สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1 บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง

สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1  บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง

เมื่อร้านอาหารมองปัจจัยบวกเริ่มเห็นภาพชัด ทั้งเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวกลับมา แล้วผลงานไตรมาสแรก ยอดขาย-กำไรเป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ ชวนสำรวจผลประกอบการบิ๊กแบรนด์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

ปี 2566 สถานการณ์ธุรกิจถือว่ากลับมาปกติ เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน เพราะยังรับมือและโดนหางเลขของโรคโควิด-19 อยู่บ้าง ขณะเดียวกันปัจจัยบวกปีนี้ ผู้ประกอบการหลายเซ็กเตอร์เห็นพ้องกันว่า นักท่องเที่ยว “ฟื้นตัว” และเป็นตัวแปรสำคัญที่ช่วยเพิ่มการบริโภค นอกเหนือจากกำลังซื้อคนไทยในประเทศ

ภาพรวมผลงานไตรมาสแรก ธุรกิจร้านอาหารเป็นอย่างไร กรุงเทพธุรกิจ ชวนสำรวจ “ยอดขาย-กำไร” บิ๊กแบรนด์ที่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย(ตลท.)

“เอ็มเค” ยังทำเงินจากสุกี้แกร่ง

ประเดิมบิ๊ก 4 หรือยักษ์ใหญ่อย่างอาหารหม้อร้อนหรือสุกี้ ภายใต้บริษัท เอ็มเค เรสโตรองต์ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) ที่โกยรายได้จากการขายบริการรวม 4,089 ล้านบาท เติลโต 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ส่วน “กำไรสุทธิ” จำนวน 325 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 20.1% ซึ่งเข้าสู่สภาวะปกติมากขึ้น เมื่อเทียบกับช่วงที่ผ่านมา อาจเห็นตัวเลขมั่งคั่งเพิ่มขึ้นหลัก 1000% จากฐานที่ต่ำในช่วงโควิดนั่นเอง

ทั้งนี้ แยกโครงสร้างราได้ตามแบรนด์ เอ็มเค สุกี้ ยังทำเงินมากสุด 74% ตามด้วยยาโยอิ 18% แหลมเจริญ 6% และอื่นๆ ในพอร์ต ทั้งนี้ ช่องทางนั่งรับประทานที่ร้าน(Dine-in)อยู่ที่ 84% เพิ่มจากปีก่อนอยู่ที่ 75% สะท้อนผู้คนกลับมาใช้ชีวิต รับประทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น ส่วนซื้อกลับบ้านลดเหลือ 6% จาก 9% และเดลิเวอรีลดเหลือ 10% จาก 16%

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่บริษัทเผชิญคือ “ค่าใช้จ่าย” ที่เพิ่มเป็นเงาตามตัว ซึ่งไตรมาสแรกค่าใช้จ่ายในการขายและบริการเพิ่มขึ้น 15% มูลค่า 2,307 ล้านบาท ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายพนักงาน ค่าสาธารณูปโภค ค่าเช่า เป็นต้น

สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1  บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง “รายได้จากการขายเพิ่มขึ้น โดยสาขาเดิมหรือ Same store เพิ่มขึ้น 16% เนื่องจากการแพร่ระบาดโควิดปรับตัวดีขึ้น ประชาชนส่วนใหญ่กลับมาใช้ชีวิตปกติ รัฐมีมาตรการกระตุ้นการใช้จ่ายภาคเอกชน เพื่อฟื้นเศรษฐกิจโดยเร็ว การค้าและบริการฟื้นตัว ท่องเที่ยวปรับตัวดีขึ้นมาก”

ไมเนอร์ ฟู้ดฯ กำไรโต 4 เท่า

ไมเนอร์ ฟู้ด กรุ๊ป ถือเป็น 1 ใน บิ๊ก 4 ธุรกิจร้านอาหาร มีแบรนด์ในพอร์ตโฟลิโอมากถึง 17 แบรนด์ เช่น สเวนเซ่นส์ แดรี่ ควีน เดอะ พิซซ่า คอมปะนี เบอร์เกอร์ คิง เดอะ คอฟฟี่ คลับ ซิซซ์เลอร์ เป็นต้น โดยมีร้านให้บริการในไตรมาส 1 ทั้งสิ้น 2,540 สาขา เพิ่มขึ้น 130 สาขา จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเดอะ พิซซ่า คอมปะนี มีร้านมากสุด 577 สาขา แดรี่ ควีน 503 สาขา เดอะ คอฟฟี่ คลับ 396 สาขา และสเวนเซ่นส์ 349 สาขา บอนชอน 114 สาขา เป็นต้น

ไตรมาสแรก 2566 ไมเนอร์ ฟู้ดฯ สร้าง “กำไร” เติบโต 4 เท่าตัว เมื่อแยกยอดขายเฉลี่ยต่อร้านหรือ Same Store โตเฉลี่ย 11.4% เทียบไตรมาส 1 ปีก่อนอยู่ที่ 4.2% และยอดขายเฉลี่ยรวมโต 19.9% จากช่วงเดียวกันปีก่อนอยู่ที่ 11.5% ทั้งนี้ ร้านอาหารสาขาในแหล่งท่องเที่ยวถือว่ากลับมาเปิดให้บริการได้ หลังจากปีก่อนต้องปิดให้บริการชั่วคราว

“เซ็น” เผยร้านอาหารรับอานิสงส์ “ช้อปดีมีคืน”

บริษัท เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) สร้างรายได้รวม 913 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 32% เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน มีกำไรสุทธิ 38 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 374% ปัจจัยหนุนรายได้ธุรกิจอาหารโต สอดคล้อง “เอ็มเค เรสโตรองสต์” ที่มองเศรษฐกิจฟื้นตัว รัฐออกมาตรการช่วยลดค่าครองชีพประชาชน รวมถึงกระตุ้นเศรษฐกิจ ทำให้ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคไตรมาส 1 ปี 2566 อยู่ที่ระดับ 52.7 เพิ่มจาก 47.9

สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1  บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง ไตรมาสแรก เซ็นฯ ยังเดินหน้าขยายธุรกิจ เปิดร้านอาหาร 5 สาขาใหม่ โดยเป็นเจ้าของ 2 สาขา และแฟรนไชส์ 3 สาขา ทำให้สิ้นไตรมาสแรก บริษัทมีร้านอาหารทั้งสิ้น 339 สาขา เป็นของบริษัท 157 สาขา และแฟรนไชส์ 182 สาขา ทำให้สัดส่วนเจ้าของร้านที่ลงทุนเอง 46% และแฟรนไชส์ 54%

เจาะโครงสร้างรายได้ ธุรกิจร้านอาหารทำเงินเพิ่มขึ้น 204 ล้านบาท หรือโตขึ้น 41% เพราะผู้คนออกมาทานอาหารนอกบ้านมากขึ้น และมาตรการ “ช้อปดีมีคืน” เป็นแรงส่ง ส่วนรายได้บริการจัดส่งอาหารและบริการจัดเสี้ยงลดลง 21% ล้านบาท หรือหดตัว 31% จากช่วงเดียวกันปีก่อน เพราะร้านอาหารกลับมาเปิดให้บริการได้ตามปกติ รายได้จากการขายวัตถุดิบให้แฟรนไชส์ลดลง 4% หรือ 11% เพราะสาขาของร้านลดลง โดยเฉพาะแบรนด์เขียง ร้ายได้จากธุรกิจอาหารค้าปลีกเพิ่มขึ้น 37 ล้านบาท หรือโต 58% เกิดจากรับรู้รายได้ของบริษัท คิง มารีน ฟู้ดส์ และรายได้จากให้สิทธิแฟรนไชส์ 4 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 24% จากการเก็บค่าแรกเข้า ค่าต่อสัญญาแฟรนไชส์ และสิทธิ์ รวมถึงค่าการตลาด เป็นต้น

“โออิชิ” ชี้ต้นทุนวัตถุดิบกระเทือน “กำไร”

บริษัท โออิชิ กรุ๊ป จำกัด(มหาชน) แม้จะมีเครื่องดื่มเป็นพอร์ตโฟลิโอใหญ่ แต่หมวดธุรกิจอาหารก็สำคัญ และช่วง 1 ไตรมาสที่ผ่านมา (ม.ค.-มี.ค.66 แต่ตามปีงบประมาณ คือไตรมาส 2 ของบริษัท ภายใต้กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ) สร้างรายได้จากการขายและธุรกิจบริการ 1,467 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 205 ล้านบาท หรือเติบโต 16.2% แรงส่ง ยังคงเป็นภาวะเศรษฐกิจฟื้นตัว นักท่องเที่ยวเยือนไทยมากขึ้น ความเชื่อมั่นผู้บริโภคปรับตัวดีต่อเนื่อง ทำให้จำนวนลูกค้าเข้าไปใช้บริการในร้านอาหาร และ “ใช้จ่าย” ในการบริโภคที่ร้านสูงขึ้น

ทั้งนี้ ยอดขายของร้านอาหารสาขาเดิมเพิ่มขึ้น ส่วนสาขาใหม่ก็เติบโต รายได้จากช่องทางเดลิเวอรียังโต สินค้าอาหารพร้อมปรุงพร้อมทานแบรนด์ “โออิชิ อีทโตะ” แซนวิช เกี๊ยวซ่า เติบโตในช่องทางค้าปลีกทั้งร้านสะดวกซื้อและห้างโมเดิร์นเทรด

แม้ภาพรวมยอดขายเติบโต ต้นทุนการขายและบริการก็ขยับเพิ่ม เพราะวัตถุดิบอาหารพุ่ง กระทบต่อ “กำไร”

สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1  บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง “เอสแอนด์พี” เดลิเวอรีเริ่ม “ทรงตัว”

บริษัท เอส แอนด์ พี ซินดิเคท จำกัด(มหาชน) ที่ยืนแกร่งในตลาดเบเกอรี และมีร้านอาหารให้บริการหลายแบรนด์ ไตรมาส 1 สร้างรายได้รวม 1,436 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 151 ล้านบาท หรือเติบโต 12% ส่วนกำไรสุทธิ 104.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 17% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน ปัจจัยหลักคือยอดขายจากการรับประทานที่ร้านเติบโตขึ้น 62% โดยเฉพาะสาขาในศูนย์การค้า สนามบิน และโรงพยาบาล ที่ยอดเฉลี่ยต่อบิลของลูกค้าเพิ่มขึ้น 9% ส่วนช่องทาง “ซื้อกลับบ้าน” โตเช่นกันที่อัตรา 8.1% เพราะลูกค้ากลับมาใช้บริการในทุกสาขา ส่วน “เดลิเวอรี” รายได้เท่ากับปีก่อน เนื่องจากลูกค้าพฤติกรรมเปลี่ยน กลับมาทานอาหารที่ร้านแทน เป็นต้น

ทั้งนี้ ไตรมาส 1 บริษัทมีร้านอาหารให้บริการทั้งสิ้น 466 สาขา แบ่งเป็นในประเทศ 453 สาขา และต่างประเทศ 13 สาขา แยกตามแบรนด์ ร้านเอสแอนด์พี เรสเตอรองท์ 138 สาขา เอสแอนด์พี เบเกอรี ช็อป 272 สาขา ร้านเอสแอนด์พี เดลต้า 33 สาขา ไมเซ็น 11 สาขา เป็นต้น

“อาฟเตอร์ ยู” เปิดร้านเพิ่มในฮ่องกง-CLMV

ฟากร้านขนมหวานอย่าง บริษัท อาฟเตอร์ ยู จำกัด(มหาชน) สร้างรายได้จากการขาย 264 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 33% ปัจจัยหนุนคือร้านเดิมหรือ Same Store ยอดขายเพิ่ม เพราะลูกค้ากลับมานั่งทานในร้านมากขึ้น อีกทั้งไตรมาสแรกบริษัทเปิดสาขาใหม่เพิ่มด้วย ส่วนกำไรสุทธิ อยู่ที่ 34 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 127%

สำรวจผลงานธุรกิจร้านอาหาร ไตรมาส 1  บิ๊กแบรนด์ ฟื้นตัว โกยกำไรมั่งคั่ง การขยายธุรกิจไตรมาส 1 ของอาฟเตอร์ ยู มีการเปิดร้านขนมหวานรูปแบบ “มาร์เก็ตเพลส” เพิ่ม 2 สาขา ในปั๊ม ปตท. เพชรพระเทพ และปั๊มปตท. พระราม 4 ทำให้มีร้านบริการลูกค้าทั้งสิ้น 53 สาขา นอกจากนี้ กลยุทธ์การออกสินค้าใหม่เสิร์ฟลูกค้าต่อเนื่อง

ส่วนไตรมาส 2 ยังคงเดินเกมรุก เปิดร้านอาฟเตอร์ ยูเพิ่ม 3 สาขา ในกรุงเทพฯ 2 สาขา และระยอง 1 สาขา ส่วนครึ่งปีหลังยังเปิดเพิ่มอีก 3 สาขาใหม่ รวมถึงเปิดร้าน “ลูกก๊อ” เพิ่ม 4 สาขา เน้นทำเลห้างค้าปลีกและคอมมูนิตี้มอล จากเดิมมี 5 สาขา และร้านกาแฟ “มิกก้า” ที่ยังเน้นโมเดลแฟรนไชส์สร้างการเติบโตระยะยาว

ส่วนต่างประเทศ จะเห็นร้านอาฟเตอร์ ยู สาขาที่ 2 ในฮ่องกง และเตรียมเจาะตลาดกัมพูชา ลาว เมียนมาและเวียดนาม(ซีแอลเอ็มวี) ผ่านรูปแบบแฟรนไชส์