได้รวมภาคการท่องเที่ยวจากทั้งตลาดในและต่างประเทศปี 2566 อยู่ที่ 2.38 ล้านล้านบาท คิดเป็นการฟื้นตัว 80% ของรายได้รวมปี 2562 ก่อนโควิดระบาด จากเป้านักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น้อยกว่า 25 ล้านคน สร้างรายได้ 1.5 ล้านล้านบาท และเป้านักท่องเที่ยวไทยไม่น้อยกว่า 135 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 8.8 แสนล้านบาท

ลุ้นเหนื่อย? \'จีนเที่ยวไทย\' ถึงเป้า 5 ล้านคน  \'FETTA\' เปิดแผนหลังแยกทาง \'สทท.\'

ศิษฎิวัชร นายกแอตต้า กล่าวด้วยว่า ตามที่สมาคมภาคการท่องเที่ยว 7 สมาคม ได้มีการร่วมมือกันตั้ง “สมาพันธ์สมาคมท่องเที่ยวไทย” (FETTA) จะมีการจัดแถลงข่าวประกาศการรวมตัว และเปิดเผยถึงภารกิจและเป้าหมายของ FETTA ในวันนี้ (28 มิ.ย.) เพื่อร่วมกันผลักดันการเติบโตของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยทั้งในเชิงรุกและเชิงลึก นอกจากนี้เตรียมข้อเสนอถึงรัฐบาลใหม่ ในฐานะ “ภาคการท่องเที่ยว” เป็น “เครื่องจักร” สำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจได้ดีและรวดเร็ว พร้อมรับมือกับภาวะเศรษฐกิจและกำลังซื้อทั่วโลกถดถอย คนมีเงินน้อยลงแต่ยังอยากเที่ยว การใช้จ่ายไม่เหมือนเดิม หลังเครื่องจักร “ภาคการส่งออก” ไม่ค่อยดี

สำหรับ 7 สมาคมดังกล่าว ประกอบด้วย

1.สมาคมไทยธุรกิจการท่องเที่ยว (ATTA) มีสมาชิกราว 1,800-1,900 ราย

2.สมาคมโรงแรมไทย (THA) มีสมาชิกโรงแรม 993 แห่ง รวมจำนวนห้องพักกว่า 1.6 แสนห้อง คิดเป็น 30% ของโรงแรมที่จดทะเบียนถูกต้องทั่วประเทศ

3.สมาคมธุรกิจท่องเที่ยวภายในประเทศ (สทน.) มีสมาชิก 704 ราย

4.สมาคมไทยบริการท่องเที่ยว (TTAA) มีสมาชิก 925 ราย

5.สมาคมผู้ประกอบการรถขนส่งทั่วไทย (สปข.) มีสมาชิก 175 ราย รวมจำนวนรถกว่า 9,700 คัน

6.สมาคมมัคคุเทศก์อาชีพแห่งประเทศไทย (PGAT) มีสมาชิกตลอดชีพ 1,640 คน รายปี 250 คน

7.สมาคมส่งเสริมธุรกิจท่องเที่ยวไทย (สธทท.) มีสมาชิกสามัญและวิสามัญ 210 ราย