"ซอฟต์พาวเวอร์" ของไทย ไปไกลได้! ภาครัฐต้องใจกล้า ทุ่มทุนสร้างเหมือนเกาหลี
รัฐ-เอกชนปลุกขุมพลัง “ซอฟต์พาวเวอร์” ของประเทศไทยสู่ระดับโลก “พิพัฒน์” ชี้ภาครัฐถึงเวลาเอาจริง กล้าลงทุนโปรโมทเหมือน “เกาหลี” หวังผลักดันอุตสาหกรรมท่องเที่ยวขยายตัวสู่เป้าหมาย 5 ปีข้างหน้า ขยับสัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 25% ของจีดีพี
วานนี้ (14 มี.ค.) ภายในงานสัมมนา “อนาคตประเทศไทย : Soft Power ขับเคลื่อนประเทศ?” ณ โรงแรมพูลแมน คิง เพาเวอร์ กรุงเทพฯ จัดโดย เนชั่น สปริง และคมชัดลึก วิทยากรจากทั้งภาครัฐ เอกชน และพรรคการเมือง ต่างแสดงวิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อน “ซอฟต์พาวเวอร์” (Soft Power) เพื่อเพิ่มมูลค่าเศรษฐกิจไทย พร้อมก้าวสู่ความเป็นผู้นำด้านซอฟต์พาวเวอร์ จากปัจจุบันซอฟต์พาวเวอร์ของประเทศไทยอยู่ในลำดับที่ 35 จากทั้งหมด 120 ประเทศ อันดับ 6 ของเอเชีย และเป็นอันดับ 2 ของอาเซียน
นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กล่าวในหัวข้อ “Soft Power… เราอยู่จุดไหนในตลาดโลก?” ว่า การเริ่มต้นส่งเสริมซอฟต์พาวเวอร์เพื่อกระตุ้นอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทย ไม่ต่างจากการติดกระดุมเม็ดแรกให้ถูกต้อง เพื่อป้องกันความสับสน จะได้เห็นทิศทางชัดเจนตรงกัน โดยซอฟต์พาวเวอร์ในมิติการท่องเที่ยว ต้องทรงพลังและสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้
สำหรับคุณสมบัติสำคัญของซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง ประกอบด้วย
1.เป็นพลังทางวัฒนธรรมที่เป็นธรรมชาติ เกิดจากวัฒนธรรมหรือค่านิยมที่มาจากคนและสังคม ไม่ต้องบังคับหรือฝืน เป็นสิ่งที่ระเบิดจากข้างใน
2.เป็นของจริงแท้ มีเอกลักษณ์และอัตลักษณ์
3.เป็นคุณค่าร่วมในระดับสากล ทำให้ประชาคมโลกเห็นคุณค่าของซอฟต์พาวเวอร์นั้นร่วมกัน
4.เป็นกุศโลบาย มีเป้าหมายชัดเจนในตัวเอง
5.เป็นความคิดเชื่อมโยง วางกลยุทธ์ ตั้งแต่ต้นน้ำ กลางน้ำ ปลายน้ำ ในทุกหน่วยเศรษฐกิจ เพื่อให้เกิดการสร้างมูลค่าเพิ่ม
“เราจะเห็นว่าซอฟต์พาวเวอร์ทรงพลังระดับโลก เช่น มวยไทย นวดไทย ผัดไทย ซีรีส์วาย และอื่นๆ จะแตกต่างจากซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังในระดับท้องถิ่นหรือภูมิภาค เช่น ผ้าขาวม้า หม้อแกงเพชรบุรี ตาลโตนด หอยนางรมสุราษฎร์ ไข่เค็มไชยา สับปะรดภูแล เชียงราย และม่อฮ่อมแพร่ นี่คือจุดเปลี่ยนที่เราจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์จากที่ยอมรับกันภายในประเทศไทย เพื่อสร้างกระแสนิยมในระดับโลกให้ได้”
++ ไทยต้อง “กล้าลงทุน” เหมือนเกาหลี
ตัวอย่างประเทศที่มีการลงทุนพัฒนาซอฟต์พาวเวอร์มากที่สุด คงจะหนีไม่พ้นประเทศเกาหลีใต้ ทั้งเรื่องภาพยนตร์ ซีรีส์ และอาหาร ที่มีการโปรโมทจนดังไกลระดับโลก สะท้อนว่าเขากล้าลงทุน ขณะที่ประเทศไทย ต้องยอมรับว่ายังมีการลงทุนด้านซอฟต์พาวเวอร์น้อยเกินไป จึงถึงเวลาแล้วที่หน่วยงานภาครัฐของไทยต้องเอาจริงเอาจังกับคำว่าซอฟต์พาวเวอร์ ทุกกระทรวงต้องตั้งงบประมาณมาผลักดันและร่วมกันขบคิดว่าจะผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ไปในทิศทางไหน
“ปัจจุบันเราจะเห็นว่ามีกระแสน่าสนใจมากมายเกิดขึ้นในกลุ่มนักท่องเที่ยวต่างชาติ เช่น นักท่องเที่ยวชาวจีน ไต้หวัน และเกาหลี เมื่อมาเยือนไทย นิยมสวมชุดนักเรียนไทยไปตามแหล่งท่องเที่ยว เราต้องมาขบคิดว่าจะจุดกระแสเหล่านี้ให้เป็นซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลังได้อย่างไร”
++ แนะ “คัด-ปรับ-นำเสนอ” ซอฟต์พาวเวอร์ให้ถูกจุด
สำหรับยุทธศาสตร์ขับเคลื่อนการท่องเที่ยวด้วยซอฟต์พาวเวอร์ ต้องเริ่มจากกระบวนการคัดเลือกซอฟต์พาวเวอร์ที่ทรงพลัง ทั้งการปั้นใหม่ พัฒนา และต่อยอด ยกตัวอย่าง ชาไทย ซึ่งเป็นที่รู้จักและนิยมในวงกว้างบ้างแล้ว ทั้งยังได้รับเลือกให้เป็นอันดับ 7 ของเครื่องดื่มไม่มีแอลกอฮอล์ที่อร่อยที่สุดในโลก สามารถนำไปต่อยอดในระดับสากลได้ จากนั้น ปรับเปลี่ยนซอฟต์พาวเวอร์นั้นๆ ให้เหมาะสมและดึงดูดกลุ่มเป้าหมาย เช่น ให้โรงแรมและร้านอาหารเสิร์ฟชาไทยเป็นเวลคัมดริงก์ ร้านอาหารไทยในต่างประเทศจัดแคมเปญสัปดาห์อาหารไทยทุกร้าน เสิร์ฟชาไทยฟรี ต่อด้วยขั้นตอนการนำเสนอสู่กลุ่มเป้าหมายต่างๆ ในประชาคมโลก ผ่านช่องทางที่เหมาะสม
“มวยไทยเป็นหนึ่งในตัวอย่างซอฟต์พาวเวอร์ของไทยที่ประสบความสำเร็จ เมื่อมีการผลักดันอย่างจริงจัง กระจายความนิยมไปยัง 146 ประเทศทั่วโลก พบว่าเราสามารถส่งออกครูมวยได้เกือบ 2 หมื่นค่ายมวย สามารถผลิตอุปกรณ์กีฬามวยและส่วนที่เกี่ยวข้องมารองรับ ส่วนกรณีศึกษาของประเทศเกาหลี เช่น เมนูอาหารยอดนิยม ไก่ทอดเกาหลี ที่เราเห็นตามภาพยนตร์และซีรีส์ ได้รับการพัฒนาจนสามารถส่งออกสินค้าที่เกี่ยวข้อง โดยของประเทศไทยอาจมีมาตรการจูงใจ (อินเซนทีฟ) แก่ภาพยนตร์ที่มีฉากชาไทย หรือมีการไทอินซอฟต์พาวเวอร์ในฉากต่างๆ อย่างพอดีและเหมาะสม”
++ ดันรายได้ท่องเที่ยว 25% ของจีดีพีใน 5 ปี
อย่างไรก็ตาม เมื่อมองอีกมุมพบว่าประเทศไทยคือซอฟต์พาวเวอร์สำคัญ เพราะเป็นจุดหมายปลายทางต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติ จนมีรายได้การท่องเที่ยวมากเป็นอันดับ 4 ของโลกเมื่อปี 2562 ก่อนโควิด-19 ระบาด โดยมีข้อได้เปรียบจากที่ตั้งทางภูมิศาสตร์ ทรัพยากรทางธรรมชาติครบเครื่อง ทั้งทะเล ภูเขา และแม่น้ำ รวมถึงประเพณีวัฒนธรรมที่แข็งแรง ขณะเดียวกันซอฟต์พาวเวอร์ที่สำคัญอีกประการคือคนไทย นักท่องเที่ยวอยากมาประเทศไทย เพราะอยากสัมผัสคนไทยซึ่งมีจิตใจพร้อมต้อนรับนักท่องเที่ยวและรอยยิ้มงดงาม นี่คือซอฟต์พาวเวอร์ที่แข็งแรงและทรงคุณค่าที่สุด
“ตอนนี้คนไทยกำลังแปรคุณค่า เป็นมูลค่าที่ประเมินค่าไม่ได้ ผมเชื่อว่าในปี 2566 จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติมาไทยใกล้เคียง 30 ล้านคน และปี 2567 น่าจะมี 40 ล้านคน โดยใน 5 ปีข้างหน้าหวังว่าจะสามารถขยับสัดส่วนรายได้การท่องเที่ยวเพิ่มเป็น 25% ของจีดีพี จากปัจจุบันอยู่ที่ 18% ของจีดีพี ประเทศไทยจำเป็นต้องผลักดันซอฟต์พาวเวอร์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจ ควบคู่กับการยกระดับความปลอดภัย พัฒนาสู่การท่องเที่ยวที่มีคุณภาพสูง และมอบประสบการณ์ที่มีความหมายแก่นักท่องเที่ยว” นายพิพัฒน์กล่าว