‘เจียรวนนท์’ ปรับทัพดูแลมั่งคั่ง ตั้ง Family Office ในฮ่องกงบริหารทรัพย์สิน

‘เจียรวนนท์’ ปรับทัพดูแลมั่งคั่ง ตั้ง Family Office ในฮ่องกงบริหารทรัพย์สิน

‘ตระกูลเจียรวนนท์’ เตรียมตั้งสำนักงานครอบครัวในฮ่องกง บริหารความมั่งคั่ง 3.3 แสนล้านดอลลาร์ หลังสมาชิกครอบครัวติดอันดับอภิมหาเศรษฐีไทย ‘อเล็กซ์ เจียรวนนท์’ หลานชาย เผยเจ้าสัวธนินท์ สนใจขยายฐานในฮ่องกง ผู้บริหารซีพี ชี้ แยกส่วนจากการบริหารธุรกิจของเครือ

Key Points

  • รัฐบาลฮ่องกงมีนโยบายให้ชาวต่างชาติตั้ง Family Office เพื่อบริหารความมั่งคั่ง
  • ‘เจ้าสัวธนินท์’ เตรียมตั้งสำนักงานครอบครัวตามคำเชิญของผู้บริหารฮ่องกง
  • ปัจจุบันตระกูลเจียรวนนท์มีทรัพย์สินรวมประมาณ 3.37 แสนล้านดอลลาร์
  • สำนักงานครอบครัวจะแยกส่วนการบริหาร CP ที่มีโครงสร้างดูแลอยู่แล้ว

ฮ่องกงกำลังผลักดันนโยบายให้ชาวต่างชาติเข้าไปตั้งสำนักงานครอบครัว หรือ Family Office (FO) ซึ่งจะทำหน้าที่บริหารจัดการทรัพย์สิน รักษาความมั่งคั่ง ให้คำปรึกษาด้านกฎหมาย และดูแลบุคคลในครอบครัว เช่น จองที่พัก จัดหาผู้ช่วยส่วนตัว โดยในวันที่ 24 มี.ค.2566 จัดประชุมผู้นำ “Wealth for Good” 24 มี.ค.2566 ดึงดูดครอบครัวเศรษฐีทั่วโลกมาตั้ง Family Office

รวมทั้งก่อนหน้านี้ฮ่องกงได้ขับเคลื่อนแผนการดึงการลงทุนจากต่างชาติต่อเนื่อง ซึ่งในเดือน ก.พ.2566 สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง (Invest Hong Kong) ได้เข้ามาโรดโชว์ในไทยเพื่อดึงนักธุรกิจไทยไปลงทุนในฮ่องกง โดยเฉพาะใน 3 ธุรกิจ คือ ธุรกิจการเงินฟินเทค ธุรกิจไฮเทคโนโลยีและนวัตกรรม และธุรกิจสร้างสรรค์และไลฟ์สไตล์

สำนักงานส่งเสริมการลงทุนฮ่องกง ได้ย้ำถึงนโยบายของ ‘สี จิ้นผิง’ ประธานาธิบดีจีน ที่ใช้นโยบายหนึ่งประเทศสองระบบ โดยจะรับประกันความมั่นคงระยะยาวให้นักลงทุนต่างชาติในฮ่องกง เพื่อดึงการลงทุนต่างชาติเข้าฮ่องกงและจีน

เว็บไซต์เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ รายงานอ้างข้อมูลจากคนในตระกูลว่า นายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส ผู้บริหารรุ่นที่ 2 ของ เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) พร้อมด้วยนายสุภกิต เจียรวนนท์ บุตรชายคนโต ประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะไปร่วมงานกาลาดินเนอร์ของการประชุมผู้นำ Wealth for Good ที่พิพิธภัณฑ์พระราชวังฮ่องกงในวันที่ 24 มี.ค.2566  ‘เจียรวนนท์’ ปรับทัพดูแลมั่งคั่ง ตั้ง Family Office ในฮ่องกงบริหารทรัพย์สิน

นายอเล็กซ์ เจียรวนนท์ รองประธานบริษัทซีทีไบรท์ หลานชายของนายธนินท์ ระบุว่า ผู้บริหารทั้ง 2 ไปฮ่องกงเพื่อเห็นและเข้าใจอนาคตของฮ่องกงในฐานะศูนย์กลางให้อภิมหาเศรษฐีเข้ามาลงทุนและทำสิ่งที่ดีได้ดียิ่งขึ้นด้วยตาตนเอง

“เรามองฮ่องกงในฐานะจุดตัดที่สิ่งดีๆ หลายอย่างมาบรรจบกัน ฮ่องกงเป็นส่วนหนึ่งของจีนที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก เชื่อมต่อกับส่วนอื่นๆ ของโลก เก็บภาษีต่ำ และไลฟ์สไตล์มีชีวิตชีวา” อเล็กซ์ หรือชื่อไทยว่า เอกชัย อธิบาย

รัฐบาลฮ่องกงหนุนตั้งสำนักงาน

ทั้งนี้ รัฐบาลฮ่องกงต้องการส่งเสริมเมืองนี้ให้เป็นศูนย์กลางการจัดการความมั่งคั่งและการกุศลของเอเชีย และเตรียมประกาศชุดมาตรการจูงใจวันที่ 24 มี.ค.2566 ระหว่างประชุมผู้นำ Wealth for Good เพื่อดึงดูดให้ตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวที่นี่ งานนี้ผู้บริหารสำนักงานกว่า 100 รายและทีมงานจะมารวมตัวกันพร้อมหารือกันถึงโครงการอันหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการกุศล ศิลปะ เทคโนโลยี 

รวมทั้งการประชุม Wealth for Green เน้นเรื่องสิ่งแวดล้อม ความยั่งยืน และการบริหารจัดการที่ดี (อีเอสจี) โดยนายริชาร์ด ลี ประธานพีซีซีดับเบิลยูกรุ๊ป บุตรชายนายลี กาชิง ผู้มั่งคั่งที่สุดของฮ่องกง มีกำหนดแสดงปาฐกถาในเวทีเทคโนโลยีร่วมกับนายเจอร์รี หยาง ผู้ร่วมก่อตั้งยาฮู และนายนีล เฉิน หุ้นส่วนบริหารผู้ร่วมก่อตั้งซีคัวญา ไชนา

นายอเล็กซ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ผู้บริหารกลุ่มซีพีไม่ได้ร่วมเวทีเสวนาในวันที่ 24 มี.ค.2566 เนื่องจากภารกิจหนาแน่น โดยจะออกจากฮ่องกงด้วยเครื่องบินส่วนตัวหลังจบงานกาลาดินเนอร์

ตระกูลมั่งคั่ง 3.37 แสนล้านดอลลาร์

รายงานข่าวระบุ ตระกูลเจียรวนนท์ ที่ฟอร์บสประเมินความมั่งคั่งไว้ที่ 3.37 แสนล้านดอลลาร์ เมื่อปี 2560 ยังไม่มีสำนักงานธุรกิจครอบครัวในฮ่องกง แม้เป็นนักลงทุนในจีนเป็นรายแรกๆ และมั่งคั่งที่สุดรายหนึ่ง 

รวมทั้งกลุ่มซีพีทำธุรกิจมากมายในจีนแผ่นดินใหญ่ตั้งแต่สัตว์ปีก อาหารสัตว์ ไปจนถึงค้าปลีก เป็นหนึ่งในนักลงทุนต่างชาติกลุ่มแรกที่เข้ามาในจีน ตอนที่จีนเปิดให้เสิ่นเจิ้นเป็นพื้นที่ทดลองปฏิรูประบบตลาดตามระบบทุนนิยม กลุ่มซีพีได้ใบอนุญาตทำธุรกิจหมายเลข 0001

กลุ่มซีพียังคงเป็นผู้ถือหุ้นรายเดียวใหญ่สุดของผิงอันอินชัวรันซ์กรุ๊ป บริษัทประกันรายใหญ่สุดของจีน แม้ถือหุ้นลดลงเหลือ 6.8% จากที่ซื้อมา 15.6% จากเอชเอสบีซีเมื่อปี 2555 ทั้งยังซื้อซิติกลิมิเต็ด (Citic Limited) กลุ่มบริษัทใหญ่อันดับ 5 ของจีน ผ่านการลงทุน 8.03 หมื่นล้านดอลลาร์ฮ่องกงเมื่อปี 2558 กับบริษัทอิโตชูของญี่ปุ่น

บริษัทในเครือซีพีหลายแห่งลงทุนจากสำนักงานในฮ่องกง ซีทีไบรท์เป็นบริษัทลงทุนในกลุ่มซีพีที่นายอเล็กซ์ต้องขึ้นตรงกับนายสุภกิต

ผู้บริหารฮ่องกงนัดหารือ 'ธนินท์' ช่วงเอเปค

แผนการของตระกูลเจียรวนนท์เกิดขึ้นสี่เดือนหลังจากนายจอห์น ลี คาชู ผู้บริหารสูงสุดเขตบริหารพิเศษฮ่องกง เลือกเยือนไทยเป็นที่แรกหลังรับตำแหน่ง ซึ่งเขาได้ร่วมการประชุมผู้นำความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชียแปซิฟิก (เอเปค) ทริปกรุงเทพฯ สี่วันที่นายลีมาพร้อมกับผู้บริหารภาคธุรกิจอีก 20 คน เขาได้พบกับนายกรัฐมนตรีของไทยและนักธุรกิจใหญ่ เช่น กลุ่มซีพี ซึ่งนายอเล็กซ์เผยว่า นายลี “คุยกันอย่างดี” กับนายธนินท์แห่งกลุ่มซีพี

“คุณลุงผมกระตือรือร้นอยากทำอะไรสักอย่างในฮ่องกง ดังนั้นสำนักงานธุรกิจครอบครัวจึงเป็นโอกาสที่ดีในการใช้โครงการริเริ่มของรัฐบาลฮ่องกงผนึกการลงทุนอันมากมายของตระกูล”

เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์รายงานต่อไปว่า นายอภิชาติ บิดาของนายอเล็กซ์อยู่ในฮ่องกง เป็นบุตรของนายเจีย เซี่ยวฮุย น้องเล็กคู่สองพี่น้องที่ร่วมกันก่อตั้งกลุ่มซีพีในปี พ.ศ.2464 ส่วนนายธนินท์เป็นลูกชายคนสุดท้องของนายเจีย เอ็กชอ พี่ใหญ่

กลุ่มซีพีเป็นกลุ่มบริษัทใหญ่สุดของประเทศไทย ธุรกิจมีตั้งแต่อาหารสัตว์ไปจนถึงห้างสรรพสินค้า โทรคมนาคม และร้านสะดวกซื้อเซเว่นอีเลเว่นที่มีอยู่ทั่วประเทศ นายธนินท์ที่จะอายุครบ 84 ปี ในเดือนหน้าร่ำรวยที่สุดในประเทศ มีสินทรัพย์ราว 1.5 หมื่นล้านดอลลาร์ ตามการประเมินของฟอร์บส 

เจ้าสัวมั่นใจปักธงตั้งสำนักงานในฮ่องกง

นายธนินท์ลงจากตำแหน่งประธานกลุ่มซีพีในปี 2560 หลังจากบริหารมานาน 48 ปี โดยตั้งนายสุภกิต บุตรชายคนโตเป็นประธานกรรมการเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนนายศุภชัย บุตรชายคนเล็กเป็นประธานคณะผู้บริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ‘เจียรวนนท์’ ปรับทัพดูแลมั่งคั่ง ตั้ง Family Office ในฮ่องกงบริหารทรัพย์สิน

“ประธานของเรามักมองฮ่องกงในแง่ดีเสมอ เราไม่เรียกการมาเยือนของนายลีว่าเป็นจุดเปลี่ยน เพราะเราทำในสิ่งที่เคยทำมาแล้ว” นาย Lung Navikapol (มาร์โก) รองประธานอาวุโสซีทีไบรท์ ผู้ทำงานกับนายอเล็กซ์ในฮ่องกงกล่าว แต่การเยือนของผู้บริหารฮ่องกง “ได้รับความสนใจอย่างมากจากผู้บริหารระดับสูงของซีพีและคิดว่ากลุ่มซีพีควรทุ่มเททรัพยากรมาให้ที่นี่มากขึ้น”

ขณะที่นายอเล็กซ์ กล่าวว่า จีนยอดเยี่ยมในหลายด้าน เช่น เทคโนโลยี การใช้คอมพิวเตอร์และแบตเตอรีอีวีเป็นสาขาที่พวกเขาสนใจ รวมถึงจับตาโอกาสที่จะขยายไปทั่วโลกด้วย ในระดับกลุ่มบริษัท 70% ของการลงทุนเกี่ยวข้องกับธุรกิจผลิตอาหาร 30% ทำสาขาอื่น เช่น เทคโนโลยี เมื่อตั้งสำนักงานธุรกิจครอบครัวในฮ่องกงแล้วกลุ่มซีพีอาจปรับโครงสร้างธุรกิจบางอย่าง แต่แผนงานยังอยู่ระหว่างกระบวนการ

แยกส่วนจากการบริหารธุรกิจของซีพี

แหล่งข่าวจากผู้บริหารของซีพี กล่าวว่า การตั้งสำนักงานครอบครัวในฮ่องกงจะมาทำหน้าที่ดูแลทรัพย์สินของบุคคลในตระกูล โดยเป็นการดำเนินงานที่แยกส่วนของธุรกิจในนามเครือเจริญโภคภัณฑ์ที่มีโครงสร้างในการบริหารอยู่แล้ว

สำหรับธุรกิจของซีพีในเอเชียตะวันออกครอบคลุมการลงทุนในจีน ฮ่องกงและไต้หวัน โดยซีพีได้สรุปข้อมูลสิ้นปี 2564 แบ่งเป็น 5 ส่วน ประกอบด้วย 

1.โรงงานผลิตรวม 150 แห่ง

2.ฟาร์มเลี้ยงสัตว์บกและสัตว์น้ำ 126 แห่ง

3.ศูนย์จำหน่ายสินค้าของ Makro 1 สาขา

4.ไฮเปอร์มาร์เก็ต ซูเปอร์มาร์เก็ต มินิซุปเปอร์มาร์เก็ตของ Lotus's และ Lotus's Supercenter 111 สาขา

5.ศูนย์วิจัยและพัฒนา สถานีวิจัย 48 แห่ง

รวมแล้วทั้งหมดมีพนักงาน 95,118 คน