“อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด

“อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น     ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด

กยท.คาดแนวโน้มราคายาง ปี66 พุ่งหลังโรคใบร่วงระบาดทั่วโลก ทำปริมาณยางออกสู่ตลาดน้อย แค่ 14.5 ล้านตัน อินโดนีเซียหันปลูกปาล์ม ฟิลิปินส์ ปลูกทุเรียนแทน ขณะความต้องการเพิ่มจาก แตะ 15.5 ล้านตัน คาดยางไทยลด1.9 % ส่งออกได้น้อยเหตุหนุนใช้ในประเทศขยายตัว 9.9 %

สถานการณ์เศรษฐกิจโลกกำลังยืนอยู่บนปากเหว เป็นคำกล่าวที่สามารถอธิบายถึงปัจจัยที่กระทบต่อเศรษฐกิจขณะนี้ได้เป็นอย่างดี เพราะ สิ่งที่ต้องระวังมีทั้ง คาดการณ์จากธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ที่ว่า ปี 2566 มีโอกาสที่อาจเกิดการถดถอยทางเศรษฐกิจจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์และเงินเฟ้อ ปัญหาสงครามรัสเซีย-ยูเครน สงครามที่ยืดเยื้อทำให้เกิดวิกฤตราคาพลังงานในยุโรป ส่งผลต่อวิกฤตค่าครองชีพ (Cost of living crisis)

“อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น     ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด “อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น     ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด “อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น     ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด

ขณะเดียวกัน ยังมีความไม่แน่นอนด้านการค้าโลกมีแนวโน้มสูง เป็นผลจากความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น การตั้งกำแพงภาษีระหว่างสหรัฐ กับจีน ความตึงเครียดทางการค้าในช่วงสงครามรัสเซีย-ยูเครน ชาติตะวันตกคว่ำบาตรทางการค้ากับรัสเซีย สหรัฐ จำกัดการส่งออกวงจรรวมและส่วนประกอบ (Semiconductor) และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการออกแบบและผลิตไปยังจีน เป็นต้น

การรวบรวมข้อมูลข้างต้นการยางแห่งประเทศไทย หรือ กยท. ได้นำมาวิเคราะห์เพื่อประเมินสถานการณ์ยางพาราของไทยซึ่งพบว่ายังมีทิศทางที่ดีท่ามกลางปัจจัยลบต่างๆ 

ณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย(กยท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้ประเทศผู้ผลิตยางพารา ประสบปัญหาโรคใบยางร่วงเหมือนกันทั้งหมด โดยฟิลิปินส์ได้รับความเสียหาย กว่า 90 % ทำให้เกษตรกรหันไปปลูกทุเรียนมากขึ้น อินโดนีเซียก็เผชิญโรคใบร่วงทำให้น้ำยางหายจากตลาด3-5 แสนตันต่อปี เกษตรกรหันไปปลูกปาล์มน้ำมันแทน ขณะที่ประเทศซึ่งแก้ไขปัญหาได้ดีที่สุดคือไทย แต่ยังไม่สามารถยับยั้งการระบาดของโรคใบร่วงได้ และยังพบกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ

นอกจากนี้อสภาพการเปลี่ยนแปลงของอากาศ ทำให้ยางพาราผลัดใบเร็วทำให้ต้องเข้าสู่ฤดูกาลปิดหน้ากรีดเร็วขึ้น โดยไทยได้ทยอยหยุดกรีดแล้วในภาคใต้ ดังนั้นหลังจากนี้ไปปริมาณยางพาราจะออกสู่ตลาดไม่มากนัก

 อย่างไรก็ตาม แม้ปริมาณยางจะน้อย แต่จากการวิเคราะห์ถึงความต้องการใช้ยางในตลาด พบว่ามีปริมาณมากขึ้น จากกฎหมายบางประเทศที่พัฒนาแล้วกำหนดกรอบให้รถยนต์ต้องเปลี่ยนยางภายในระยะเวลาที่กำหนด การขยายเมืองใหม่ ทำให้มีการเดินทางมากขึ้น และการสนับสนุนให้ใช้รถยนต์ไฟฟ้าหรือ EV

“อีวี”หนุน“ยางพารา”เทรนด์ราคาขึ้น     ห่วง“โรคใบร่วง”ทำผลผลิตหด

ทั้งนี้ สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ ( ANRPC ) คาดการณ์ผลผลิตยางพาราของโลกในปี 2566 ประมาณ 14.310 ล้านตัน ปรับลดลงเล็กน้อยจากปีที่ผ่านมาที่มีผลผลิต 14.55 ล้านตัน เนื่องจากปัญหาขาดแคลนแรงงาน โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงภูมิอากาศ (climate change) และคาดว่าปริมาณการใช้จะอยู่ที่ 15.563 ล้านตัน มีการขยายตัว 5% ซึ่งถือเป็นปัจจัยบวกต่อราคายางโลก และคาดว่าราคายางพารามีโอกาสปรับตัวสูงขึ้น จากปี 2565 ที่มีราคาเฉลี่ยประเภทน้ำยางสดอยู่ที่ 54.79 บาทต่อกิโลกรัม (กก.) ราคายางแผ่นดิบอยู่ที่ 58.51 บาทต่อกก.

ในขณะที่การส่งออกยางพาราของไทย คาดว่าในปี 2566 ไทยมีปริมาณ 4.403 ล้านตัน มูลค่า6.5 แสนล้านบาท โดยปริมาณลดลงจากปีก่อน ที่ส่งออกได้ประมาณ 4.5 ล้านตัน เนื่องจากมีใช้ยางในประเทศขยายตัวสูงถึง 1.04 ล้านตัน หรือเพิ่มขึ้น 9.9 % จากการลงทุนยางล้อและผลิตภัณฑ์ยางในประเทศไทยมากขึ้น ซึ่งการใช้ยางในประเทศนี้คิดเป็นสัดส่วน 18-19 %ของผลผลิตยางทั้งหมดของไทย แต่ยังไม่ถึงเป้าหมายของรัฐบาลที่ต้องการให้มีสัดส่วนการใช้ยางในประเทศ ประมาณ 23-25 % ของผลผลิตทั้งหมด ดังนั้น กยท.จะผลักดันให้ใช้มากขึ้นต่อไป

อธิวีณ์ แดงกนิษฐ์ ผู้อำนวยการฝ่ายเศรษฐกิจยาง กยท. กล่าวว่า ในปีนี้โอกาสของยางพาราไทยยังมีอยู่ทั้งด้านมูลค่าที่จะขยับเพิ่มขึ้นซึ่งจะเห็นชัดช่วงปลายปี โดยทั้งหมดเป็นผลการวิเคราะห์ ดัชนี PMI ซึ่งเป็นดัชนีชี้นำ GDP ภาคการผลิต และจะมีผลต่อปริมาณการใช้ยาง พบว่า ดัชนี PMI เดือนม.ค.ของจีนปรับตัวขึ้นเช่นเดียวกับสหรัฐ ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป (EU)

ด้านอุตสาหกรรมยางล้อ บริษัทวิจัยด้านการตลาดและเทคโนโลยี technavio รายงานว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรมยานยนต์โลกจะเติบโตขึ้น 5.33% สมาคมผู้ผลิตยานยนต์จีน (CAAM) รายงานว่า ในปี 2565 ยอดขายรถยนต์แบรนด์จีนเพิ่มขึ้น 22.8%  และในปี 2566 อุตสาหกรรมถุงมือยางโลกจะเติบโต 6.9%

นอกจากนี้ ฤดูกาลและสภาพอากาศ ประเทศจีนเข้าสู่ฤดูหนาว สวนยางในมณฑลยูนนาน และมณฑลไห่หนาน จึงหยุดกรีดยางแล้ว ส่วนประเทศไทยกรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า เดือนมี.ค.จะมีฝนฟ้าคะนอง 30 – 40% ของพื้นที่กับมีฝนหนักบางแห่ง ส่งผลต่อผลผลิตยางที่ลดลง

 ผลผลิตยางจากอินโดนีเซียลดลง ค่าแรงในสวนยางเพิ่มสูง เกษตรกรชาวสวนยางเริ่มหันไปปลูกปาล์มน้ำมันมากขึ้น จีนประกาศยกเลิกนโยบาย Zero-COVID เกิดกิจกรรมทางเศรษฐกิจมากขึ้น กระตุ้นความต้องการยางล้อและยางธรรมชาติ สหรัฐปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.25% ตามที่ตลาดคาด Fed เริ่มส่งสัญญาณการดำเนินนโยบายการเงินที่มีโอกาสผ่อนคลายมากขึ้น และมีมุมมองต่อเงินเฟ้อที่ชะลอตัวลง

ในส่วนค่าระวางเรือเริ่มกลับสู่สภาวะปกติเท่าช่วงก่อนสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 และมีปริมาณตู้สินค้าเพียงพอ สามารถรองรับปริมาณการขนส่งสินค้าระหว่างประเทศได้มากขึ้น องค์กรการเงินระหว่างประเทศ ( IMF )คาดการณ์เศรษฐกิจโลกจะขยายตัวที่ 2.9% เพิ่มขึ้น 0.2% จากที่เคยคาดการณ์

การจัดการสินค้าเกษตรมีความยากเพราะปัจจัยที่พร้อมส่งผลกระทบมีอยู่รอบด้าน กรณี สินค้ายางพารา ท่ามกลางปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้ผลผลิตลดลง แต่อีกด้านดีมานด์ในตลาดโลกก็ชี้ไปในทิศทางที่ว่าราคาน่าจะสูงขึ้น นับเป็นข่าวดีของเกษตรกร แต่ข่าวดีนี้จะไม่มีประโยชน์อะไรหากเกษตรกรไม่มีสินค้าไปขาย ทำให้การบริหารจัดการจากนี้ต้องใช้ทั้งฝีมือด้านการตลาดและฝีมือด้านการรักษาโรคพืชควบคู่กันไปด้วย