รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

ความโหดร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่ “ห้ามดื่ม” น้ำเมา สะเทือนธุรกิจ เบรกเศรษฐกิจ การท่องเที่ยวไทย ทั้ง "ลิดรอน" สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐาน TABBA ไม่เห็นด้วย เหตุกฎหมายไม่สอดคล้องสภาพการณ์ปัจจุบัน วอนรัฐยึดถือแนวทางรัฐธรรมนูญมาตรา 77

ระหว่างการเปลี่ยนผ่าน “รัฐบาลใหม่” ความเคลื่อนไหวของภาคธุรกิจมีหลายส่วนให้ต้องติดตาม หนึ่งในนั้นคือปัญหาการค้าผิดกฎหมาย ซึ่งล่าสุด องค์กรต่อต้านการค้าที่ผิดกฎหมาย (TRACIT) ร่วมกับสภาธุรกิจสหภาพยุโรป-อาเซียน (EU-ABC) เปิดตัวรายงานฉบับใหม่ “การตรวจสอบผลกระทบเชิงลบของการค้าที่ผิดกฎหมายต่อวิสัยทัศน์ประชาคมอาเซียน 2025”

ภายใต้ประเด็นข้างต้น ยังมีสิ่งที่แทรกอยู่คือการเกาะติดผลกระทบเชิงบวกและลบที่จะเกิดขึ้นจากร่างพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่ระหว่างนี้ยังเปิดให้ผู้มีส่วนเกี่ยวข้องแสดงความเห็นผ่านระบบกลางทางกฎหมาย และเว็บไซต์กรมควบคุมโรค

ความเข้มสุดโหดของร่างกฎหมายดังกล่าว คือการ “ห้ามดื่ม” เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งเวลาในการดื่ม สถานที่ ห้างร้าน สถาบันเทิง รวมถึงโรงแรม ฯ จนผู้ประกอบการกุมขมับ เพราะนอกจากจะส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจ ยัง “ลิดรอน” สิทธิเสรีภาพในการบริโภคขั้นพื้นฐาน ไม่เฉพาะ “คนไทย” และยังรวมถึง “นักท่องเที่ยว” ที่มาใช้จ่ายเงินในประเทศไทยด้วย

นางสาวเขมิกา รัตนกุล นายกสมาคมธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย (TABBA) ให้ความมุมมองต่อร่างพ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ที่จะมีการห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ นอกเวลาจำหน่ายสินค้า จากปัจจุบันช่วงเวลาที่ขายได้ คือ 11.00 – 14.00 น. และ 17.00 – 24.00 น. ซึ่งกฎหมายดังกล่าวมีความล้าสมัย ขณะที่การห้ามดื่ม หากพิจารณาบริบทเศรษฐกิจ สังคม หลังโควิด-19 ระบาด จะเห็นว่าประเทศไทยขับเคลื่อนการเติบโตของจีดีพีด้วยอุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการ ที่ทำเงินให้ประเทศ 20%

  • กฎหมายใหม่ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพดื่มน้ำเมา

หากกฎหมายห้ามดื่มนอกเวลาจำหน่ายเหล้าเบียร์มีผลบังคับใช้ ผู้ประกอบการโรงแรม ห้างร้าน สถานบันเทิงต่างๆ ไม่สามารถจำหน่ายสินค้าได้ ย่อมจะส่งผลให้การท่องเที่ยว หยุดชะงัก ส่วนนักท่องเที่ยวที่มาเยือนไทยไม่รู้อิโหน่อิเหน่ ได้กระทบเช่นกัน

ยิ่งกว่านั้น การห้ามดื่ม ยังเป็นการ “ลิดรอน” สิทธิเสรีภาพขั้นพื้นฐานของประชาชน ผู้ประกอบการด้วย นอกเหนือจากที่ผ่านมา มีทั้งการห้ามโฆษณา ซึ่งสร้างผลกระทบต่อการทำธุรกิจเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นทุนเดิมอยู่แล้ว

รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ “ร่างพ.ร.บ.ใหม่ สุดโต่ง เพราะห้ามดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์นอกเวลาห้ามจำหน่าย ทั้งที่เป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของนักท่องเที่ยวจะดื่มหรือไม่ดื่ม รวมถึงประชาชนที่จะดื่มเวลาไหนก็ได้ จากเดิมกฎหมายกำหนดเวลาจำหน่ายสินค้า แต่ร่างกฎหมายใหม่กลับเพิ่มอุปสรรคในการประกอบอาชีพ และอุปสรรคทางเศรษฐกิจ ไม่เหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ประเทศต้องการส่งเสริมการท่องเที่ยว”

  • วอนรัฐยึดถือรัฐธรรมนูญ มาตรา 77

ทั้งนี้ ในการร่างพ.ร.บ.เครื่องดื่มแอลกอฮอล์ฉบับใหม่ ต้องการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องปฎิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 77 ที่ว่าด้วยการออกกฎหมายเท่าที่จำเป็น เขียนให้เรียบง่าย ไม่คลุมเครือ และมีความสอดคล้องกับสภาพการณ์ปัจจุบัน ไม่ใช่เป็นอุปสรรคต่อการดำรงชีพ หรือการประกอบอาชีพ

“อยากให้ยึดถือรัฐธรรมนูญมาตรา 77 ในการออกกฎหมายไม่ให้กระทบต่อการดำรงชีวิตของประชาชน และต้องเหมาะสมกับสภาพการณ์ปัจจุบันที่ประเทศต้องการกระตุ้นภาคท่องเที่ยว”

นอกจากอุตสาหกรรมท่องเที่ยวที่เป็นเครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจไทย สร้างมูลค่ามหาศาล ฝั่งตลาดเครื่อดื่มแอลกอฮอล์ ก็มีขนาดใหญ่เช่นกัน โดยมูลค่าตลาดรวมอยู่ระดับ 4 แสนล้านบาท จากสินค้าทุกหมวดหมู่ ไม่ว่าจะเป็นสุรา เบียร์ ไวน์ ฯ

“แค่กำหนดเวลาจำหน่ายก็แย่แล้ว นี่กฎหมายใหม่จะห้ามดื่มด้วย”

รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

  • เข้มบังคับใช้กฎหมาย

สำหรับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีมาช้านานอยู่คู่กับสังคมทั่วโลก และทุกห้วงเวลาของการเฉลิมฉลอง แต่สิ่งที่ต่างประเทศปฏิบัติ คือการสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างถูกต้อง มีความรับผิดชอบ บางประเทศดื่มมาก เช่น โซจู ของเกาหลีใต้ดื่มสูงสุดของโลก ญี่ปุ่นดื่มสาเกกันอย่างมาก สังสรรค์กันทุกคืน แต่การเกิดอุบัติเหตุต่างๆ ค่อนข้างต่ำ เพราะมีการอบรม ตระหนักถึงโทษภัยการดื่ม ที่สำคัญเมื่อกระทำผิด มีการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด

การดื่มเหล้าเบียร์ไวน์ฯ ต่างเมาเหมือนกันหากดื่มมากเกินไป ดังนั้น จึงมี

มาตรฐานการดื่มที่ผู้บริโภคควรตระหนักรู้ อย่างเบียร์(5%แอลกอฮอล์) ดื่ม 1 กระป๋องเล็ก เทียบเท่ากับวิสกี้(40%แอลกอฮอล์) 3 ฝา และไวน์(9-15%แอลกอฮอล์) 1 แก้ว หรือ 100 มิลลิลิตร(มล.) จะใช้เวลา 1 ชั่วโมง เพื่อให้ตับขับแอลกอฮอล์อกไป

นอกจากนี้ ผู้บริโภคต้องทานอาหารก่อนดื่มน้ำเมา เพื่อดูดซับแอลกอฮอล์ ควรดื่มน้ำบ่อยๆ ผู้หญิงมาตรฐานการดื่มวิสกี้ ไม่ควรเกิน 7 ช็อตต่อสัปดาห์(1 ช็อต = 3 ฝา) เป็นต้น

รับไม่ได้ “ห้ามดื่ม” เหล้าเบียร์ ฯ ชี้ร่างพ.ร.บ.ใหม่อุปสรรคเศรษฐกิจ-ธุรกิจ

 “เราไม่เห็นด้วยกับร่างพ.ร.บ.ฉบับนี้ ที่ห้ามการดื่มในเวลาห้ามขาย แค่การห้ามขายไม่สมเหตุผลและสภาพการณ์อยู่แล้ว การออกฎหมายสิ่งสำคัญต้องเคารพผู้บริโภค ตามรัฐธรรมนูญ”

  • หนุนพ.ร.บ.สุราก้าวหน้า

นอกจากนี้ ภายใต้รัฐบาลใหม่ พรรคก้าวไกล มีนโยบายทลายทุนผูกขาด ปลดล็อกธุรกิจน้ำเมา ด้วยการผลักดัน พ.ร.บ.สุราก้าวหน้า สมาคมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ไทย มองเป็นนิมิตรหมายดี ที่จะให้ผู้ผลิตในประเทศ สุราท้องถิ่น ภูมปัญญาพื้นบ้านมีพทื้นที่ได้แข่งขัน และทำตลาดอย่างถูกต้อง หากดำเนินการรัฐควรส่งเสริม พัฒนามาตรฐานการผลิตเพิ่มขึ้น และการผลิตต้องสร้างผลกระทบเชิงบวกต่อสิ่งแวดล้อม

ทั้งนี้ การผลิตเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ สามารถสร้างซอฟต์เพาเวอร์ระดับโลก หนุนเศรษฐกิจชุมชน กระตุ้นการท่องเที่ยว อย่างสาเกของประเทศญี่ปุ่น โซจู ในประเทศเกาหลีใต้ ไวน์จากฝรั่งเศส สก๊อตช์วิสกี้ จากประเทศสก๊อตแลนด์ เป็นต้น

“สิ่งสำคัญเราต้องสร้างวัฒนธรรมการดื่มอย่างรับผิดชอบให้เกิดขึ้น"