'ไทยไลอ้อนแอร์' ฟื้นฝูงบิน 35 ลำในปี 68 รีเทิร์นบุกตลาด 'จีน' หวังทำกำไร!

'ไทยไลอ้อนแอร์' ฟื้นฝูงบิน 35 ลำในปี 68  รีเทิร์นบุกตลาด 'จีน' หวังทำกำไร!

ตลอด 3 ปีนับตั้งแต่โควิด-19 ระบาด สายการบิน “ไทยไลอ้อนแอร์” ดิ้นรนต่อสู้อย่างหนัก ลดขนาดธุรกิจเพื่อควบคุมต้นทุนให้อยู่รอด! ด้วยการดาวน์ไซส์ฝูงบินจากเคยมีกว่า 35 ลำเมื่อปลายปี 2562 เหลือเพียง 11 ลำในปี 2565

กระทั่งสถานการณ์ฟื้นตัวดีขึ้น จึงถึงเวลา "ไทยไลอ้อนแอร์" รีเทิร์น! กลับมารุกทำตลาดเปิดเส้นทางและเพิ่มเที่ยวบินอีกครั้ง โดยเฉพาะเส้นทางบิน “ไทย-จีน”      

อัศวิน ยังกีรติวร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ไทยไลอ้อนแอร์จะขยายฝูงบินในปี 2566 เพิ่มเป็น 18 ลำ จากปัจจุบันมี 11 ลำ แบ่งเป็น โบอิ้ง 737-800 ขนาด 189 ที่นั่ง จำนวน 9 ลำ และโบอิ้ง 737-900 ขนาด 215 ที่นั่ง จำนวน 2 ลำ โดยมีแผนรับมอบเครื่องบินเพิ่มอีก 7 ลำใหม่ เพิ่งรับมอบไป 2 ลำ เหลืออีก 2 ลำในเดือน พ.ค. และ 3 ลำในเดือน ก.ค. เพื่อนำมาเปิดเส้นทางบินใหม่และเพิ่มความถี่เที่ยวบิน รองรับแผนขยายจำนวนผู้โดยสารของไทยไลอ้อนแอร์ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 5 ล้านคนตลอดปีนี้ แบ่งเป็นสัดส่วนผู้โดยสารเส้นทางในประเทศ 60-70% และเส้นทางระหว่างประเทศ 30-40%

นันทพร โกมลสิทธิ์เวช ผู้อำนวยการฝ่ายการพาณิชย์ สายการบินไทย ไลอ้อน แอร์ กล่าวว่า ภาพรวม “ธุรกิจสายการบิน” ในประเทศไทยคาดใช้เวลาอีกอย่างน้อย 3 ปี หรือภายในปี 2568 จึงจะกลับมาเป็นปกติ จากแนวโน้มดังกล่าว ไทยไลอ้อนแอร์จึงคาดว่าจะกลับมาขยายฝูงบินให้มีขนาดเท่าเดิม 35 ลำในปี 2568

สำหรับการกลับมาขยายฝูงบินอีกครั้ง แน่นอนว่าโฟกัสหลักคือตลาดเส้นทางบินไทย-จีน โดยในช่วงที่โควิด-19 ยังระบาด ทางการจีนผ่อนคลายให้ไทยไลอ้อนแอร์สามารถทำการบินจากไทยไปยัง 6-7 เมืองในจีน ด้วยความถี่ 1-2 เที่ยวบินต่อสัปดาห์

กระทั่ง “จีนเปิดประเทศ” มีผลตั้งแต่ 8 ม.ค.2566 และทางบริษัทนำเที่ยวสามารถพาชาวจีนออกนอกประเทศได้ตั้งแต่ 6 ก.พ. ทำให้ไทยไลอ้อนแอร์สามารถทำการบินไปจีนเพิ่มเป็น 8-10 เมือง เช่น กว่างโจว ฉางซา และหนานจิง ทำการบินด้วยความถี่เฉลี่ยเมืองละ 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ เน้นขายตั๋วบินแก่บริษัททัวร์กว่า 80% เนื่องจากดีมานด์กรุ๊ปทัวร์จีนฟื้นตัวดีต่อเนื่อง แย่งที่นั่งเดินทางมาเที่ยวไทย! ส่วนอีก 20% เป็นลูกค้ากลุ่มเดินทางด้วยตัวเอง (FIT)

“ตลาดจีนค่อนข้างมาแรง แม้จะไม่ได้เป็นเส้นทางที่ทำกำไรดีที่สุด แต่ก็ทำให้ภาพรวมของธุรกิจกลับมามีรายได้ดีจากดีมานด์ที่ฟื้นตัวดีต่อเนื่อง ไทยไลอ้อนแอร์คาดหวังอาจจะทำกำไรได้ในปีนี้ ด้วยแผนนำเครื่องบินลำใหม่ ไปเปิดเส้นทางบินสู่ประเทศจีนที่เคยทำการบินก่อนโควิดระบาด เช่น เส้นทางกรุงเทพฯ (ดอนเมือง) สู่ อู่ฮั่น เซินเจิ้น และอื่นๆ ขณะเดียวกันจะโปรโมตบินตรงจากจีนเข้าจุดบินอื่นๆ นอกเหนือจากกรุงเทพฯ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ต กระบี่ และเมืองในภาคอีสาน รวมถึงเส้นทางบินจากไทยไปประเทศอื่นๆ ที่เราเคยทำการบินก่อนหน้านี้ด้วย”

ปัจจุบัน ไทยไลอ้อนแอร์ให้บริการเส้นทางบินในประเทศทั้งหมด 14 เส้นทาง และเส้นทางบินระหว่างประเทศอีก 6 เส้นทาง ได้แก่ เส้นทางกรุงเทพฯ สู่ มุมไบ (อินเดีย), จาการ์ตา, ไทเป, สิงคโปร์, กาฐมาณฑุ (เนปาล)  และเส้นทางใหม่ล่าสุด บังกาลอร์ (อินเดีย) ซึ่งจะเริ่มทำการบินวันที่ 30 เม.ย.นี้

ด้าน สันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า “ไทยแอร์เอเชีย” เดินหน้าบุกตลาดจีนอย่างต่อเนื่อง โดยในไตรมาส 2 นี้ เตรียมขยายเส้นทางบินใหม่สู่ประเทศจีนเพิ่มอีก 4 เส้นทาง ได้แก่ กรุงเทพฯ (ดอนเมือง) - เฉิงตู (เทียนฝู่) 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ พร้อมบินตรงจากฮับบิน “เชียงใหม่” สู่ ปักกิ่ง 7 เที่ยวบินต่อสัปดาห์, หางโจว 4 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ และฉางซา 5 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ โดยจะทยอยให้บริการเที่ยวบินแรกตั้งแต่วันที่ 30 เม.ย.นี้ เป็นต้นไป

“ไทยแอร์เอเชียพร้อมบุกตลาดจีนในปีนี้ เพราะนี่คือตลาดที่เราถนัด และเป็นตัวแปรหลักในการฟื้นตัวของไทยแอร์เอเชีย โดยจะเปิดให้ครบทุกเส้นทางภายในปีนี้ และเพิ่มจำนวนเที่ยวบินให้ได้ใกล้เคียงของเดิมก่อนเกิดโควิดที่ 140 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ ขณะที่สเต็ปต่อไปคือต้องไปแบบลึกขึ้น ขยายเครือข่ายเส้นทางบินตรงจากจีนเข้าเมืองท่องเที่ยวในต่างจังหวัดของไทยมากขึ้น เช่น เชียงใหม่ และภูเก็ต”

ทั้งนี้ ไทยแอร์เอเชียคาดการณ์เป้าหมายขนส่งผู้โดยสารตลอดปี 2566 อยู่ที่ 20 ล้านคน เพิ่มจากปี 2565 ซึ่งขนส่งผู้โดยสาร 9.95 ล้านคน

จาง อู่อัน รองประธาน บริษัท สปริงแอร์ไลน์ จำกัด เล่าว่า สำหรับช่วงตารางบินฤดูร้อน 2566 ซึ่งเริ่มเมื่อวันที่ 26 มี.ค. “สปริงแอร์ไลน์” ได้เดินหน้าเปิดเส้นทางใหม่ กรุงเทพฯ-เฉิงตู และเพิ่มความถี่เที่ยวบินของเส้นทาง กรุงเทพฯ-เจียหยาง และ กรุงเทพฯ-หนิงโป ทำให้มีจำนวนเที่ยวบินรวม เพิ่มเป็น 82 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ บินตรงจากประเทศไทย 3 เมือง ได้แก่ กรุงเทพฯ เชียงใหม่ และภูเก็ต สู่ 12 เมืองสำคัญของประเทศจีน ฟื้นตัวมากกว่า 50% เมื่อเทียบกับจำนวนเที่ยวบินรวม 148 เที่ยวบินต่อสัปดาห์ สู่ 19 เมืองของประเทศจีนเมื่อปี 2562 และประเมินด้วยว่าภายในปีนี้จะสามารถกลับมาให้บริการเส้นทางบิน ไทย-จีน ได้เหมือนปี 2562