'พิพัฒน์' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

'พิพัฒน์' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

การท่องเที่ยว 'ชายฝั่งทะเล' ของประเทศไทยตลอดความยาวรวมกว่า 3,000 กิโลเมตร นับเป็นพื้นที่สำคัญสร้าง 'รายได้หลัก' แก่ภาคท่องเที่ยวไทย ในปี 2565 สามารถทำมูลค่ารายได้รวมถึง 1.21 ล้านล้านบาท มีศักยภาพสูงในการต่อยอด ด้วยการเฟ้นจุดขายใหม่ ปั้นรายได้ให้เติบโตอย่างต่อเนื่อง

พิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวว่า การพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงรุกชายฝั่งทะเล “อ่าวไทย” และ “อันดามัน” สามารถแบ่งพื้นที่การพัฒนาด้านการท่องเที่ยวออกเป็น 5 คลัสเตอร์ ดังนี้

 

1.พื้นที่โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี)

ได้แก่ ชลบุรี ระยอง และฉะเชิงเทรา รวมอีก 2 จังหวัดใกล้เคียง คือ จันทบุรี และตราด เป็น 5 จังหวัด เมื่อปี 2565 มีจำนวนผู้มาเยี่ยมเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติรวม 31 ล้านคน-ครั้ง เนื่องจากใกล้กรุงเทพฯ สะดวกต่อการเดินทาง ทั้งยังมีชาวต่างชาติอาศัยในพื้นที่อีอีซีหลักหมื่นถึงแสนคน เช่น ชาวญี่ปุ่น โดยเป็นคลัสเตอร์ที่สร้างรายได้ 340,000 ล้านบาท คิดเป็นค่าใช้จ่ายเฉลี่ยค่อนข้างสูงที่ 3,081 บาท/คน/วัน

\'พิพัฒน์\' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

“นอกเหนือจากแหล่งท่องเที่ยวทางทะเล มองว่าพื้นที่โครงการอีอีซีมีจุดแข็งตรงเป็นที่ตั้งของโรงงานอุตสาหกรรมจำนวนมากด้วย เหมาะกับการพัฒนาให้เป็นการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรม (Industrial Tourism) นักท่องเที่ยวสามารถเข้าไปทัศนศึกษาและเยี่ยมชมโรงงานผลิตสินค้าได้ เหมือนในเมืองโยโกฮามะ ประเทศญี่ปุ่น ที่มีโรงเบียร์คิริน (Kirin) และพิพิธภัณฑ์บะหมี่ถ้วยของแบรนด์นิสชิน (Nissin)”

โดยโรงงานสามารถจัดพื้นที่เหมือนเป็นพิพิธภัณฑ์ให้ความรู้ ความบันเทิง กับพื้นที่ชอปปิงสินค้า ซึ่งก็ต้องประสานกับผู้ประกอบการโรงงานที่สนใจร่วมพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงอุตสาหกรรมต่อไป เพราะสิ่งที่ผู้ประกอบการจะได้รับคือเรื่องของภาพลักษณ์และชื่อเสียง ได้บอกเล่าแนวคิดการพัฒนาสินค้า ซึ่งเป็นคุณค่าที่จะได้รับนอกเหนือจากรายได้จากการผลิต

 

2.พื้นที่โครงการไทยแลนด์ ริเวียร่า (Thailand Riviera)

ครอบคลุมพื้นที่เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และระนอง รวม 4 จังหวัด มีจุดขายทั้งภูเขาและทะเล สามารถโปรโมตเส้นทาง “ขับรถเที่ยว” จึงอยากให้มีการพัฒนา “สถานีริมทาง” (Roadside Station) มีคอมมูนิตี้คอมเพล็กซ์สำหรับขายสินค้าต่างๆ รองรับการขับรถเที่ยว เน้นพักผ่อนกินนอนในแถบนี้ได้อย่างสะดวก ควบคู่กับการโปรโมตท่องเที่ยวด้วยรถไฟ โดยเมื่อปี 2565 พื้นที่นี้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ 18 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 85,000 ล้านบาท คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,362 บาท/คน/วัน

\'พิพัฒน์\' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

 

3.พื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามัน

ครอบคลุม 5 จังหวัด ได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา ตรัง และสตูล ซึ่งเป็นคลัสเตอร์ที่บูมมาก เมื่อปี 2565 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติ 29 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 600,000 ล้านบาท มากกว่าพื้นที่อีอีซีเกือบ 2 เท่าแม้มีผู้เยี่ยมเยือนน้อยกว่า คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 4,800 บาท/คน/วัน สูงสุดในบรรดา 5 คลัสเตอร์

“มองว่าพื้นที่ชายฝั่งทะเลอันดามันอิ่มตัวในระดับหนึ่งหลังจากบูมอย่างมากในหลายปีที่ผ่านมา จำเป็นต้องถีบตัวเองให้เป็น ‘พรีเมียม อันดามัน’ (Premium Andaman) สามารถขายได้แพงขึ้น ตอบโจทย์เรื่องคุณภาพมากขึ้น”

หนึ่งในโปรเจกต์สำคัญคือการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพจัดงาน “เอ็กซ์โป 2028 ภูเก็ต ไทยแลนด์” (Expo 2028 Phuket Thailand) สอดรับกับ “ภูเก็ต” ที่ได้วางแผนพัฒนาสู่ “ศูนย์กลางการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพระดับโลก” นอกจากนี้ยังมีแผนส่งเสริมพื้นที่ อ.คลองท่อม กระบี่ ให้มีชื่อเสียงเรื่องน้ำพุร้อนเค็ม ซึ่งปัจจุบันมีเพียง 2 แห่งในโลก รวมถึงส่งเสริม “พังงา” ให้เป็น “จุดหมายปลายทางโลว์คาร์บอน” (Low Carbon Destination) แบบชัดเจนและจับต้องได้ เช่นในพื้นที่ เกาะคอเขา เกาะยาวน้อย เกาะยาวใหญ่ และเขาหลัก เพื่อเฟ้นจุดขายใหม่ให้พังงาแตกต่างจากภูเก็ต

\'พิพัฒน์\' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

 

4.พื้นที่ชายฝั่งทะเลอ่าวไทย 4 จังหวัด

ได้แก่ สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช พัทลุง และสงขลา เมื่อปี 2565 มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนทั้งชาวไทยและต่างชาติ 18 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 180,000 ล้านบาท คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,861 บาท/คน/วัน ถือเป็นพื้นที่ที่มีจุดขายหลากหลาย เช่น สายมู และสายธรรมชาติ ซึ่งล่าสุดได้มีการประกาศพื้นที่พิเศษลุ่มน้ำทะเลสาบสงขลาเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ครอบคลุมพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ สงขลา พัทลุง และนครศรีธรรมราช นอกจากนี้ยังอยากให้มีการพัฒนา “Smart Border Checkpoint” นำร่องพัฒนาที่ด่านชายแดนในสงขลา เพื่อรองรับรถไฟความเร็วสูงด้วย

\'พิพัฒน์\' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท

 

5.พื้นที่ชายฝั่งทะเลจังหวัดชายแดนภาคใต้

ครอบคลุมปัตตานี นราธิวาส และยะลาที่แม้ไม่ติดทะเล แต่สามารถโปรโมตพ่วงได้ โดยแนวคิดคือจะส่งเสริม 3 จังหวัดชายแดนใต้ให้เป็น "เมืองสร้างสรรค์" (Creative City) ภายใต้ชื่อ “Deep South Creative” ด้วยการลบภาพจำเก่าๆ จากการสร้างแบรนด์ 3 จังหวัดและภาพลักษณ์ใหม่ๆ

พร้อมสนับสนุนคนรุ่นใหม่เข้ามาร่วมสร้างสรรค์เมือง เช่น กลุ่มมลายู ลีฟวิ่ง (Melayu Living) ผู้จัดงานเทศกาล “PATTANI DECODED ถอดรหัสปัตตานี” ซึ่งมีแนวคิดดีและเข้าท่าอย่างมาก จึงอยากให้นำแนวคิดดังกล่าวมาพัฒนาเป็นจุดยืนทางการตลาดของปัตตานี และต่อยอดไปยังภาพรวมของทั้ง 3 จังหวัดชายแดนใต้ หลังจากเมื่อปี 2565 พื้นที่นี้มีจำนวนผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยและต่างชาติ 1.6 ล้านคน-ครั้ง สร้างรายได้ 7,000 ล้านบาท คิดเป็นการใช้จ่ายเฉลี่ย 2,264 บาท/คน/วัน

 

\'พิพัฒน์\' แนะปั้น 5 คลัสเตอร์ ปั๊มรายได้ท่องเที่ยวชายทะเลไทย 1.2 ล้านล้านบาท