‘แกรมมี่’ วางรากฐานธุรกิจแกร่ง ต่อยอด “เพลง-โชว์บิส” โตยั่งยืนทศวรรษหน้า

‘แกรมมี่’ วางรากฐานธุรกิจแกร่ง ต่อยอด “เพลง-โชว์บิส” โตยั่งยืนทศวรรษหน้า

จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ยืนหนึ่งในธุรกิจเพลง ท่ามกลางความท้าทาย "ดิจิทัล ดิสรัป" ถาโถม การพลิกกระบวนท่า ทรานส์ฟอร์มเห็นต่อเนื่อง หนึ่งในการเติบโตอนาคต คือการวางรากฐาน ป้้นโครงสร้างพื้นฐานให้แกร่ง เพื่อทะยานต่อสู่ทศวรรษที่ 5 และมุ่งสู่ความยั่งยืน

ในยุค “ดิจิทัล” เป็นพายุดิสรัปสารพัดธุรกิจ และ “อุตสาหกรรมเพลง” คือหนึ่งในเซ็กเตอร์ที่ถูกถาโถมอย่างมาก ผู้ประกอบการเจอบททดสอบหนักหนาสาหัส ทำให้ได้บทเรียนมากมาย เพื่อนำไปสู่การปรับตัว

หากมองค่ายเพลงที่ยังคงยืนเด่น ท้าทายการเปลี่ยนแปลง “จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่” ยังคงสร้างสรรค์ศิลปิน ผลงานเพลง งานคอนเสิร์ต โชว์บิสฯ เพื่อตอบโจทย์ผู้ฟังอย่างต่อเนื่อง ที่สำคัญเพื่อสร้างการเติบโต ในฐานะเป็น “ธุรกิจหลัก” ผ่าน “จีเอ็มเอ็ม มิวสิค” ซึ่งทำเงินก้อนโตให้กับบริษัท

ปี 2566 ไม่เพียงผ่านพ้นภาพโควิดคลี่คลาย แต่กิจการ กิจกรรมทุกอย่างในประเทศไทยกลับเข้าสู่ภาวะปกติ ทำให้แม่ทัพธุรกิจเพลงอย่าง ภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) วางยุทธศาสตร์ เพื่อขับเคลื่อนการเติบโต

ภาวิต ฉายภาพว่า ภายใต้ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค ปี 2566 จะมี 3 เสาหลักที่บริษัทมุ่งผลักดันรายได้ให้ทะยานต่อเนื่อง เพื่อแตะระดับ “พันล้านบาท” ประกอบด้วย เพลงทำเงินจากดิจิทัลเป้าหมาย 1,200 ล้านบาท เติบโต 10% โชว์บิส 898 ล้านบาท เติบโต 66% และ การบริหารจัดการศิลปินทั้งเป็นพรีเซ็นเตอร์ งานโชว์ตัว งานแสดงตามสถานที่ต่างๆทั่วประเทศฯ 1,050 ล้านบาท เติบโต 42%

‘แกรมมี่’ วางรากฐานธุรกิจแกร่ง ต่อยอด “เพลง-โชว์บิส” โตยั่งยืนทศวรรษหน้า

ธุรกิจจะเติบโตได้ การวางรากฐาน หรือโครงสร้างพื้นฐานให้แกร่ง มีความสำคัญอย่างยิ่ง เพราะในวันที่จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ ก้าวสู่ 4 ทศวรรษ และต้องโตต่อในอนาคตทศวรรษ 5 และต้องมีผู้สืบทอดธุรกิจหรือ Successor สามารถต่อยอดจากสิ่งที่ตอกเสาหลักแข็งแรงไว้แล้ว

“โชว์บิส” ปี 2566 บริษัทวางเป้าหมายโตแรง เหตุผลเพราะหลายปีที่ผ่านมา บริษัทไม่เพียงสร้างแบรนด์มากมายให้แข็งแรง แต่ยังมี “ฐานลูกค้า” กลุ่มเป้าหมายหลากหลาย โดยเฉพาะเทศกาลดนตรีหรือ Music Festival ที่มีถึง 9 แบรนด์ เช่น บิ๊กเมาน์เท่น จัดมา 13 ปี มีผู้ร่วมงานล่าสุดหลัก “แสนคน” เชียงใหญ่เฟส แบรนด์ที่เติบโตแบบก้าวกระโดดทุกปี จากผู้เข้าร่วมงาน 15,000 คนปีแรก เพิ่มเป็น 30,000 คน และ 45,000 คนในปีที่ 2 และ 3 ตามลำดับ แต่ในอนาคต “เฉียงเหนือเฟส” จะใหญ่และโตเร็วยิ่งกว่าด้วย เนื่องจากตลาด “ภาคอิสาน” มีคนดูมหาศาล

ทั้งนี้ โชว์บิส ถือเป็นขุมทรัพย์แห่งโอกาสอย่างมาก ต่างจากอดีตผู้ประกอบการมองเพียงการจัดคอนเสิร์ตเป็นครั้งคราวแล้วจบไป(ad hoc) เหมือนอีเวนท์ เพื่อสร้างรายได้ แต่แกรมมี่และมุมมองของ "สมภพ บุษปวนิช" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลยุทธ์ บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน)ยกระดับเป็นธุรกิจและเสาหลัก ดังนั้น การจัดงานไม่ได้มีแค่การแสดงในร่มหรืออินดอร์ แต่สถานที่ต่างๆกลางแจ้งหรือเอาท์ดอร์ด้วย

ที่สำคัญเวทีที่แกรมมี่มองมองไม่ใช่สเกล “ขนาดเล็ก” แต่โฟกัสสนามใหญ่ ที่มีคนเข้าร่วมงานระดับ “หมื่นคน” ด้วย

“เมื่อก่อนการทำโชว์บิสด้วย Passion แต่วันนี้เรากำหนดให้เป็นยุทธศาสตร์การเติบโตของแกรมมี่ โดยมีการวางอินฟราสตรัคเจอร์ที่ดี”

ปี 2566 การจัดคอนเสิร์ต โชว์บิส มิวสิค เฟสติวัล เกิดขึ้นมากมาย เห็นได้จากช่วงสงกรานต์ที่ผ่านมา คึกคักอย่างมาก ยิ่งเจาะลึกสถานการณ์ตลาด มูลค่าขุมทรัพย์ “ภาวิต” นำข้อมูล(Big Data) วิเคราะห์ภาพรวมประชากรไทยราว 77 ล้านคน มีความต้องการดูโชว์บิส คอนเสิร์ตฯ 50% ทว่า อัตราการเข้าถึงหรือได้สัมผัสกิจกรรม(Penertration) ยังอยู่ระดับต่ำ ไม่ถึง 1 ล้าน

“ความคาดหวังคนดูคอนเสิร์ต โชว์บิส ต้องใหญ่สุด เยอะสุด(ศิลปิน)และคุ้มสุด(ราคาบัตร) และสิ่งที่แกรมมี่ทำ ตอบโจทย์ทั้งหมด จัดเต็ม จัดใหญ่ให้มากกว่า”

โอกาสมากแต่โจทย์การทำตลาดให้ประสบความสำเร็จไม่ง่าย และท้าทายอย่างมาก เพราะตลาดมีความเสี่ยงสูง พร้อมเปรียบเทียบให้เห็นภาพ เหมือนธุรกิจภาพยนตร์ หากเข้าโรงฉาย สามารถเป็น “ตัวตัดสิน” ในวันเดียว

“หากขายบัตรวันแรกไม่ได้..ตาย! ซึ่งการทำโชว์บิส จึงต้องมีความเชี่ยวชาญ ทีมงานมีประสบการณ์ และมีโครงสร้างธุรกิจที่พร้อม ซึ่งบริษัทวางยุทธศาสตร์ไว้ ไม่เพียงมีโปรโมเตอร์เก่ง แต่มีทีมงานการตลาด การสื่อสารตลาด โซเชียล ออนไลน์เพื่อซัพพอร์ต เหมือนเกือบเป็นโรงงาน”

ปี 2566 แกรมมี่ มีโชว์บิส มิวสิคเฟสติวัลมากมาย แบรนด์เก่าลุยต่อ และปั้นแบรนด์ใหม่ ขยายสู่ตลาดใหญ่ขึ้น โดยเฉพาะดึงนักท่องเที่ยวไทย-เทศ เข้าร่วมงาน ประเดิมแล้วงานสงกรานต์ วอเตอร์ วอร์ เชียงใหม่ และยังมีงานจับกลุ่มหลากหลายทางเพศ เทศกาลฮาโลวีน ฯ พร้อมปักหมุดทั่วไทย

‘แกรมมี่’ วางรากฐานธุรกิจแกร่ง ต่อยอด “เพลง-โชว์บิส” โตยั่งยืนทศวรรษหน้า ด้านธุรกิจเพลง ภาวิต มองภาพรวมตลาดยังคงไปต่อได้แล้วเข้าสู่โหมดด่าวเด่นอีกครั้ง โดยมีดิจิทัลเป็นสื่อสร้างการเติบโตทั้งในกลุ่มผู้ฟังผ่านสตรีมมิ่งทุกที่ทุกเวลา สู่การทำ “รายได้” ระดับพันล้านบาท ทดแทนการค้าขายเทป ซีดี หรือ Physical ในอดีตแล้ว

“การฟังเพลงผ่านสตรีมมิ่งโตขึ้นเรื่อยๆ และการคาดการณ์ธุรกิจเพลงจะเติบโตราว 10%”

ขณะที่อุตสาหกรรมเพลงในโลก โดยเฉพาะตลาดใหญ่อย่างสหรัฐฯ จะเห็นผู้ประกอบการ ศิลปินเดินเข้าสู่วงการอย่างต่อเนื่อง การสร้างสรรค์ผลงานเพลง เพื่อปล่อยผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ ตอบโจทย์คนฟังบนโลกโซเชียลมีเดีย เกิดขึ้นจำนวนมากสะท้อนการขยายตัวคึกคัก

“อุตสาหกรรมเพลงมั่นใจว่ายังเติบโตต่อเนื่อง เป็น Rising trend แต่ไม่ถึงขั้นเป็น S-Curve ก้าวกระโดด ขณะที่เราเป็นค่ายเพลง การเจอดิสรัปชั่นบ่อย ทำให้เราปรับตัวเก่ง พลิกกระบวนท่า และผ่านดิสรัปชั่นได้เร็ว”

ทิศทางเติบโตธุรกิจเพลง ด้านการผลิตบริษัทเปิดกว้างการมี “พันธมิตร” เสริมแกร่ง สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ผู้ฟัง ภายใต้โลกไร้ขีดจำกัด หลากหลายแนวเพลงจะป็อป ร็อค อาร์แอนด์บี ฮิปฮอป ลูกทุ่ง ฯ ซึ่งหากดูเวทีโลก “เพลงลาติน” มีขนาดใหญ่สุด

“ไม่มีใครบอกได้ว่าจะมีการสร้างสรรค์ผลงานออกมา 500 เพลง เพราะอาจมีหลักหมื่นได้ หากมีการร่วมมือกับพันธมิตร เพื่อเติบโตในแนวเพลงต่างๆ”

‘แกรมมี่’ วางรากฐานธุรกิจแกร่ง ต่อยอด “เพลง-โชว์บิส” โตยั่งยืนทศวรรษหน้า หนึ่งในโปรเจคใหญ่ ที่ประกาศแล้วคือการร่วมทุนกับ “วายจี” บิ๊กธุรกิจเพลง-บันเทิงเกาหลี ตั้งบริษัท วายจีเอ็มเอ็ม จํากัด(YGMM) ต่อจิ๊กซอว์เติบโตเซ็กเมนต์เพลงป็อปนั่นเอง

“โตคนเดียวอาจไม่มีแรงพอ การร่วมมือกับพันธมิตรทำให้เราเดินเร็วกว่าเดิม”

ด้านการค้าขาย จีเอ็มเอ็ม มิวสิค มีสิ่งอำนวยความสะดวก โครงสร้างพื้นฐานแกร่งเช่นกัน เพื่อตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมาย ซึ่ง “ภาวิต” หยิบยกนิยามฐานแฟนที่ “นิค วิเชียร ฤกษ์ไพศาล” อดีตผู้บริหารค่ายเพลงจีนี่ เรคคอร์ด ให้ไว้ว่า 3 กลุ่ม ได้แก่ 1.แฟนเพลงคือกลุ่มที่ฟัง-เสพคอนเทนท์ฟรี เป็น Norm หรือ ธรรมชาติคนฟังเพลงทั่วโลกไม่จ่ายเงิน เหมือนอดีตที่ฟังเพลงผ่านสถานีวิทยุต่างๆ 2.ขยับสู่แฟนคลับ มีสินค้าอะไรพร้อมสนับสนุนในราคาจับต้องได้ ยอมดูคอนเสิร์ตบัตรดอย(เห็นศิลปินระยะไกล)และ 3.สาวก สินค้าแพง ตั๋ววีไอพี พร้อมจ่ายทุกอย่าง เป็นต้น

 “การวางโครงสร้างพื้นฐานให้ธุรกิจ จะนำไปสู่ความยั่งยืน เหมือนการสร้างถนนสายรอง เชื่อมสู่ถนนใหญ่สายหลัก ในฐานะคนทำงานเอเยนซีผันตัวสู่วงการธุรกิจเพลง จุดมุ่งหมายใหญ่ คือการสร้างอินฟราสตรัคเจอร์ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ ตลอดจน Successor ทีมงาน สานต่อ”

นอกจากแผนปี 2566 ท่ีต้องสร้างรายได้เติบโต “ภาวิต” ยังวางแผนระยะยาวถึงปี 2030 หรือ 2573 แต่จะค่อยๆเฉลยให้สังคมรับทราบต่อไป