‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

"มาม่า" เตรียมควงนักลงทุน ตั้งบริษัทลุยเปิดร้าน MAMA Shop รูปแบบต่างๆ ต่อยอดบะหมี่ฯ หลังชิมลางโมเดล "MAMA Station" ผลตอบรับดี วางขยาย 20-30 สาขา รอร้านแกร่ง ขยายสู่แฟรนไชส์ ใน 1-2 ปี

มาม่า” แบรนด์บะหมี่กึ่งสำเร็จรูปเบอร์ 1 ของไทย ที่ยืนหยัดทำตลาดมา 5 ทศวรรษ และก้าวเข้าสู่ปีที่ 51 นอกจากภารกิจผลักดันเป้าหมายยอดขายให้แตะ 3 หมื่นล้านบาท บริษัทยังต้องรักษาชื่อชั้นแบรนด์ให้อยู่เคียงข้างคนไทย ไม่ให้โดนดิสรัป เหมือนกับแบรนด์ที่ถูกเรียกขานเป็นชื่อสินค้าประเภทนั้นๆหรือ Generic Name ที่หายไปเพราะไม่ปรับตัว

ทั้งนี้ เพื่อให้บะหมี่ฯ “มาม่า” ครองใจกลุ่มเป้าหมายโดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ จึงเห็นการพัฒนาโมเดลธุรกิจเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภค หนึ่งในกลยุทธ์การตลาดคือปั้นร้านอาหาร “MAMA Shop” เปิดตัวครั้งแรกในงานสหกรุ๊ปแฟร์ ปี 2565 ที่ผ่านมา

ทว่า พันธมิตร ที่มีสายสัมพันธ์กับ “มาม่า” จึงเห็นโอกาส และนำไปต่อยอดด้วยการเปิด MAMA Station อร่อย แห่งแรกที่โครงการ HappyHub คอร์ทแบดมินตัน ย่านสุคนธสวัสดิ์ สร้างการเติบโตยอดขายระดับ “แสนบาทต่อเดือน” ล่าสุด มีพันธมิตรรายที่ 3 เพื่อเปิดร้านแห่งใหม่ภายใต้ชื่อ “MAMA Station Craft” ย่านพัฒนาการ 53 พื้นที่พัฒน์มาร์เกต ตรงข้ามโรงเรียนเตรียมอุดมศึกษา พัฒนาการ

ผนึกนักลงทุนลงขันตั้งบริษัท  

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน)หรือTFMAMA เปิดเผยว่า จากการเปิดร้านมาม่า สเตชั่นรูปแบบต่างๆ ได้ผลตอบรับดีทั้งจากนักลงทุน และผู้บริโภค สามารถสร้างยอดขายต่อร้านระดับแสนบาทต่อเดือน ทำให้บริษัทเตรียมยกระดับความร่วมมือกับนักลงทุนที่เปิดร้านไปแล้ว จัดตั้งบริษัทร่วมทุนรองรับการขยายร้านต้นแบบหรือ Pilot ต่อเนื่อง เพื่อปูทางสู่การพัฒนาเป็นโมเดลแฟรนไชส์ในอนาคต

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

“การตั้งบริษัทร่วมทุนคาดว่าจะเห็นในเดือนมิถุนายนหรือกรกฎาคม อาจมีทุนจดทะเบียน 1 ล้านบาท  รูปแบบการลงทุน ไทยเพรซิเดนท์ฯจะถือหุ้น 20-30% ส่วนนักลงทุนพันธมิตรถือหุ้นใหญ่ เพื่อคงความเป็นเจ้าของ เนื่องจากที่ผ่านมา แต่ละรายมีความตั้งใจในการทำร้าน นอกจากมีเงินทุนแล้ว ยังมีไอเดียโดดเด่น สร้างสรรค์เมนู ตกแต่งร้าน เลือกทำเลเปิดร้าน เพื่อดึงดูดลูกค้าอย่างดี”

นอกจากนี้ รูปแบบร่วมมือกับนักลงทุนพันธมิตร ยังเปิดกว้างหลายมิติ นอกจากร่วมทุน ถือหุ้น อาจเก็บค่าส่วนแบ่งจากกำไร(GP) และเปิดร้านเองด้วย

ทำร้านต้นแบบ 1-2 ปี ก่อนลุยแฟรนไชส์

ส่วนกลยุทธ์การขยายตลาดเบื้องต้น จะลงทุนเพื่อเปิดร้านมาม่าประมาณ 20-30 สาขา เน้นทำเลเด่นคอมมูนิตี้ มอลล์ ใกล้สถานศึกษา เมืองท่องเที่ยว ตลอดจนสถานบันเทิง ผับ บาร์ สถานีขนส่ง ฯ หากภายใน 1-2 ปี ร้านต้นแบบมีความแข็งแกร่ง จะพิจารณาขยายแฟรนไชส์ เพราะหลังจากเปิดร้าน 3 สาขา และรูปแบบจุดขายหรือคีออส ทำให้มีนักลงทุน ผู้ประกอบการต่างๆ 400-500 รายติดต่อเปิดแฟรนไชส์

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

“พันธมิตรที่ได้อยากได้คือมีไอเดียมากกว่า อย่างการเปิดร้าน MAMA Station Craft เจ้าของมีไอเดียหลากหลาย สร้างสรรค์เมนูมาม่ามากมาย และเลือกทำเลที่มีลูกค้ากลุ่มเป้าหมายทั้งนักเรียน นักศึกษา และวัยเริ่มต้นทำงาน”

สำหรับร้านมาม่า ที่เปิดโดยพันธมิตร 3 ราย รวม 5 สาขา(คีออส 2 แห่ง) โมเดลร้านแรกขายให้กับลูกค้าที่มาตีแบด แต่สร้างยอดขายราว 2 แสนบาทต่อเดือน ส่วนร้านที่ 2 อยู่ในคอมมูนิตี้มอลล์ ย่านเพชรเกษม 98 ท้าทายมากเนื่องจากผู้คนไม่มากนัก แต่สร้างยอดขายเติบโตเช่นกัน ส่วนรูปแบบคีออสมีทั้งขนาด 25 ตารางเมตร(ตร.ม.) และ 8 ตร.ม. ตั้งอยู่ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

ขณะที่สาขาล่าสุด MAMA Station Craft คาดการณ์ยอดขายราว 2 แสนบาทต่อเดือน หรือประมาณ 5,000-6,000 บาทต่อวัน ส่วนอัตรากำไรของร้านเฉลี่ยราว 30%

“การจะขยายแฟรนไชส์ บริษัทต้องพัฒนาโมเดลร้านให้พร้อม เพราะผู้ประกอบการที่จะเปิดร้านต้องการทุกอย่างเสร็จสรรพ นั่นหมายถึงบริษัทอาจต้องมีครัวกลางเองด้วย เพื่อควบคุมคุณภาพให้ได้มาตรฐาน”

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

กุญช์ถริกาญ์ สุทนต์

ชูเมนูธรรมดาเพิ่มความพิเศษ

ด้านนางสาวกุญช์ถริกาญ์ สุทนต์ เจ้าของร้าน MAMA Station Craft พัฒนาการ กล่าวว่า ได้ใช้งบลงทุนประมาณ 1 ล้านบาท เพื่อเปิดร้านดังกล่าว เนื้อที่ราว พร้อมครีเอทมาม่ากว่า 30 เมนู เพื่อตอบสนองผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมาย และทำให้อาหารจานโปรดมีคุณค่ามากขึ้น

ส่วนการเลือกทำเลพัฒนาการ 53 เพื่อเปิดร้านเนื่องจากอยู่ใกล้โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาพัฒนาการ(ตรงข้ามร้าน) มีบริษัทต่างๆ รวมถึงค้าปลีกอย่าง ยูนิโคล โร้ดไซส์แห่งแรกของอาเซียน(เยื้องร้าน) ฯ รวมถึงตนเองมีธุรกิจในพื้นที่ดังกล่าว จึงเข้าใจทำเลค่อนข้างมาก และพบว่าปัญหาหรือ Pain point ของในพื้นที่คือไม่ค่อยมีร้านอาหารติดแอร์

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

“การทำตลาด เปิดร้านช่วงโรงเรียนปิดเทอม เพื่อประเมินลูกค้าและการขาย ส่วนเมนูในร้านกว่า 30 รายการ เราครีเอทเองทั้งหมด ทำเมนูเบสิกให้มีความพิเศษมากขึ้น ส่วนราคาขายเริ่มต้น 69 บาท และยังมีการขายเป็นเซ็ท หม้อไฟ”

เร่งสานเป้าขาย 3 หมื่นล.

นายพัน กล่าวอีกว่า ภาพรวมตลาดบะหมี่ฯ ไตรมาส 1 ปี 2566 มีการเติบโตประมาณ 4-5% ส่วนมาม่าเติบโตประมาณ 11% ในเชิงมูลค่า เนื่องจากปลายปีที่แล้วมีการปรับขึ้นราคาทั้งตลาด ส่วนเชิงปริมาณคาดการณ์ใกล้เคียงปีก่อน

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์

พันธ์ พะเนียงเวทย์

“สิ่งที่เห็นชัดพฤติกรรมการซื้อบะหมี่ฯ รวมถึงสินค้าจำเป็นหรือ FMCG หมวดอื่นๆ ลดลง ผู้บริโภคจะซื้อก็ต่อเมื่อมีเม็ดเงินจากรัฐสนับสนุน หรือรอเงินฟรีจากโครงการต่างๆ ขณะที่สินค้าฟุ่มเฟือยยังมีความสามารถในการจ่าย ยอดขายไม่ตก”

ด้านแนวโน้มตลาดบะหมี่ฯไตรมาส 2 จะเติบโตได้ขึ้นอยู่กับผู้ประกอบการมีสินค้าใหม่ และการทำตลาดกระตุ้นการบริโภคมากน้อยแค่ไหน ส่วนทั้งปีคาดการณ์ตลาดบะหมี่ฯรวมจะเติบโตราว 10% ส่วนหนึ่งจากราคาสินค้าที่ปรับขึ้น ขณะที่มาม่า ตั้งเป้ายอดขายเติบโต 5-6% ผลักดันไทยเพรซิเดนท์ฯ ให้มียอดขายแตะ 3 หมื่นล้านบาท

“ยอดขายไตรมาสแรกปิดตัวเลขราว 4,000 ล้านบาท และทั้งปีเราพยายามผลักดันรายได้บริษัทให้ถึง 3 หมื่นล้านบาทให้ได้ หลังจากที่ผ่านมาโควิด-19 ระบาด กระทบเป้าหมายเพื่อฉลองมาม่าครบรอบ 50 ปี ส่วนภารกิจจากนี้ไป นอกจากยอดขาย เราต้องทำให้แบรนด์มาม่าไม่โดนดิสรัป และครองใจผู้บริโภคจากรุ่นสู่รุ่น โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่”

‘มาม่า’ หนีดิสรัป ร่วมทุนพันธมิตร ลุยเปิดร้านอาหารแกร่ง ปูทางสู่แฟรนไชส์ ไข่เจียวกินอิ่ม X MAMA Station สาขา ม.ธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต