‘บางกอกไพรด์ 2023’ ปลุกความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ จุดพลุ 'การตลาดสีรุ้ง'

‘บางกอกไพรด์ 2023’  ปลุกความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ จุดพลุ 'การตลาดสีรุ้ง'

“บางกอกไพรด์ 2023” จบลง แต่กระแสการเปิดกว้าง ยอมรับความหลากหลายยังคงเบ่งบาน เพราะงานดังกล่าวจุดประกายความหวัง "สมรสเท่าเทียม" ส่วนการตลาดแบรนด์แห่ส่งแคมเปญการตลาดสีรุ้ง กระบอกเสียงสนับสนุนเท่าเทียมทุกเพศ

ประเทศไทยเพิ่งจบงานใหญ่ “บางกอกไพรด์ 2023” ที่จัดขึ้นเมื่อวันที่ 4 มิถุนายน 2566 และตลอดเดือนยังเป็นห้วงแห่งการเฉลิมฉลอง Pride Month ปีที่ 2 ทั้งนี้ กิจกรรมที่จัดขึ้นถือเป็นการตอกย้ำ และสร้างการยอมรับความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย และเป็นอีกปีที่กระแส Pride Month ถูกพูดถึงบนโลกโซเชียล

บริษัท ไวซ์ไซท์ (ประเทศไทย) จำกัด ยังคงเก็บรวบรวม และวิเคราะห์ข้อมูลเสียงโซเชียลเกี่ยวกับบางกอกไพรด์ และความหลากหลายระหว่างวันที่ 1 - 11 มิถุนายน 2566 ผ่านเครื่องมือ Social Listening อย่าง ZOCIAL EYE และพบประเด็นน่าสนใจดังนี้

  • การเฉลิมฉลองสร้างเอ็นเกจเมนต์มหาศาล

การพูดถึงเกี่ยวกับการเฉลิมฉลอง และความหลากหลายนั้นบนโซเชียลมีมากกว่า 38,547 ข้อความ และเพียงไม่กี่วันมีจำนวนเอ็นเกจเมนต์มากกว่า 26,993,306 เอ็นเกจเมนต์ สะท้อนความสนใจในสังคมออนไลน์

ทั้งนี้ ข้อความส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นบนแพลตฟอร์มแตกต่างกัน โดยบน Facebook มากที่สุด 39% ตามด้วย Twitter 35% Instagram 19% และอื่นๆ 7%

‘บางกอกไพรด์ 2023’  ปลุกความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ จุดพลุ \'การตลาดสีรุ้ง\'

สำหรับคอนเทนต์ส่วนใหญ่คือ การโพสต์รูปภาพงานเดินขบวนพาเหรดมาพร้อมแฮชแท็ก #BangkokPride2023 และ #บางกอกไพรด์2023 ทั้งจากเหล่าคนดัง ดารา นักร้อง นักแสดงต่างๆ มีกระแสของการพูดถึง #สมรสเท่าเทียม ถูกพูดถึงต่อเนื่องจากปีก่อน หลังจาก “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวพรรคก้าวไกล และว่าที่นายกรัฐมนตรี ผลักดันเรื่องดังกล่าว อีกทั้งร่วมเดินขบวนพาเหรด ยิ่งทำให้มีกระแสการพูดถึงในวงกว้างมากขึ้น สร้างการรับรู้ และความเข้าใจในเรื่องความหลากหลายทางเพศมากขึ้น

  • ความหวังของสมรสเท่าเทียมกลับมาอีกครั้ง

ทั้งนี้ หลังจากที่สภารับหลักการสมรสเท่าเทียมในวาระหนึ่งไปแล้ว เมื่อ 15 มิถุนายน 2565 ทำให้ถูกพูดถึงและจับตามองเป็นอย่างมาก แต่ด้วยสถานการณ์ทางการเมือง และความซับซ้อนในการพิจารณาร่างพ.ร.บ.กัญชา กัญชง ที่นำมาสู่สถานการณ์สภาล่มบ่อยครั้ง ส่งผลให้ร่างกฎหมายสมรสเท่าเทียม รวมถึงร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต อาจไม่ถูกพิจารณาจบครบทุกกระบวนการได้ภายใต้สภาชุดดังกล่าว ทำให้ร่างกฎหมายดังกล่าวอาจต้องตกไป

อย่างไรก็ตามในปีนี้สมรสเท่าเทียมกลับมามีความหวังอีกครั้งจากที่มีการเลือกตั้งครั้งใหม่ และมีการเปลี่ยนชุดสภาบวกกับการยืนยันจากเสียงของพรรคที่มีเสียงข้างมากจากประชาชนว่าจะผลักดันสมรสเท่าเทียมแน่นอน ยิ่งตอกย้ำความสำเร็จของการเรียกร้องความเท่าเทียมที่แท้จริง

  • ความคิดสร้างสรรค์โดดเด่น

เมื่อพูดถึงงานบางกอกไพรด์ หรืองานเดินขบวนพาเหรดสิ่งที่จะถูกพูดถึงหรือจับตามองคือ เรื่องของ การสร้างสรรค์ความคิดในเรื่องของการแต่งตัว การรังสรรค์ชุดต่างๆ ในการมาร่วมเดินขบวน อีกทั้งยังรวมไปถึงคำพูด หรือคำคมต่างๆ ที่แสดงถึงพลังแห่งความหลากหลายนี้

‘บางกอกไพรด์ 2023’  ปลุกความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ จุดพลุ \'การตลาดสีรุ้ง\'

ปี 2566 ยังคงมีเรื่องของความสร้างสรรค์ต่างๆ มาให้เราได้เห็นจนเป็นกระแสในหลายๆ โพสต์บนโซเชียลมีเดีย อย่างที่เด่นๆ จนไม่พูดถึงไม่ได้คือ เสื้อของคุณพิธา ที่ใส่มาร่วมเดินขบวน ที่ชาวโซเซียลต่างแคปเจอร์แล้วนำมาโพสต์ถึงความสวยงามของเสื้อ หรืออีกหนึ่งคนอย่างคุณช่อ พรรณิการ์ อดีตโฆษกพรรคอนาคตใหม่ รังสรรค์มาในชุด Amy Winehouse นักร้องดังระดับตำนานจนคนบนโซเชียลต่างชื่นชมในความปัง

การพูดถึงนั้นไม่ถูกพูดถึงแค่กับคนเท่านั้น ยังถูกพูดถึงไปยังสัตว์เลี้ยงที่มาร่วมงานบางกอกไพรด์ครั้งนี้ อย่างไวรัลที่เราได้เห็นกัน หญิงโม น้องหมาชิวาว่าสายแฟ ที่เกิดไวรัลจากการที่ “ศิธา ทิวารี  เลขาธิการพรรคไทยสร้างไทยอุ้มน้องถ่ายรูปแล้วน้องทำตาหวานจนทำให้คนบนโซเชียลพูดถึง และเกิดเป็นไวรัล สะท้อนให้เห็นถึงความเปิดกว้างที่ไม่ใช่เฉพาะแค่กับมนุษย์ ยังเปิดกว้างไปถึงสัตว์เลี้ยงตัวน้อยๆ ที่ร่วมโลกด้วย

  • การเข้าใจความหลากหลายแท้จริง คือสิ่งสำคัญ

อย่างไรก็ตาม เข้าเดือนมิถุนายน หลายองค์กร และแบรนด์ทำการปรับเปลี่ยนรูปโปรไฟล์ ใช้โลโก้ “สีรุ้ง” หรือทำการตลาดที่สินค้ามีลวดลายสีรุ้งประดับ เพื่อที่จะต้อนรับเทศกาล Pride Month ซึ่งเป็นเดือนแห่งการเฉลิมฉลองความภาคภูมิใจของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ทว่า บางองค์กรหรือแบรนด์ ยังคงถูกตั้งคำถามจากคนบนโซเชียลว่าการทำแคมเปญ “การตลาดสีรุ้ง” เป็นการใช้พื้นที่ขององค์กรส่งเสียงเพื่อเข้าใจเพื่อนมนุษย์ผู้มีความหลากหลายทางเพศอย่างแท้จริงหรือเป็นเพียงแค่การเกาะกระแส

  • จุดพลุแบรนด์อัดแคมเปญการตลาดสีรุ้ง

กรุงเทพธุรกิจ รวบรวมการตลาดสีรุ้ง ขานรับความหลากหลาย เช่น “โอรีโอ” ส่งแคมเปญ “OREO Ally” สนับสนุนความเป็นพันธมิตร LGBTQIA+ มีการดีไซน์แพ็กเกจพิเศษ OREO Ally Pack คุกกี้โอรีโอในแพ็กเกจสวมสลีฟลิมิเต็ด เอดิชั่น ตกแต่งด้วยลวดลายธงพันธมิตรของชาว LGBTQIA+ หรือ Ally Flag

มีกิจกรรมออนไลน์ OREO Ally Radar ชวนผู้บริโภค เจ้าของกิจการ และองค์กรต่าง ๆ มาร่วมสร้างสรรค์พื้นที่ปลอดภัย ด้วยการส่งเสริมให้ประชาชนทั่วไปร่วมปักหมุดแสดงตัวเป็นพันธมิตร ผ่านทาง Oreoallyradar.com พร้อมเขียนข้อความสนับสนุนและให้กำลังใจกลุ่ม LGBTQIA+

นอกจากนี้ ยังร่วมเป็นหนึ่งในผู้สนับสนุนการจัดงาน Bangkok Pride 2023 อย่างเป็นทางการและร่วมเดินขบวนพาเหรดเพื่อแสดงการสนับสนุนสิทธิชุมชนคนเพศหลากหลาย ผ่านแนวคิด ‘BEYOND…GENDER’

‘บางกอกไพรด์ 2023’  ปลุกความหวัง ‘สมรสเท่าเทียม’ จุดพลุ \'การตลาดสีรุ้ง\'

ด้าน “เดอะ คอฟฟี่ คลับ” ร้านอาหารและเครื่องดื่มสัญชาติออสเตรเลีย เปิดตัว 3 เมนู “Cotton Candy Frappe” เครื่องดื่มสีสันสดใส เพื่อเสิร์ฟหลากโมเมนต์ให้ผู้บริโภค และมีสินค้าลิมิเต็ดตอบโจทย์สมาชิก

บริษัท เซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป จำกัดหรือเครือซีอาร์จี นำแบรนด์ดัง เช่น Cold Stone Creamery และ Arigato ขอเป็นส่วนหนึ่งของการฉลอง Pride Month โดย โคล สโตน ครีมเมอรี่ไอศกรีมมิกซ์-อิน พรีเมียมจากอเมริกา ส่งแคมเปญ “The Taste of Pride” พร้อมนำเสนอไอศกรีมโคน 2 รสชาติ สีสันสดใสสายรุ้ง ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย และหวังเป็นกระบอกเสียงสนับสนุนความเท่าเทียมทุกเพศ

ส่วนแบรนด์อาริกาโตะ (Arigato) แบรนด์เครื่องดื่มสไตล์ญี่ปุ่น บริหารงานนำเสนอเมนูใหม่ Arigato So Pride : Enjoy the Pride Moment เพื่อเป็นการประกาศจุดยืนของแบรนด์ “อาริกาโตะ” ในการเคารพ และเปิดกว้างในความแตกต่าง และปฏิบัติถึงทุกคนอย่างเท่าเทียม เป็นต้น

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์