'คิงเพาเวอร์' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ

'คิงเพาเวอร์' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ

อาณาจักร “คิง เพาเวอร์” ของตระกูล “ศรีวัฒนประภา” รับกระแสนักท่องเที่ยวคัมแบ็ค หัวเรือใหญ่ “อัยยวัฒน์” เร่งฟื้นธุรกิจดิวตี้ฟรี 80% มั่นใจความพร้อมหลังปรับโครงสร้างธุรกิจครั้งใหญ่สู่ 8 กลุ่มธุรกิจ พร้อมยกเครื่อง “อีคอมเมิร์ซ” แย้มเตรียมเปิดโครงการรีเทลใหม่ปี 67

ตลอด 34 ปีที่ผ่านมาของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ นับตั้งแต่ก่อตั้งเมื่อปี 2532  เผชิญช่วงเวลายากที่สุดในการประกอบธุรกิจในห้วง 3 ปีหลังนี้ ด้วยผลกระทบอย่างหนักหน่วงจากวิกฤติโควิด-19 ถึงขั้นเรียกได้ว่า “ล้มลุกคลุกคลาน” ต้องพลิกกลยุทธ์ ปรับรูปแบบธุรกิจทุกกระบวนท่า ด้วยการผนึกพันธมิตรและพนักงาน ที่สำคัญไม่ยึดติดแค่การทำ “ธุรกิจดิวตี้ฟรี” โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญคือการเปลี่ยนพนักงานกว่า 12,000 คนในช่วงมหาวิกฤตินั้นให้เป็นคนขายของออนไลน์ เพื่อช่วยกันประคองรายได้ในสถานการณ์ยากลำบาก

กระทั่งฝ่าฟันมรสุมก้าวสู่ยุคแห่งการฟื้นตัวหลังโควิดคลี่คลาย กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ จึงปรับพอร์ตโฟลิโอครั้งใหญ่สู่ 8 แกนธุรกิจ ได้แก่

1.กลุ่มธุรกิจค้าปลีกสินค้าปลอดอากร (ดิวตี้ฟรี)

2.กลุ่มธุรกิจค้าปลีก

3.กลุ่มธุรกิจอาหาร

4.กลุ่มธุรกิจโรงแรม

5.กลุ่มธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค

6.กลุ่มธุรกิจสร้างสรรค์ประสบการณ์

7.กลุ่มธุรกิจกีฬา

8.กลุ่มธุรกิจกิจกรรมเพื่อสังคม

ทั้งหมดนี้ เพื่อกระจายความหลากหลาย และต้องการหลุดจากความเป็นเพียงแค่ “ดิวตี้ฟรี”

โดยวางกลยุทธ์แห่งอนาคต 4Es – Enable, Encourage, Explore และ Empower นำเสนอสินค้า และบริการที่เป็นเลิศ มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้ลูกค้า และการสร้างสรรค์ประสบการณ์ใหม่แบบไร้รอยต่อในการเดินทางเพื่อผู้คนทั่วโลกอย่างแท้จริง

นายอัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ เปิดเผยว่า กลุ่มธุรกิจทั้ง 8 แกนหลักของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ส่วนใหญ่เกี่ยวข้องกับนักท่องเที่ยว ซึ่งคาดการณ์ว่าจะมีปริมาณผู้โดยสารที่สนามบินสุวรรณภูมิตลอดปี 2566 อยู่ที่ประมาณ 64 ล้านคน โดยกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ตั้งเป้าหมายปีนี้ฟื้นยอดขายกลับมา 80% ของยอดขายปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ถือเป็นเป้าหมายที่ท้าทายมากขององค์กร เพราะตอนนี้นักท่องเที่ยวจีนซึ่งเป็นตลาดหลักกลับมาแค่ 30% เท่านั้น ยังไม่มากอย่างที่ภาพรวมทั้งประเทศคาดหวัง แต่ก็ถือว่าดีกว่าไม่มีเลย

\'คิงเพาเวอร์\' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ

 

++ รุกเพิ่มรายได้อีคอมเมิร์ซปี 68 สู่ 30%

สิ่งที่คิงเพาเวอร์ต้องทำคือการเพิ่มยอดการใช้จ่ายและจำนวนลูกค้าเพื่อกระตุ้นยอดขาย หนึ่งในกลยุทธ์สำคัญคือ “ดิจิทัล ทรานส์ฟอร์เมชัน” ให้สอดคล้องกับเทรนด์สมัยใหม่ ตั้งเป้าหมายเพิ่มสัดส่วนรายได้กลุ่มธุรกิจดิวตี้ฟรีและกลุ่มธุรกิจค้าปลีกผ่านช่องทางอีคอมเมิร์ซเป็น 30% ของรายได้รวมทั้งกลุ่มบริษัทในปี 2568 จากปัจจุบันมีสัดส่วน 10% ของรายได้รวมฯ หรือเติบโต 2 เท่าเมื่อเทียบกับปี 2562

ด้วยการปรับเปลี่ยนวิธีเข้าถึงลูกค้าด้วยข้อมูล พร้อมปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร และควบรวมแพลตฟอร์มออนไลน์ให้เป็นซิงเกิล เกตเวย์ (Single Gateway) โปรโมตดึงลูกค้าทั้งกลุ่มนักเดินทางและกลุ่มตลาดในประเทศให้เลือกชอปปิงออนไลน์ผ่าน Kingpower.com แพลตฟอร์มเดียว

“ปัจจุบันผู้บริโภคต้องการสินค้าที่หลากหลายและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น คิงเพาเวอร์จึงได้ปรับกลยุทธ์การตลาดออนไลน์ด้วยระบบ Shop All Possibilities in One Click ด้วยการผนวกแอปพลิเคชัน Firster.com เข้ามาอยู่ใน Kingpower.com เพื่อเพิ่มศักยภาพทางการแข่งขัน และส่งมอบประสบการณ์ที่ดียิ่งกว่าให้กับนักช้อปทุกคนทั้งที่มีไฟลต์บิน และไม่มีไฟลต์บิน พัฒนาและต่อยอดจนเป็น Seamless Customer Journey เชื่อมโยงทุกการชอปปิง”

นอกจากนี้ ยังได้เพิ่มสินค้ากลุ่ม Non-Duty free ได้แก่ กลุ่มสินค้าเพื่อการท่องเที่ยว, กลุ่มสินค้าเครื่องใช้ในบ้าน,เพิ่มเติมใน Firster.com จากเดิมที่เป็นเพียงกลุ่มบิวตี้และไลฟ์สไตล์เท่านั้น ทำให้ Kingpower.com มีสินค้าบนแพลตฟอร์มรวมกว่า 250,000 รายการ โดยเข้าถึงได้ผ่านเว็บไซต์ Kingpower.com และแอปพลิเคชัน KINGPOWER

“ช่วงโควิด-19 ระบาด เราเห็นการเปลี่ยนแปลงของพฤติกรรมลูกค้าว่ายังชอบความเป็นห้าง ยังนิยมเดินทางมาที่ Physical Store เพื่อเลือกซื้อสินค้า แต่ลูกค้ามีทางเลือกมากมาย โจทย์คือเราจะเข้าถึงลูกค้าได้อย่างไร และสร้างประสบการณ์การชอปปิงให้ลูกค้าประทับใจได้อย่างไร”

 

++ เจาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ Gen Y - Z

นอกเหนือจากนี้ กลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ได้เปิดตัวกลุ่มแบรนด์แอมบาสเดอร์ “The Possibilities Makers” ประกอบด้วย เจเจ - ต้าเหนิง - 4EVE และเจฟ ซาเตอร์ ตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่มีคาแรกเตอร์ที่โดดเด่น สดใส เข้าถึงได้ และชื่นชอบการเดินทาง ร่วมส่งต่อความหลากหลายของไลฟ์สไตล์ในการใช้ชีวิตที่ไม่หยุดค้นหาความเป็นไปได้ในแบบฉบับของตัวเอง นำเสนอผ่าน 8 แกนธุรกิจหลักของคิง เพาเวอร์ ตามที่กล่าวมาแล้วข้างต้น ในรูปแบบ Interactive Marketing ครอบคลุม 360 องศา ในสื่อต่างๆ ตลอดปี ทั้ง Digital Campaign, กิจกรรม On ground และ Online เพื่อสร้างสรรค์ Customer Experience แบบตรงใจ มอบประสบการณ์ใหม่ในการเดินทางให้กับผู้บริโภค และนักเดินทางทุกคน

\'คิงเพาเวอร์\' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ

“เรามุ่งหวังขยายฐานผู้บริโภคไปยังคนรุ่นใหม่โดยเฉพาะ Gen Y และ Gen Z ที่มีกำลังซื้อ เพิ่มเติมจากฐานลูกค้าเดิมที่ส่วนใหญ่เป็น Gen X และ Baby boomers และเพื่อสร้างความผูกพัน และประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์ในระยะยาว ถือเป็นการขยายฐานลูกค้าใหม่ให้เข้าถึงทุกวัย โดนใจคนรุ่นใหม่ ตั้งเป้าลูกค้าโต 20%”

\'คิงเพาเวอร์\' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ

 

++ เตรียมเปิดพื้นที่ใหม่ อาคาร SAT-1 ก.ย.นี้

สำหรับการขยายธุรกิจของกลุ่มบริษัท คิง เพาเวอร์ ในปีนี้ เตรียมเปิดให้บริการพื้นที่ใหม่ในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SATTELLITE 1 : SAT-1) ของสนามบินสุวรรณภูมิ ใช้เงินลงทุนประมาณ 2,000 กว่าล้านบาท ซึ่งปัจจุบันได้เริ่มการตกแต่งแล้ว คาดเปิดให้บริการได้ตามกำหนดที่บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. วางไว้ว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ย.นี้

ด้านรายงานข่าวจาก ทอท. ระบุว่า พื้นที่ใหม่ดังกล่าวที่ คิง เพาเวอร์ รับสัมปทานในอาคารเทียบเครื่องบินรองหลังที่ 1 (SAT-1) ของสนามบินสุวรรณภูมิ มีขนาดพื้นที่ใช้สอยรวม 7,000 ตารางเมตร แบ่งเป็น 3,000 ตารางเมตรสำหรับพื้นที่ดิวตี้ฟรี ส่วนอีก 4,000 ตารางเมตรเป็นพื้นที่เชิงพาณิชย์

นายอัยยวัฒน์ กล่าวเพิ่มเติมด้วยว่า ส่วนในปี 2567 จะมีโครงการลงทุนใหม่เกี่ยวกับรีเทลในย่าน CBD พื้นที่ประมาณ 10,000 ตารางเมตร เพื่อรองรับพฤติกรรมลูกค้าเปลี่ยน และปรับตัวรับกับเทรนด์ที่ลูกค้ามีตัวเลือกมากขึ้น

 

++ ปี 65 รีโนเวตรับทัวริสต์ฟื้น

ขณะที่เมื่อปี 2565 เป็นปีที่ คิง เพาเวอร์ กลับมาเปิดให้บริการร้านค้าที่อาคารผู้โดยสารหลักของสนามบินสุวรรณภูมิอีกครั้ง หลังจากช่วงปี 2563-2564 ได้รับผลกระทบอย่างหนักจากโควิด-19 โดยในด้านมืดยังมีข้อดีคือ ได้ดำเนินการรีโนเวตพื้นที่ร้านค้าในสนามบินสุวรรณภูมิให้ลูกค้าและพนักงานทุกคน ถือว่าเสี่ยงมาก เพราะถ้าหากลูกค้าไม่กลับมาภายใน 2 ปี จะรีโนเวตไปเพื่อให้ใครใช้

“แต่ คิง เพาเวอร์ ก็เชื่อว่าถ้าไม่เริ่มรีโนเวตในวันนั้น ก็อาจจะไม่มีโอกาสได้ทำอีกเลย และสนามบินสุวรรณภูมิได้เปิดให้บริการมากว่า 14 ปี ร้านค้าต่างๆ เริ่มโทรม จึงคุยกันกับทีมงานว่าเมื่อได้สัมปทานมาใหม่ ก็คงต้องรีโนเวตพื้นที่ร้านค้าให้ดีขึ้น หาแบรนด์ใหม่เข้ามา โดยปัจจุบันมีแบรนด์รวมกว่า 1,400 แบรนด์ บนพื้นที่รีเทลกว่า 40,000 ตารางเมตร”

 

++ ส่องรายได้-กำไรย้อนหลัง 3 ปีบริษัทในกลุ่มคิงเพาเวอร์

จากข้อมูลของกรมการพัฒนาธุรกิจการค้า ระบุผลประกอบการย้อนหลัง บริษัท คิง เพาเวอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด ไว้ดังนี้

- ปี 2562 มีรายได้รวม 61,193 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,106 ล้านบาท

- ปี 2563 รายได้รวม 21,955 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 4,473 ล้านบาท

- ปี 2564 รายได้รวม 17,330 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,573 ล้านบาท

 

ด้านผลประกอบการย้อนหลังของบริษัท คิง เพาเวอร์ สุวรรณภูมิ จำกัด มีดังนี้

- ปี 2562 รายได้รวม 6,732 ล้านบาท กำไรสุทธิ 2,343 ล้านบาท

- ปี 2563 รายได้รวม 2,604 ล้านบาท กำไรสุทธิ 1,463 ล้านบาท

- ปี 2564 รายได้รวม 282 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 42 ล้านบาท

 

ส่วนบริษัท คิง เพาเวอร์ ดิวตี้ฟรี จำกัด มีดังนี้

- ปี 2562 รายได้รวม 38,554 ล้านบาท กำไรสุทธิ 756 ล้านบาท

- ปี 2563 รายได้รวม 8,119 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 1,833 ล้านบาท

- ปี 2564 รายได้รวม 1,608 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 2,814 ล้านบาท

 

++ ลุ้นเสริมทัพ “เลสเตอร์ซิตี้” ต้องรอจบซีซัน

ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวสอบถามเพิ่มเติมถึงสถานการณ์ของสโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ นายอัยยวัฒน์ ตอบคำถามสั้นๆ ว่า “การเสริมทัพของสโมสรฯ ต้องรอฤดูกาลนี้ให้จบก่อน”

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า จากตารางคะแนนของพรีเมียร์ลีก อังกฤษ วันนี้ (26 เม.ย.) สโมสร เลสเตอร์ ซิตี้ เจ้าของฉายา จิ้งจอกสยาม อยู่ในอันดับ 17 กำลังดิ้นรนเพื่อหนีจากโซนกลุ่มตกชั้น หลังจากแข่งไปแล้ว 33 นัด จากทั้งหมดต้องแข่ง 38 นัด โดยเมื่อกลางเดือน เม.ย.ที่ผ่านมา เพิ่งประกาศแต่งตั้ง ดีน สมิธ เป็นผู้จัดการทีมชั่วคราว จนจบฤดูกาล 2022/2023 เรียบร้อย ซึ่งมีภารกิจหลักในการพาทีมเลสเตอร์ ซิตี้ รักษาสถานะให้อยู่พรีเมียร์ลีกต่อไป

\'คิงเพาเวอร์\' ลุยฟื้นดิวตี้ฟรี วางโครงสร้าง 8 ธุรกิจ ยกเครื่องอีคอมเมิร์ซ