'บิ๊กโรงแรมไทย' ฝ่าคลื่นท้าทายครึ่งปีหลัง! หวัง 'จีน' ติดสปริงหนุนฟื้นแรง

'บิ๊กโรงแรมไทย' ฝ่าคลื่นท้าทายครึ่งปีหลัง!  หวัง 'จีน' ติดสปริงหนุนฟื้นแรง

ช่วงครึ่งหลังของปี 2566 คือห้วงเวลาแห่ง “ความคาดหวัง” ของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวทั้งในประเทศไทยและทั่วโลก! องค์การการท่องเที่ยวโลกแห่งสหประชาชาติ (UNWTO) คาดว่าปีนี้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวโลกจะฟื้นตัวในระดับ 80-95% ของปีก่อนโควิด และสามารถกลับไปสู่ภาวะปกติในปี 2567

ปัจจัยสำคัญคือการฟื้นตัวของการเดินทางของนักท่องเที่ยว “ภูมิภาคเอเชีย” โดยเฉพาะ "ประเทศจีน" ซึ่งครองส่วนแบ่งการตลาดใหญ่ที่สุดของโลกในปี 2562 รวมถึง “ปัจจัยหน่วง” ด้านเศรษฐกิจและความขัดแย้งเชิงภูมิรัฐศาสตร์ ที่อาจส่งผลต่อพฤติกรรมการเลือกจุดหมายปลายทางของนักท่องเที่ยวที่คาดว่าจะแสวงหาความคุ้มค่าและเดินทางภายในประเทศหรือระหว่างภูมิภาคมากขึ้น เพื่อตอบสนองต่อภาวะเศรษฐกิจอันแสนท้าทาย!

 

++ 'เอส โฮเทลฯ' คาดผลประกอบการฟื้นดีและชัดในครึ่งปีหลัง

เดิร์ก อังเดร ลีน่า เดอ คุยเปอร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอส โฮเทล แอนด์ รีสอร์ท จำกัด (มหาชน) หรือ SHR กล่าวว่า ฝ่ายบริหารคาดการณ์ว่าผลประกอบการของ “เอส โฮเทลฯ” จะสามารถฟื้นตัวดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัดในปี 2566 โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งปีหลัง! เนื่องจากเข้าสู่ช่วงฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) ของภูมิศาสตร์สำคัญของบริษัทฯ

ทั้งนี้ ฝ่ายบริหารยังคงติดตามความคืบหน้าของปัจจัยต่างๆ ที่อาจส่งผลต่อการดำเนินกิจการอย่างใกล้ชิด เนื่องจากอัตราการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวนั้นแตกต่างกันไปในแต่ละภูมิภาคและในแต่ละประเทศ ขึ้นอยู่กับลักษณะเฉพาะ รวมถึงกลุ่มลูกค้า และความท้าทายทางเศรษฐกิจในแต่ละประเทศนั้นๆ

 

++ 'ดิ เอราวัณ' หวัง 'จีน' ติดสปริงท่องเที่ยวฟื้นแรง

วรมน อิงคตานุวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการ และประธานเจ้าหน้าที่การเงิน บริษัท ดิ เอราวัณ กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยในไตรมาส 2-4 (เม.ย.-ธ.ค.) ของปี 2566 ยังคงมีแนวโน้มฟื้นตัวต่อเนื่องจากไตรมาส 1 ที่เติบโตอย่างโดดเด่น ทั้งจากตลาดนักท่องเที่ยวไทยและต่างชาติ โดยภาครัฐคาดมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยในปี 2566 จำนวน 25 ล้านคน คิดเป็นการฟื้นตัว 63% เทียบกับปี 2562 และเติบโตอย่างต่อเนื่องจากปี 2565 ซึ่งมีจำนวน 11.2 ล้านคน โดยเฉพาะอย่างยิ่งจำนวน “นักท่องเที่ยวจีน” มีแนวโน้มเติบโตอย่างเห็นได้ชัดในช่วงครึ่งปีหลังนี้ ส่วนตลาดนักท่องเที่ยวไทยคาดเติบโตเช่นกันจากความเชื่อมั่นของการเดินทางในประเทศ

“ดิ เอราวัณ กรุ๊ป” เชื่อมั่นว่าจะเห็นการเติบโตของธุรกิจที่แข็งแกร่งอย่างต่อเนื่อง ตามทิศทางการฟื้นตัวของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว โดยบริษัทฯ ยังคงประมาณการการเติบโตของรายได้ที่ 45% จากการสนับสนุนของอัตราเข้าพักเฉลี่ยซึ่งคาดว่าจะอยู่ในระดับสูงที่ 75-80% และการเติบโตของราคาห้องพักเฉลี่ยมากกว่า 20% จากปี 2565

นอกจากนี้ บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการขยายการลงทุนใน "กลุ่มโรงแรมบัดเจ็ท" ทั้งในประเทศไทยและประเทศฟิลิปปินส์ รวมถึงมองหาโอกาสขยายในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก โดย ณ สิ้นไตรมาส 1/2566 บริษัทฯ มีโครงการอยู่ระหว่างการพัฒนาจำนวน 10 แห่ง แบ่งเป็นโรงแรมฮ็อป อินน์ ในประเทศไทย จำนวน 7 แห่ง และอีก 3 แห่งในประเทศฟิลิปปินส์ เพื่อก้าวสู่การเป็นผู้นำเครือข่ายโรงแรมระดับบัดเจ็ทที่มีมาตรฐานสม่ำเสมอ รวมถึงดำเนินการปรับปรุงโรงแรมระดับ 3-5 ดาว เพื่อตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้าและตลาดที่เปลี่ยนไป เป็นไปตามแผนกลยุทธ์ระยะยาวของบริษัทฯ

\'บิ๊กโรงแรมไทย\' ฝ่าคลื่นท้าทายครึ่งปีหลัง!  หวัง \'จีน\' ติดสปริงหนุนฟื้นแรง

“แม้ว่าปี 2566 จะเห็นแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย แต่ยังคงมีปัจจัยต่างๆ ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อผลการดำเนินงานของบริษัทฯ ตลอดจนทิศทางของอุตสาหกรรมท่องเที่ยว เช่น สภาวะเศรษฐกิจโลก โดยเฉพาะด้านราคาพลังงาน อัตราเงินเฟ้อ และอัตราดอกเบี้ย ล้วนเป็นปัจจัยที่บริษัทฯ ให้ความสำคัญและติดตามอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้บริษัทฯได้เตรียมความพร้อมเพื่อพิจารณาเปลี่ยนแปลงกลยุทธ์และนโยบายต่างๆ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงตลอดเวลา โดยคำนึงสถานการณ์และสภาพคล่องของบริษัทฯ เป็นปัจจัยสำคัญ” วรมน กล่าว

 

++ 'ไมเนอร์' รุกส่งออกแบรนด์โตนอกประเทศต้นทาง

ชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ MINT กล่าวว่า ช่วงนอกฤดูกาลท่องเที่ยว (โลว์ซีซัน) ของทวีปยุโรปในไตรมาสแรกได้ผ่านพ้นไปแล้ว และการดำเนินงานทั่วทุกภูมิภาคสำหรับไตรมาสต่อๆ ไปมีแนวโน้มแข็งแกร่งขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ซึ่งอยู่ในระดับสูงกว่าที่บริษัทฯ ได้คาดการณ์ไว้

การท่องเที่ยวเพื่อการพักผ่อนภายในประเทศและภายในทวีปยุโรปยังคงเติบโตอย่างแข็งแกร่ง ประกอบกับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางธุรกิจ การประชุมและงานจัดแสดงสินค้า รวมถึงการเดินทางสำหรับองค์กรที่มีขนาดใหญ่ขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักเฉลี่ยของโรงแรมในทวีปยุโรปและลาตินอเมริกาในปี 2566 คาดว่าจะกลับไปอยู่ในระดับเดียวกับปี 2562 นอกจากนี้กลยุทธ์การกำหนดราคาห้องพักเชิงรุก จะช่วยผลักดันราคาห้องพักให้สูงขึ้น

สำหรับโรงแรมในไทยและประเทศในทวีปเอเชีย มียอดการจองห้องพักที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว สอดคล้องกับการเริ่มกลับมาให้บริการเที่ยวบินอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้อัตราการเติบโตคาดว่าจะสูงขึ้นอีกในช่วงครึ่งหลังของปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อนักท่องเที่ยวจีนเริ่มเดินทางเข้ามามากขึ้น

กลุ่มโรงแรมในทวีปเอเชียและยุโรปคาดว่าจะได้รับประโยชน์สูงขึ้นจากโอกาสในการขายข้ามภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง จากความพยายามในการขยายแบรนด์โรงแรม “ออกนอกประเทศต้นกำเนิด” ของแบรนด์นั้นๆ โดยโรงแรมภายใต้ “กลุ่มโรงแรมเอ็นเอช” เปิดให้บริการในทวีปเอเชียและตะวันออกกลาง ในขณะที่แบรนด์ “อนันตรา” และ “อวานี” ได้ก้าวเข้าสู่ทวีปยุโรป

\'บิ๊กโรงแรมไทย\' ฝ่าคลื่นท้าทายครึ่งปีหลัง!  หวัง \'จีน\' ติดสปริงหนุนฟื้นแรง นอกจากนี้ กลุ่ม “ไมเนอร์ โฮเทลส์” ได้ดำเนินกลยุทธ์ต่างๆ เช่น กลยุทธ์การขาย การตลาด โซเชียลมีเดีย และโปรแกรมความภักดี เพื่อทำให้โรงแรมเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย และส่งเสริมการขายข้ามแบรนด์และข้ามภูมิภาค เช่น แบรนด์อนันตราในประเทศไทย ได้ใช้โซเชียลมีเดียเพื่อทำให้โรงแรมอนันตราแห่งใหม่ในทวีปยุโรปเป็นที่รู้จัก ขณะที่สำนักงานขายในกรุงมาดริดได้ผลักดันการขายโรงแรมภายใต้แบรนด์โอ๊คส์ในประเทศออสเตรเลียด้วยเช่นกัน

 ทั้งนี้ การประหยัดต่อขนาด ยังช่วยให้บริษัทฯ มีอำนาจต่อรองกับพันธมิตรทางธุรกิจมากขึ้น เช่น บริษัทตัวแทนการท่องเที่ยวออนไลน์ อีกทั้งการรวมโปรแกรมความภักดีของเอ็นเอชเข้ากับ GHA ในปีที่ผ่านมา คาดว่า จะช่วยให้การจองห้องพักโดยตรงมีสัดส่วนที่สูงขึ้น

 

++ 'เซ็นทารา' เดินเกมรัดกุมคุมต้นทุน พร้อมรับมือ ศก.ถดถอย

กันย์ ศรีสมพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่การเงิน และรองประธานฝ่ายการเงินและบริหาร บริษัท โรงแรมเซ็นทรัลพลาซา จำกัด (มหาชน) หรือ CENTEL ผู้ดำเนินธุรกิจโรงแรมเครือ “เซ็นทารา” มองว่า ปัจจัยที่มีผลต่อการดำเนินงานในปี 2566 การฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมยังคงมีความท้าทาย ทั้งในเรื่องจำนวนเที่ยวบิน ต้นทุนค่าเดินทางที่สูงขึ้น สถานการณ์ต้นทุนวัตถุดิบและค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการที่เพิ่มสูงขึ้น ต้นทุนทางการเงินที่สูงขึ้น และความเสี่ยงของเศรษฐกิจถดถอย 

บริษัทฯจึงยังคงดำเนินแผนธุรกิจและควบคุมต้นทุนทั้งธุรกิจโรงแรมและธุรกิจอาหารด้วยความระมัดระวังอย่างต่อเนื่อง รวมถึงแผนการจ่ายคืนเงินต้นก่อนกำหนดสำหรับเงินกู้สกุลเงินดอลลาร์สหรัฐที่มีดอกเบี้ยสูงกว่าสกุลบาทเพื่อลดผลกระทบของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยโดยรวม รวมถึงมีแผนการออกหุ้นกู้เพื่อเพิ่มสัดส่วนอัตราดอกเบี้ยคงที่แทนอัตราดอกเบี้ยลอยตัว

\'บิ๊กโรงแรมไทย\' ฝ่าคลื่นท้าทายครึ่งปีหลัง!  หวัง \'จีน\' ติดสปริงหนุนฟื้นแรง