ผู้ผลิตสินค้าส่งสัญญาณข้าวของแพงต่อ แม้ค่าขนส่ง-ราคาน้ำมันดีเซลลด

ผู้ผลิตสินค้าส่งสัญญาณข้าวของแพงต่อ   แม้ค่าขนส่ง-ราคาน้ำมันดีเซลลด

ทิศทางราคาพลังงานมีข่าวดี เมื่อที่ประชุมสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.)มีมติปรับลดราคาขายปลีกน้ำมันดีเซลลง 50 สตางค์ต่อลิตร มีผลวันที่ 15 ก.พ. 2566 ทว่า ค่าพลังงาน ค่าขนส่ง เป็นส่วนหนึ่งของต้นทุนการผลิตสินค้า จึงยังไม่มีผลต่อ "ราคา" ลดลง สัญญาณกลับแพงขึ้นด้วย

นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการสำนักกรรมการผู้อำนวยการ บริษัท ไทยเพรซิเดนท์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) ผู้ผลิตบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป “มาม่า” กล่าวว่า สถานการณ์ราคาน้ำมันดีเซลที่ปรับตัวลดลงในรอบหลายเดือน ไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของบริษัทมากนัก เพราะค่าขนส่งเป็นเพียงส่วนหนึ่งและค่อนข้างน้อย เมื่อเทียบกับต้นทุนอื่นๆ

“ต้นทุนค่าขนส่งลดลงเป็นเรื่องดี แต่มาม่ามีต้นทุนดังกล่าวน้อย จึงไม่มีผลต่อภาพรวมการผลิตสินค้า”

นายสมชาย พรรัตนเจริญ นายกสมาคมค้าส่ง-ปลีกไทย กล่าวว่า ที่ผ่านมาราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงมาก ส่งผลกระทบต่อ้นทุนการผลิตสินค้า เมื่อผู้ประกอบการแบกรับภาระไม่ไหว จึงมีการปรับขึ้นราคา โดยแนวโน้มราคาสินค้าปี 2566 ยังส่งสัญญาณพุ่งขึ้นต่อเนื่อง ล่าสุด ผู้ผลิตผ้าอ้อมผู้ใหญ่ มีรายงานจะปรับขึ้นราคาสินค้าเร็วๆนี้ และแจ้งให้ร้านค้าส่งเตรียมบริหารจัดการสต๊อก

ปี 2565 ราคาพลังงานพุ่งขึ้นสูงมาก ทำให้สินค้าจำเป็นหลายรายการปรับขึ้นราคา ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่ฯ สบู่ ขนมขบเคี้ยว ขณะที่ต้นปี 2566 สินค้าที่ประเดิมขยับ เช่น นมถั่วเหลืองแลคตาซอยทุกขนาด เบียร์ลีโอแบบขวด ร้านค้าทั่วไปบางแห่งในต่างจังหวัดขยับราคาขายปลีกจาก 60 บาท เป็น 65 บาท เป็นต้น

สินค้าจ่อขึ้นราคา

เร็วๆนี้ กลุ่มขนมขบเคี้ยว(สแน็ค) ยังเล็งขึ้นราคา โดยเฉพาะกลุ่มถั่วเคลือบ แต่ยังรอให้หมวดใหญ่อย่างมันฝรั่งขึ้นก่อน รวมถึงเครื่องดื่มชูกำลัง “คาราบาวแดง” ที่เคยบ่นภาระต้นทุนพุ่ง ไม่แค่พลังงาน แต่บรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว อะลูมิเนียม ฯ ขยับสูงทั้งสิ้น

นางสาวณัฐา ปิยะวิโรจน์เสถียร ผู้อำนวยการแผนกวางแผนกลยุทธ์ มายด์แชร์ ประเทศไทย กล่าวว่า สถานการณ์เงินเฟ้อสูง ราคาพลังงานพุ่ง กลายเป็นปัจจัยกระทบต้นทุนการผลิตสินค้า ทำให้สินค้าแพงขึ้น ขณะที่ภาวะเศรษฐกิจชะลอตัว มีผลต่อการจับจ่ายใช้สอยของผู้บริโภค

ทั้งนี้ จากภาวะสินค้าราคาแพง ทำให้ผู้บริโภคต้องการเรียกร้องให้ภาครัฐ และเอกชนผู้ผลิตสินค้ามีการตรึงราคาสินค้าไว้ด้วย ขณะที่พฤติกรรมการใช้จ่าย ยอมรับว่าข้าวของแพง แต่การซื้อจำเป็นยังมี แต่ถูกเปลี่ยน เช่น ซื้อสินค้าที่มีความคุ้มค่า มองหาสินค้าเฮ้าส์แบรนด์ สินค้าปริมาณมากฯ อย่างไรก็ตาม ในต่างประเทศเผชิญปัญหาสินค้าแพงเช่นกัน แต่ร้านค้าในสหรัฐฯ และแคนาดา มีการตรึงราคาขายเดิมในช่วงเทศกาลเฉลิมฉลอง วันสำคัญ เพื่อให้ผู้บริโภคยังมีอำนาจจับจ่ายใช้สอย 

"เนื่องจากเศรษฐกิจไม่ได้ดีมากนัก ทำให้ผู้บริโภคมองการใช้เงิน 100 บาท หรือ 1,000 บาท อาจซื้อของไม่ได้ปริมาณเท่าเดิม แต่ปัจจัยดังกล่าวไม่ทำให้หยุดการใช้จ่าย เพราะ 2-3 ปีที่เผชิญโควิด เสียสละการรัดเข็มขัดมามากแล้ว การใช้จ่ายจากนี้จะฉลาดและคุ้มค่ามากขึ้น"