‘เฟิร์สต์ ซิติเซนส์’ บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเอสวีบี

‘เฟิร์สต์ ซิติเซนส์’ บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเอสวีบี

บรรษัทค้ำประกันเงินฝากของรัฐบาลกลางสหรัฐ (FDIC) เปิดเผยในวันนี้ว่า บริษัท เฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์แชร์ส (First Citizens BancShares) ตกลงเข้าซื้อกิจการธนาคารซิลิคอน วัลเลย์ แบงก์ (เอสวีบี) แล้ว

FDIC ระบุในแถลงการณ์ว่า เฟิร์สต์ ซิติเซนส์ แบงก์แชร์ส ได้บรรลุข้อตกลงซื้อกิจการเอสวีบี ซึ่งครอบคลุมถึงเงินฝากและเงินกู้ทั้งหมดของเอสวีบี คิดเป็นมูลค่า 1.65 หมื่นล้านดอลลาร์ ซึ่งลดลงจากมูลค่าเดิมที่ 7.2 หมื่นล้านดอลลาร์

 

แถลงการณ์ของ FDIC ยังระบุด้วยว่า หลักทรัพย์มูลค่าประมาณ 9 หมื่นล้านดอลลาร์ และสินทรัพย์ประเภทอื่น ๆ นั้น จะยังคงอยู่ภายในมาตรการพิทักษ์ทรัพย์ (Receivership)

ขณะเดียวกัน FDIC จะได้รับสิทธิในมูลค่าเพิ่มของหุ้น (Stock appreciation Rights หรือ SARs) ในเฟิร์สต์ ซิติเซนส์ ในวงเงินไม่เกิน 500 ล้านดอลลาร์

ทั้งนี้ FDIC ประมาณการไว้เบื้องต้นว่า ต้นทุนการล้มละลายของเอสวีบีที่ FDIC ต้องแบกรับไว้นั้น มีมูลค่าประมาณ 2 หมื่นล้านดอลลาร์ อย่างไรก็ดี ต้นทุนที่แท้จริงนั้นจะได้รับการประเมินอีกครั้งเมื่อมาตรการพิทักษ์ทรัพย์สิ้นสุดลง

 

 

นายแฟรงค์ โฮลดิ้ง จูเนียร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของเฟิร์สต์ ซิติเซนต์ กล่าวว่า “การทำธุรกรรมกับ FDIC ในครั้งนี้ถือเป็นหมุดหมายสำคัญที่จะสร้างความเชื่อมั่นในระบบการเงินของสหรัฐ” โดยเฟิร์สต์ ซิติเซนต์นั้น มีสินทรัพย์ประมาณ 1.09 แสนล้านดอลลาร์ และมีเงินฝากประมาณ 8.94 หมื่นล้านดอลลาร์

รัฐบาลสหรัฐสั่งปิดกิจการเอสวีบีเมื่อวันที่ 10 มี.ค. พร้อมกับมอบหมายให้ FDIC เข้าควบคุมกิจการและเป็นผู้ดูแลเงินฝากของเอสวีบี หลังจากเอสวีบี ประสบปัญหาสภาพคล่องอย่างรุนแรง อันเนื่องมาจากการที่ลูกค้าซึ่งส่วนใหญ่เป็นสตาร์ตอัปในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีนั้นแห่ถอนเงินออกจากธนาคาร

นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า การที่ธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยอย่างรวดเร็วและหลายครั้งติดต่อกันถือเป็นต้นเหตุของปัญหา เนื่องจากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของธุรกิจต่าง ๆ ปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจสตาร์ตอัปและบริษัทเทคโนโลยีที่เป็นลูกค้ารายใหญ่ของเอสวีบี โดยเมื่อต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้น ทำให้ธุรกิจเหล่านี้แห่ถอนเงินฝากจากเอสวีบีเพื่อใช้ในธุรกิจ ส่งผลให้เอสวีบี ต้องเพิ่มทุนด้วยการขายพันธบัตรรัฐบาลที่ถือไว้ แต่ราคาพันธบัตรก็ปรับตัวลงสวนทางกับดอกเบี้ยที่พุ่งขึ้นตามนโยบายเฟด จึงทำให้เอสวีบีจำใจต้องขายพันธบัตรในราคาต่ำกว่าหน้าตั๋ว ซึ่งทำให้ขาดทุน และล้มละลายในที่สุด