ร้านอาหาร-เบเกอรี อ่วมผลกระทบต้นทุน ‘เอสแอนด์พี’ จ่อปรับราคาครึ่งปีหลัง
แม้ธุรกิจอาหารจะ “ฟื้นตัว” อย่างชัดเจน โดยเฉพาะการรับประทานที่ร้านหรือ Dine-in แต่สิ่งที่ดูเหมือนจะสกัด “การเติบโต” คือภาวะ “ต้นทุน” ที่พุ่งแรง จนผู้ประกอบการโอดครวญ "เอสแอนด์พี" หนึ่งในผู้เล่นสำคัญ ครึ่งปีหลังจ่อปรับราคาสินค้าบางรายการ
“เอสแอนด์พี” เป็นหนึ่งในบิ๊กร้านอาหารและเบเกอรีชั้นนำของเมืองไทย และทำตลาดยาวนาน 50 ปี ซึ่งนอกจากการเปิดร้านใหม่เปิด ปรับสาขาเดิม ปีนี้ 2566 เพื่อฉลองการเดินทาง 5 ทศวรรรษ บริษัทจะนำเมนู สินค้าที่ดัง ทำเงินในอดีตกลับมาปัดฝุ่น เสิร์ฟผู้บริโภคอีกครั้ง
ขณะที่ผ่านไตรมาสแรก เอสแอนด์พี สร้างผลประกอบการได้อย่างดี โดยเฉพาะ “กำไร” 105 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17 ล้านบาท หรือเติบโต 20% เป็นกำไรที่ “สูงสุด” ในรอบ 10 ปีด้วย ส่วนยอดขายเติบโตทั้งนั่งทานที่ร้าน ยิ่งสาขาในห้างค้าปลีก โรงพยาบาล รวมถึงสาขาต่างประเทศ
- ต้นทุนโจทย์ใหญ่กระทบธุรกิจ
ทว่า แนวโน้มไตรมาส 2 จนถึงช่วงที่เหลือของปี โมเมนตัมการเติบโตยังมีทิศทางที่ดี เนื่องจากบริษัทจะออกสินค้าเมนูใหม่ฉลอง 50 ปี มีเทศกาล เช่น วันแม่ การเฉลิมฉลองต่างๆ เป็นแรงส่งให้ร้านอาหาร เบเกอรียังสดใส ทว่า โจทย์หิน เป็นเรื่อง “ต้นทุน”
“ที่ผ่านมา ต้นทุนเป็นสิ่งที่ควบคุมยาก ทำให้บริษัทต้องลีนในส่วนของโรงงานเบเกอรี บริหารจัดการให้มีประสิทธิภาพ เพิ่มประสิทธิผล ร่มกับซัพพลายเอร์ทำงาน” วิทูร ศิลาอ่อน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และ กำธร ศิลาอ่อน กรรมการผู้จัดการใหญ่สายการผลิตและการเงิน บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน)
นอกจากมุ่งทำให้โรงงานผลิตเบเกอรีประหยัด ทำงานยอดเยี่ยมขึ้น เพื่อลดผลกระทบต้นทุนสูง บริษัทยังมีการซื้อวัตถุดิบผลิตสินค้าล่วงหน้ามาสต๊อกไว้ รวมถึงการ “ปรับสูตร” สินค้าให้คงความอร่อยแต่ลดต้นทุนได้ ส่วนวัตถุดิบบางตัว เช่น เนื้อหมูราคาปรับลง แต่ต้องจับตาดูว่าจะยั่งยืนหรือไม่ ที่สำคัญการหาคู่ค้าที่ป้อนวัตถุดิบต่างๆหรือซัพพลายเออร์ใหม่ๆ เพื่อกระจายการ “ผูกขาด” ด้านราคาด้วย ด้านพลังงาน นอกจากติดตั้งโซลาร์เซลล์ ลดการพึ่งพาพลังงานราว 50% ยังเปลี่ยนอุปกรณ์ต่างๆเพื่อให้ใช้ไฟอย่างเหมาะสม มีประสิทธิภาพ เป็นต้น
ส่วนไตรมาส 2 สถานการณ์ต้นทุนไม่แผ่วลงเลย ทั้งวัตถุดิบแป้ง ไข่ ที่ใช้ทำขนมและเบเกอรีต่างๆ เนยที่ปรับขึ้นแล้วขึ้นอีก ค่าพลังงานไฟฟ้า ที่เวลานี้ราคาก๊าซธรรมชาติเริ่มอ่อนตัวลง แต่ต้นทุนค่าไฟกลับยังไม่ลด รวมถึง “ค่าเช่า” ของร้านอาหารและเบเกอรีที่อยู่ในห้างค้าปลีกต่างๆ ซึ่ง “แลนด์ลอร์ด” ได้ขยับค่าเช่าไปเรียบร้อยตั้งแต่ไตรมาส 1 ที่ผ่านมา แม้บริษัทพยายามจะเจรจาให้เห็นใจ เนื่องจากยอดขายยังไม่กลับมาเท่ากับก่อนโควิด แต่ “อำนาจต่อรอง” ไม่ได้เปรียบแลนด์ลอร์ดใหญ่อยู่แล้ว
- ครึ่งปีหลังปรับราคาบางเมนู
แผนครึ่งปีหลัง เอสแอนด์พี มีไฮไลท์สำคัญคือการเปิดตัวแคมเปญพิเศษ 50 ปี เน้นทำตลาดเค้กปอนด์ เจาะกลุ่มเป้าหมายเด็ก ผู้ใหญ่ มีขนมไหว้พระจันทร์ เสิร์ฟลูกค้า ร้านอาหารมีการนำเมนูในอดีตราว 20 รายการ กลับมาบริการลูกค้า รวมกับเมนูซิกเนเจอร์ยอดฮิต เพื่อเพิ่มทางเลือกให้ลูกค้า และกระตุ้นบางกลุ่มที่ยังไม่เคยลอง มาลิ้มลองความอร่อย
“เราจะรีดีไซน์เมนู 50 ปี 50 เมนู และอาจปรับราคาบางเมนู ที่คิดว่าไม่กระทบลูกค้ามากนัก”
นอกจากนี้ จะเห็นการกลับมาเปิดร้านอาหารและเบเกอรีสาขาเดิมๆ ที่ “ปิด” ไปช่วงโควิดระบาด เนื่องจากผลงานไม่เข้าเป้า โดยภาพรวมจุดขายสินค้าไตรมาส 1 หายไปราว 30 จุดเทียบปีก่อน และบริษัทยังขยายตลาดเจาะลูกค้าฟู้ดเซอร์วิสมากขึ้น ทั้งสายการบิน ร้านคาเฟ่ต่างๆ
สำหรับ ไตรมาส 1 เอสแอนด์พีมีร้านอาหารให้บริการทั้งสิ้น 466 สาขา แบ่งเป็นในประเทศ 453 สาขา และต่างประเทศ 13 สาขา แยกตามแบรนด์ ร้านเอสแอนด์พี เรสเตอรองท์ 138 สาขา เอสแอนด์พี เบเกอรี ช็อป 272 สาขา ร้านเอสแอนด์พี เดลต้า 33 สาขา ไมเซ็น 11 สาขา เป็นต้น
“ช่วง 7 เดือนที่เหลือ เราจะเร่งยอดขายให้เติบโต”
- ยอดขายยังห่าง 7,000 ล้านบาท
วิกฤติโควิด-19 ระบาด สร้างผลกระทบใหญ่หลวงต่อชีวิต ไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภค และฉุด “รายได้” ธุรกิจให้ตกอยู่ในห้วงแห่งความยากลำบาก เอสแอนด์พี หนีไม่พ้นเช่นกัน ก่อนโรคระบาดหรือปี 2562 บริษัทสร้างรายได้กว่า 7,000 ล้านบาท จากนั้น “หดตัว” ตามสถานการณ์และภาพรวมตลาด
ส่วนปี 2565 รายได้ฟื้นมาแตะกว่า 5,700 ล้านบาท ส่วนปี 2566 กลยุทธ์ต่างๆ จะทำให้ความอู้ฟู่ทะยานสู่ 7,000 ล้านบาทหรือไม่ คำตอบคือ ยังไม่เห็นภาพดังกล่าว
“ถ้าจุดขายเราเท่าก่อนโควิด ยอดขายอาจกลับไปแตะ 7,000 ล้านบาท แต่เนื่องจากจุดขายหายไปเยอะ ทำให้ปีนี้ยอดขายยังไม่กลับไปเท่าโควิด และเรามุ่งเน้นทำกำไรมากกว่ายอดขาย