เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’

เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’

มิติใหม่วงการเพลง “แกรมมี่-อาร์เอส” เดินเกมสร้างปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ ร่วมทุนตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส" จัดซีรีส์คอนเสิร์ต 3 ปี ธีมแรกดึงศิลปินดังยุค 90 ยุค 2000 ขึ้นเวที เผยงบลงทุนเฉลี่ย 100 ล้านบาทต่อคอนเสิร์ต ดันรายได้ทะยาน 660 ล้านบาทใน 3 ปี

ย้อนภาพจำกว่า 4 ทศวรรษของอุตสาหกรรมเพลงในประเทศไทย “อาร์เอส-แกรมมมี่” ถือเป็นยักษ์ใหญ่ที่ขับเคี่ยวแข่งขันอย่างเข้มข้นมาโดยตลอด ยิ่งการสร้างสรรค์ศิลปิน ผลงานเพลงเรียกว่าแลกกันหมัดต่อหมัด หากค่ายฝั่งลาดพร้าวมีศิลปินดูโอ บอยแบนด์ เกิร์ลกรุ๊ป ฝั่งอโศกจะส่งมาประกบ กลับกันเมื่อแกรมมี่ สร้างสรรค์ศิลปินเพลงร็อกรุ่นใหญ่หรือวงร็อกวัยรุ่น อาร์เอส ต้องปั้นศิลปินมาตอบโจทย์คนฟัง

สังเวียนธุรกิจเพลงห้ำหั่นกันไม่พอ ผู้บริโภคหรือผู้ฟัง บางกลุ่มยังแบ่งข้าง เลือกขั้วเป็นฐานแฟนคลับ สนับสนุนศิลปินคนโปรดด้วย

“อาร์เอส” ถือบริษัทแรกๆที่รุกสู่ธุรกิจเพลงในปี 2519 หากนับย่างก้าวยาวนาน 47 ปี และเกิดก่อน “แกรมมี่” ที่ก่อตั้งปี 2526 กำลังเดินทางครบ 40 ปี ในปี 2566

อุตสาหกรรมเพลงไทยมีการเติบโตอย่างยาวนาน กระทั่งเจอมรสุมรุมเร้าครั้งใหญ่หลายห้วงเวลา เช่น เทปผีซีดีเถื่อน ชิงเม็ดเงินจากทุ่มเทสร้างสรรค์ผลงานถูกลิขสิทธิ์จำหน่าย แต่ข้ามคืนกลับถูกสินค้าเลียนแบบ ก๊อปปี้ไปจำหน่าย กระทบการทำเงินของบริษัทและศิลปิน ซ้ำร้ายพายุดิจิทัล ถาโถมซ้ำ ทำให้เทป ซีดี MP3 ได้รับความนิยมลดลงเรื่อยๆ

สถานการณ์ตลาดโลก อุตสาหกรรมเพลงกลับเข้าสู่ช่วงการเติบโตอีกครั้ง หลังดำดิ่งนานนับสิบปี โดยเฉพาะดิจิทัลกลายเป็นแหล่งทำเงินให้ผู้ประกอบการ ทำให้ปี 2566 ทั้ง 2 ค่ายยักษ์ใหญ่จึงประกาศแผนลุยธุรกิจเพลงเต็มสูบ ตามแนวทางของตัวเอง ซึ่ง “อาร์เอส” ขอหวนคืนรุกตลาดเพลงรอบ 15 ปี ฝั่งแกรมมี่ ทุ่มงบ 1,500 ล้านบาท ลงทุนด้านเพลง โชว์บิส บริการจัดการศิลปิน ฯสร้างการเติบโต

เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’ คอนเสิร์ตธีมแรก ดึงศิลปินอาร์เอส-แกรมมี่ ยุค 90 ยุค 2000 ขึ้นเวที

ทว่า ปี 2566 ยังเห็นปรากฏการณ์ครั้งประวัติศาสตร์ เมื่อ “แกรมมี่-อาร์เอส” ผนึกกำลังเขย่าอุตสาหกรรมเพลง จัดคอนเสิร์ตหรือธุรกิจโชว์บิสครั้งใหญ่ ด้วยการร่วมทุนตั้งกิจการร่วมค้า “อะครอสเดอะยูนิเวิร์ส” ดึงศิลปินกว่า 100 ชีวิตระดับตำนานมาอยู่บนเวทีเดียวกันผ่าน 3 ซีรีส์คอนเสิร์ต ใน 3 ปี

เบื้องหลังบิ๊กดีลร่วมทุน

นายภาวิต จิตรกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจ จีเอ็มเอ็ม มิวสิค บริษัท จีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ จำกัด (มหาชน) เปิดเผยว่า จุดเริ่มต้นของโปรเจค “แกรมมี่ อาร์เอส คอนเสิร์ต” ที่ไม่น่าจะเกิดขึ้นได้ แต่กลับสร้างปรากฏการณ์และประวัติศาสตร์ให้วงการเพลง เบื้องหลังมีการเจรจาทาบทามความร่วมมือกันกันหลายครั้งและยาวนาน 3-5 ปี กระทั่งล่าสุดถึงเวลาเหมาะสม เพราะแกรมมี่มีการทำเพลง จัดคอนเสิร์ตมาโดยตลอด ส่วนอาร์เอส กลับมารุกธุรกิจเพลงอีกครั้ง จากฐานข้อมูล(Data) ความต้องการของผู้บริโภค ฐานแฟนเชิงลึก(Insight) จึงมองเป็นโอกาสก้าวไปข้างหน้าในการทำธุรกิจร่วมกัน

ทั้งนี้ 2 ค่ายแบ่งบทบาท ดังนี้ แกรมมี่ช่วยวางกลยุทธ์ธุรกิจ คอนเซปต์ความคิดสร้างสรรค์ จัดงานหรือโปรดักชั่น จำหน่ายตั๋ว ฯ เพื่อผลักดันให้ผลลัพธ์เป็นไปตามเป้าหมาย

เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’ 3 ผู้สร้างสรรค์คอนเสิร์ต นำโดย "ป๋าเต็ด ยุทธนา บุญอ้อม"

ด้านนายวิทวัส เวชชบุษกร ประธานเจ้าหน้าที่สายงานการเงิน บริษัท อาร์เอส จำกัด (มหาชน) ในฐานะกรรมการ กิจการร่วมค้าอะครอสเดอะยูนิเวิร์ส กล่าวว่า แกรมมี่ อาร์เอส ถือเป็นค่ายเพลงใหญ่เป็นเพื่อนร่วมวงการ มีส่วนสร้างอุตสาหกรรมเพลงไทยอย่างยาวนาน ความร่วมมือครั้งนี้ถือเป็นปรากฏการณ์อย่างแท้จริง ขณะที่การร่วมทุนตั้ง “กิจการร่วมค้า” ทั้ง 2 ฝ่ายลงทุนเท่ากัน 50% และตัดสินใจร่วมกันทุกๆด้าน

พร้อมกันนี้ ได้เปิดตัวโปรเจคแรก 3 ซีรีส์คอนเสิร์ตของ “GRAMMYRS” ภายใต้ระยะเวลา 3 ปี ประเดิมปี 2566 ชูธีมรวมศิลปินยุค 90 และยุค 2000 กว่าร้อยชีวิตมาอยู่บนเวทีเดียวกัน และจัดแสดง 3 รอบ เดือนกรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ซึ่งวางงบลงทุนเฉลี่ยราว 100 ล้านบาทต่อคอนเสิร์ต และตั้งเป้าหมายรายได้ 220 ล้านบาทต่อปี หรือมีรายได้กว่า 660 ล้านบาท ใน 3 ปี

“การตั้งกิจการร่วมค้า เพราะตอบโจทย์การบริหารงานร่วมกัน ขยับการทำงานหลายอย่างได้เหมาะสมกับโปรเจคนี้ และมีประสิทธิภาพเท่าเทียมกับการตั้งเป็นนิติบุคคล รูปแบบร่วมทุนไม่ใช่สาระ ตราบใดที่ข้อตกลงทางธุรกิจชัด ซึ่งการลงทุนและแบ่งรายได้ครั้งนี้เป็นสัดส่วนเท่ากัน”

การแข่งขันไม่หายไป แต่ธุรกิจยุคใหม่ต้องมองโอกาส

เนื่องจากแกรมมี่-อาร์เอส แข่งขันทางธุรกิจมาโดยตลอด การร่วมมือครั้งนี้ จะทลายภาพจำในอดีตหรือไม่ นายภาวิต กล่าวว่า การทำธุรกิจต่างฝ่ายต่างดำเนินการปกติ ขณะที่การแข่งขันเป็นสิ่งที่ผู้คน ผู้บริโภคภายนอกมอง แต่ยอมรับว่าทุกธุรกิจล้วนมีการแข่งขันเกิดขึ้น ทว่าสิ่งที่แกรมมี่ อาร์เอสร่วมมือกันถือเป็นการค้า การตลาดยุคใหม่ หรือโมเดิร์น มาร์เก็ตติ้ง สอดรับเทรนด์ในอนาคต

เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’ ภาวิต จิตรกร - วิทวัส เวชชบุษกร นิวเจนพลิกโฉมธุรกิจ Beyond Enemy

“แกรมมี่สร้างอินฟราสตรัคเจอร์อุตสาหกรรมเพลง อาร์เอสมีจุดมุ่งหมายในการทำธุรกิจที่แตกต่าง ใดๆสิ่งที่ร่วมมือกันได้ ถือเป็นสิ่งดี หากมองในโลกค่ายเพลงที่ร่วมมือกันไม่ค่อยทำ นี่ถือเป็นปรากฏการณ์ครั้งแรก ซึ่งถือว่าเหนือกว่าการเป็นคู่แข่งหรือ Beyond Enemy เกิดขึ้นได้”

นายวิทวัส กล่าวเสริมว่า ธุรกิจสมัยใหม่ ควรมองถึงโอกาสเป็นหลัก ที่ผ่านมา แกรมมี่ อาร์เอส อาจมีภาพจำต่อผู้บริโภคในการแข่งขัน แต่ปัจจุบันทั้ง 2 ค่ายเพลงจับมือกันเพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจ ซึ่งมองว่าเกิดขึ้นได้หลากหลายรูปแบบ

ตามแผนธุรกิจเพลงของอาร์เอส ยังมองโอกาสผนึกพันธมิตรระดับโลก เพื่อสร้างการเติบโต และแกรมมี่ เป็นหนึ่งในจิ๊กซอว์ที่บริษัทไม่ปิดโอกาส

เป้าหมายปลุกตลาดเพลงไทยแกร่ง

นายภาวิต กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างอาร์เอสแกรมมี่ มองเป้าหมาย 3 ข้อ ได้แก่ 1.สร้างประวัติศาสตร์ให้อุตสาหกรรมเพลง คอนเสิร์ต เป็นกรณีศึกษาให้ภาคธุรกิจ 2.ทำงานร่วมกัน ศึกษาเรียนรู้ความเก่งทั้ง 2 ฝ่าย และตอบสนองความต้องการแฟนเพลงที่รอคอยมานาน 40 ปีที่จะเห็นศิลปิน 2 ค่ายอยู่บนเวทีเดียวกัน และ4.ขับเคลื่อนอุตสาหกรรมเพลงให้เติบโตไปข้างหน้าอย่างแข็งแกร่ง

เบื้องลึกบิ๊กดีล ‘แกรมมี่-อาร์เอส’ พลิกประวัติศาสตร์ ‘เพลง-โชว์บิส’

ปรากฏการณ์มาจากเพลงฝั่งอาร์เอส เพื่อสร้างประวัติศาสตร์เพลงจากฝั่งแกรมมี่

“โอกาสแบบนี้ ร้อยปีอาจไม่เกิดขึ้นเลย จึงใช้ทุกวินาทีให้คุ้มค่า เพราะในการแข่งขันตลาดเพลงเรามีคู่แข่งมากมาย ต้องแข่งกับการฟังเพลงทั่วโลก ที่สำคัญคือการแข่งแย่งเวลาจากผู้บริโภค”

นายวิทวัส กล่าวว่า ในเชิงธุรกิจคาดหวังกระแสตอบรับจากฐานแฟนเพลงแกรมมี่อาร์เอส ซื้อตั๋วคอนเสิร์ต GRAMMYRS ให้หมด สร้างรายได้ตามเป้าหมาย และสร้างประวัติศาสตร์ให้เกิดขึ้น

“อาร์เอสเป็นค่ายเพลงใหญ่ค่ายเพลงหนึ่งของเมืองไทย การจับมือกับแกรมมี่นอกจากสร้างปรากฏการณ์แล้ว ยังส่งเสริมการสร้างศิลปินของไทย สร้างกระแสหล่อเลี้ยงความนิยมศิลปินไทย เป็นแรงบันดาลใจให้ศิลปินรุ่นใหม่พัฒนาตัวเอง ถือเป็นจุดเล็กๆช่วยต่อยอดให้อุตสาหกรรมเพลงไทยได้การยอมรับจากแฟนคลับ ปลุกความนิยมเพลงไทยให้กลับมา”

สำหรับภาพรวมธุรกิจคอนเสิร์ตในประเทศไทยมีมูลค่า 5,000 ล้านบาท แบ่งเป็นคอนเสิร์ตเพลงไทย 2,500 ล้านบาท และคอนเสิร์ตต่างประเทศ(เกาหลี ญี่ปุ่น ตะวันตกฯ) 2,500 ล้านบาท ส่วนราคาบัตรคอนเสิร์ตเพลงไทยราคาเฉลี่ย 2,000-6,000 บาท การขายตั๋วของ GRAMMYRS ใกล้เคียงตลาด ด้านพฤติกรรมผู้บริโภคในการฟังเพลง นิยมฟังเพลงเก่า 85% เพลงใหม่ 15% ขณะที่ขุมทรัพย์เพลงแกรมมี่มีราว 50,000 เพลง และอาร์เอสกว่าหมื่นเพลง