'ลอรีอัล’ เปิดตัวพ่อทัพใหม่ แพทริค สงสัยตลาดความไทยแข่งเดือดเรื่องราคา?
เจาะแนวคิด ‘ลอรีอัล’ แบรนด์ความงามอันดับหนึ่งของโลก อายุ 114 ปี เปรียบเทียบองค์กรเป็น Unicornus Rex พร้อมเคลื่อนทัพตลาดความงามในไทยปี 2566 ด้วย ‘แพทริค จีโร’ กุมบังเหียน เอ็มดี บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา คนใหม่
"ลอรีอัล" แบรนด์ยักษ์ใหญ่ความงาม สัญชาติฝรั่งเศส ที่อยู่ในตลาดโลกมาเป็นระยะเวลา 114 ปี และตลาดไทยที่เข้ามาทำตลาดตั้งแต่ปี 2543 และมีผลิตภัณฑ์หลักที่อยู่ในตลาดไทยรวม 15 แบรนด์หลัก จากแบรนด์ทั้งหมดในเครือรวม 36 แบรนด์
ความเคลื่อนไหวของ ลอรีอัลในปี 2566 กับการมีผู้นำคนใหม่ที่เข้ามาบริหารงานกับ “แพทริค จีโร” เข้ามารับตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ลอรีอัล ประเทศไทย พม่า ลาว และกัมพูชา ตั้งแต่เดือน สิงหาคม 2565 จากก่อนหน้านี้ดูแลตลาดในภูมิภาคเอเชียมาตลอด ทั้งตลาดญี่ปุ่น ตลาดเซี่ยงไฮ้ และตลาดสิงคโปร์ เป็นเวลานานหลายปี จึงมีความเข้าใจตลาดในภูมิภาคนี้พอสมควร
“แพทริค” กล่าวว่า อุตสาหกรรมความงามของไทยที่มีมูลค่าประมาณ 1.49 แสนล้านบาท แบ่งเป็น ตลาดดูแลผิวที่มีส่วนแบ่งการตลาด 60% ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 14% น้ำหอม 6% เป็นตลาดที่มีการแข่งขันรุนแรงมาก โดยเฉพาะการแข่งขันในเรื่องราคา และหากผู้ประกอบการมีการแข่งเฉพาะเรื่องราคามาก และมีการลดราคามากแล้ว ก็ไม่แน่ใจว่าผู้ประกอบการจะนำสิ่งใดมาขายให้แก่ผู้บริโภค ส่วนกลุ่มลูกค้าคนไทย ก็เป็นผู้บริโภคคนไทยก็มีความคาดหวังกับแบรนด์ระดับสูง และศึกษาข้อมูลต่างๆ
ทำให้ บริษัท ลอรีอัล ที่ไม่ได้มุ่งแข่งขันในด้านราคา แต่ให้ความสำคัญในการพัฒนาและวิจัยสินค้ามาโดยตลอด และเป็นบริษัทความงามที่มีการลงทุนด้านเทคโนโลยีสูงมาก ทั้ง ดาต้า และเอไอ มาเป็นระยะเวลาร่วม 10 ปีแล้ว เพื่อการเป็น ผู้นำด้านบิวตี้เทคในตลาดโลก โดยเฉพาะแล้ว ลอรีอัลทั่วโลก ใช้งบในการวิจัยและพัฒนา (อาร์แอนด์ดี) ประมาณ 3% ของยอดขายหรือประมาณ 1,000 ล้านยูโร เลยทีเดียว
แพทริค เล่าต่อว่า ลอรีอัล เป็นบริษัทอยู่ในตลาดมาเป็นระยะเวลาร่วม 114 ปี แต่แนวทางการขับเคลื่อนองค์กรเปรียบเสมือนการเป็น Unicornus Rex มาจากคำว่า ไดโนเสาร์ ทีเร็กซ์ ที่หมายถึง การเป็นองค์กรที่มีอายุ ยาวนานถึง 114 ปี และมีการทำตลาดไปทั่วโลกรวม 84 ประเทศในโลก รวมถึงการมีพนักงานจำนวน 8.40 หมื่นคน และในไทยมีพนักงานรวมกว่า 600 คน ที่มีความแข็งแกร่งและพร้อมต่อสู้ในทุกเรื่อง และคำว่า ยูนิคอร์น การเป็นองค์กรที่มีการเติบโตในแบบยูนิคอร์น ทั้งหมดเป็นส่วนผสมทำให้บริษัทแข็งแกร่งต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน
“ในไทยบริษัทไม่มีโรงงานผลิตสินค้าให้ แต่ตลาดไทยมีความสำคัญอย่างมาก เนื่องจาก ตลาดไทย มีแบรนด์หลัก ทั้งแบรนด์ การ์นิเย่ ที่ทีมงานของลอรีอัลไทยได้ให้ข้อมูลการวิจัยและพัฒนาในผลิตภัณฑ์ การ์นิเย่ วิตามินซี ก่อนทีมวิจัยของ ลอรีอัล ที่อินเดีย จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ออกมาสู่ตลาด จนประสบความสำเร็จทั้งในไทยและตลาดโลก รวมถึง แบรนด์ เมคอัพ “เมย์เบลลีน นิวยอร์ก” และแบรนด์เครื่องสำอาง “ลอรีอัล ปารีส” ที่บริษัทจะให้ข้อมูลในการพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้เหมาะสมกับตลาดในไทย”
แพทริค กล่าวปิดท้ายว่า การเข้ามารับตำแหน่งในไทยครั้งนี้ คาดว่าจะอยู่ทำหน้าที่ในไทยประมาณ 4-5 ปี และมีเป้าหมายสำคัญกับการขยายแบรนด์ในไทย การนำเสนอความเป็น บิวตี้เทค (Beauty Tech) ของ ยูนิลีเวอร์ ที่มุ่งมั่นสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างไม่หยุดนิ่ง และการนำเสนอผลิตภัณฑ์ของบริษัท ที่เน้นเรื่องความยั่งยืน โดยในปัจจุบัน ยูนิลีเวอร์ มีกลุ่มเทคโนโลยีด้านความงามมากกว่า 15 รายการสำหรับตลาดในไทย
ทั้งนี้ อุตสาหกรรมความงามในไทย ในปี 2565 มีมูลค่ารวม 1.49 แสนล้านบาท เติบโต 9.5% แบ่งเป็น ผลิตภัณฑ์ดูแลผิว (skincare) 60% ผลิตภัณฑ์ผม (hair) 20% เครื่องสำอาง (makeup) 14% น้ำหอม (fragrance) 6% โดยตลาดผลิตภัณฑ์ดูแลผิว มีมูลค่ารวม 8.9 หมื่นล้านบาท เติบโต 11% ผลิตภัณฑ์เครื่องสำอาง 2.08 หมื่นล้านบาท เติบโต 3% ผลิตภัณฑ์สำหรับเส้นผม มูลค่า 3 หมื่นล้านบาท เติบโต 10.5% และ ผลิตภัณฑ์น้ำหอม มูลค่า 9.5 พันล้านบาท เติบโต 11%