แค่เผลอ...ก็ผิดได้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

แค่เผลอ...ก็ผิดได้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

ตลาดอีคอมเมิร์ซ (E-Commerce) ไทยยังคงเป็นประเด็นที่ถูกกล่าวขานอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงเดือนที่ผ่านมา

จากการที่แพลตฟอร์ม (Platform) ค้าปลีกออนไลน์ 2 รายใหญ่ได้ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมการขายบนแพลตฟอร์มทุกหมวดสินค้าสำหรับผู้ขายทั่วไปที่ไม่ใช่ร้านค้าทางการ (Non-Mall Sellers) โดยเป็นการปรับขึ้นพร้อมกันและในอัตราเดียวกัน ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งผู้ขายและผู้ซื้อบนแพลตฟอร์มในวงกว้าง 

ทำให้เกิดคำถามในใจหลายคนว่า การปรับขึ้นค่าธรรมเนียมในครั้งนี้เข้าข่าย “การฮั้ว” กันของเจ้าของแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์รายใหญ่ในตลาดหรือไม่ ปัจจุบันเป็นที่ทราบกันดีว่าแพลตฟอร์มทั้ง 2 รายนี้มีจำนวนผู้เข้าใช้งานมากที่สุด

เมื่อเทียบกับผู้ให้บริการค้าปลีกออนไลน์รายอื่นในประเทศ เมื่อรวมการเข้าใช้งานของทั้ง 2 แพลตฟอร์มแล้ว จะพบว่า มีจำนวนมากกว่าครึ่งหนึ่งของจำนวนการเข้าใช้บริการอีคอมเมิร์ซทั้งหมดของประเทศไทย

จะเห็นได้ว่า พฤติกรรมของผู้บริโภคมีวิถีการใช้ชีวิตใกล้ชิดกับดิจิทัล (Digital) มากขึ้น และเน้นความสะดวก รวดเร็วเป็นหลักในการจับจ่ายสินค้าและบริการ อีกทั้งแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ก็ทำให้เกิดการซื้อขายสินค้าและบริการได้ตลอด 24 ชั่วโมง

จึงกลายเป็นช่องทางการซื้อขายหลักของผู้คนทั่วไป ดังนั้น เมื่อผู้ค้าในตลาดมีการขยับ ปรับตัว ปรับขึ้นค่าธรรมเนียมใดๆ ก็ตาม ย่อมส่งผลกระทบเป็นลูกโซ่อย่างมิอาจปฏิเสธได้

แม้ในความเป็นจริงผู้ค้ารายใหญ่ทั้ง 2 ราย จะมีสถานะเป็นคู่แข่งขันกันในตลาดก็ตาม แต่เมื่อมีพฤติกรรมการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมพร้อมกันและในอัตราเดียวกัน จึงไม่แปลกที่หลายฝ่ายต่างก็มีความเห็นไปในทิศทางเดียวกันว่า พฤติกรรมดังกล่าวนี้อาจเป็นการฮั้วกัน ซึ่งอาจเข้าข่ายความผิดตามมาตรา 54 และ 55 ของ พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

จากความเห็นที่เป็นข้อสังเกตของหลายฝ่าย สำนักงานคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า (กขค.) มิได้นิ่งเฉย หากแต่ได้เชิญผู้บริหารแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ทั้ง 2 ราย มาให้ข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมดังกล่าว 

แค่เผลอ...ก็ผิดได้ | วิษณุ วงศ์สินศิริกุล

เหตุผลหลักของการปรับขึ้นค่าธรรมเนียมต่างๆ นั้น เป็นเพราะการเพิ่มขึ้นของต้นทุนที่สั่งสมมาอย่างต่อเนื่อง ประกอบกับบริษัทผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ก็ประสบปัญหาขาดทุน มาโดยตลอด

อย่างไรก็ตาม การขึ้นค่าธรรมเนียมในครั้งนี้ ทางบริษัทยืนยันว่าได้ประกาศให้ผู้ประกอบธุรกิจที่เป็น คู่ค้าทราบล่วงหน้าในระยะเวลาที่เหมาะสมแล้ว

อาจกล่าวได้ว่า แม้ผู้ให้บริการแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ทั้ง 2 ราย จะแสดงเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่าไม่มีเจตนาที่จะมีพฤติกรรมของการฮั้วกันตามที่หลายฝ่ายตั้งข้อสังเกตก็ตาม แต่พฤติกรรมนี้อาจนำไปสู่การกระทำความผิดได้ตามที่กล่าวข้างต้น

ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจทั้งหลายควรระมัดระวัง และหลีกเลี่ยงการร่วมกับผู้ประกอบธุรกิจรายอื่นที่แข่งขันในตลาดเดียวกัน ในการกําหนดราคาเพื่อให้เป็นราคาเดียวกัน หรืออยู่ในช่วงราคาที่ตกลงกัน หรือมีการปรับราคาให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน 

ทั้งนี้เป็นเพราะการกําหนดช่วงราคาหรือสัดส่วนของราคาที่ผู้ประกอบธุรกิจแต่ละรายสามารถปรับขึ้นหรือลด และก่อให้เกิดการผูกขาด หรือลดการแข่งขัน หรือจํากัดการแข่งขันในตลาด ถือเป็นพฤติกรรมที่ฝ่าฝืน พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560

และแน่นอนที่สุด หากมีพฤติกรรมเหล่านี้เกิดขึ้น ก็ถือเป็นหน้าที่ของสำนักงาน กขค. ที่จะแสวงหาข้อเท็จจริงเพื่อดำเนินการตามกฎหมายต่อไป

อย่างไรก็ตาม สำนักงาน กขค.ยังคงยึดมั่นที่จะใช้แนวทางการป้องปรามมากกว่าการปราบปราม ด้วยการจัดบรรยายให้ความรู้เพื่อสร้างการตระหนักรู้ และกระตุ้นให้ผู้ประกอบธุรกิจมีความรู้ ความเข้าใจ และรู้จักใช้ประโยชน์จาก พ.ร.บ.การแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2560 รวมถึงแนวทางการพิจารณา กฎ และระเบียบต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

ยิ่งกว่านั้น หากผู้ประกอบธุรกิจเกิดความสงสัยว่ากลยุทธ์ทางการค้าต่างๆ ที่กำลังจะดำเนินการนั้น สามารถกระทำได้หรือไม่ ผู้ประกอบธุรกิจสามารถยื่นคําร้องต่อ กขค. เพื่อให้พิจารณาวินิจฉัยเป็นการล่วงหน้าได้

โดยการขอคำวินิจฉัยล่วงหน้านั้น จะต้องเป็นพฤติกรรมของผู้ประกอบธุรกิจซึ่งมีอํานาจเหนือตลาดตามมาตรา 50 หรือการประกอบธุรกิจที่มีลักษณะตามมาตรา 54 มาตรา 55 มาตรา 57 หรือมาตรา 58 

กขค.จะพิจารณาวินิจฉัยให้แล้วเสร็จภายใน 60 วัน และสำนักงาน กขค.จะแจ้งให้ผู้ร้องขอทราบภายใน 7 วัน ทั้งนี้เพื่อป้องกันมิให้ผู้ประกอบธุรกิจเผลอกระทำความผิด เพราะความผิดที่เกิดจากความเผลอย่อมถือเป็นความผิดที่สมบูรณ์!