บริษัทใหญ่ทั่วโลก "ปลดพนักงาน" ไม่หยุด! เผยวิธีชี้คนออก พิจารณาจากอะไร?

ปี 2566 บริษัทใหญ่ทั่วโลกยังคง "ปลดพนักงาน" (Lay Off) อย่างต่อเนื่อง ชวนเจาะเบื้องลึกวิธีพิจารณาคัดคนออก ใครจะอยู่หรือไป ผู้บริหารเลือกจากปัจจัยอะไร?
Key Points:
- การปลดพนักงานของบริษัทใหญ่ทั่วโลก สะท้อนถึงความพยายามปรับตัวให้อยู่รอดของบริษัท ในวันที่ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจไปต่อได้ยาก
- สาเหตุหลักของการปลดพนักงานออก หลักๆ มาจากความจำเป็นที่จะต้องปรับลดต้นทุนขององค์กร เบื้องต้นมักจะลดรายจ่ายทุกจุดที่ทำได้ก่อน จากนั้นจึงค่อยพิจารณาลดจำนวนพนักงาน
- บริษัทเองก็มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายด้านสวัสดิการและภาษีของพนักงานที่บริษัทต้องรับผิดชอบ ซึ่งอยู่ที่ประมาณ 130-140% ของอัตราค่าจ้างต่อคน
ไม่นานมานี้ มีรายงานหลายชิ้นเปิดเผยว่าบริษัทเทคและบริษัทด้านการเงินหลายแห่ง ประกาศ Lay Off หรือ “ปลดพนักงาน” ออกจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นกรณีของ “ธนาคารยูบีเอส” ผู้เข้าซื้อกิจการเครดิตสวิส เตรียมปลดพนักงาน 20-30% โดยอาจปลดพนักงานประมาณ 11,000 คนในสวิตเซอร์แลนด์ (2 เม.ย.66)
ขณะที่บริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ประกาศปลดพนักงานฝ่ายเมตาเวิร์สทั้งหมด 3 รอบ รวม 7,000 คน เพื่อปรับลดค่าใช้จ่ายให้บริษัท โดยคาดว่าจะลดค่าใช้จ่ายได้ 5.5 พันล้านดอลลาร์ (29 มี.ค.66) รวมไปถึงกรณี “เอคเซนเซอร์” บริษัทที่ปรึกษาด้านเทคโนโลยีและธุรกิจระดับโลก เล็งปลดพนักงานทั่วโลก 2.5% หรือประมาณ 19,000 คน เนื่องจากต้องลดต้นทุน ท่ามกลางภาวะเศรษฐกิจถดถอย (24 มี.ค.66)
ข่าวที่เกี่ยวข้อง :
ภาพเหล่านี้สะท้อนถึงความพยายามปรับตัวให้อยู่รอดของบริษัทใหญ่ทั่วโลก ที่ต้องประสบกับภาวะเศรษฐกิจถดถอยจนส่งผลกระทบให้ภาคธุรกิจไปต่อได้ยาก และในอีกทางหนึ่งมันก็ส่งสัญญาณเตือนถึงเหล่า “พนักงานออฟฟิศ” ให้เตรียมตัวรับแรงเสียดทานนี้ให้ดี ขณะเดียวกันก็นำไปสู่ข้อสงสัยที่ว่า บริษัทมีวิธีพิจารณาคัดคนออกอย่างไร? ตำแหน่งที่เราทำงานอยู่ปัจจุบันเสี่ยงต่อการถูกปลดหรือไม่?
- เผยขั้นตอนการ "ปลดพนักงาน" ต้องพิจารณาหลายอย่าง
สำหรับการพิจารณาว่าพนักงานคนไหนควรถูกปลดออกนั้น ไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว เนื่องจากวิธีพิจารณาคัดคนออกของแต่ละองค์กร มีความแตกต่างกันไปตามบริบทแวดล้อมของตัวบริษัท ซึ่งไม่ว่าจะใช้วิธีไหนก็ล้วนกระทบจิตใจต่อทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และบางครั้งมันก็ไม่ยุติธรรมเสมอไป! ..แต่อย่างไรก็ตาม อาจมีรูปแบบการพิจารณาบางอย่างที่หลายบริษัทใช้ในการคัดคนออก
ข้อมูลจาก “เจ. ที. โอดอนเนลล์” ซีอีโอและผู้ก่อตั้งบริษัท Work It Daily อดีตผู้บริหารการสรรหาบุคคล (Recruiting Executive) ระบุว่า สาเหตุหลักๆ ของการพิจารณาคัดคนออกนั้น มาจากการที่ผู้บริหารต้องการปรับโครงสร้างองค์กร และปรับลดต้นทุนต่างๆ ในบริษัท โดยจะแจ้งมายังฝ่ายสรรหาบุคคลหรือฝ่ายทรัพยากรบุคคล (หรือเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องอื่นๆ) ให้ดำเนินการ โดยส่วนใหญ่จะมีขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1: ฝ่ายสรรหาได้รับแจ้งว่าบริษัทต้องลดงบประมาณลงเท่าใด
- ขั้นตอนที่ 2 : พยายามลดทุกที่ที่ทำได้ ก่อนที่จะทำการลดจำนวนพนักงาน
- ขั้นตอนที่ 3: ทำการวิเคราะห์ ROI (ผลตอบแทนจากการลงทุน) หรือ KPI (ดัชนีชี้วัดความสำเร็จ) ของพนักงานแต่ละคน
โดยขั้นตอนที่ 3 นั้นสำคัญมาก ฝ่ายสรรหาบุคคลต้องพิสูจน์ว่าพนักงานตำแหน่งไหน สามารถสร้างรายได้ให้บริษัทได้อย่างคุ้มค่า และทำงานมีประสิทธิภาพมากพอที่บริษัทจะรักษาเอาไว้ ฟังดูอาจเหมือนเป็นการตีคุณค่าของคนเป็นตัวเลขมากเกินไป
แต่นี่คือเรื่องจริงที่ปฏิเสธไม่ได้ เพราะอย่าลืมว่าบริษัทเองก็มีค่าใช้จ่ายต่อเดือนสูงมาก โดยเฉพาะค่าใช้จ่ายของพนักงานอยู่ที่ประมาณ 130-140% ของอัตราค่าจ้างต่อคน (ค่าสวัสดิการพนักงานและช่วยจ่ายภาษีให้อีกส่วนหนึ่ง)
- ผู้ทำหน้าที่เลือกให้ใครอยู่ใครไป ไม่ใช่ผู้บริหาร ไม่ใช่ฝ่ายบุคคล แต่เป็นหัวหน้าแผนก
หลายคนอาจไม่เคยรู้ว่า จริงๆ แล้วคนที่ทำหน้าที่เลือกว่าจะให้พนักงานคนใดอยู่ต่อหรือปลดออก ไม่ใช่ผู้บริหารระดับสูง (CEO) แต่คนที่จะต้องคัดคนออกจริงๆ คือก็คือหัวหน้างานหรือหัวหน้าแผนก โดยต้องทำการคัดรายชื่อร่วมกับฝ่ายทรัพยากรบุคคล
ข้อมูลจาก The wall Street Journal ระบุว่า ในหลาย ๆ บริษัท CEO จะเป็นผู้กำหนดเกณฑ์ระดับสูงสำหรับการเลิกจ้าง เช่น ลดพนักงานลงร้อยละหนึ่ง หรือประหยัดต้นทุนตามที่กำหนด จากนั้นภารกิจในการตัดสินใจว่าใครควรถูกกำจัด มักจะตกเป็นของหัวหน้าแผนก โดยหัวหน้าแผนกจะได้รับคำสั่งให้เสนอรายชื่อบุคคลที่จะเลิกจ้างตามเกณฑ์ที่กำหนด ซึ่งอาจหมายถึงพนักงานที่มีคะแนน KPI ต่ำกว่ามาตรฐาน หรือพนักงานใหม่ที่เพิ่งจะเข้ามาทำงานได้ไม่ถึง 1 ปี
จากนั้นผู้จัดการจะรวบรวมรายชื่อพนักงานที่จะปลดออกนำส่งไปที่ฝ่ายบุคคลหรือส่งตรงไปมี่ CEO ต่อไป ทั้งนี้ มีสิ่งหนึ่งที่น่าสนใจคือ ทุกวันนี้ เป็นเรื่องปกติมากที่บริษัทต่างๆ จะปลดพนักงานโดยพิจารณาจากทักษะการทำงานมากกว่าตำแหน่งงานหรืออายุงาน ดังนั้นผลการปฏิบัติงานล่าสุดของพนักงานจะนำมาพิจารณาในเรื่องนี้ มากกว่าระยะเวลาอายุงานของใครบางคนในบริษัท
- คนที่เสี่ยงต่อการถูกปลดออกที่สุดคือ คนที่มีตำแหน่งงานซ้ำซ้อน
บ่อยครั้งหลายๆ บริษัทมักจะพบว่า มีลูกจ้างทำงานในตำแหน่งเดียวกันหลายคน ซึ่งก็ให้คุณค่าต่อบริษัทในลักษณะเหมือนๆ กัน แต่เมื่อถึงจุดที่ต้องพิจารณาปลดพนักงานบางส่วนออก บริษัทจึงต้องใช้เกณฑ์อื่นๆ เข้ามาพิจารณากรณีเพิ่มเติม เพื่อตัดสินว่าใครควรอยู่และใครควรไป เช่น พิจารณาจากความรับผิดชอบต่องาน, การอาสาทำงานที่คนอื่นในทีมไม่อยากทำ, ความถนัดต่อตำแหน่งงานที่ทำอยู่, ความสามารถในการบริหารจัดการงานได้มากขึ้น แม้ว่ามีทรัพยากรน้อยลง, มีความยืดหยุ่นในการทำงานหน้าที่อื่นๆ ที่อาจไม่เกี่ยวข้องกับตนเอง ฯลฯ
ดังนั้น สรุปได้ว่า พนักงานออฟฟิศที่เสี่ยงต่อการถูกปลดออกเป็นอันดับต้นๆ ก็คือ กลุ่มพนักงานที่มีตำแหน่งงานเดียวกัน ทำงานซ้ำซ้อนกัน หรือตำแหน่งที่หากคุณไม่อยู่ก็ยังมีคนอื่นที่ทำแทนได้ ตำแหน่งงานลักษณะนี้เป็นตำแหน่งที่เสี่ยงต่อการถูกบริษัทพิจารณาปลดออกก่อนใครเพื่อน เพื่อประหยัดค่าใช้จ่ายของบริษัท
แต่ทั้งนี้ ไม่ใช่ว่าทุกบริษัทจะใช้วิธีนี้เสมอไป โดยบางบริษัทอาจพิจารณาจากแผนกของแต่ละสายงานเป็นหลักมากกว่า เช่น กรณีบริษัทวอลท์ ดิสนีย์ ที่ประกาศปลดพนักงานฝ่ายเมตาเวิร์สทั้งหมด ดังที่กล่าวไปข้างต้น ก็เลือกปลดคนจากแผนกที่ไม่สร้างกำไรให้บริษัทเป็นอันดับแรก
- "พนักงานออฟฟิศ" ควรทำอย่างไร? ไม่ให้เสี่ยงถูกปลดออก
ประเด็นนี้ เจ. ที. โอดอนเนลล์ มีคำแนะนำว่า พนักงานออฟฟิศต้องทำให้บริษัทมองเห็นคุณค่าในตัวคุณอย่างชัดเจน ได้แก่
1. แสดงให้เห็นว่าคุณมีส่วนช่วยบริษัทประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนอื่นๆ ในแผนก
2. นำเสนอวิธีแก้ปัญหาหรือเสนอหนทางที่จะช่วยบริษัทสร้างกำไรได้มากขึ้น
3. แสดงให้เห็นว่าคุณสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีประสิทธิผล มีความรับผิดชอบโดดเด่นมากกว่าคนอื่นๆ เพื่อให้บริษัทเห็นว่าคุณคุ้มค่ากับบริษัทที่จะรักษาคุณไว้
4. นัดคุยแบบตัวต่อตัวกับหัวหน้างานของคุณ เพื่อขอรับคำติชมเกี่ยวกับงานที่คุณรับผิดชอบอยู่ เพื่อให้สามารถพิจารณาถึงคุณค่าที่คุณมอบให้หัวหน้างานและมอบให้บริษัทได้ อีกทั้งขอคำแนะนำว่ามีสิ่งใดอีกบ้างที่คุณสามารถทำได้เพื่อเพิ่มมูลค่าให้มากขึ้น
5. หากมีเรื่องน่าปวดหัวใดๆ เกิดขึ้นในทีม (เช่น งานบางอย่างที่กินเวลาส่วนตัวมากเกินไป) แล้วคนอื่นๆ ในทีมไม่อยากทำ คุณสามารถขันอาสาจัดการเรื่องเหล่านั้นได้ ซึ่งจะยิ่งทำให้หัวหน้างานและบริษัทเห็นว่าคุณมีความเสียสละ ยอมเพิ่มเวลาทำงานมากกว่าทุกวัน บริษัทอาจจะไม่อยากเสียคนแบบนี้ไป ซึ่งนั่นจะช่วยให้คุณสร้างความมั่นคงในงานได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม คำแนะนำที่กล่าวมาข้างต้นอาจใช้ไม่ได้ผลเสมอไป มีตัวอย่างให้เห็นหลายต่อหลายกรณีว่า แม้จะเป็นพนักงานที่ขยันขันแข็งแค่ไหน แต่เมื่อถึงจุดที่บริษัทขาดทุนหนักจนไปต่อไม่ไหวจริงๆ ก็จำเป็นต้องปลดทุกคนออกอยู่ดี เอาเป็นว่าในมุมของมนุษย์เงินเดือน คงได้ทำได้เพียงตั้งใจทำงานของตนเองให้ดีที่สุด และเตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์ที่ไม่คาดฝันไว้เสมอ
--------------------------------------
อ้างอิง : Linkedin, The Wall Street Journal, Sifted.eu