“ค่าเหยียบแผ่นดิน” เริ่มจัดเก็บ 1 มิ.ย.66 อย่างไร? เพื่ออะไร? รวมคำตอบที่นี่

“ค่าเหยียบแผ่นดิน” เริ่มจัดเก็บ 1 มิ.ย.66 อย่างไร? เพื่ออะไร? รวมคำตอบที่นี่

หลังจากวันที่ 14 ก.พ.2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ไฟเขียว! เห็นชอบให้เก็บ “ค่าธรรมเนียมการท่องเที่ยวภายในประเทศจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” (Thailand Tourism Fee : TTF) หรือที่คุ้นหูกันในชื่อ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ที่จะเริ่มจัดเก็บตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.2566 เป็นต้นไป

หลายคนอาจยังสงสัยว่าจะจัดเก็บอย่างไร และเก็บไปเพื่ออะไร?

“กรุงเทพธุรกิจ” รวบรวมคำตอบไขข้อข้องใจ ดังนี้

 

Q: จัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” จากชาวต่างชาติเท่านั้น หรือรวม “คนไทย” ด้วย?

A: จัดเก็บเฉพาะจาก “นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ” เท่านั้น

ยกเว้น

-ผู้ถือหนังสือเดินทางเพื่อการทูต กงสุล หรือการปฏิบัติราชการ (Diplomatic or Official Passport)

-ผู้ได้รับอนุญาตให้ประกอบอาชีพในประเทศ (Work Permit) หรือหนังสืออนุญาตให้คนต่างด้าวทำงานในราชอาณาจักรเป็นการเฉพาะตามที่กระทรวงแรงงานกำหนด

-ผู้โดยสารผ่าน (แวะเปลี่ยนเครื่องที่สนามบินในประเทศไทย) ซึ่งไม่ได้ออกนอกบริเวณห้องผู้โดยสารผ่าน ในกรณีการเดินทางระหว่างประเทศ (Transit Passenger)

-นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติซึ่งเป็นทารกและเด็กอายุไม่เกิน 2 ปี

-บุคคลอื่น ตามที่คณะกรรมการกำหนด

 

ทั้งนี้จะไม่มีการจัดเก็บจาก “คนไทย”

ยกเว้น คนไทยที่ถือหนังสือเดินทาง (Passport) ของต่างชาติ เช่น กรณีคนไทยแต่งงานกับชาวต่างชาติ มีพาสปอร์ต 2 เล่ม หากถือพาสปอร์ตต่างชาติขณะเดินทางเข้าประเทศไทย จะถูกจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน แต่ถ้าถือพาสปอร์ตไทย จะไม่ถูกจัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดิน

 

 

Q: จัดเก็บที่อัตราคนละกี่บาท

A: จะเรียกเก็บ 2 อัตรา ดังนี้

1. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน “ช่องทางอากาศ” อัตรา 300 บาท/คน/ครั้ง

-จะต้องชำระค่าธรรมเนียมผ่านบัตรโดยสารเครื่องบิน โดยทางกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาได้หารือกับสายการบินต่างๆ แล้ว พร้อมเพิ่มช่องให้ผู้เดินทางเข้าประเทศไทยคลิกเครื่องหมายยืนยันว่าเป็นนักเดินทางประเภทใด เช่น หากเป็นนักการทูต ก็ไม่ต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน แต่ถ้าเป็นนักท่องเที่ยว ต้องจ่ายค่าเหยียบแผ่นดิน

2. นักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางผ่าน “ช่องทางทางบกและทางน้ำ” อัตรา 150 บาท/คน/ครั้ง

-ชำระผ่าน Website หรือ Mobile App หรือตู้ให้บริการชำระค่าธรรมเนียม (Kiosk) ที่หน้าด่านทางบกและทางน้ำ

-สำหรับเหตุผลที่จัดเก็บค่าเหยียบแผ่นดินผ่านช่องทางทางบกและทางน้ำ น้อยกว่าทางอากาศ เป็นเพราะนักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่เดินทางข้ามชายแดนเข้ามาเที่ยวเป็นระยะเวลาสั้นๆ เช่น พำนักในไทย 2-3 วันเท่านั้น

-ผู้ที่เดินทางเข้ามาแบบไปเช้า-เย็นกลับ จะได้รับการยกเว้นค่าธรรมเนียมฯ

 

Q: แล้วประเทศอื่นๆ มีการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” เหมือนกับประเทศไทยหรือไม่

A: ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศแรกที่มีการเรียกเก็บค่าเหยียบแผ่นดินจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ โดยปัจจุบันมีกว่า 40 ประเทศทั่วโลกที่มีการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากนักท่องเที่ยวในรูปแบบที่แตกต่างกัน

 

Q: วัตถุประสงค์ของการจัดเก็บ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” มีอะไรบ้าง

A: จะช่วยแบ่งเบาภาระงบประมาณแผ่นดิน ดังนี้

-จะนำมาเป็นค่าใช้จ่ายในการทำประกันสุขภาพและอุบัติเหตุให้กับนักท่องเที่ยวต่างชาติ ช่วยลดภาระงบประมาณแผ่นดินในการดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่ยวด้านสาธารณสุข จากการเก็บค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลได้ไม่เต็มจำนวน โดยจากการเก็บข้อมูลในปี 2560-2562 พบว่ามีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไปใช้บริการในสถานพยาบาลของรัฐ ทำให้ภาครัฐต้องใช้งบประมาณแผ่นดินเฉลี่ยมากถึง 300-400 ล้านบาทต่อปี

โดยประเทศไทยถือเป็นประเทศแรกของโลกที่เก็บค่าธรรมเนียมและมีการให้สวัสดิการคืนแก่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติ ผ่านประกันอุบัติเหตุ การเสียชีวิต และการส่งศพกลับประเทศ เพื่อดูแล ช่วยเหลือ เยียวยานักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับบาดเจ็บระหว่างการท่องเที่ยว

-จะนำไปดูแลแหล่งท่องเที่ยว สิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ ที่เกิดจากความเสื่อมโทรมเนื่องจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งสาธารณูปโภคต่างๆ ที่สนับสนุนการท่องเที่ยวให้มีความปลอดภัย โดยยึดหลักการผู้ใช้เป็นผู้จ่าย (Polluter Pays Principle : PPP) ซึ่งกำหนดให้ผู้ใช้ทรัพยากรเป็นผู้ร่วมจ่ายในความเสื่อมโทรมจากการใช้ทรัพยากรธรรมชาติ

-จะนำเข้า “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย” ตามที่ระบุใน พ.ร.บ.นโยบายการท่องเที่ยวแห่งชาติ พ.ศ.2552 และที่แก้ไขเพิ่มเติม อาทิ พัฒนาแหล่ง/สินค้า/บริการด้านการท่องเที่ยว ฟื้นฟูทรัพยากรด้านการทองเที่ยว พัฒนาบุคลากร การวิจัย การตลาด เป็นต้น โดยการใช้จ่ายเงินจะมีคณะกรรมการบริหารกองทุนฯ ที่แต่งตั้งขึ้นตาม พ.ร.บ. และคณะอนุกรรมการกลั่นกรองโครงการ เป็นผู้พิจารณาจัดสรรงบฯ ให้แก่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียด้านการท่องเที่ยวทั้งภาครัฐ เอกชนและชุมชนในอุตสาหกรรมท่องเที่ยว ตามระเบียบที่วางไว้ โดยมีการติดตามและประเมินผลเป็นระยะโดยคณะอนุกรรมการติดตามและประเมินผลโครงการ

 

นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เปิดเผยว่า คาดว่าในปี 2566 จะเก็บค่าธรรมเนียมดังกล่าว (ค่าเหยียบแผ่นดิน) จากนักท่องเที่ยวต่างชาติได้ประมาณ 13 ล้านคน คิดเป็นวงเงิน 3,900 ล้านบาท แต่จากเงินที่เก็บมา 300 บาทต่อคน จะนำมาซื้อประกันภัยให้กับนักท่องเที่ยว 50 บาท ส่วนที่เหลือในปีนี้คาดว่าประมาณ 3,250 ล้านบาทจะนำเข้ากองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย ซึ่งทางปลัดกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา จะจัดทำระเบียบการใช้เงินมาเสนอนายกรัฐมนตรีอีกครั้ง โดยจะมีการตั้งคณะกรรมการที่มาจากกระทรวงที่เกี่ยวข้อง 10 กระทรวงมากำกับการใช้เงิน

“เงินในกองทุนฯจะนำมาใช้ในการส่งเสริมและพัฒนาการท่องเที่ยว พัฒนาแหล่งท่องเที่ยว และสร้างแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Manmade Attraction) ตลอดจนใช้สำหรับจัดอีเวนต์ต่างๆ และในกรณีเกิดเหตุการณ์รุนแรงเหมือนการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่ผ่านมา ก็สามารถนำเสนอ ครม.ให้นำเงินดังกล่าวมาให้ภาคเอกชนท่องเที่ยวกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องได้”

 

Q: เงินแต่ละบาทของ “ค่าเหยียบแผ่นดิน” ถูกจัดสรรสำหรับเรื่องอะไรบ้าง

A: แบ่งออกเป็น 3 ส่วนหลัก ดังนี้

1. ส่วนใหญ่ประมาณ 60-70% จะถูกนำมาใช้ตามวัตถุประสงค์ของ “กองทุนเพื่อส่งเสริมการท่องเที่ยวไทย”

2. เงินอีกส่วน ประมาณ 50 บาท หรือ 17% ของ 300 บาทซึ่งเป็นอัตราจัดเก็บช่องทางทางอากาศ จะนำมาทำประกันอุบัติเหตุให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ ความคุ้มครองกรณีเสียชีวิต 1 ล้านบาท ค่ารักษาพยาบาล 500,000 บาท เป็นต้น (ทั้งนี้ยังต้องหารือกับสำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) เพิ่มเติม)

3. เงินอีกส่วน ใช้ในการบริหารจัดการกองทุนฯ เช่น จ้างบุคลากร ค่าใช้สอยและวัสดุ ค่าตอบแทน เป็นต้น