ทลายทุนผูกขาด ไม่สะเทือน ‘เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ’ หนุนซอฟต์เพาเวอร์ลุยโลก

ทลายทุนผูกขาด ไม่สะเทือน ‘เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ’  หนุนซอฟต์เพาเวอร์ลุยโลก

"โรงหนัง-ผู้ผลิตหนัง" เหมือนน้ำพึ่งเรือเสือพึ่งป่า แต่หลายครั้งมีประเด็นการให้พื้นที่หรือโรง รอบการฉายหนัง รวมถึง "ส่วนแบ่ง" รายได้ จนฝ่ายหนึ่งขอความเห็นใจ ขณะที่การตั้งรัฐบาลใหม่ พรรคก้าวไกลจะทลายทุนผูกขาด "โรงหนัง" กระทบไหม เจาะคำตอบ 2 ค่ายใหญ่ "เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ"

ห้วงเวลาของการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ ภายใต้การนำของพรรคก้าวไกล ยังคงมีหลายนโยบาย ที่สร้างแรงกระเพื่อมในสังคม โดยเฉพาะภาคธุรกิจมีทั้งการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ 450 บาทต่อวัน ทลายทุนผูกขาด จัดเก็บภาษีมั่งคั่ง เป็นต้น

นโยบายทลายทุนผูกขาด กลุ่มธุรกิจสุรา มีเจ้าสัวใหญ่จากตระกูลดัง ที่อาจถูกเบรกความรวย แบ่งปันความมั่งคั่งสู่รายย่อย ขณะที่อุตสาหกรรมสร้างสรรค์เป็นอีกหมุดที่มีอุปสรรคที่ผู้พัฒนาสัญชาติไทยจะก้าวสู่เวทีโลก ทั้งการปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก การผูกขาด ใบอนุญาต เป็นต้น

ข้อเสนอที่พรรคก้าวไกลจะเดินหน้า คือการบังคับใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้าอย่างจริงจัง ในกรณีผูกขาดในกิจการเดียวกัน(horizontal)และข้ามกิจการ(vertical) ซึ่งทำให้มีอำนาจเหนือตลาดจากการมีส่วนสำคัญในทุกขั้นตอนของการผลิตอย่างภาพยนตร์ เช่น ผลิตหนัง นำเข้าหนัง เผยแพร่หนัง ฉายหนังในโรงภาพยนตร์

สุวิทย์ ทองร่มโพธิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายงานการตลาด บริษัท เอส เอฟ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ความเห็นว่า อุตสาหกรรมโรงภาพยนตร์ถือว่าไม่มีการผูกขาดแต่อย่างใด ระหว่างโรงหนังกับผู้ผลิตคอนเทนต์ต่างเป็นคู่ค้า มีการพึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกัน ไม่มีฝ่ายใดที่มี “อำนาจต่อรอง” สูงกว่ากัน

ทลายทุนผูกขาด ไม่สะเทือน ‘เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ’  หนุนซอฟต์เพาเวอร์ลุยโลก “ธุรกิจโรงหนังขาดคอนเทนต์หนังไม่ได้ หนังก็ขาดโรงหนังไม่ได้เช่นกัน”

ขณะที่ธุรกิจโรงภาพยนตร์มีผู้เล่นเพียง 2 รายใหญ่ ก็ไม่ได้สะท้อนหรือทำให้ผู้ประกอบการสร้างอำนาจต่อรองได้มากกว่า ยังยืนยันการเป็น “พันธมิตร” ระหว่างกัน

หลายปีที่ผ่านมาธุรกิจโรงหนังทยอยมีผู้เล่นในตลาดลดเหลือน้อยลง หากผู้เล่นรายใหม่จะเข้ามาแบ่งเค้ก เป็นเรื่องยากแค่ไหน และมีกำแพงหรือ Barrier to entry ที่สกัดหรือไม่ มิติดังกล่าว หากพิจารณากุญแจความสำเร็จในการทำธุรกิจโรงหนัง “ทำเล”หรือ Location มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะการเข้าไปอยู่ในศูนย์การค้า เปิดสาขาตอบสนองคนดูหนัง ซึ่งปัจจุบันทั้ง “เอสเอฟ ซีเนม่า” และคู่แข่ง ต่างพากันปักหมุดทำเลทองไว้เกือบครอบคลุมกลุ่มเป้าหมาย

“เราเองและคู่แข่งมีการขยายโรงหนังอย่างต่อเนื่อง ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายวงกว้าง ทำให้ผู้เล่นหน้าใหม่ หากจะเข้ามาในตลาด จะเหนื่อกว่า เพราะโลเกชั่นสำคัญถูกจับจองแล้ว”

ทลายทุนผูกขาด ไม่สะเทือน ‘เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ’  หนุนซอฟต์เพาเวอร์ลุยโลก ปัจจุบันอุตสาหกรรมภาพยนตร์มีมูลค่าหลายพันล้านบาท(หากรวมโรงภาพยนตร์ รายได้ตั๋วหนังและป๊อปคอร์นเครื่องดื่ม 2 ค่ายใหญ่ เมเจอร์-เอสเอฟฯ ทำเงินเกินหมื่นล้านบาท) หนังไทยยังทำเงินสัดส่วนน้อย อย่างเอสเอฟฯ หนังฮอลลีวู้ดมีดส่วนทำเงิน 85% ในโลกมีญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ฯ ที่หนังโลคัลทำเงินมากกว่า ดันอุตสาหกรรมโตแกร่ง

“การตีความทลายทุนผูกขาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ โรงหนังไม่ได้รับผลกระทบ เพราะหากคนทำหนังมาไม่ได้ฉายในโรงซัฟเฟอร์ โรงหนังไม่มีหนังฉายก็ซัฟเฟอร์ ปัจจุบันผู้ผลิตคอนเทนต์ยังไม่ทำหนังฉายแค่ในโรง แต่ยังขายสู่แพลตฟอร์มอื่น ตีตลาดทั่วโลกด้วย”

ด้านเบอร์ 1 ธุรกิจโรงภาพยนตร์ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” มีส่วนแบ่งตลาดถึง 70% ในปีที่ผ่านมาบริษัทโรงหนังทั้งในและต่างประเทศให้บริการรวม 180 สาขา จำนวน 838 โรง รองรับผู้ชมได้มากถึง 186,221 ที่นั่ง แต่ละปี บริษัทยังมีแผนขยายสาขาโรงภาพยนตร์ราว 30-40 สาขา เพื่อให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ของประเทศไทยด้วย

ทลายทุนผูกขาด ไม่สะเทือน ‘เมเจอร์ฯ-เอสเอฟ’  หนุนซอฟต์เพาเวอร์ลุยโลก

มุมมองต่อการทลายทุนผูกขาดอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ นรุตม์ เจียรสนอง รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการตลาด บริษัท เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์ กรุ้ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า เมเจอร์ ได้ให้การสนับสนุนภาพยนตร์ไทยให้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์มาต่อเนื่อง เช่นที่ผ่านมาได้เข้าไปร่วมสนับสนุนผู้ผลิตหนังไทยทั้งในช่อง 3 และช่อง 7 เพราะอุตสาหกรรมหนังไทยถือเป็น ซอฟ เพาเวอร์ของไทยที่ควรจะสนับสนุนให้เติบโตยิ่งขึ้น

“บริษัทเห็นด้วยกับนโยบายของรัฐบาลชุดใหม่ ที่มีนโยบายสนับสนุนผู้ผลิตหนังไทย เพราะถือเป็นซอฟเพาเวอร์ที่สำคัญของประเทศ”

ขณะเดียวกันที่ผ่านมา เมเจอร์ ก็พร้อมส่งออกหนังไทยให้ไปฉายในต่างประเทศ ทั้งในกัมพูชา และประเทศลาว ที่เมเจอร์มีการทำโรงภาพยนตร์ไว้อยู่แล้ว

อย่างไรก็ตามภาพรวมหนังไทยที่ได้เข้าฉายในโรงภาพยนตร์ของไทยในช่วงที่ผ่านมา จะมีสัดส่วนประมาณ 20-30% ของภาพยนตร์ทั้งหมดที่เข้าฉาย เนื่องจากมีผู้ลิตออกมาสู่ตลาดไม่มากนัก และมาจากหลายปัจจัยประกอบกัน แต่ทั้งนี้ ตามนโยบายของ ผู้บริหารเมเจอร์ อยากให้ภาพยนตร์ไทยมีสัดส่วนให้ถึง 50% ของภาพยนตร์ทั้งหมดที่เข้าฉายในแต่ละปี