ปัญหาแรงงานไทยภายใต้เศรษฐกิจแบบ Gig (Economy)

ปัญหาแรงงานไทยภายใต้เศรษฐกิจแบบ Gig (Economy)

ที่มาของ Gig Economy จริงๆ แล้วมาจากสองคำประกอบเข้าด้วยกันได้แก่ 'Gig' และ 'Economy' โดยคำว่า Gig มาจากคำแสลงของคำว่า 'งาน' ที่มีการกำหนดช่วงเวลาที่ชัดเจนช่วงหนึ่ง (Project-based)

ตั้งแต่ช่วง 1920 ที่นักดนตรีแจ๊ซไปเล่นตามงานคอนเสิร์ตต่างๆ ที่เรียกว่า play gig หรือ play concert นั่นเอง 

ส่วนคำว่า Economy ก็มีความหมายอย่างที่ทราบกันดีว่า 'เศรษฐกิจ' แม้จะมีการเริ่มต้นมาจากนักดนตรีแจ๊สแต่ในช่วงเวลาต่อมาก็ได้มีการเปลี่ยนแปลงสายอาชีพไปตามช่วงเวลาโดยได้พัฒนาสู่กลุ่มคนที่ทำงานแบบใช้แรงงาน เช่น พาสุนัขไปเดินเล่น ขับรถส่งอาหาร แม่บ้านทำความสะอาด ก่อนที่จะขยับมาสู่กลุ่มอาชีพที่ทำงานทั้งใช้ความคิดหรือทักษะเฉพาะทางมากขึ้น และอยู่ในหลายหลายอุตสาหกรรมโดยมุ่งเน้นมาที่พนักงานแบบ High skill เช่น Developer, Consult, นักการตลาด และอื่น ๆ อีกมากมาย

'Gig Economy' ก็คือ ลักษณะของระบบเศรษฐกิจแบบตลาดแรงงานเสรี ซึ่งมีผู้ประกอบอาชีพอิสระที่เรียกว่า Gig Worker ที่รับจ้างทำงานจบเป็นงานๆ ไป โดยผู้รับจ้างส่วนใหญ่มักถูกเรียกว่าพนักงานพาร์ทไทม์ หรือ Freelance

การเติบโตของระบบเศรษฐกิจแบบ Gig ภายในประเทศไทยก็กำลังเติบโตไปในเชิงบวกอย่างมากในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเนื่องจากการเปิดตัวเว็บไซต์และแพลตฟอร์มที่เป็นมิตรกับฟรีแลนซ์และพนักงานพาร์ทไทม์เพิ่มมากยิ่งขึ้น ซึ่งหากให้ยกตัวอย่างที่เห็นภาพง่าย ๆ นั่นคือ 'คนงานก่อสร้าง' หรือ พนักงานไรด์เดอร์ นั่นเอง

ประโยชน์จากเศรษฐกิจแบบ Gig (Economy)

เชิงคนทำงาน : จากมุมมองของคนทำงาน ระบบเศรษฐกิจแบบ Gig สามารถปรับปรุง work life balance และการทำงานได้เมื่อเทียบกับงานแบบเดิมๆ โดยคนทำงานสามารถเลือกงานได้อย่างอิสระตามที่พวกเขาสนใจ ซึ่งให้โอกาสใหม่ๆ รวมถึงเหมาะสมกับความชอบและตารางเวลาของพวกเขา โดยไม่ต้องถูกขังหรือต้องพึ่งนายจ้างคนเดียว

เชิงธุรกิจ : ช่วยประหยัดงบประมาณแบบ long-term fix cost เนื่องจากไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบผลประโยชน์แก้พนักงาน เช่น การลาป่วยและการประกันสุขภาพ และมักไม่ต้องจัดหาพื้นที่สำนักงาน อุปกรณ์ และการฝึกอบรมให้แก่พนักงาน ทั้งนี้ยังช่วยให้สามารถเลือกผู้เชี่ยวชาญได้ในราคาที่ต้องการ

เชิงผู้บริโภค : ผู้บริโภคพบว่าระบบเศรษฐกิจดังกล่าวมีทางเลือกและความสะดวกมากขึ้น โดยพบว่าในหลายกรณีการบริการมีคุณภาพสูงแม้มีราคาที่ต่ำ นอกจากนี้ยังมีบริการที่ยืดหยุ่นมากขึ้นรวมถึงมีตัวเลือกมากขึ้นสำหรับผู้ให้บริการ

สถานการณ์ของ Gig Worker ในไทยปัจจุบัน

จากการศึกษา "Gig Worker : ความท้าทายของภาครัฐในการบริหารจัดการแรงงานอิสระคนไทยภายใต้ชีวิตวิถีใหม่" มหาวิทยาลัยนอร์ท-เชียงใหม่ พบว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีแรงงาน Gig Worker อยู่ประมาณ 30% ของคนวัยทำงาน หมายความว่าในคนจำนวน 10 คน จะมีคนที่เป็น Gig Worker อยู่ 3 คน และยังพบอีกว่า คนไทยที่อยากลาออกจากงานประจำมารับงาน Gig worker นั้นมีมากถึง 86% 

ในอนาคตของ Gig worker รูปแบบงานจะไม่ได้แบ่งแค่ งานแบบใหม่ หรือ งานแบบเก่า ที่ทำนอกระบบเหมือนเมื่อก่อนอีกต่อไป แต่จะมีรูปแบบของงานที่ทำผ่านแพลตฟอร์ม มากขึ้น ทำให้โครงสร้างแรงงานของ Gig worker ในอนาคตจะถูกแบ่งออกเป็น 3 กลุ่ม คือ

1.Digital natives หรือกลุ่มที่มีความพร้อมในการทำงานแบบ digital บนแพลตฟอร์มออนไลน์สามารถใช้internet ได้คล่อง และไม่มีปัญหากับการ work from home

2.Physical natives หรือกลุ่มที่เน้นใช้เทคโนโลยีในการติดต่อสื่อสารหรือรับคำสั่งจาก outsource เพื่อทำงานเท่านั้น เช่น การขนของ หรือการติดต่อทำความสะอาด

3.Migrants เป็นกลุ่มที่สามารถเคลื่อนย้ายไปมาได้ระหว่างสองกลุ่มแรกขึ้นอยู่กับทักษะของบุคคลและอาจต้องการการพัฒนา

ปัญหาที่เกิดขึ้นกับแรงงาน Gig Worker

แม้ว่าแรงงาน Gig Worker นี้ จะสร้างโอกาสให้แรงงานจำนวนมหาศาล แต่แรงงานกลุ่มนี้ ก็ยังจัดอยู่ในแรงงานนอกระบบหมายถึง ผู้มีงานทำที่ไม่ได้รับความคุ้มครองหรือไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน ไม่ได้รับการคุ้มครองแรงงานและไม่ได้รับสวัสดิการที่เหมาะสมตามกฎหมาย 

ทั้งนี้ ตลาดแรงงานในประเทศไทยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนใหญ่ๆ คือ แรงงานในระบบและแรงงานนอกระบบ โดยการทำงานของแรงงานในระบบจะเป็นที่รับรู้โดยรัฐ แรงงานจึงได้รับความคุ้มครองและสวัสดิการพึงได้ต่างๆ ตามกฎหมาย ในทางกลับกันการทำงานของแรงงานนอกระบบจะไม่มีการบันทึกอย่างเป็นระบบโดยรัฐ แรงงานจึงอาจไม่ได้รับการคุ้มครองและไม่ได้รับสวัสดิการต่างๆ ตามกฎหมาย เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอุบัติเหตุจากการทำงาน วันลา วันหยุด ค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าล่วงเวลา ค่าชดเชยคลอดบุตร และวันลาคลอดบุตรในกรณีที่เป็นหญิง อีกทั้งค่าจ้างที่ได้รับก็ขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่แรงงานสามารถทำได้ เนื่องจากไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ

ถึงแม้ว่าแรงงาน Gig Worker เมื่อเทียบกับแบบดั้งเดิมจะมีการศึกษาสูงกว่า รายได้มากกว่า แต่ก็ยังไม่มั่นคง ที่สำคัญแรงงาน Gig Worker ยังมีอุปสรรคในการเข้าร่วมระบบประกันสังคม อันเกิดมาจากตัวแรงงานเอง กล่าวคือ 

1.รายได้ไม่แน่นอนจึงไม่สามารถสมทบเป็นรายเดือนได้ 

2.สถานะแรงงานมีความคลุมเครือ โดยเฉพาะแรงงานแพลตฟอร์มและแรงงาน sub-contract ที่ไม่มีความชัดเจนว่าแรงงานเหล่านี้ควรเป็นลูกจ้างประจำที่จะรับสิทธิ ม.33 หรือไม่ 

นอกจากนี้ ประกันสังคมมาตรา 40 ซึ่งเป็นช่องทางสร้างประกันในชีวิตให้กับประชาชนที่ประกอบอาชีพอิสระทุกอาชีพ ยังระบุสิทธิประโยชน์กรณีประสบอันตรายหรือเจ็บป่วย ให้ผู้ประกันตนใช้สิทธิ ดังนั้น หลักประกันสุขภาพ/บัตรทอง (สปสช.) หรือ สิทธิเดิมที่มีอยู่ด้วยเหตุนี้ แรงงานนอกระบบที่มีรายได้ปานกลางถึงสูง จึงเลือกที่จะซื้อประกันสุขภาพเอกชน เนื่องจากต้องการความสะดวกในการรับบริการ ส่วนแรงงานนอกระบบรายได้น้อยจึงยังไม่สมัครเข้าระบบประกันสังคม แต่เลือกใช้สิทธิประกันสุขภาพถ้วนหน้าแทน

ข้อเสนอภาครัฐในการบริหารจัดการ Gig Worker

กล่าวได้ว่า แรงงาน Gig Worker จัดเป็นแรงงานอิสระที่อยู่นอกระบบประกันสังคมและกฎหมายแรงงานในปัจจุบัน เพราะกฎหมายแรงงานและประกันสังคมได้ถูกสร้างขึ้นบนรากฐานของระบบแรงงานรูปแบบเดิม ซึ่งผูกกับระบบการหักเงินสมทบผ่านรายได้ประจำ 

ดังนั้น ความคุ้มครองทางกฎหมายและสิทธิประโยชน์ต่างๆ จึงยังไม่ครอบคลุมถึงแรงงานอิสระหรือแรงงาน Gig Worker ที่อยู่นอกระบบได้อย่างสมบูรณ์ ปัญหาต่างๆ เหล่านี้ ดังนั้นจึงควรวาระจำเป็นเร่งด่วนที่ภาครัฐจะต้องหาแนวทางในการบริหารจัดการให้กับแรงงานรูปแบบใหม่ (Gig Worker) เพื่อเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่ม ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ

แนวทางในการบริหารจัดการแรงงาน Gig Worker คือ 

1.การปรับปรุงสิทธิประโยชน์เพื่อจูงใจแรงงาน Gig Worker ให้เข้าสู่ระบบประกันสังคม 

2.การปรับปรุงระบบประกันสังคมในมิติอื่นนอกเหนือสิทธิประโยชน์ อาทิ การประชาสัมพันธ์และสร้างความเชื่อมั่นในระบบประกันสังคม เพื่อจูงใจให้แรงงาน Gig Worker สมัครเข้าระบบประกันตน รวมทั้ง การปรับปรุงสถานภาพทางกฎหมายของแรงงานรูปแบบใหม่ในอนาคต 

3.การจัดสวัสดิการในรูปแบบ tailor made เพื่อให้แรงงานสามารถเลือกรับสวัสดิการตามกลุ่มได้อย่างเหมาะสม

แนวทางในการบริหารจัดการกับแรงงานรูปแบบใหม่ (Gig Worker) ดังกล่าวนี้ จะเป็นการสร้างหลักประกันทางสังคมที่ครอบคลุมและเหมาะสมกับทุกช่วงวัย ทุกเพศภาวะ และทุกกลุ่ม ตามแนวทางของยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคม ในประเด็นการลดความเหลื่อมล้ำ และสร้างความเป็นธรรมในทุกมิติ