แปร Recession สู่ Reset โจทย์เอเยนซี พลิกหมากรบควงลูกค้าโต

แปร Recession สู่ Reset โจทย์เอเยนซี พลิกหมากรบควงลูกค้าโต

ภาพใหญ่ของโลก อยู่ในยุคเศรษฐกิจถดถอยหรือ Recession ทว่า นั่นไม่ใช่ตัวแปรที่แบรนด์จะหั่นงบตลาด-โฆษณา เพราะทุกปี ไม่มีองค์กรธุกิจใด "ลดเป้า" การเติบโต กลับกันภาวะ Recession นักการตลาดควร Reset วิธีคิด พลิกกระบวนท่า ฝ่าปัจจัยลบรายล้อม การแข่งขันสูง สร้างผลกำไร

ปลายปี 2565 “โอลิเวอร์ กิตติพงษ์ วีระเตชะ” ก้าวเข้ารับตำแหน่งสำคัญ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการตลาดและนวัตกรรม เครือกลุ่มบริษัท เดนสุฯ อินเตอร์ เนชั่นแนล โดยมีภารกิจสำคัญในการต่อยอดการตลาดและนวัตกรรม สอดคล้องกับแผนกลยุทธ์การเปลี่ยนแปลงทางธุรกิจ

นอกจากนี้ ต้องสร้างการมีส่วนร่วมกับลูกค้า ซึ่ง “โอลิเวอร์” มองเป็นพันธมิตรคู่คิด ร่วมหัวจมท้ายสร้างการเติบโตมากกว่า

 หลังการเข้ารับตำแหน่ง “โอลิเวอร์” ได้ขึ้นเวที Exclusive Forum หัวข้อ “Transformative Marketing Trends to Watch in 2023 by MTX” จัดโดยสถาบันเร่งสปีดนวัตกรรมองค์กร หรือไรส์ (RISE)

“โอลิเวอร์” มองภาพใหญ่เศรษฐกิจโลกเข้าสู่ภาวะถดถอยหรือ Recession ซึ่งเป็นโจทย์ท้าทายของการทำตลาดในปี 2566 อย่างมาก แต่หากมองย้อนกลับไปในอดีตจะเห็นว่า Recession เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นมาโดยตลอด มิติหนึ่งเป็นเหมือนคำขู่! แต่อีกด้านเป็นสิ่งที่นักการตลาดต้อง “ระมัดระวัง”

ทั้งนี้ สิ่งที่ต้องคิดต่อ คือการเปลี่ยน Recession ให้เป็นการ Reset หรือพลิกกระบวนท่าใหม่ในการทำแคมเปญสื่อสารการตลาด ปรับวิธีการคิด ยกเครื่อง เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้

“นักการตลาดควรนำ Recession เป็นตัวแปรการทำตลาด Resetธุรกิจใหม่ ไม่ใช่การตัดงบ เพราะในทางปฏิบัติทุกปีองค์กรจะตั้งเป้าหมายเติบโต ไม่ใช่ลดเป้าลง จังหวะนี้อาจเป็นการรีเซ็ทวิธีคิด รีเฟรชแบรนด์ การทำตลาด เพราะตัวแปรสำคัญในขณะนี้คือความเร็วการทำตลาด การแข่งขันตลอดเวลา และต้องสร้างผลกำไร”

ภาวะเศรษฐกิจถดถอยยัง “บีบ” ให้นักการตลาดจัดลำดับความสำคัญว่ากิจกรรมใดควรทำก่อนหลังเพื่อกระตุ้นยอดขายภายใต้ข้อจำกัดที่มี เช่นการตัดหรือลดงบประมาณสื่อสารตลาด มากกว่าจะหยุดนิ่งหรือไม่ทำอะไรเลย

ความหวาดระแวง(Paranoid)ถูกยกให้เป็นตัวแปรของการนำพาธุรกิจรอด หรือ Only the Paranoid Survive หลังโควิดนอกจากเศรษฐกิจขาลงต้องเฝ้าระวัง สิ่งที่ไม่ควรมองข้ามคือการเกาะเทรนด์ตลาดให้ทัน ไม่ว่าจะเป็นกระแสผู้บริโภครักสุขภาพ เป็นสิ่งที่แบรนด์จะเข้าไปมีเอี่ยวมากขึ้น แนวทางการรักษ์โลก มุ่งสานเป้าความยั่งยืน การเป็นองค์กรมีธรรมาภิบาล ตลอดจนการเปิดรับความหลากลาย(Diversify)สำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ

นอกจากบริบทการทำธุรกิจเปลี่ยน แวดวงเอเยนซีเช่นกัน จากนี้ภารกิจไม่ได้มีแค่สร้างสรรค์ผลงานโฆษณา และวางแผนซื้อสื่อเท่านั้น แต่นักการตลาดต้องสวมบทบาทเป็นนักสร้างมูลค่าให้แก่ลูกค้าหรือ Business Producer ในฐานะที่เดนสุฯ มีธุรกิจให้บริการแก่ลูกค้าใน 140 ประเทศทั่วโลก ได้ให้ความสำคัญกับการต่อยอดสิ่งที่ลูกค้าพันมิตรมีอยู่แล้ว ปลุกการรับรู้แบรนด์ เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในปัจจัยการผลักดันยอดขายให้เติบโตได้

“วันนี้เดนสุฯ มีพนักงานในเครือนับพัน และเป็นคนที่มีความเชี่ยวชาญ คล่องตัว พร้อมเป็นบิสสิเนสโปรดิวเซอร์ให้พันธมิตรได้ สอดคล้องกับโจทย์เข้ามาทำงานจะดูแลในเรื่องนวัตกรรมใหม่ๆ สร้างมูลค่าธุรกิจให้ลูกค้า”

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางเศรษฐกิจถดถอย “โจทย์ใหญ่” ที่ลูกค้าต้องการยังเป็นเรื่องของเป้าหมายยอดขาย ทุ่มเงินทำแคมเปญการตลาดแล้วต้องได้ผลลัพธ์กลับมาหรือ Performance Marketing ไม่ใช่วัดแค่ผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมีส่วนร่วมกับแบรนด์(Engagement) ยอดวิวเท่านั้น

อีกกลยุทธ์การทำตลาดที่ไม่ควรมองข้ามในปี 2566 แบรนด์ต้องกลับมาให้ความสำคัญกับการ “สร้างประสบการณ์” ให้กับลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย หลังจากช่วงวิกฤติโควิด-19 ระบาด ทำให้กิจกรรมต่างๆหายไป เมื่อสถานการณ์คลี่คลาย ผู้บริโภค “โหยหา” อีเวนท์สูงมาก

“ปีนี้การสร้างประสบการณ์ร่วมกับแบรนด์จะกลับมา และจะเป็นอะไรที่สนุกมาก เพราะคนจะได้เจอทั้งออนไลน์ เชื่อมประสบการณ์จริง”

โลกธุรกิจการค้าแข่งรุนแรง นักการตลาดต้องปรับตัว เพิ่มทักษะ T-Shaped โดย “รอบรู้” หลายเรื่องมากขึ้น ขณะที่เรื่องถนัดเป็นความเชี่ยวชาญต้อง “รู้ลึก” เช่น นักสถิติ นักวิทยาศาสตร์ข้อมูล หากไม่รู้มุมคิดการตลาด อาจสื่อสารให้เข้าใจ สานเป้าหมายธุรกิจไม่ได้

“มุมนักการตลาดยุคนี้ต้องมี T-Shaped Skill ปรับตัวให้เข้ากับบริบทแวดล้อมที่เปลี่ยนไปสำคัญมาก”