'สหพัฒน์' ชี้บะหมี่ฯพรีเมียมชะลอ เหตุผู้บริโภครัดเข็มขัด ขาดเชื่อมั่น

'สหพัฒน์' ชี้บะหมี่ฯพรีเมียมชะลอ เหตุผู้บริโภครัดเข็มขัด ขาดเชื่อมั่น

บะหมี่ฯพรีเมียม ส่งสัญญาณชะลอตัว เหตุราคาแพง ต้องรัดเข็มขัด ประหยัดใช้จ่าย อีกตัวแปรคือขาดความเชื่อมั่น “สหพัฒน์” ส่ง “มาม่า” รสชาติใหม่เซอร์ไพรส์ตลาด มุ่งดันยอดขายรวมโต 10% ตามเป้า หลังครึ่งปีแรกโตแค่7%

นายเวทิต โชควัฒนา กรรมการผู้อำนวยการ บริษัท สหพัฒนพิบูล จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า สถานการณ์ตลาดสินค้าอุปโภคบริโภค(FMCG) ปรับตัวดีขึ้นมาก โดยมีแรงส่งจากการท่องเที่ยวกลับมาคึกคัก ทำให้ต้องกินต้องใช้สินค้าจำเป็นมากขึ้น แต่ภาพรวมอาจยังไม่ฟื้นตัวกลับมาเต็มร้อยก็ตาม

 นอกจากนี้ สิ่งที่น่าสนใจของพฤติกรรมผู้บริโภคในการซื้อสินค้าจำเป็นห้วงเวลานี้ กลุ่มบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป เกิดเปลี่ยน จากเดิมตลาดบะหมี่ฯพรีเมียมที่ราคาค่อนข้างสูง ขายดิบขายดี มีการเติบโต กลับเริ่มอยู่ในภาวะทรงตัวหรือไม่เติบโตเหมือนที่ผ่านมา สะท้อนผู้คนประหยัดเงินในกระเป๋า และการใช้จ่ายมากขึ้น

“ตลาดบะหมี่ฯพรีเมียมมีการเติบโตดีมาตลอด แต่ตอนนี้เริ่มอยู่ตัว ไม่โตเหมือนเมื่อก่อน เพราะผู้บริโภคประหยัดมากขึ้น จึงเห็นพฤติกรรมการซื้อบะหมี่ฯหลัก(เมนสตรีม)หรือแบบซองมากขึ้น สถานการณ์ดังกล่าวยังสะท้อนถึงความไม่เชื่อมั่นของผู้บริโภคด้วย หากความเชื่อมั่นกลับมา ประชาชนอาจซื้อข้าวของจำเป็นราคาแพง พรีเมียมอีกครั้ง”

ส่วนมาม่า ยังคงสร้างยอดขายเติบโตทั้งกลุ่มเมนสตรีมหรือแบบซอง และบะหมี่ฯพรีเมียม และครึ่งปีหลังบริษัทจะมีการสร้างเซอร์ไพรส์ให้ตลาดและผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายด้วยการออกรสชาติใหม่ เตรียมเปิดตัวครั้งแรกในงานสหกรุ๊ปแฟร์ครั้งที่ 27 มิ.ย.ถึง 2 ก.ค. 2566 ที่ไบเทค บางนา โดยจะไม่สื่อสารการตลาดผ่านสื่อทีวี(ออนแอร์) หรือออนไลน์ด้วย

แนวทางการทำตลาดสินค้าอุปโภคบริโภคครึ่งปีหลัง สหพัฒน์ยังคงใช้กลยุทธ์การออกสินค้าใหม่ รสชาติใหม่ เพื่อสร้างสีสันและความตื่นเต้น กระตุ้นการใช้จ่าย โดยสินค้าเรือธงยังเน้นมาม่า ด้านการสื่อสารตลาดจะใช้งบประมาณให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อสูง ส่งผลกระทบต่อการลดมูลค่าของเงิน

นอกจากนี้ ด้านการลงทุน สหพัฒน์ ได้ทุ่มงบประมาณ 1,000 ล้านบาท เพื่อสร้างคลังสินค้าแห่งใหมที่จังหวัดชลบุรี เพื่อเป็นฮับโลจิสติกส์ของภูมิภาค โดยเปิดให้บริการเฟสแรกแล้ว ส่วนเฟส 2 จะมีการทำคลังสินค้าอัตโนมัติ ซึ่งต้องมีการลงทุนเพิ่ม แต่ยังไม่ระบุเม็ดเงิน ทว่าบริษัทมีกระแสเงินสดจำนวนมากพร้อม

“เงินทุนไม่ใช่ประเด็น แต่บริษัทต้องพิจารณาว่าการนำเทคโนโลยี ระบบอัตโนมัติมาใช้ จะเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้านใด แก้ปัญหาหรือ Pain point และการเพิ่มกำลังการผลิต(Capacity)ได้มากน้อยแค่ไหน”

บริษัทยังมีการนำเทคโนโลยี ระบบการค้าขายออนไลน์มาเสริมศักยภาพมากขึ้น โดยเฉพาะเอื้อให้พันธมิตรคู่ค้าทั้งรายเล็กและใหญ่สามารถสั่งซื้อสินค้าได้ทันทีหรือลูกค้ากลุ่ม B2B และยังมีหน่วยรถเร็ว เพื่อส่งของให้ลูกค้าเสมือนม้าเร็ว รวมถึงการนำรถยนต์พลังงานไฟฟ้า(อีวี)มาใช้ เพื่อรองรับการพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืนในอนาคต จากปัจจุบันบริษัทมีหน่วยรถเพื่อกระจายสินค้าไม่ต่ำกว่า 200 คัน

จากแผนดังกล่าว บริษัทต้องการผลักดันยอดขายปี 2566 ให้เติบโต 10% ขณะที่ช่วง 6 เดือนแรก ยอดขายขยายตัวราว 7% เท่านั้น ส่วนปี 2565 ยอดขายบริษัทมากกว่า 3.5 หมื่นล้านบาท ส่วนกำไรสุทธิกว่า 1,600 ล้านบาท ขณะที่ไตรมาส 1 ยอดขายรวมกว่า 9,500 ล้านบาท กำไรสุทธิกว่า 529 ล้านบาท

“สินค้าอุปโภคบริโภคยังไม่ฟื้นตัวเต็มร้อย แต่เทียบกับปีก่อน ถือว่าดีขึ้นมากนับตั้งแต่หลังโควิด-19 คลี่คลาย ห้างร้านขายสินค้าดีขึ้น การท่องเที่ยวคึกคัก ความรู้สึกของผู้บริโภคดี มีการเดินทาง พร้อมใช้จ่ายต่อเนื่อง"