130ปี ‘เนสท์เล่’ ลงทุน “หมื่นล.” ยืนหนึ่งอาณาจักรอาหาร-เครื่องดื่มไทย

130ปี ‘เนสท์เล่’ ลงทุน “หมื่นล.” ยืนหนึ่งอาณาจักรอาหาร-เครื่องดื่มไทย

“เนสท์เล่” เคลื่อนธุรกิจในไทยสู่ปีที่ 131 ควัก “หมื่นล้าน” ลงทุนใหญ่รอบ 5 ปี ขยายกำลังผลิตสินค้า ทำตลาด-โฆษณา ย้ำเบอร์ 1 อาณาจักรอาหารและเครื่องดื่ม เผยปี 66 “ต้นทุน” โจทย์ท้าทาย แต่มีนโยบายตรึงราคาสินค้าให้นานสุด ด้านผลการดำเนินงาน “ไทย” โตโดดเด่นเทียบตลาดอินโดไชน่า

“เนสท์เล่” ยักษ์ใหญ่ธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มระดับโลกจากประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เข้ามาสร้างรากฐานการค้าขาย ปักหมุดฐานผลิต ลงทุนมหาศาลในประเทศไทยยาวนานถึง 130 ปี

ทิศทางการขับเคลื่อนอาณาจักร “ร้อยปี” จากนี้ ยังคงเดินหน้าลงทุน สร้างการเติบโตรายได้ ควบคู่สร้างความยั่งยืนโลก

นายวิคเตอร์ เซียห์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เนสท์เล่ อินโดไชน่า ย้อนตำนาน “เนสท์เล่” ดำเนินธุรกิจในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2436 ด้วยการโฆษณาผลิตภัณฑ์นมข้นหวานตราแม่ทูนหัว (หรือมิลค์เมด) จากนั้นสร้างฐานผลิตลงทุน “โรงงาน” แห่งแรกในปี 2510 ที่สำโรง

เส้นทางการเติบโตของ “เนสท์เล่” ในประเทศไทยจากอดีตถึงปัจจุบัน ได้ลงทุนขยายโรงงานทั้งสิ้น 8 แห่ง เพื่อผลิตสินค้าทั้ง กาแฟ น้ำดื่ม ผลิตภัณฑ์ อาหารสัตว์เลี้ยง ฯ ในพื้นที่ต่างๆ เช่น ฉะเชิงเทรา สุราษฎร์ธานี อยุธยา บางชัน เป็นต้น

“เนสท์เล่มีส่วนในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยให้เจริญเติบโต การเข้ามาลงทุนยังเกิดการจ้างงานกว่า 4,000 คน และจ้างงานทางอ้อมกว่า 10,000 ตำแหน่ง”

ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา บริษัทยังใช้เงินลงทุนกว่า 13,600 ล้านบาท เพื่อเปิดโรงงานแห่งใหม่ ทั้งโรงงานผลิตอาหารสัตว์เลี้ยง “เนสท์เล่ เพียวริน่า เพ็ทแคร์” และ โรงงานผลิตเครื่องดื่มนมแบรนด์ไมโลและนมตราหมี ยูเอชที อย่าง “เนสท์เล่นวนคร 7” และลงทุนตั้งหน่วยธุรกิจออนไลน์ รองรับเศรษฐกิจดิจิทัล รวมถึงพฤติกรรมผู้บริโภคช้อปออนไลน์มากขึ้น

เนสท์เล่ ควัก “หมื่นล้าน” ลงทุนใหญ่รอบ 5 ปี

ขณะที่การขับเคลื่อนธุรกิจก้าวต่อไปของ “เนสท์เล่ ประเทศไทย” ปี 2566 บริษัทยังเดินหน้าขยายการลงทุนภายใต้งบประมาณรวม 10,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี โดยแบ่งเป็นลงทุนโรงงานอาหารสัตว์เลี้ยง 6,500 ล้านบาท เพิ่มกำลังการผลิต 15% รองรับการส่งออกสัดส่วน 95% ไปยังประเทศออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น เป็นต้น

“เฉพาะปี 2566 บริษัทใช้งบลงทุน 10,000 ล้านบาท สูงสุดในรอบ 5 ปี ที่ดำรงตำแหน่งแม่ทัพธุรกิจ และการลงทุนดังกล่าว เพราะเชื่อว่าเราเป็นบริษัทไทย ต้องผลิตสินค้าในประเทศไทย ซึ่งการทำทุกอย่างหรือผลิตในประเทศ ทำให้มั่นใจในการส่งมอบสินค้าเพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคชาวไทยได้อย่างดี”

นอกจากนี้ จะลงทุนในด้านธุรกิจและการตลาด 3,500 ล้านบาท เพื่อผลักดันการเติบโตยอดขายและรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด

“งบการตลาดและโฆษณา เราจะใช้เทียบเท่าปีก่อนหรือมากกว่า เพราะเราเองต้องกลับมาสร้างแบรนด์ กระตุ้นยอดขายให้เติบโต และรักษาส่วนแบ่งทางการตลาด”

 ตรึงราคาสินค้าให้นานสุด

นายวิคเตอร์ กล่าวอีกว่า ปี 2566 เป็นอีกปีที่ภาคธุรกิจยังคงเผชิญความท้าทายด้าน “ต้นทุนการผลิตสินค้า” ที่ปรับตัวสูงขึ้น ทั้งราคาวัตถุดิบ น้ำตาล นม รวมถึงราคาพลังงานไฟฟ้า ค่าขนส่ง บรรจุภัณฑ์ ฯ ทำให้บริษัทต้องบริหารจัดการต้นทุนให้ดีเพื่อลดผลกระทบ อีกด้านต้องดูแลกระบวนการผลิตสินค้าทั้งห่วงโซ่คุณค่าการผลิตหรือแวลู เชน ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น

ขณะที่ปี 2565 ต้นทุนการผลิตสินค้าโดยรวมปรับตัวสูงขึ้นเฉลี่ย 8% แต่บริษัทไม่ได้ผลักภาระด้วยการขึ้นราคาสินค้าให้กับผู้บริโภคส่วนปี 2566 บริษัทยังมีนโยบายในการดูแลต้นทุนการผลิต เพื่อตรึงราคาสินค้าให้นานสุด เพื่อไม่ให้กระทบกับกำลังซื้อผู้บริโภค อย่างไรก็ตาม หากดัชนีต้นทุนวัตถุดิบเกินเพดานที่กำหนดไว้ ก็จะมีการพิจารณาเรื่องราคาสินค้าใหม่

“ผลิตภัณฑ์นม ถือว่าเผชิญแรงกดดันด้านต้นทุนการผลิตค่อนข้างสูงมากในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมากลุ่มเครื่องดื่มที่ราคาน้ำตาลปรับตัวสูงขึ้นมาก แต่บริษัทจะบริหารจัดการต้นทุนวัตถุดิบให้ดี ปรับพอร์ตโฟลิโอสินค้าให้เหมาะสมกับตลาดและความต้องการของผู้บริโภค รวมถึงการขึ้นราคาเราต้องดูสถานการณ์ตลาดและการแข่งขันด้วย แต่เบื้่องต้นนโยบายคือจะตรึงราคาสินค้าให้นานสุด เพื่อไม่ให้กระทบค่าครองชีพผู้บริโภค”

ก้าวสู่ปีที่ 131 “ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค-โลก”

นอกจากนี้ การขับเคลื่อนธุรกิจก้าวสู่ปีที่ 131 บริษัทยังคงสานต่อปรัชญาการทำงาน Good food, Good life หรืออาหารที่ดี เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดี พร้อมชู 2 กลยุทธ์ในการทำตลาด ได้แก่ 1. ขับเคลื่อนสิ่งดี ๆ เพื่อผู้บริโภค โดยบริษัทยังคงผลิตสินค้าเสริมสร้างโภชนาการเพื่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตให้คนไทยอย่างต่อเนื่อง

  หนึ่งในไฮไลท์การเพิ่มโภชนาการในสินค้าสำหรับเด็กมากขึ้น เช่น เสริมวิตามินและแร่ธาตุ รวมถึงการออกสินค้าที่น้ำตาลน้อย ได้รับสัญลักษณ์ “ทางเลือกเพื่อสุขภาพ” มากกว่า 100 รายการ(เอสเคยู)สูงสุดในกลุ่มธุรกิจอาหารและเครื่องดื่ม สินค้าที่ลดโซเดียม ฯ ขณะที่สินค้าในพอร์ตโฟลิโอทั้งบริษัทมีกว่า 400 เอสเคยู จำนวนกว่า 25-30 แบรนด์ ครอบคลุม 15 กลุ่มธุรกิจ

2.การขับเคลื่อนสิ่งดีๆ เพื่อโลก ซึ่งตามแผนงานความยั่งยืน บริษัทจะสร้างการเติบโตทางธุรกิจควบคู่ฟื้นฟูสิ่งแวดล้อม มุ่งบรรลุเป้าหมาย Net Zero ในปี 2593 โดยสิ่งที่จะดำเนินการมีหลายด้าน เช่น 95% ของบรรจุภัณฑ์เนสท์เล่ประเทศไทย ออกแบบให้สามารถนำไปรีไซเคิลได้ มีการใช้พลังงานทดแทนในกระบวนการผลิต การใช้เมล็ดกาแฟที่มีการจัดหาอย่างยั่งยืน 100% การยขยายโครงการพิทักษ์พื้นที่ชุ่มน้ำหนองทุ่งทองในจังหวัดสุราษฎร์ธานี เพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์น้ำของโรงเรียนและชุมชนโดยรอบพื้นที่ชุ่มน้ำริมแม่น้ำตาปี ซึ่งเป็นที่ตั้งของโรงงานสุราษฎร์ธานี ใช้ผลิตน้ำดื่มเนสท์เล่ เป็นต้น

แผนดังกล่าวยังสอดรับพฤติกรรมผู้บริโภคชาวไทย ซึ่ง 62% นำแนวทางการบริโภคอย่างยั่งยืนมาใช้ในการพิจารณาเลือกซื้อสินค้าในตลาดด้วย

นอกจากนี้ ในโอกาสเนสท์เล่ เคลื่อนอาณาจักรครบ 130 ปี ยังจัดแคมเปญสื่อสารการตลาด “ส่งต่อสิ่งดีๆให้ไม่เคยเปลี่ยน” จากรุ่นสู่รุ่นด้วย

“เนสท์เล่อยู่เคียงข้างผู้บริโภคชาวไทยมา 130 ปี อนาคตการขับเคลื่อนธุรกิจในไทย ไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานแค่ไหน องค์กรจะเกินร้อยปี บริษัทยังมุ่งมั่นพัฒนาสินค้าอร่อย ตอบสนองความต้องการผู้บริโภค ขณะที่แคมเปญ Passing on the goodness to all ยังตอกย้ำภาพเนสท์เล่ในการเป็นบริษัทอาหารและเครื่องดื่มเบอร์ 1 ของไทยด้วย”

ไทยโตเร็วสุดในอินโดไชน่า

นายวิคเตอร์ กุมบังเหียนธุรกิจในอินโดไชน่า นอกจากความคืบหน้าตลาดไทย ตลาดเมียนมายังมีการปรับนโยบาย จากมีโรงงานผลิตสินค้าและขายสินค้า จากนี้ไปจะเปลี่ยนเป็น “จัดจำหน่าย” แทน และนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นไปทำตลาด โดยการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้ เชื่อว่าจะสร้างความยั่งยืนในเมียนมาได้ต่อเนื่อง

สำหรับภาพรวมปี 2565 บริษัทมียอดขายเติบโต 3.5-4% โดยประเทศไทยถือว่าเติบโตและฟื้นตัวมากสุด เมื่อเทียบกับตลาดอินโดไชน่า