ต้นทุนค่าแรง-ค่าไฟ-เศรษฐกิจไม่นิ่ง! อุปสรรค ‘โรงแรมไทย’ ลงทุนยุคหลังโควิด

ต้นทุนค่าแรง-ค่าไฟ-เศรษฐกิจไม่นิ่ง! อุปสรรค ‘โรงแรมไทย’ ลงทุนยุคหลังโควิด

เมื่อภาคท่องเที่ยวฟื้นตัวจากวิกฤติโควิด-19 “ธุรกิจโรงแรม” ส่วนใหญ่มีแผนจะลงทุนอีกครั้ง โดยเฉพาะการปรับปรุงซ่อมแซมห้องพัก เพื่อเตรียมรองรับนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น แต่ดูเหมือนมีอุปสรรคขวางกั้น! นั่นคือ “ต้นทุนบริหาร” ที่สูงขึ้น และ “ความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจ”

มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน เม.ย.2566 จัดทำโดย ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และทีเอชเอ สำรวจระหว่างวันที่ 10-25 เม.ย. มีผู้ตอบแบบสำรวจจำนวน 81 แห่ง ระบุว่า จากการท่องเที่ยวที่ทยอยฟื้นตัว ทำให้ 29% ของผู้ตอบมีจำนวน “ลูกค้าต่างชาติ” กลับมาสู่ระดับก่อนโควิด-19 แล้ว และอีก 27% คาดว่าจะกลับมาเป็นปกติภายในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ขณะที่โรงแรมบางส่วนประเมินว่าลูกค้าต่างชาติจะกลับมาเท่ากับก่อนโควิด-19 ได้ในปี 2567 โดยส่วนใหญ่คาดว่าเป็นช่วงไตรมาส 1 หรือไตรมาส 4 ซึ่งเป็นฤดูกาลท่องเที่ยว (ไฮซีซัน) โดยมีสัดส่วนที่ 16% และ 15% ตามลำดับ

ทั้งนี้ ผู้ตอบยังได้ประเมิน “อัตรากำไรสุทธิ” (Net Profit Margin) ในปัจจุบันเทียบกับก่อนเกิดโควิด-19 ด้วย พบว่าโรงแรม 60% มีอัตรากำไรสุทธิในปัจจุบันยังต่ำกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ขณะที่ 32% ของผู้ตอบมีอัตรากำไรสุทธิใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด และอีก 8% มีอัตรากำไรสุทธิมากกว่าช่วงก่อนโควิด

สำหรับแนวโน้ม “การลงทุน” ในปี 2566 เมื่อเทียบกับปี 2565 กว่า 58% ของผู้ตอบมีแผนจะลงทุนในปีนี้ ยังไม่แน่ใจ 25% และไม่มีแผนลงทุน 17%

ส่วนประเด็น “เม็ดเงินลงทุน” กลุ่มโรงแรมที่มีแผนลงทุน ส่วนใหญ่กว่า 77% จะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นจากปีก่อน โดยแบ่งเป็น 28% ของผู้ตอบระบุว่าจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่า 20% ขณะที่ 26% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนเพิ่มขึ้น 11-20% ส่วนอีก 23% ของผู้ตอบจะใช้เงินลงทุนไม่เกิน 10% ด้าน 13% ของผู้ตอบระบุว่าจะใช้เงินลงทุนเท่ากับปีก่อน

โดยโรงแรมส่วนใหญ่ 87% เน้นลงทุนเพื่อ “ปรับปรุงหรือซ่อมแซมห้องพัก” เพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น รองลงมาเป็นการลงทุนด้านระบบไอทีและซอฟต์แวร์ 38% การลงทุนระบบ Automation 19% การลงทุนขยายอาคารหรือสาขา 9% และการควบรวมและเข้าถือกิจการ 2%

“ด้านข้อจำกัดหรืออุปสรรคในการลงทุน ผู้ประกอบการส่วนใหญ่มองว่าต้นทุนบริหาร เช่น ค่าแรง ค่าไฟ เป็นอุปสรรคในการลงทุนอันดับแรก รองลงมาเป็นเรื่องความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจไทย การขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะ และความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลก ตามลำดับ”

นอกจากนี้ ผลสำรวจฯยังระบุถึงภาพรวมการดำเนินงานของโรงแรม อัตราการเข้าพักเดือน เม.ย. อยู่ที่ 57% ลดลงจากเดือน มี.ค. ซึ่งอยู่ที่ 66% โดยลดลงในเกือบทุกภูมิภาคตามการเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันของนักท่องเที่ยวต่างชาติ และปัญหาฝุ่นควันที่ส่งผลกระทบต่ออัตราการเข้าพักในภาคเหนือ อย่างไรก็ดี อัตราการเข้าพักของภาคตะวันออกปรับตัวดีขึ้น ส่วนหนึ่งเป็นผลดีจากโครงการเราเที่ยวด้วยกัน เฟส 5 เพราะไม่ไกลจากเขตเมืองและสามารถเดินทางโดยรถยนต์ได้ ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักเดือน พ.ค. ลดลงอยู่ที่ 47%

โดยลูกค้าหลักส่วนใหญ่ยังเป็นลูกค้าต่างชาติ แต่ในภาพรวมสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลง สะท้อนจากโรงแรมที่มีสัดส่วนลูกค้าต่างชาติมากกว่า 50% คิดเป็น 57% ของผู้ตอบแบบสำรวจ ลดลงจากเดือนก่อน หากพิจารณากลุ่มลูกค้าต่างชาติที่เข้าพัก ส่วนใหญ่เป็นลูกค้าเอเชียและตะวันออกกลาง รองลงมาคือยุโรปตะวันตก

ด้านสถานการณ์ “การจ้างงาน” ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ 68% ยังเผชิญปัญหาขาดแคลนแรงงาน ซึ่ง 40% ของผู้ตอบเห็นว่าปัญหาดังกล่าวกระทบคุณภาพการให้บริการ แต่ไม่กระทบจำนวนลูกค้าที่รับได้ ขณะที่โรงแรมอีก 22% ระบุว่าปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบทั้งคุณภาพการให้บริการและจำนวนลูกค้าที่รับได้ โดยเฉพาะโรงแรมในภาคตะวันออกซึ่งมีอัตราการเข้าพักเดือน เม.ย. เพิ่มขึ้น เผชิญกับปัญหาขาดแคลนแรงงานและกระทบต่อการให้บริการมากขึ้น ทั้งในด้านจำนวนและคุณภาพเมื่อเทียบกับเดือนก่อน

มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า จากเทศกาล “สงกรานต์” ที่ผ่านมา นักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติออกมาท่องเที่ยวกันอย่างคึกคักที่สุดในรอบ 3 ปี รวมถึงการกระตุ้นท่องเที่ยวจากภาครัฐ เช่น การจัดกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ในเมืองท่องเที่ยวหลักและเมืองท่องเที่ยวรอง นโยบาย 5F Soft Power การโฆษณาประชาสัมพันธ์การท่องเที่ยวในแคมเปญต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมของภาคธุรกิจท่องเที่ยวและโรงแรมในปัจจุบันไปในทิศทางที่ดีขึ้น

“ในส่วนผู้ประกอบการธุรกิจโรงแรมเริ่มมีแผนการลงทุนปรับปรุงหรือซ่อมแซมห้องพักเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น แต่ยังมีข้อจำกัดด้านต้นทุนหลายๆ ด้าน เช่น ค่าอุปโภคบริโภค ราคาพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น ค่าขนส่ง ค่าแรง รวมถึงการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะที่ยังต้องเผชิญ”

แม้ว่าสถานการณ์การท่องเที่ยวและโรงแรมจะฟื้นตัวดีขึ้นจากวิกฤติโควิด-19 แต่สมาคมฯยังหวังว่า ภาครัฐจะยังคงผลักดันนโยบายและมาตรการต่างๆ ที่สอดคล้องกับกระแสนิยมของนักท่องเที่ยว เพราะตอนนี้ “ประเทศไทย” ถูกจารึกบนแผนที่โลกในฐานะ “เมืองท่องเที่ยวชั้นนำระดับโลก” กรุงเทพฯ มีชื่อเสียงเหมือนนิวยอร์ก ลอนดอน ปารีส และโตเกียว จึงอยากให้ภาคท่องเที่ยวเป็น “วาระแห่งชาติ” ของทุกกระทรวง! เพราะภาคท่องเที่ยวสร้างผลทวีคูณ (Multiplier Effect) ถึงระดับฐานราก มีศูนย์กลางการพัฒนาภาคท่องเที่ยว ให้เป็นเครื่องยนต์หลักขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย ร่วมกันวางกลยุทธ์สอดรับการเติบโต

นับถอยหลังสู่ “การเลือกตั้ง 2566” ภาคเอกชนธุรกิจโรงแรมและธุรกิจเชื่อมโยง ต้องการให้นายกรัฐมนตรีคนต่อไป ให้ความสำคัญต่อภาคการท่องเที่ยวเป็นลำดับต้น วางรากฐานการท่องเที่ยวเพื่อความยั่งยืนสู่อนาคต และขอให้รัฐมนตรีกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้องมาร่วมขับเคลื่อนการท่องเที่ยวแบบบูรณาการ เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวเป็นเซ็กเตอร์สำคัญ สร้างรายได้หลักแก่ประเทศไทย

และจากผลสำรวจฯ ดังกล่าว ผู้ตอบยังระบุถึงมาตรการช่วยเหลือที่ผู้ประกอบการต้องการจากภาครัฐ โดยโรงแรมส่วนใหญ่ยังต้องการให้มีมาตรการกระตุ้นภาคการท่องเที่ยว เช่น โครงการเราเที่ยวด้วยกัน อย่างต่อเนื่อง และบางส่วนต้องการให้ลดภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) สำหรับธุรกิจท่องเที่ยวเหลือ 5% ให้ภาครัฐเข้ามาช่วยดูแลเรื่องการเพิ่มเที่ยวบิน และการบริหารจัดการสนามบินให้เพียงพอต่อการรับนักท่องเที่ยว รวมถึงดูแลอัตราค่าโดยสารเครื่องบินที่ยังอยู่ระดับสูง เพราะเป็นปัจจัยหลักในการตัดสินใจมาท่องเที่ยว นอกจากนี้ธุรกิจโรงแรมยังต้องการความช่วยเหลือด้านต้นทุน เนื่องจากผู้ประกอบการมีต้นทุนในการดำเนินธุรกิจสูงขึ้น