‘ซีอีโอ’ หวัง ‘รัฐบาลใหม่’ หลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ 'เร่งฟื้นศก.-ดึงลงทุน'

‘ซีอีโอ’ หวัง ‘รัฐบาลใหม่’ หลังเลือกตั้งมีเสถียรภาพ 'เร่งฟื้นศก.-ดึงลงทุน'

‘ซีอีโอ’ หวังรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ เร่งฟื้นเศรษฐกิจ กระตุ้นส่งออก ดึงต่างชาติลงทุน หนุนใช้เทคโนโลยีเปิดโอกาสคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วมแก้ปัญหา “โออาร์” หวังรัฐบาลใหม่ดันไทยขึ้นฮับการค้าภูมิภาค “AWC” แนะอำนวยความสะดวกดึงต่างชาติท่องเที่ยวลงทุนไทย

Key Points : 

  • 'ซีอีโอ' ธุรกิจไทยหวังรัฐบาลใหม่ พร้อมทำงานฟื้นเศรษฐกิจ ท่ามกลางโลกเปลี่ยน เชื่อมโยงภาคประชาชน ลดขัดแย้ง ดันประเทศเดินหน้า
  • 'โออาร์' หวังรัฐบาลใหม่ดันไทยขึ้น เทรดดิ้ง ฮับ - AWC หวังดึงต่างชาติลงทุน, หนุนท่องเที่ยว
  • สรท.ขอให้แก้ต้นทุนผู้ส่งออก-แก้ปัญหาค่าไฟ  

การเลือกตั้งที่จะมีขึ้นวันที่ 14 พ.ค.นี้ นับว่ามีความสำคัญต่อประเทศเป็นอย่างมาก ภาคธุรกิจเอกชน ประชาชน สังคม คาดหวังเห็นรัฐบาลใหม่มีเสถียรภาพ พร้อมเข้ามาทำงาน และแก้ปัญหาเร่งด่วนทั้งเรื่องเศรษฐกิจ การลงทุน เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศสอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโลก

‘โออาร์’หวังไทยเป็นเทรดดิ้งฮับ

นายดิษทัต ปันยารชุน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) หรือ โออาร์ กล่าวว่า อยากให้รัฐบาลใหม่มุ่งเน้นนโยบายเสรีทางการค้า ดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้ามา ผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าในภูมิภาค (trading hub) และปรับปรุงกฎระเบียบให้เอื้อต่อการค้า ดึงบริษัทข้ามชาติมาจดทะเบียนในไทย

โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ ที่จะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในอนาคต รวมทั้งส่งเสริมการเป็นตลาดเสรี ให้เอกชนมีเสรีภาพดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างเต็มที่ตามกลไกตลาด

สำหรับการดำเนินธุรกิจในปี 2565 ที่ผ่านมา ถือเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับผู้ประกอบการ ซึ่งต้องเผชิญกับความผันผวนของเศรษฐกิจเนื่องกับหลากหลายปัจจัย อาทิ เทคโนโลยีสมัยใหม่ที่เข้ามามีบทบาทในการทำธุรกิจ ผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ วิถีการดำเนินชีวิตของผู้บริโภคซึ่งหันมาใส่ใจคุณค่าของผลิตภัณฑ์และบริการที่มากขึ้น

ทั้งนี้ ส่งผลให้ทุกธุรกิจล้วนตระหนักถึงความสำคัญในการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง นำมาสู่การกำหนดนโยบายและแผนการดำเนินธุรกิจ ที่ไม่เพียงให้ความสำคัญกับผลตอบแทนการลงทุน แต่ยังต้องใส่ใจสังคม และ สิ่งแวดล้อมควบคู่กับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นวิถีหลักของการดำเนินธุรกิจในอนาคต

'AWC' แนะอำนวยความสะดวกดึงต่างชาติ

นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า ภาคท่องเที่ยวเป็นหัวใจสำคัญต่อเศรษฐกิจไทยเพราะ คือ จุดแข็งประเทศ รัฐบาลใหม่จึงควรให้ความสำคัญการวางยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนท่องเที่ยว ทั้งอำนวยความสะดวกนักท่องเที่ยว เช่น เรื่องวีซ่า รวมถึงเชื่อมโยงภาคท่องเที่ยวไปยังกลุ่มชาวต่างชาติที่เดินทางมาใช้ชีวิตในเมืองไทยและอยู่ยาวขึ้น

“รัฐบาลใหม่ต้องมองถึงองค์รวม การใช้ชีวิตของต่างชาติกลุ่มนี้ ทั้งเรื่องบริษัทข้ามชาติที่จะเข้ามาจัดตั้ง กลุ่มนักลงทุนที่จะเข้ามา กลุ่มที่จะเข้ามาอยู่ยาวมากขึ้น เพื่อสร้างการเติบโตต่อเนื่องจากภาคการท่องเที่ยวไปจนถึงการลงทุนในไทย เพราะไลฟ์สไตล์การเดินทางท่องเที่ยวตอนนี้ไม่เหมือนเดิม มีความต่อเนื่องเชื่อมโยงกันไปหมด ทั้งคนที่อยากมาเที่ยว มาลงทุน และมาอยู่ยาว มาใช้ชีวิตแล้วสามารถเอ็นจอยไลฟ์สไตล์ในเมืองไทยได้ ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีตัวเชื่อมตอบโจทย์เทรนด์เหล่านี้”

ผู้ส่งออกแนะลดค่าไฟฟ้า

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่า สรท.ต้องจับตามองต้นทุนของผู้ส่งออกอย่างใกล้ชิด รวมถึงการชำระหนี้ โดยเฉพาะคู่ค้าในต่างประเทศ รวมถึงราคาพลังงาน โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าในไทยที่ยังอยู่ในระดับที่สูง ส่งผลถึงต้นทุนในแง่ของการเงินแนวโน้วระดับสูงตามไปด้วย

โดยผู้ส่งออกต้องเตรียมรับมือในแง่ของสภาพคล่อง ต้นทุน และควรเช็คสุขภาพการเงินคู่ค้าต่างประเทศ สิ่งสำคัญที่จะเพิ่มยอดการส่งออก คือ หาตลาดรองจากตลาดหลักอย่างสหรัฐและยุโรปที่มีแนวโน้มชะลอตัวลง อาทิ ตะวันออกกลาง เอเชียแปซิฟิก และ CLMV ที่ยังเติบโตได้ดี รวมถึงการเปิดประเทศจีน เป็นต้น

นอกจากนี้ หากมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งวันที่ 14 พ.ค. ภาคเอกชนยังหวังว่าจะมีการจัดตั้งรัฐบาลได้รวดเร็ว มีเสถียรภาพให้เดินหน้าต่อได้ อยากให้สานต่อนโยบายหลัก คือ พิจารณาค่าไฟฟ้าครึ่งปีหลังที่ควรลดลง มีผลต่อต้นทุนส่งออก ส่วนค่าแรงต้องพิจารณาเป็นขั้นตอนที่ควรดูบริบทคู่แข่ง รวมถึงสานต่อเขตการค้าเสรี ที่ต้องเดินหน้าต่อไป

ทั้งนี้ ปี 2566 ต้องการให้ภาครัฐเข้ามาแก้ปัญหาต่างๆ อาทิ การรวมมือกับต่างประเทศ เพื่อเจรจาต่อรองการส่งออกให้กลับเข้าสู่สภาวะปกติโดยเร็ว

โรงแรมไทยจี้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหา

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า  ความคาดหวังที่มีต่อรัฐบาลใหม่ ต้องการให้ตระหนักว่าแม้ภาพรวมการท่องเที่ยวไทย จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติฟื้นตัว 70% เทียบปี 2562 แต่ในเชิงธุรกิจยังไม่ถือว่าฟื้นตัวมากนัก หลังประสบปัญหาการเงินมาตลอด 3 ปีนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด ทั้งยังเผชิญปัญหาอื่นๆ ซ้ำเติม โดยเฉพาะต้นทุนการดำเนินงานที่ปรับสูงขึ้นซึ่งเป็นจุดที่ผู้ประกอบการกังวลอย่างมาก อาทิ ต้นทุนค่าไฟ ต้นทุนค่าจ้างพนักงานสูงขึ้นในช่วงการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว

“อีกปัญหาสำคัญที่อยากฝากไปถึงรัฐบาลใหม่ คือปัญหา PM 2.5 เพราะปีนี้เห็นผลกระทบชัดเจนมาก แม้ยอดยกเลิกการจองห้องพักจะมีไม่มาก แต่ยอดจองห้องพักเข้ามาใหม่ก็มีไม่มากเช่นกัน หรือเช็กอินแล้วเช็กเอาต์ออกไปเลยก็มี โดยเฉพาะพื้นที่ จ.เชียงใหม่ เป็นเรื่องเร่งด่วนที่รัฐบาลใหม่ควรเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหา”

แนะวางยุทธศาสตร์ท่องเที่ยวยั่งยืน

ขณะที่ แนวโน้มตลาดนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลักเข้าไทย เติบโตสู่ระดับ 60-80 ล้านคนต่อปีในอนาคต เพิ่มจากปี 2562 ที่มีเกือบ 40 ล้านคน สมาคมฯ ต้องการเห็นรัฐบาลใหม่ให้ความสำคัญการท่องเที่ยวยั่งยืน เพื่อลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม รวมถึงการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยว ควบคุมจำนวนนักท่องเที่ยวให้เหมาะสม กับขีดความสามารถในการรองรับ เช่น ลงทะเบียนล่วงหน้าก่อนเข้าสถานที่ลดการกระจุกตัว ควบคู่กับการกระจายนักท่องเที่ยวสู่เมืองรองมากขึ้น

ขณะเดียวกัน รัฐบาลใหม่ต้องเร่งแก้ปัญหาการเอารัดเอาเปรียบนักท่องเที่ยว เนื่องจากส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศด้วยการบังคับใช้กฎหมาย ต้องปรับปรุงกฎหมายต่างๆ โดยเฉพาะที่เกี่ยวข้องกับระบบสุขอนามัยและระบบความปลอดภัยของสถานที่พัก การทำให้โรงแรมที่ยังไม่ได้จดทะเบียน เข้ามาอยู่ในกรอบของการเสียภาษีด้วย

“เห็นด้วยอย่างยิ่งกับแนวทางให้เอกชนเป็นคนนำ แล้วรัฐบาลเป็นคนสนับสนุน โดยอยากให้เอกชนได้มีส่วนร่วมอย่างจริงจังกับการแก้ปัญหาต่างๆ รวมถึงการพัฒนาทักษะองค์ความรู้ของภาคท่องเที่ยว”

ดูแลค่าเงินบาทไม่ให้ผันผวน

นายวิชัย กรณปกรณ์ ประธานกรรมการบริหารกลุ่มบริษัทพัทยาฟู้ด กล่าวว่า  ภาคเอกชนอยากให้รัฐบาลใหม่เร่งแก้ปัญหาเศรษฐกิจ โดยกระตุ้นภาคการส่งออกที่อยู่ในภาวะชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก พร้อมดูแลค่าเงินบาทไม่ให้เคลื่อนไหวผันผวนมากเกินไป รวมถึงดูแลต้นทุนวัตถุดิบต่างๆ ที่เพิ่มขึ้นมาก หากต้นทุนวัตถุดิบยังอยู่ในระดับสูง จะส่งผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคเอกชนไทยลดลง

นายธเนศร์ บินอาซัน รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ไฮเออร์ อีเลคทริคอล แอพพลายแอนซ์ (ประเทศไทย) จำกัด กล่าวว่า ต้องการให้รัฐบาลใหม่เร่งนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะกำลังซื้อที่อยู่ในภาวะหดตัว ส่งผลกระทบต่อเนื่องกับหลายกลุ่มอุตสาหกรรม

“อีกสิ่งที่อยากให้เร่งรัด คือ ผลักดันส่งออกของไทย ควรกำหนดยุทธศาสตร์ในการส่งออกใหม่ เพื่อเปิดตลาดใหม่ในการส่งออก ซึ่งตลาดหลักสหรัฐเวลานี้ชะลอตัวมาก”

อยากเห็นเสถียรภาพการเมือง

นายณัฏฐพร กลั่นเรืองแสง กรรมการผู้อำนวยการฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท เรียลแอสเสท ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด กล่าวว่า ต้องการเห็นเสถียรภาพทางการเมือง และสิ่งแรกที่รัฐบาลใหม่ต้องเร่งดำเนินการ คือ สร้างบรรยากาศที่ดี เพราะอารมณ์จับจ่ายใช้สอยเกิดจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค ไม่ใช่เป็นเรื่องของกำลังซื้อเท่านั้น ฉะนั้นอย่าทำนโยบายอะไรที่ทำให้เสียบรรยากาศ เช่น การคมนาคมในฐานะนักพัฒนาเมืองการมีถนนเส้นใหม่ รถไฟฟ้าใหม่เป็นสิ่งที่ดีในการกระตุ้นเศรษฐกิจ การเดินทาง

"สังคมต้องอยู่ร่วมกันได้ หากมีข้อขัดแย้งให้ไปเถียงกันในสภาฯ ไม่ชวนใครมาลงถนน ปิดโน่นปิดนี่  นักธุรกิจไทยลำบากกันมามากทั้งเผชิญวิกฤติโควิด อยากให้ทำการเมืองแบบสร้างสรรค์ ไม่กระทบต่อความมั่นใจของนักท่องเที่ยวชาวต่าง รวมทั้งด้านความปลอดภัยต่างๆ  ถ้า lose -lose ไม่ดี win-lose ไม่ยั่งยืน ต้อง win-win ถึงจะอยู่ร่วมกันได้"

อย่างไรก็ดี เป็นไปได้ที่รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาจะทบทวนนโยบายรัฐบาลเก่าที่ทำไว้ แต่เชื่อว่าคงไม่รื้อใหม่หมดอะไรที่มีประโยชน์ต่อประชาชนก็ทำต่อไป แต่อาจเปลี่ยนบางอย่างที่ไม่ดีกับประชาชนก็สามารถทบทวนแก้ไขได้ แต่อย่าทำให้เกิดการหยุดชะงัก โดยเฉพาะการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน สนามบิน

สำหรับ ภาคธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ มองนโยบายเปิดให้ต่างชาติซื้อบ้านแนวราบได้นั้น เชื่อว่าส่งผลดีต่อภาพรวม ภายใต้โลกยุคใหม่ที่ไม่ถูกแบ่งพรมแดนด้วยสัญชาติอีกต่อไป มีการทำงานของต่างชาติในเมืองไทยมากขึ้น เสน่ห์ของไทย คือความหลากหลาย ความน่ารักผู้คน เปิดรับทุกศาสนา วัฒนธรรม จุดแข็งเหล่านี้ จะบริหารจัดการให้เป็นประโยชน์ต่อประเทศได้อย่างไร ต้องสร้างหลากหลายโซลูชั่นขับเคลื่อนประเทศเพื่อขยับตัวได้รวดเร็วมากขึ้น

ระยะสั้นเร่งฟื้นเศรษฐกิจ

นายเกรียงไกร กาญจนะโภคิน ผู้ก่อตั้ง และประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท อินเด็กซ์ ครีเอทีฟ วิลเลจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การบ้านรัฐบาลใหม่ระยะสั้นต้องเร่งฟื้นเศรษฐกิจไทยให้เติบโต เร่งพิจารณาการเบิกจ่ายงบประมาณ การลงทุนต่างๆ ของภาครัฐ ทั้งควรหามาตรการรับมือภาวะส่งออกที่ชะลอตัว เนื่องจากเป็นกลไกสำคัญของการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ส่วน ระยะยาว รัฐบาลต้องพิจารณาปรับโครงสร้างทางเศรษฐกิจใหม่ เนื่องจากไทยไม่สามารถพึ่งพาอุตสาหกรรมเดิมๆ เพื่อการส่งออกอีกต่อไป พร้อมวางจุดยืนของไทยในเวทีการเมืองโลก ต้องสร้างสมดุลระหว่างขั้วมหาอำนาจสหรัฐ จีน รัสเซีย และไม่เลือกข้าง เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อภาพรวมทั้งการค้า การลงทุน จนทำให้มีผลต่อเศรษฐกิจไทย

รัฐต้องพร้อมทำงาน-ดึงคนรุ่นใหม่มีส่วนร่วม

นายภาวุธ พงษ์วิทยภานุ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัทเพย์โซลูชั่น จำกัด และ กรรมการผู้จัดการบริษัท ตลาด ดอท คอม กรุ๊ป จำกัด กล่าวว่า อยากได้รัฐบาลที่มีแผนพร้อมทำงาน และรับมือกับปัญหาด้วยวิธีการ และแนวคิดใหม่ๆ นำเทคโนโลยีไปร่วมใช้แก้ปัญหา มองการแก้ปัญหาแบบทั้งองคาพยพ บูรณาการหลายๆ ฝ่ายระหว่างรัฐและเอกชน

ขณะที่ ปัญหาเร่งด่วนที่ต้องแก้ คือ ปรับโครงสร้างของการบริหารประเทศ อันนี้สำคัญมาก ถ้าโครงสร้างยังเป็นแบบเดิม รัฐจะทำงานได้ลำบาก ที่สำคัญอยากเห็น รัฐบาลใหม่ เข้ามาสนับสนุนการใช้เทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่เข้าไปมีส่วนร่วมกับแก้ปัญหาและร่วมทำงาน

เร่งดันไทยสู่ ‘Regional Hub’

นายศุภรัฒศ์ ศิวะเพ็ชรานาถ สิงหรา ณ อยุธยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสที เทเลมีเดีย โกลบอล ดาต้าเซ็นเตอร์ (ประเทศไทย) กล่าวว่า นโยบายบริหารประเทศหลังเลือกตั้ง ต้องคำนึงถึงภาพรวมและผลประโยชน์ทุกคนในชาติ ผู้นำรัฐบาลต้องแสดงความเป็น “Connected Leaders” เชื่อมโยง “Local” ซึ่งนำไปสู่แนวคิด นโยบายและการปฏิบัติแบบ “Global” และทำงานแบบ “Co-Create” ที่สำคัญต้องเร่งมือทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชั่นเพื่อปูทางไปสู่ดิจิทัล อีโคโนมีที่มีความยั่งยืน

รัฐบาลใหม่ที่มาจากประชาชนอย่างแท้จริงจะเป็นเสมือนจุด “Refresh & Restart ทางเศรษฐกิจครั้งใหม่” พร้อมความคาดหวังว่าจะช่วยแก้ปัญหาให้ตรงจุดด้วยคนที่มีความสามารถ เพื่อกระตุ้นชีพจรเศรษฐกิจของประเทศ ดึงดูดการลงทุนใหม่ๆ จากทั้งในและนอกประเทศ ฟื้นฟูศักยภาพแข่งขัน และทำให้ประเทศไทยเป็น “Regional Hub” ในด้านต่างๆ ได้

“เรากำลังมองหา Connected Leaders ที่สามารถเชื่อมโยงได้กับทุกอย่าง ตั้งแต่เชื่อมโยงกับภาคประชาชนไม่ว่าจะเจนไหนก็ตาม เพื่อลดความขัดแย้งในชุดความคิดที่ต่างกัน และหาจุดเชื่อมตรงกลาง เพื่อสร้างความสามัคคีให้ได้”

พร้อมทั้งต้องเชื่อมกับเศรษฐกิจของชาติทั้งในและนอกประเทศ มองหาโอกาสผลักดันให้ประเทศเติบโต โดยทำข้อตกลงที่เป็นประโยชน์ทางเศรษฐกิจร่วมกับนานาประเทศ สุดท้ายเชื่อมต่อกับโครงสร้างพื้นฐาน ทั้งด้านโลจิสติกส์ การบิน รถไฟความเร็วสูง รวมถึงดิจิทัลอีโคโนมีที่ต้องการโครงสร้างพื้นฐานซึ่งจะเป็นรากฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ