ต่างชาติเที่ยวไทย 4 เดือนจ่อทะลุ 8 ล้าน ททท.แนะเอกชนใจแข็ง 'อย่าขายของถูก!'
แนวโน้มการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวเห็นโมเมนตัมที่ดีต่อเนื่อง โดยเฉพาะในช่วงบิ๊กอีเวนต์ 'เทศกาลสงกรานต์ เรียกแขกมหาศาลจากทั่วโลก! ทุกจังหวัดทุกพื้นที่ต่างคึกคัก ยอดคนเข้าร่วมทะลุเป้าหมาย "ททท." คาดว่าช่วง 4 เดือนแรกของปี 66 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติทะลุ 8 ล้านคน
และตลอดปีนี้น่าจะดึงมาเที่ยวไทยได้ไม่น้อยกว่า 25 ล้านคนตามเป้า
ยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า หลังจากภาคธุรกิจท่องเที่ยวกลับมาเร็วกว่าที่ผู้ประกอบการคาดการณ์ ส่งผลต่อ “ต้นทุนการดำเนินธุรกิจ” เช่น ค่าจ้างพนักงาน ททท.จึงบอกผู้ประกอบการให้ใจแข็งเข้าไว้ “อย่าขายของถูก!” เนื่องจากปรากฏการณ์ “เที่ยวล้างแค้น” (Revenge Travel) นักท่องเที่ยวเก็บกดออกมาใช้จ่ายให้หายแค้นจากวิกฤติโควิด-19 น่าจะยาวนานอีกอย่างน้อย 1 ปี เนื่องจากแต่ละประเทศทยอยเปิดไม่พร้อมกัน
ล่าสุดพบว่าผู้ประกอบการบางรายมีผลการดำเนินงานในตอนนี้ดีกว่าภาวะปกติ หรือ “Better Than Normal” เมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาดด้วยซ้ำ
วัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า สถานการณ์โรงแรมที่พักในเครือ AWC ตอนนี้ ซึ่งส่วนใหญ่อยู่ในเซ็กเมนต์ลักชัวรีตามเมืองท่องเที่ยวหลัก เช่น กรุงเทพฯ และภูเก็ต พบว่ามีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย 80% และสามารถทำราคาห้องพักสูงขึ้น 200% เมื่อเทียบกับปี 2562 ก่อนโควิดระบาด ยกเว้นโรงแรมในเชียงใหม่ที่ยังทรงๆ ไม่ได้แข็งแรงหรือฟื้นตัวแบบก้าวกระโดด จึงมองว่าถ้านักท่องเที่ยวจีนกลับมา จะมีส่วนสำคัญทำให้ภาคท่องเที่ยวเชียงใหม่กลับมาแข็งแกร่งอีกครั้ง
มาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว ส่งผลให้ “โรงแรมบางส่วน” สามารถปรับราคาห้องพักได้ โดยจากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรม เดือน มี.ค.2566 จัดทำโดย ทีเอชเอ และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ระบุว่า 74% ของโรงแรมตั้งแต่ระดับ 5 ดาวขึ้นไป ปรับราคาห้องพักเฉลี่ยสูงกว่าช่วงก่อนโควิด-19 ระบาด
ขณะที่โรงแรมไม่เกินระดับ 4 ดาวยังปรับราคาได้จำกัด! โดย 34% ของโรงแรมเฉพาะระดับ 4 ดาว สามารถปรับราคาได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด ส่วน 26% ของโรงแรมไม่เกินระดับ 3 ดาว สามารถปรับราคาได้สูงกว่าช่วงก่อนโควิด
ทั้งนี้ เมื่อดูผลการสำรวจในประเด็นดังกล่าวของ “โรงแรมทุกระดับ” พบว่า 38% สามารถปรับราคาห้องพักได้ โดยส่วนใหญ่ 17% ปรับราคาได้สูงกว่าก่อนโควิดระดับ 16-30% ส่วนโรงแรมอีก 15% ปรับราคาได้ไม่เกิน 15% ของก่อนโควิด ขณะที่อีก 6% ปรับราคาได้สูงกว่าก่อนโควิดมากกว่า 30%
ผลสำรวจฯ ยังระบุด้วยว่า ผู้ประกอบการโรงแรมส่วนใหญ่ 62% ยังเผชิญปัญหา “ขาดแคลนแรงงาน” และ 25% กระทบทั้งจำนวนลูกค้าและคุณภาพการให้บริการ โดยเฉพาะภาคที่มีอัตราการเข้าพักอยู่ในระดับสูง ได้แก่ ภาคใต้ และภาคกลาง ซึ่งมีปัญหาดังกล่าวคิดเป็นสัดส่วน 46% และ 32% ตามลำดับ ขณะที่ภาคตะวันออกส่วนใหญ่กระทบคุณภาพการให้บริการเป็นหลัก
มาริสา กล่าวเพิ่มเติมว่า ภายหลัง “จีนเปิดประเทศ” ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ประเมินว่าไตรมาส 1/2566 “นักท่องเที่ยวจีน” ยังกลับมาไม่มากนัก สะท้อนจากผู้ตอบผลสำรวจฯ กว่า 70% มองว่าสัดส่วนนักท่องเที่ยวจีนที่เข้าพักยังน้อยกว่า 20% เมื่อเทียบกับช่วงก่อนโควิด และส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเดินทางท่องเที่ยวด้วยตัวเอง (FIT) อย่างไรก็ดี ผู้ประกอบการคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจีนในไตรมาส 2/2566 มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น แต่ประมาณ 80% ของผู้ตอบมองว่าสัดส่วนที่กลับมาจะยังต่ำกว่า 40% เมื่อเทียบกับก่อนเกิดโควิด
ธเนศวร์ เพชรสุวรรณ รองผู้ว่าการด้านตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ ททท. กล่าวว่า ททท.คาดการณ์ว่าในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ ตั้งแต่ ม.ค.-เม.ย. จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางมาไทยไม่น้อยกว่า 8 ล้านคน ยังต้องพึ่งพิงนักท่องเที่ยวจาก “ตลาดระยะสั้น” โดยตั้งแต่ต้นปีมีนักท่องเที่ยวจากตลาดเอเชียและแปซิฟิกใต้ครองสัดส่วนกว่า 62%
“ปี 2566 ถือเป็นปีแห่งการกลับมาครั้งยิ่งใหญ่ (The Great Resumption) ของภาคท่องเที่ยวไทย กลับมาเร็วและแรง ผู้เล่นสำคัญคือนักท่องเที่ยวจีน ซึ่ง ททท.ตั้งเป้าหมายว่าตลอดปีนี้จะมีจำนวนเดินทางเข้าไทยอย่างน้อย 5 ล้านคน หลังเห็นแนวโน้มการเดินทางเพิ่มขึ้นเป็นวันละ 1 หมื่นคน และน่าจะเพิ่มเป็นวันละ 2 หมื่นคนในช่วงครึ่งปีหลัง คาดด้วยว่าจำนวนรวมของนักท่องเที่ยวจีนจะแซงนักท่องเที่ยวมาเลเซียในช่วงปลายไตรมาส 3 นี้”
ทั้งนี้ ททท.คาดการณ์ว่าจะมีนักท่องเที่ยวมาเลเซียเดินทางเข้าไทย 3.5-4 ล้านคน ส่วนตลาดระยะสั้นอื่นๆ เช่น อินเดีย และเกาหลีใต้ คาดว่าน่าจะมีจำนวนเข้ามาเกิน 1 ล้านคน