ISO 65002 ข้อแนะนำแนวทางการจัดการนวัตกรรมและระบบการจัดการนวัตกรรม

ISO 65002 ข้อแนะนำแนวทางการจัดการนวัตกรรมและระบบการจัดการนวัตกรรม

ในปี 2019 ISO หรือ องค์การระหว่างประเทศว่าด้วยการ มาตรฐาน (International Organization for Standardization) ได้ออกข้อแนะนำ (Guidance) สำหรับมาตรฐานการนวัตกรรมและระบบการจัดการนวัตกรรมสำหรับภาคธุรกิจอุตสาหกรรมและองค์กรนวัตกรรม

เพื่อเป็นพื้นฐานในการเตรียมตัวที่จะเข้าสู่ระบบการรับรองที่จะออกมาในอนาคต โดยข้อแนะนำฉบับนี้ รู้จักกันในนามของ มาตรฐาน ISO 65002

บทความในสัปดาห์นี้ จะขอข้อแนะนำของ ISO 65002 เกี่ยวกับประเด็นในเรื่องของ ระบบการบันทึกเอกสารรวมผลงานด้านนวัตกรรม (Innovation Portfolios) ขององค์กร มานำเสนอให้ท่านผู้อ่าน หรือผู้บริหาร ที่อยากจะนำธุรกิจหรือองค์กรของท่านไปสู่การเป็นองค์กรนวัตกรรม ไม่ว่าจะเป็นในปัจจุบัน หรือต้องการที่จะเป็นในอนาคต

ในขณะที่มาตรฐานของ ISO ส่วนใหญ่ จะให้ความสำคัญไปที่การรักษาระดับคุณภาพของผลิตภัณฑ์หรือการให้บริการทางธุรกิจได้อย่างสม่ำเสมอและเป็นไปตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ เรื่องของนวัตกรรมและการจัดการนวัตกรรมจำเป็นจะต้องมีการเปลี่ยนแปลงหรือปรับเปลี่ยนไปตลอดเวลา ไม่สามารถอยู่คงที่ได้ เช่นเดียวกับการรักษาระดับด้านคุณภาพ

องค์กรนวัตกรรม จะต้องมีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ที่จะทำให้องค์กรสามารถนำเสนอสิ่งใหม่ที่เป็นประโยชน์สู่ตลาดหรือสู่สังคมได้อย่างสม่ำเสมอ ตลอดเวลา องค์กรนวัตกรรม จึงจำเป็นที่จะต้องสร้างระบบการจัดการนวัตกรรมที่มีความคล่องตัวและเหมาะสมกับบริบทของธุรกิจ

ระบบหนึ่งที่จำเป็นที่จะต้องฝังอยู่ในโครงสร้างองค์กรนวัตกรรม ตามข้อแนะนำใน ISO 56002 ได้แก่การมีระบบบันทึกรวบรวมผลงานด้านนวัตกรรมขององค์กร (Innovation Portfolio) อย่างเป็นรูปธรรม

ในรูปแบบเช่นเดียวกับบันทึก Portfolio ของนักเรียนนักศึกษา เกี่ยวกับผลงานในระหว่างการศึกษา หรือ Portfolio ที่ผู้สมัครงานจะต้องแนบไปกับใบสมัครเช้าทำงานในบริษัทต่างๆ นั่นเอง

ในแง่ของ Innovation Portfolio จะเป็นข้อมูลที่สำคัญที่องค์กรนวัตกรรมจะนำมาใช้ประกอบในการพัฒนานวัตกรรมเป้าหมายเพื่อการเติบโตและครองความเป็นผู้นำในตลาดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน ไม่ว่าจะเป็นด้านการพัฒนาผลิตภัณฑ์ ระบบการผลิต ระบบการบริหารจัดการธุรกิจ หรือแม้แต่การเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร

บันทึกข้อมูลต่างๆ ใน Innovation Portfolio ของบริษัท จะเป็นเสมือนการบันทึกภาพความสำเร็จด้านความคิดริเริ่มใหม่ๆ การสร้างนวัตกรรมที่ประสบความสำเร็จ รวมถึงเส้นทางการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงที่ใช้ได้ผลกับธุรกิจในอดีตที่ผ่านมา รวมถึงในกรณีของอุปสรรค ปัญหา และวิธีที่นำมาใช้ในการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้น

ซึ่งเมื่อนำมาประมวลกับสถานการณ์ปัจจุบัน และวิสัยทัศน์ด้านนวัตกรรมของบริษัท ก็จะกลายเป็นกลยุทธ์ และการวางแผนการลงทุนด้านนวัตกรรม ที่มีประสิทธิภาพสูง และ “ถูกจริต” กับวัฒนธรรมองค์กรได้เป็นอย่างดี

การเริ่มจัดทำระบบ Innovation Portfolio ภายในบริษัท จะเริ่มจากการจัดทำวิสัยทัศน์และเป้าหมายที่ต้องการด้านนวัตกรรมของบริษัท หรือการทบทวนวิสัยทัศน์และเป้าหมาย สำหรับบริษัทหรือองค์กรที่มีอยู่แล้ว เพื่อปรับปรุงให้มีความทันสมัยยิ่งขึ้น

ต่อมา ก็จะเป็นการบันทึกรายการของโครงการ ความริเริ่ม หรือพัฒนาการที่เกิดขึ้น โดยผู้บริหารระดับสูงหรือทีมงานด้านนวัตกรรมลงความเห็นเป็นโครงการที่มีความสำคัญต่อการบันทึกความเคลื่อนไหวไว้เป็นลายลักษณ์อักษรอย่างเป็นระบบ ระบุถึงลำดับความสำคัญของโครงการ ทรัพยากรที่ได้รับการจัดสรรให้ ผลกระทบหรือผลตอบแทนที่คาดหวังในเชิงธุรกิจ ฯลฯ

ทบทวนข้อมูลใน Innovation Portfolio ของบริษัทหรือขององค์กรเป็นประจำทุกปี หากจำเป็นต้องมีการปรับเปลี่ยนหรือเปลี่ยนแปลง จะได้ปรับทิศทางและจัดสรรทรัพยากรให้เหมาะสมได้ทันสถานการณ์

สื่อความเกี่ยวกับ Innovation Portfolio เพื่อให้เกิดความเข้าใจอย่างทั่วถึงทั้งองค์กร ทำให้เกิดแรงบันดาลใจของบุคลากรที่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสร้างวัฒนธรรมของความมีนวัตกรรมให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

ตัวอย่างของ Innovation Portfolio ที่ถูกบันทึกไว้ในตำราต่างประเทศ ได้แก่ Portfolio ของ Amazon ที่ประกอบด้วย ผลิตภัณฑ์และบริการต่างๆ เช่น บริการเว็ปเซอร์วิส เครื่องอ่านหนังสือ (Kindle) อเล็กซ่า แอพทำงานและโต้ตอบเป็นภาษามนุษย์ ระบบจัดการการจัดส่งสินค้า การส่งสินค้าด้วยโครน ตลอดไปจนถึง ธุรกิจการท่องเที่ยวอวกาศ

หรือ Innovation Portfolio ของ Apple ที่ประกอบด้วย โทรศัพท์มือถือไอโฟน แทบเล็ตไอแพ็ด นาซิกาแอปเปิ้ลวอทช์ แอปเปิ้ลทีวี โน๊ตบุคแมคอินทอช ฯลฯ เป็นต้น รวมถึง Portfolio ของผลิตภัณฑ์อุปโภคบริโภคของบริษัท Proctor & Gamble ธุรกิจบริการ เช่น Netfix และ Airbnb ก็จะมี Portfolio ที่หลากหลาย เช่นกัน

การจัดทำ Innovation Portfolio จะช่วยให้องค์กรมีเส้นทางการพัฒนาที่ชัดเจนและมั่นคง สามารถประเมินได้ว่า เมื่อไรองค์กรควรทำนวัตกรรมแบบต่อยอดหรือค่อยเป็นค่อยไปเพื่อรักษาและขยายตลาด เมื่อไรที่จะต้องทำนวัตกรรมแบบปรับโฉม เพื่อสร้างตลาดและลูกค้ากลุ่มใหม่ หรือเมื่อไรที่จะต้องยุตินวัตกรรมที่โบราณล้าสมัยไปแล้ว

แทนที่จะรอให้ตลาดหรือคู่แข่งมาเป็นผู้ทำให้ธุรกิจของเราต้องออกจากตลาดไป อย่างไม่เต็มใจ