ต้นทุนพุ่งฉุด ‘มาม่า’ กำไรลด 22.06% บะหมี่ฯขึ้นราคา ดันตลาดโต 12.2%

ต้นทุนพุ่งฉุด ‘มาม่า’ กำไรลด 22.06%  บะหมี่ฯขึ้นราคา ดันตลาดโต 12.2%

ปิดปี 2565 'มาม่า' ครองส่วนแบ่งตลาด 49% จากภาพรววมตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมูลค่า 17,000 ล้านบาท ซึ่งเติบโตแรง 12.2% เหตุจากสินค้าปรับขึ้นราคายกแผง จากซองหลัก 6 บาท เป็น 7 บาท โจทย์เคลื่อนไทยเพรซิเดนท์ สู่ทศวรรษใหม่ บริหารความเสี่ยงราคาวัตถุดิบ ขยายการลงทุนเพิ่มต่างประเทศ

ปี 2565 วงการบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป สร้างประวัติศาสตร์รอบ 50 ปี เมื่อผู้ผลิตยักษ์ใหญ่ 5 ราย รวมตัวกันเพื่ออ้อนรัฐให้ไฟเขียวขึ้นราคาสินค้าหลักซองละ 6 บาท เป็น 8 บาท หลังแบกภาระต้นทุนพุ่งหนักหน่วงตลอดทั้งปี

ที่สุดไตรมาส 3 รัฐเคาะให้ขึ้นได้เป็นซองละ 7 บาท สถานการณ์ดังกล่าว กลายเป็นหนึ่งในตัวแปรต่อภาพรวมตลาดบะหมี่ฯ ปี 2565 มีการเติบโต 12.2% (นีลเส็น ต.ค.65) โดยมูลค่าอยู่ที่ 17,106 ล้านบาท

เมื่อสินค้าขึ้นราคาหนุนการเติบโตเชิงมูลค่าของตลาดบะหมี่ฯ แต่ผลประกอบการของบริษัท อาจได้รับผลกระทบแตกต่างกันไป อย่างบริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด(มหาชน) ผู้ผลิต “มาม่า” ซึ่งปีที่ผ่านมา บริษัทดำเนินงานครบรอบ 50 ปี สามารถสร้างยอดขายรวม 26,481.73 ล้านบาท เติบโต 8.28%

ทว่า กำไรสุทธิ 2,785.92 ล้านบาท “ลดลง” 22.06% เนื่องจากโจทย์ใหญ่ที่เจอทั้งปีคือ “ต้นทุนการผลิต” ปรับตัวสูงขึ้น เช่น ราคาน้ำมันปาล์มพุ่งขึ้นเท่าตัว

เมื่อดูภาพรวมต้นทุนการขายทั้งปีของบริษัทมีจำนวน 18,876.24 ล้านบาท เพิ่มขึ้นถึง 2,749.31 ล้านบาท เทียบช่วงเดียวกันปีก่อน เนื่องจาก “วัตถุดิบหลัก” และค่าพลังงานเพิ่มขึ้น จากเงินเฟ้อปรับตัวสูงขึ้น เพราะสงครามรัสเซีย-ยูเครนยืดเยื้อ นอกจากนี้ ค่าใช้จ่ายในการขายและบริหารยังเพิ่มขึ้นด้วย 91.51 ล้านบาท 

ต้นทุนเพิ่มแต่ “บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป” เป็น “สินค้าควบคุม” ราคาขายปลีก โดยกรมการค้าภายใน กระทรวงพาณิชย์ การขึ้นราคาต้องให้รัฐไฟเขียว ซึ่งกว่าผู้ประกอบการทั้งตลาดจะขยับขึ้นราคาได้ อ้อนรัฐแล้วอ้อนอีก จนปลายปีจึงขายราคาใหม่ได้

แม้ธุรกิจเผชิญผลกระทบต้นทุน แต่ “มาม่า” ยังยืนหนึ่ง ด้านการครองส่วนแบ่งทางการตลาด 49%

'มาม่า' ไปทุกที่ทั่วไทย

แผนโต 'มาม่า' ปี 66

ก้าวสู่ทศวรรษใหม่ ในปีที่ 51 บริษัทวางแผนเคลื่อนธุรกิจ โดยให้ความสำคัญกับการบริหารความเสี่ยงด้าน “ราคาวัตถุดิบหลัก” อย่างต่อเนื่อง อีกด้านคือการพัฒนาผลิตภัณฑ์กลุ่มพรีเมียม เพิ่มคุณค่าโภชนาการ ปรับดีไซน์บรรจุภัณฑ์ ควบคู่ภารกิจ “รักษ์โลก” มากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับเทรนด์ของผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศ

การก้าวสู่เวทีตลาดบะหมี่ฯโลก ตอบโจทย์กลุ่มเป้าหมายในประเทศต่างๆ เป็นอีกหมุดหมาย ที่บริษัทจะต่อจิ๊กซอว์การเติบโต ดังนั้นกลยุทธ์ที่จะเดินต่อคือการวางแผนขยายการลงทุนเพิ่มในต่างแดน

นอกจากนี้ ปี 2566 จะเห็นบริษัท “ผนึกพันธมิตร” สร้างปรากฏการณ์ใหม่ๆ ให้กับการทำตลาดบะหมี่ฯ ด้วย เพื่อทำให้แบรนด์ “มาม่า” ยังครองใจผู้บริโภค โดยเฉพาะปูฐานสู่คนรุ่นใหม่ สร้างการเติบโตในอนาคต