จับตาบิ๊กมูฟ! ‘บิ๊กซี’ ภายใต้ 'อัศวิน' เคลื่อนทัพค้าปลีกสู่ตลาดโลก

จับตาบิ๊กมูฟ! ‘บิ๊กซี’ ภายใต้ 'อัศวิน' เคลื่อนทัพค้าปลีกสู่ตลาดโลก

สำรวจอาณาจักรค้าปลีกสมัยใหม่ "บิ๊กซี" ภายใต้บังเหียน “อัศวิน” กับการประกาศขับเคลื่อนธุรกิจสู่ชั้นนำในโลก เดินหน้าขยายสาขาครั้งสำคัญในประเทศไทย ตลาดอาเซียน เร่งแพลตฟอร์มออนไลน์ สู่การเป็นออมนิแชนแนล เจาะตลาดคนรุ่นใหม่

บันทึกประวัติศาสตร์ครั้งใหม่กับห้างค้าปลีก “บิ๊กซี” ได้ประกาศแผนใหญ่ในปี 2566 กับการปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหม่ พร้อมเตรียมนำบริษัทเข้าไประดมทุนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยอีกครั้ง ภายหลัง ได้เพิกถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่วันที่ 28 ก.ย.2560

โดยช่วงเวลาดังกล่าว กลุ่มบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BJC ผู้ผลิตและจัดจำหน่ายสินค้า และบริการครบวงจร ตั้งแต่ ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ธุรกิจเก่าแก่ของไทยอายุกว่า 140 ปี ของกลุ่มไทยเบฟ ได้ใช้งบลงทุนประมาณ 3,825 ล้านบาท เสนอซื้อหุ้นบิ๊กซีคืน 17ล้านหุ้น เพื่อถอนหุ้นออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ
 

จับตาบิ๊กมูฟ! ‘บิ๊กซี’ ภายใต้ \'อัศวิน\' เคลื่อนทัพค้าปลีกสู่ตลาดโลก รวมเป็นเวลาประมาณ 6 ปี ที่บิ๊กซีได้มีการปรับโครงสร้างองค์กรภายใหม่ จนถึงเวลาที่เหมาะสม ทำให้ในปี 2566 บริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้แจ้งการจัดพอร์ตฟอลิโอใหม่ ด้วยการแยกธุรกิจการค้าปลีก การค้าส่ง การสั่งผลิต การนำเข้าและการส่งออกสินค้าอุปโภคบริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ

ตลอดจนถึงธุรกิจการพัฒนาและให้เช่าอสังหาริมทรัพย์ ที่เกี่ยวข้องกับค้าปลีก ค้าส่ง และธุรกิจเดิมของ Big C ทั้งหมด มารวมอยู่ภายใต้บริษัท บิ๊กซี รีเทล คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ “BRC” พร้อมประกาศแผนนำ BRC เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ อีกครั้งในปีนี้

 

จับตาบิ๊กมูฟ! ‘บิ๊กซี’ ภายใต้ \'อัศวิน\' เคลื่อนทัพค้าปลีกสู่ตลาดโลก

สเต็ปต่อมาได้แต่งตั้ง “นายอัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ขึ้นดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่คนแรกของ บิ๊กซี จากเดิม ดำรงตำแหน่ง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ BJC ซึ่งในปัจจุบัน BRC ถือเป็นบริษัทย่อยของ BJC ตามแผนปรับโครงสร้างธุรกิจ 

ฟากบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ ได้แต่งตั้ง “นางฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” ดำรงตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัท ถือเป็นการแต่งตั้งผู้บริหารหญิงคนแรกที่ขึ้นดำรงตำแหน่งสูงสุดของ BJC ในรอบ 140 ปี

การเคลื่อนทัพอาณาจักรค้าปลีกในครั้งนี้ บริษัทตั้งเป้าหมายที่จะให้ BRC ช่วยขับเคลื่อนกลุ่ม BJC เติบโตไปข้างหน้า ภายใต้กลยุทธ์ "การปรับโมเดลธุรกิจไปสู่ธุรกิจชั้นนำในตลาดโลก มุ่งส่งมอบสินค้าผ่านช่องทางทันสมัยและให้บริการที่ดีแก่ลูกค้า พร้อมวางเป้าหมายขยายสาขาบิ๊กซีเพิ่มทั้งในและต่างประเทศ"

นอกจากนี้จะมุ่งขยายบริการแบบออมนิแชนแนล (Omni-channel)เพื่อเพิ่มยอดขาย และการขยายแพลตฟอร์มออนไลน์ และการบริการจัดส่งผ่านแอปพลิเคชัน Big C PLUS, Call-Chat-Shop, Line, Drive thru, ที่มีบริการจัดส่งด่วนภายใน 1 ชั่วโมง ให้สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ 

หากมาสำรวจภาพรวมยอดขายของ บิ๊กซีในปี 2565 มีรายได้รวม 1.13 แสนล้านบาท กำไรสุทธิรวม 6,757 ล้านบาท และมีสินทรัพย์รวม 3.36 แสนล้านบาท โดยกลุ่มสินค้าและบริการทางค้าปลีกสมัยใหม่ สามารถสร้างรายได้เป็นสัดส่วนกว่า 60% ของรายได้รวมของกลุ่ม BJC รวมถึงเป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าในเครือ ครอบคลุมธุรกิจตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ

แผนขยายสาขาปี 2566 ปักหมุดบิ๊กซีในไทย และอาเซียน

ก้าวใหม่ในปี 2566 นอกจากการปรับโครงสร้างองค์กรแล้ว การขยายสาขาในปี 2566 ได้วางแผนที่จะเปิดสาขาใหม่ของ บิ๊กซี รวมประมาณ 2 สาขาในไทยเป็นไฮเปอร์มาร์เก็ต พร้อมมีแผนเปิดสาขาของ บิ๊กซีฟู้ด เพรส 5 สาขา และร้านค้าส่ง เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 7-8 สาขา รวมถึงวางแผนรีโนเวท 15-17 สาขา

อาณาจักรของบิ๊กซี ที่เปิดให้บริการในไทยกว่า 30 ปี ในปัจจุบันจึงมีสาขารวมทุกรูปแบบ 1,810 สาขา แบ่งเป็น ไฮเปอร์มาร์เก็ต 154 สาขา บิ๊กซีมินิ 1,449 สาขา บิ๊กซี ฟู้ดเพรส 1 สาขา และร้านค้าส่ง เอ็มเอ็ม ฟู้ด เซอร์วิส 1 สาขา มีร้านค้าขายยาเพรียว 146 สาขา รวมถึงมีรูปแบบที่เป็น ตลาด จำนวน 7 สาขา

การเข้าซื้อกิจการร้านสะดวกซื้อในกัมพูชา 
นอกจากการขยายสาขาในไทยแล้ว ในปี 2566 บิ๊กซี ได้วางแผนเปิดสาขาใหม่ในกัมพูชารวม 2 สาขา จากในปัจจุบันมีสาขาในกัมพูชา 1 สาขา รวมถึงในปีที่ผ่านมาได้เข้าซื้อ ซื้อกิจการของร้านค้าสะดวกซื้อกีวี่พรีเมียม (Kiwi Mart stores) ในกัมพูชา ที่มีสาขารวม 18 สาขา 

อีกตลาดสำคัญที่บิ๊กซีกำลังเข้าไปขยายคือ ประเทศลาว โดยกำลังก่อสร้างห้างค้าปลีกบิ๊กซี ที่ประเทศลาว สาขาแรก มีแผนเปิดให้บริการช่วงไตรมาสแรกปี 2567 

ทิศทางค้าปลีกสดใส
แรงสนับสนุนสำคัญที่ทำให้บิ๊กซี เร่งเครื่องธุรกิจในปีนี้ มาจากทั้งการประเมินตลาดค้าปลีกในช่วงปี 2566 ที่มีทิศทางที่ดีนับตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา ตลาดค้าปลีกเติบโตต่อเนื่อง รวมถึงมีแรงส่งจากนักท่องเที่ยวที่เข้ามาในประเทศไทย คาดว่าจะสูงถึง 25.5 ล้านคนในปีนี้ จากการประเมินของ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เป็นสัญญาณที่ดีต่อภาคค้าปลีกและบิ๊กซี ที่มีสาขาในแหล่งท่องเที่ยวรวม 25 สาขา 

อีกทั้งพบว่า ยอดขายสาขาในแหล่งท่องเที่ยวมีการเติบโตแบบสองหลักอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา 

วัดขุมกำลังเครือข่ายบิ๊กซี 

หากวัดขุมกำลังของบิ๊กซี ที่มีความโดดเด่นทั้งการมีพื้นที่สาขาในทำเลทองทั่วไทย ที่พร้อมเปิดเพิ่มใหม่ในอนาคต การมีเงินที่มาจากการระดมทุนรอบใหม่เพื่อขยายธุรกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ

รวมถึงการมีเครือข่ายสินค้าอุปโภคบริโภคในเครือ BJC ที่มีสินค้าหลากหลายกลุ่ม ตลอดจนการเครือข่ายที่แข็งแกร่งของธุรกิจเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์และแอลกอฮอล์อย่างไทยเบฟ รวมถึงมีธุรกิจร้านอาหารของกลุ่มไทยเบฟอย่างเช่น โออิชิ สามารถต่อยอดอาณาจักรค้าปลีกของบิ๊กซี ได้ในอนาคต  

ต้องติดตาม การคัมแบ๊ก! กลับมาโลดแล่นในตลาดหุ้น พร้อมการเร่งเครื่องขยายธุรกิจของบิ๊กซีในครั้งนี้ จะพลิกเกมตลาดค้าปลีกไทยไปในทิศทางใด!