การทำงานยุคใหม่และอนาคตของการทำงานในปี 2023

การทำงานยุคใหม่และอนาคตของการทำงานในปี 2023

โลกของการทำงานที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจากเศรษฐกิจ สังคม และเทคโนโลยี ตำแหน่งงานนับล้านที่กำลังจะหายไป และตำแหน่งงานอีกนับล้านที่เกิดขึ้นมาใหม่ ทำให้การที่จะประสบความสำเร็จในสภาพแวดล้อมที่ไม่หยุดนิ่ง แรงงานหรือพนักงานจำเป็นต้องพัฒนาทักษะ ทัศนคติ และกลยุทธ์ในการวางแผนการทำงานของตนเพื่อให้สามารถแข่งขันได้ต่อไปในตลาดแรงงาน

จากรายงาน The Future of Jobs Report 2023 ล่าสุด (30 เมษายน 2566) โดย World Economic Forum นั้น ได้สำรวจกลุ่มบริษัท 803 แห่ง ซึ่งมีการจ้างงานรวมกันมากกว่า 11.3 ล้านคนจาก 27 กลุ่มอุตสาหกรรม ใน 45 ประเทศทุกภูมิภาคทั่วโลก การสำรวจครอบคลุมคำถามทั้งแนวโน้มเชิงมหภาค เทคโนโลยี ผลกระทบต่องาน ผลกระทบต่อทักษะ และการปรับเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์ด้านแรงงานต่าง ๆ  เพื่อทำการวิเคราะห์ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับตลาดแรงงานและแผนการพัฒนาบุคลากรในอีก 5 ปีข้างหน้า พบข้อมูลที่น่าสนใจดังนี้

1. นายจ้างคาดการณ์ว่า 44% ของทักษะของแรงงานปัจจุบันจะกลายเป็นทักษะที่ “ไม่เป็นที่ต้องการ” ในอีก 5 ปีข้างหน้า โดยทักษะด้านการวิเคราะห์ (Analytical Thinking) และการคิดสร้างสรรค์ (Creative Thinking) จะเป็นทักษะที่สำคัญมากของแรงงานจากนี้

2. Technology Adoption จะเป็นตัวขับเคลื่อนในการพลิกโฉมธุรกิจ โดยกว่า 85% ขององค์กร ระบุว่า มีการนำเทคโนโลยีใหม่ ๆ  มาใช้มากขึ้น และทำให้การเข้าถึงทางดิจิทัลอย่างกว้างขวางขึ้น

3. Big Data, Cloud Computing และ AI มีแนวโน้มได้รับความสนใจมากที่สุด โดยบริษัทกว่า 75% กำลังจะนำเทคโนโลยีเหล่านี้ไปใช้ภายใน 5 ปีข้างหน้า ดิจิทัลแพลตฟอร์มหรือแอปพลิเคชันจะถูกนำมาใช้มากที่สุดถึง 86% และ E-commerce หรือการค้าขายแบบดิจิทัลถูกนำไปใช้ถึง 75%

4. การทำงานแบบ Automation จะเพิ่มขึ้นในตลาดธุรกิจ โดย 47% ของกิจกรรมทางธุรกิจจะเป็นการทำงานแบบอัตโนมัติหรือโดยเครื่องจักรภายในอีก 5 ปีข้างหน้า

 

5. แรงงาน 6 ใน 10 คนควรจะได้รับการฝึกอบรมเพิ่มเติม ก่อนปี 2027 ซึ่งในปัจจุบันมีเพียงแค่ 50% เท่านั้นที่เข้าถึงโอกาสในการฝึกอบรมที่เพียงพอ โดยทักษะสำคัญที่บริษัทส่วนใหญ่มีแผนจะจัดการฝึกอบรมคือ ทักษะการคิดวิเคราะห์ ทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ รวมถึงทักษะการใช้ AI และ Big Data

จะเห็นได้ว่าแนวโน้มที่เข้ามา Disrupt โลกของการทำงานอย่างชัดเจน คือการเพิ่มขึ้นของระบบอัตโนมัติ และ AI ซึ่งได้เปลี่ยนโฉมอุตสาหกรรมต่างๆ  ไปแล้วทั้งด้าน การผลิต โลจิสติกส์ การเงิน และกำลังแพร่กระจายไปในด้าน การดูแลสุขภาพ การศึกษา การค้าปลีก เป็นต้น

D-vote.com สำนักโพลบนบล็อกเชนของไทย ได้ทำการสำรวจความเห็นเบื้องต้นจากหัวข้อ “ทักษะใดที่คุณอยากพัฒนามากที่สุดในปีนี้เป็นลำดับแรก” โดยได้รับคำตอบที่น่าสนใจว่าทักษะที่ถูกเลือกสูงสุด 3 ทักษะคือ ด้านภาษา (เช่น อังกฤษ จีน) 27.8%, ความคิดสร้างสรรค์ 16.7%, และ Soft Skills (เช่น การสร้างทัศนคติ สื่อสาร บริหารคน) 12.5%

ในขณะที่การสำรวจหัวข้อ “หากย้อนเวลากลับไปได้ ทักษะใดที่คุณอยากเรียนรู้ตั้งแต่วัยเด็ก?” ก็ได้รับคำตอบที่สอดคล้องกับเทรนด์นี้เช่นกัน คือทักษะ การวิเคราะห์และแก้ปัญหา 50.9%,​ การเงินการลงทุน 49.7%, การใช้เทคโนโลยี 44%

ในด้าน AI ทาง D-vote ได้ถามถึงการใช้งาน ChatGPT ซึ่งเป็น AI เขย่าโลกตัวล่าสุดว่า “คุณคิดว่า ChatGPT เหมาะกับงานด้านใดบ้าง” โดยคำตอบคือ ใช้ช่วยตอบคำถามทั่วไป 35.5%, ช่วยในการเขียน Code 25.0%, ช่วยแปลภาษา 23.7% ซึ่งเมื่อถามถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับ AI น่าจะเป็นไปในทิศทางใดก็ได้คำตอบว่า คนจะใช้ AI ช่วยงานให้ทำงานได้ดีขึ้น 36.8%, AI จะมาแย่งงานคน 5.3%, และมีโอกาสเป็นไปได้ทั้งคู่ 43.4%

ผลการศึกษาจาก Amazon พบว่านอกจากความจำเป็นที่ทำให้แข่งขันต่อไปได้แล้ว ทักษะดิจิทัลขั้นสูงยังสามารถช่วยเพิ่มค่าแรงได้ถึง 65% โดยแรงงานที่มีทักษะดิจิทัลนั้นมีรายได้มากกว่าคนที่ไม่มีทักษะดิจิทัลโดยเฉลี่ยถึง 58% รวมถึงทักษะด้านความคิดสร้างสรรค์ ความเห็นอกเห็นใจ การคิดวิเคราะห์ การแก้ปัญหา และการสื่อสาร นอกจากนี้พนักงานยังต้องมีความยืดหยุ่นและปรับตัวได้สูง เนื่องจากชีวิตการทำงานของคนในยุคปัจจุบันอาจต้องเปลี่ยนงานหรือเปลี่ยนอาชีพบ่อยครั้งขึ้น

คนทำงานในวันนี้จึงต้องลุกขึ้นมา Upskill และ Reskill เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานในอนาคตและทักษะสำคัญใหม่ๆ  ที่ตลาดต้องการ คนทำงานต้องปลุกความกระตือรือร้น อยากรู้อยากเห็น และเรียนรู้ตลอดชีวิตการทำงาน รวมถึงติดตามแนวโน้มล่าสุดในการพัฒนาทักษะของสาขาอาชีพของตน แสวงหาโอกาสที่จะได้รับประสบการณ์และความรู้ใหม่ ๆ  นอกจากนี้ ยังต้องเปิดรับการทำงานร่วมกัน ความหลากหลาย และนวัตกรรม เนื่องจากสิ่งเหล่านี้คือตัวขับเคลื่อนหลักของการเติบโตและความก้าวหน้าในการทำงานยุคใหม่ครับ