เปิด3ทศวรรษ กลุ่มเซ็นทรัลผงาดซื้อกิจการค้าปลีกทั้งไทย ทั่วโลก

เปิด3ทศวรรษ กลุ่มเซ็นทรัลผงาดซื้อกิจการค้าปลีกทั้งไทย ทั่วโลก

สำรวจอาณาจักรค้าปลีกของกลุ่มเซ็นทรัล กำลังก้าวเข้าสู่ 3 ทศวรรษ เดินหน้าซื้อกิจการห้างค้าปลีกทั้งในไทย ทั่วโลก ต่อยอดธุรกิจใหม่เทคโนโลยี มุ่งสู่ศูนย์การค้าชั้นนำในโลก วางเป้าสู่ โกลบอลแบรนด์

"กลุ่มเซ็นทรัล" ผ่านบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งในธุรกิจค้าปลีกไทย ตั้งแต่วิกฤตเศรษฐกิจปี 2540 ที่เป็นหนึ่งในธุรกิจได้รับผลกระทบจากอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่สูงขึ้นจากการลอยตัวค่าเงินบาท และสถานการณ์โควิด ทำให้ต้องมีการปิดสาขาของศูนย์การค้าทั้งในไทยและในต่างประเทศ แต่ตลอดระยะเวลาร่วม 75 ปี สามารถปรับเปลี่ยนองค์กรและยืดหยัดในธุรกิจค้าปลีกมาโดยตลอด 

พร้อมก้าวสู่บริษัทข้ามชาติ ที่เข้าไปลงทุนในประเทศไทยและต่างประเทศ ผ่านรูปแบบทั้งการเข้าไปซื้อกิจการ ควบรวม การประมูลเพื่อบริหารธุรกิจ หรือการเข้าไปร่วมลงทุน โดยในปัจจุบันก้าวสู่การเป็น เครือข่ายห้างสรรพสินค้าในต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมถึง 11 ประเทศ 80 เมือง 120 สาขา 


 

เปิด3ทศวรรษ กลุ่มเซ็นทรัลผงาดซื้อกิจการค้าปลีกทั้งไทย ทั่วโลก ย้อนไทม์ไลน์โมเดลการลงทุนของกลุ่มเซ็นทรัล ได้เริ่มขยายลงทุนตั้งแต่ปี 2537 โดยในประเทศไทย ไล่เลียงตั้งแต่ ห้างสรรพสินค้าโรบินสัน เซ็นทรัลเวิลด์ ออฟฟิสเมท บีทูเอส ร้านสะดวกซื้อ แฟมิลี่มาร์ท และศูนย์การค้า เมกาบางนา รวมถึงธุรกิจเทคโนโลยีอย่าง แกร๊บ รวมประมาณ 7 ดีลขนาดใหญ่

ต่างประเทศ เริ่มตั้งแต่ ห้างรีนาเซนเต (La Rinascente) อิตาลี, ห้างสรรพสินค้าอิลลุม (ILLUM) เดนมาร์ก, บิ๊กซี เวียดนาม, เหงียนคิม เวียดนาม, ห้างหรูในเยอรมนี 3 ห้าง ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe)  ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger), โกลบัส (Globus) ห้างสรรพสินค้าหรูในสวิตเซอร์แลนด์ และ เซลฟริดเจส (Selfridges) ที่มีห้างสรรพสินค้าทั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รวมประมาณ 7 ดีลขนาดใหญ่

การวางยุทธศาสตร์สู่โกลบอลแบรนด์ตั้งแต่ปี 2537 
ทั้งนี้การเข้าไปลงทุนรวมประมาณ 14 ดีลใหญ่นี้ มาจากการวางกลยุทธ์ของกลุ่มเซ็นทรัลที่มีเป้าหมายก้าวสู่เป็นผู้นำศูนย์การค้าชั้นนำในโลก ทำให้ตลอดระยะเวลาตั้งแต่ปี 2537 ได้การประกาศยุทธศาสตร์สู่บริษัทนานาชาติ ได้มีการซื้อกิจการอย่างต่อเนื่อง โดยมีรายละเอียดดีลขนาดใหญ่ที่น่าสนใจดังนี้ 

ธุรกิจค้าปลีกในไทยได้เข้าไปลงทุนซื้อหุ้นห้างสรรพสินค้าโรบินสัน จนเป็นผู้หุ้นรายใหญ่ในปี 2558 และในปัจจุบันได้ปรับโฉมโรบินสัน สู่ โรบินสันไลฟ์สไตล์ ที่วางรูปแบบให้เป็น เป็นศูนย์กลางการใช้ชีวิตที่เป็นของทุกคนในชุมชน (Lifestyle and Experiential Community) ในปัจจุบันมีสาขาเปิดให้บริการรวม 25 สาขา ใน 24 จังหวัด 

ต่อมามีการเข้าไปลงทุนประมูลบริหาร เวิลด์เทรดเซ็นเตอร์ และได้มีการเปลี่ยนชื่อเป็นศูนย์การค้า “เซ็นทรัลเวิลด์” เริ่มเปิดให้บริการตั้งแต่ปี 2545 โดยมีการรีโนเวทกลายเป็นศูนย์การค้าที่มีพื้นที่ค้าปลีกรวม 8.30 แสน ตร.ม. ขนาดใหญ่สุดแห่งหนึ่งในประเทศไทย กลายเป็นแลนด์มาร์คใจกลางย่านราชประสงค์ และเดสทิเนชั่นของนักท่องเที่ยวทั่วโลก 

อีกการสยายปีกธุรกิจใหม่ไปสู่ธุรกิจเทคโนโลยี ในปี 2560 ได้เปิดตัว เจดี เซ็นทรัล  และมีการยุติการดำเนินการในธุรกิจกลุ่มนี้ในประเทศไทย ตั้งแต่เดือน มี.ค. 2566 ที่ผ่านมา เนื่องจากนโยบายในการดำเนินธุรกิจที่เปลี่ยนแปลงไป 

ในห่วงเวลาปีเดียวกัน 2563 ได้เข้าซื้อหุ้นแฟมิลี่มาร์ทแบบเต็ม 100% เพื่อรองรับการขยายธุรกิจร้านสะดวกซื้อ และต่อยอดธุรกิจค้าปลีกในไทยอย่างครบวงจร โดยในปัจจุบัน แฟมิลี่มาร์ท มีสาขาเปิดในไทย ประมาณ 448 สาขา

รวมถึงในปีเดียวกัน 2563 ได้เข้าซื้อกิจการของบริษัท โฮลด์ โคลล์ จำกัด (COL) บริษัทแม่ของ ออฟฟิสเมท (OfficeMate) ร้านสะดวกซื้ออุปกรณ์สำนักงานและสินค้าเพื่อธุรกิจและ บีทูเอส (B2S) ร้านหนังสือ รวมมูลค่ากว่า 1.21 หมื่นล้านบาท โดยมีเป้าหมายเพื่อต้องการขยายธุรกิจค้าปลีกให้ครอบคลุมมากขึ้น ซึ่งในปัจจุบัน ออฟฟิสเมท มีสาขาในไทยรวม 125 สาขา 

ต่อมาในปี 2564 ได้เข้าซื้อกิจการ บริษัท สยามฟิวเจอร์ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ SF ที่มีศูนย์การค้า เมกาบางนา โดยเป็นศูนย์การค้าที่มีขนาดพื้นที่ 5.77 แสน ตร.ม. รวมแล้วทั้งหมดมูลค่าการลงทุนกว่า 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อเป็นการต่อยอดโอกาสธุรกิจในอนาคต รวมถึงในปีเดียวกัน ได้มีการเข้าไปลงทุนถือหุ้นในแกร๊บ (Grab) สตาร์ทอัพรายใหญ่ในประเทศไทย วงเงินลงทุน 4,500 ล้านบาท สัดส่วนถือหุ้น 40% เพื่อต่อยอดการขยายธุรกิจสู่ดิจิทัล

การลงทุนในต่างประเทศเริ่มตั้งแต่ปี 2554 

กลุ่มเซ็นทรัลได้เริ่มบันทึกประวัติศาสตร์สู่การเป็นทุนค้าปลีกไทยที่ไปลงทุนต่างประเทศ โดยการบุกยุโรปอย่างทางการ เริ่มตั้งแต่ปี 2554 เข้าซื้อกิจการห้างลักชัวรีในประเทศอิตาลี "รีนาเซนเต” (La Rinascente) ที่มีอายุกว่า 150 ปี เป็นธุรกิจแรกในยุโรป ด้วยเงินลงทุน 260 ล้านยูโร หรือประมาณ 1.10 หมื่นล้านบาท ต่อมาใน 2556  ได้เข้าซื้อกิจการห้างสรรพสินค้าลักชัวรีในประเทศเดนมาร์ก "ห้างสรรพสินค้าอิลลุม" (ILLUM) เป็นห้างที่มีชื่อเสียงเก่าแก่ อายุ 120 ปี

เปิด3ทศวรรษ กลุ่มเซ็นทรัลผงาดซื้อกิจการค้าปลีกทั้งไทย ทั่วโลก สยายปีกเวียดนามบ้านหลังที่สองในการทำธุรกิจค้าปลีก 
อีกหมุดหมายประเทศเวียดนาม โดยกลุ่มเซ็นทรัลได้ประกาศแผนว่าจะเป็นตลาดสำคัญที่จะรุกขยายธุรกิจนับจากนี้ โดยได้เริ่มเข้าไปจัดตั้งบริษัทในปี 2554 ต่อมาในปี 2556 ได้เปิดร้านซูเปอร์สปอร์ตสาขาแรกที่ ฮานอย หลังจากนั้นในปี 2559 ได้ร่วมมือกับกลุ่ม เหงียนคิม ที่เป็นร้านจำหน่ายสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าในเวียดนาม เข้าไปซื้อหุ้นบิ๊กซี ทั้งหมดในเวียดนามมูลค่าประมาณ 920 ล้านยูโร 

ในช่วงเวลาดังกล่าว บิ๊กซี มีสาขาในเวียดนาม 43 สาขา โดยเป็นตามยุทธศาสตร์การเสริมความแข็งแกร่งการดำเนินธุรกิจศูนย์การค้าในภูมิภาคเอเชีย ต่อมาในปี 2562 ได้เข้าไปซื้อหุ้นทั้งหมดของ เหงียนคิม พร้อมได้ประกาศสร้างแบรนด์ค้าปลีกใหม่ในชื่อ โก (GO!) แทนบิ๊กซี เป็นการเปิดแบรนด์ใหม่เพื่อขยายตลาดห้างค้าปลีกครั้งใหม่ในภูมิภาคนี้

การร่วมมือกลุ่มทุนซิกน่ากรุ๊ป ลงทุน 3 ดีลขนาดใหญ่ในยุโรป

ในปี 2558 ได้มีความร่วมมือกับกลุ่มทุน ซิกน่ากรุ๊ป บริษัทอสังหาริมทรัพย์จากประเทศออสเตรีย ร่วมมือเข้าซื้อห้างสรรพสินค้าระดับลักชัวรีในประเทศเยอรมัน 3 แห่ง ผ่านการเข้าซื้อธุรกิจกลุ่มคาเดเว ได้แก่ ห้างคาเดเว (KaDeWe)  ห้างอัลสแตร์เฮาส์ (Alsterhaus) และห้างโอเบอร์โพลลิงเกอร์ (Oberpollinger)

ต่อมาในปี 2563 ได้ร่วมทุนกับซิกน่าเพื่อเข้าซื้อกิจการ “โกลบัส” (Globus) ห้างสรรพสินค้าลักชัวรีในประเทศสวิตเซอร์แลนด์ มีอายุเก่าแก่ 129 ปี มี 10 สาขา มีมูลค่ากว่า 1 พันล้านฟรังก์สวิส หรือประมาณ 3.1 หมื่นล้านบาท

หลังจากนั้นปี 2565 ได้ร่วมมือกลุ่มซิกน่าอีกครั้ง เข้าไปซื้อกิจการ “เซลฟริดเจส” (Selfridges) มูลค่า 1.8 แสนล้านบาท โดยมีห้างสรรพสินค้าทั้งในอังกฤษ ไอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ รวมทั้งหมด 18 แห่ง ภายใต้ 4 แบรนด์ ใน 3 ประเทศ

รวมทั้งหมดเป็นดีลขนาดใหญ่ประมาณเบื้องต้น 14 ดีล เพื่อมุ่งสู่การเป็น โกลบอลแบรนด์อย่างเต็มตัว พร้อมเดินเกมในธุรกิจสินค้าลักชัวรี และอสังหาริมทรัพย์ในตลาดโลกควบคู่กัน 

นับเวลานี้กลุ่มทุนเซ็นทรัล จึงมีขุมกำลังอย่างมากในธุรกิจค้าปลีกทั้งในตลาดไทย และในตลาดโลก กลายเป็นทุนข้ามชาติเต็มรูปแบบ พร้อมไปปักหมุดชื่อ “เซ็นทรัล” ไปในทั่วโลก

ต้องติดตาม! การดีลธุกิจของ กลุ่มเซ็นทรัล ยักษ์ใหญ่ในตลาดค้าปลีกโลก จะไปปักหมุดหมายในประเทศใดต่อไป