ตั๋วในประเทศ Q1 แพงสูสีบินอินเตอร์ ต้นทุนเดินทางสูงฉุดกระแส "ไทยเที่ยวไทย"

ตั๋วในประเทศ Q1 แพงสูสีบินอินเตอร์ ต้นทุนเดินทางสูงฉุดกระแส "ไทยเที่ยวไทย"

มูลค่า “ไทยเที่ยวไทย” กว่า 1 ล้านล้านบาท สร้างสถิติสูงสุดเมื่อปี 2562 ก่อนเผชิญวิกฤติโควิด-19 ฉุดความเชื่อมั่นการเดินทางและเปลี่ยนพฤติกรรมนักท่องเที่ยว ถึงคราวเจอ “ความท้าทาย” รอบทิศในช่วงการฟื้นตัวปี 2566 โดยเฉพาะต้นทุนการเดินทางสูง สินค้าและบริการพาเหรดปรับราคา!

ผกากรอง เทพรักษ์ อาจารย์ประจำคณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลศรีวิชัย กล่าวว่า “สภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย” (สทท.) สำรวจความคิดเห็นของ “นักท่องเที่ยวไทย” เกี่ยวกับแผนการเดินทางในไตรมาส 1/2566 โดยสุ่มตัวอย่างแบบแบ่งชั้นภูมิจากประชาชนที่มีรายได้มากกว่า 10,000 บาท/เดือน จำนวน 533 คนทั่วประเทศ กระจายไปทุกภูมิภาค ผลการสำรวจพบว่าประชาชนมีแนวโน้มเดินทางท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นกว่าไตรมาส 4/2565 โดยกว่า 45% วางแผนเดินทางไปต่างจังหวัด แต่มีประชาชนที่ยังไม่ตัดสินใจสูงถึง 43% เนื่องจากส่วนใหญ่จะวางแผนล่วงหน้าก่อนออกเดินทางจริง 2-4 สัปดาห์ ดังนั้นธุรกิจที่พักแรมหรือสายการบินจำเป็นต้องออก “โปรโมชั่น” ก่อนถึงเทศกาลสำคัญๆ อย่างน้อย 1 เดือน เพื่อชักจูงให้ลูกค้ารีบตัดสินใจจองที่พักและสายการบิน

นอกจากนี้ 92% ของประชาชนที่วางแผนเดินทางในไตรมาส 1/2566 มีวัตถุประสงค์การเดินทางเพื่อการท่องเที่ยวถึง 95% และมีแผนพักค้างคืน 80% โดยวางแผนพักโรงแรม 60% ส่วนใหญ่เดินทางไปกับครอบครัวและนิยมเดินทางช่วงวันหยุดยาวหรือวันหยุดนักขัตฤกษ์

ส่วนใหญ่ 40% นิยมจองที่พักผ่านบริษัทท่องเที่ยวออนไลน์ (OTA) และ 80% ของคนที่เดินทาง เลือกวางแผนเดินทางโดยรถยนต์ส่วนตัว ขณะที่อีก 33% มีแผนเดินทางโดยเครื่องบิน ส่วนใหญ่นิยมจองตั๋วเครื่องบินผ่านเว็บไซต์ของสายการบินโดยตรง 56% รองลงมา 35% นิยมจองผ่าน OTA นอกจากนี้ยังมีแผนเช่ารถ 37% และใช้บริการบริษัทนำเที่ยว 21%

และเนื่องจากพฤติกรรมนักท่องเที่ยวไทยชื่นชอบ “การถ่ายภาพ” จากการสำรวจยังพบด้วยว่านักท่องเที่ยวที่วางแผนเดินทาง นิยมถ่ายภาพแหล่งท่องเที่ยวธรรมชาติ 90% รองลงมาคือ 60% ชอบถ่ายภาพที่ “คาเฟ่สวยๆ” และอีก 50% นิยมถ่ายภาพในโรงแรมที่พัก

รายงานจาก สทท. ระบุด้วยว่า เมื่อพิจารณา “ระดับความกังวล” ของประชาชนต่อปัจจัยที่ส่งผลต่อการท่องเที่ยวในไตรมาส 1/2566 พบว่า ประชาชนมีความกังวลต่อ “ต้นทุนการเดินทางที่สูงขึ้น” มากที่สุด! ใกล้เคียงกับเรื่องของ “ราคาสินค้าและบริการ” ที่สูงขึ้น โดยมีความกังวลในระดับมาก 3.9 (จากระดับมากที่สุด 5) รองลงมามีความกังวลในเรื่องการแพร่ระบาดของโควิด-19 ระดับ 3.85, ความกังวลเรื่องภาระหนี้สิน ระดับ 3.75 และความกังวลเรื่องรายได้ ระดับ 3.70

หลัง “ปัจจัยเสี่ยง” ในปี 2566 “อัตราเงินเฟ้อทั่วไป” อาจสูงขึ้นประมาณ 5.5-7% เนื่องจากเศรษฐกิจในตลาดต่างประเทศชะลอตัวลงจากภาวะ “เศรษฐกิจถดถอย” ส่งผลให้การส่งออกชะลอตัวลง รวมทั้งการจ้างงานลดลงและดีมานด์ในประเทศอ่อนแอลง ขณะเดียวกันแนวโน้มราคาสินค้าและบริการที่อาจจะสูงขึ้นในไตรมาสที่ 1 นี้ เนื่องจากสถานประกอบการมีต้นทุนจากค่าแรงและค่าไฟฟ้าที่สูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจเดินทางท่องเที่ยวในประเทศของประชาชนชะลอลงได้

นอกจากนี้ นักท่องเที่ยวไทย “เริ่มเบื่อ” กับการท่องเที่ยวภายในประเทศ! จากความต้องการท่องเที่ยวที่อยู่ในระดับสูงของประชาชน เนื่องจากการประกาศล็อกดาวน์ของภาครัฐและต้องระวังการติดโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนไม่สามารถเดินทางตามปกติได้เป็นเวลามากกว่า 2 ปี เมื่อมีการประกาศผ่อนคลายมาตรการแต่ละครั้ง ประชาชนที่มี “กำลังซื้อสูง” จึงออกท่องเที่ยวยังจังหวัดต่างๆ หลายครั้ง สะท้อนจากจำนวนครั้งของการท่องเที่ยวภายในประเทศปี 2565 สูงถึง 180 ล้านคน-ครั้ง มากกว่าปี 2562

“กลุ่มที่มีกำลังซื้อสูงจึงมีโอกาสได้เที่ยวหลายครั้งและในหลายๆ จุดหมายแล้วในปี 2565 จึงเริ่มหาแหล่งท่องเที่ยวใหม่ๆ อาจหันไปเที่ยวประเทศใกล้เคียงมากขึ้น”

หลัง “ค่าตั๋วเครื่องบิน” ของเที่ยวบินภายในประเทศไทยปัจจุบันอยู่ในระดับสูง อาจส่งผลให้นักท่องเที่ยวไทยเดินทางไปเที่ยวต่างประเทศอื่นที่อยู่ใกล้เคียงแทน เช่น ลาว มาเลเซีย กัมพูชา เวียดนาม ญี่ปุ่น เกาหลี และอินโดนีเซีย (บาหลี) เป็นต้น เนื่องจากค่าตั๋วเครื่องบินไม่ต่างกันมาก!

ฐาปนีย์ เกียรติไพบูลย์ รองผู้ว่าการด้านตลาดในประเทศ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กล่าวว่า กลยุทธ์ของ ททท.ในปี 2566 มุ่งผลักดันจุดแข็งของ “ซอฟต์พาวเวอร์ 5F” ประกอบด้วย Food Film Fashion Fighting และ Festival ด้วยการนำเสนอ “โปรดักต์ ไฮไลต์” กระตุ้นตลาดท่องเที่ยวภายในประเทศ เช่น เรื่อง Food ทาง ททท.เตรียมประกาศให้ปีนี้เป็น “ปีแห่งอาหารไทย” (Year of Thai Gastronomy) พร้อมโปรโมทตลาดถนนคนเดิน (Walking Street), เรื่อง Festival มีกำหนดจัดงาน “เทศกาลเที่ยวเมืองไทย Limited Edition 2566” ในช่วงกลางปี ขณะที่เรื่อง Film เตรียมเปิดตัวเส้นทางท่องเที่ยว Film City Tour Package ตามรอยภาพยนตร์และซีรีส์ชื่อดัง

เพื่อช่วยผลักดันให้กระแสการเดินทางปี 2566 มีจำนวน “ผู้เยี่ยมเยือนชาวไทย” ตามเป้าหมาย 250 ล้านคน-ครั้ง!