หวั่นภาพลักษณ์ "ท่องเที่ยว" สะดุด! "พิพัฒน์" เร่งสื่อสารฟื้นเชื่อมั่น

หวั่นภาพลักษณ์ "ท่องเที่ยว" สะดุด! "พิพัฒน์" เร่งสื่อสารฟื้นเชื่อมั่น

เปิดศักราชใหม่ปี 2566 ได้ไม่ทันไร! ภาคท่องเที่ยวไทยที่กำลังฟื้นไข้จากวิกฤติโควิด-19 เจอข่าวฉาวกระทบต่อ “ภาพลักษณ์” ต่อเนื่องถึง 3 กรณีด้วยกัน ฉุดความเชื่อมั่นการเดินทาง “พิพัฒน์ รัชกิจประการ” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงต้องออกโรงแจงยิบ!

ตั้งแต่กรณีที่มีการกล่าวถึงขบวนการนายหน้าในประเทศจีน ดำเนินการอย่างผิดกฎหมายและเอื้อประโยชน์ให้ “กลุ่มจีนเทา” สามารถเดินทางเข้าประเทศไทยได้ โดยใช้ “สิทธิประโยชน์” ของการถือบัตร “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” (หรือที่รู้จักกันในชื่อ “อีลิทการ์ด”) โดยเรียกเก็บค่าธรรมเนียมการสมัครบัตรที่สูงกว่าค่าสมัครของทางบริษัทฯ เพื่ออำนวยความสะดวกให้สามารถสมัครบัตรผ่านได้โดยไม่ต้องตรวจประวัติอาชญากรรมนั้น

ทางกระทรวงการท่องเที่ยวฯพร้อมให้ความร่วมมือกับฝ่ายสืบสวนอย่างเต็มที่ในการตรวจสอบ และหากพบความผิดพลาดหรือจุดที่เป็นช่องโหว่ในเงื่อนไขของการรับสมัคร กระทรวงฯพร้อมปรับปรุง เพื่อให้เกิดความโปร่งใสในแนวทางการปฏิบัติต่อไป หากพบเจ้าหน้าที่กระทำผิดจะเร่งดำเนินการตามกฎหมายให้ถึงที่สุด เนื่องจากประเด็นดังกล่าวมีแนวโน้มที่จะส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทยและภาพลักษณ์ของกระทรวงฯ

“ผมได้มอบหมายให้ การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ติดตามข้อมูลความเห็นและคำสนทนาจากสื่อสังคมออนไลน์อย่างใกล้ชิด เพื่อป้องกันผลกระทบด้านลบต่อภาพลักษณ์ของการท่องเที่ยวไทย”

ทั้งนี้ กระทรวงการท่องเที่ยวฯจะเพิ่มมาตรการในการตรวจสอบ เช่น ตรวจสอบสถานะ บริษัทผู้แทนจำหน่าย (เอเย่นต์) และสถานภาพผู้ถือบัตรทุก 2 ปี หากผู้ใดกระทำการใดๆ ที่ถือว่าผิดกฎหมาย หรือขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดีของประชาชน และมีผลกระทบต่อภาพลักษณ์การดำเนินธุรกิจของบริษัทฯ ใช้สิทธิประโยชน์โดยทุจริต ตลอดจนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไขของการเป็นสมาชิก กระทรวงฯจะเร่งเพิกถอนสมาชิกโดยทันที

กระทรวงการท่องเที่ยวฯ จำเป็นต้องเร่งสื่อสาร ประชาสัมพันธ์ สร้างความเข้าใจ รวมถึงบริหารจัดการความผิดพลาดที่เกิดขึ้น ให้ความสำคัญกับการบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัด ในขณะเดียวกันก็พลิกวิกฤติให้เป็นโอกาส ในการพัฒนาและปรับรูปแบบการให้บริการภายใต้กฎระเบียบ โดยดูจากกรณีศึกษาต่างๆ ที่เกิดขึ้น เพื่อโอกาสทางการท่องเที่ยวสำหรับ “กลุ่มนักท่องเที่ยวใช้จ่ายสูง” (High Spending) ต่อไป

สำหรับบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด จำกัด ได้จัดตั้งขึ้นตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 29 ก.ค. 2546 โดยมอบหมายให้ ททท. ซึ่งเป็นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจ ภายใต้สังกัดกระทรวงการท่องเที่ยวฯ เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด ดำเนินโครงการบัตรสมาชิก ภายใต้ชื่อโครงการบัตรสมาชิกพิเศษ “ไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด” โดยมีวัตถุประสงค์ เพื่อสร้างรายได้จากการท่องเที่ยวให้เติบโตแบบก้าวกระโดด ขยายตลาดนักท่องเที่ยวไปยังกลุ่มที่มีการใช้จ่ายสูง และกระตุ้นให้เกิดดีมานด์ในการเดินทางท่องเที่ยวประเทศไทยเพิ่มขึ้น

ด้าน “ขั้นตอนการสมัครสมาชิก” ทางบริษัทมีระบบการสมัครและการตรวจสอบประวัติก่อนออกสมาชิกบัตรอย่างละเอียด ตั้งแต่ผู้สมัครยื่นเอกสารการสมัครมายังบริษัทฯ และบริษัทฯจะมีการตรวจสอบความถูกต้องของเอกสาร จากนั้นจะทำการส่งพาสปอร์ตต่อให้ตำรวจตรวจคนเข้าเมือง (ตม.) และ กรมการกงสุล ตรวจสอบประวัติต่อไป ซึ่งระยะเวลาการสมัครจะใช้เวลาประมาณ 2-3 เดือน ขึ้นอยู่กับความครบถ้วนของเอกสาร สัญชาติ และระยะเวลาอนุมัติคุณสมบัติจากหน่วยงานภายนอกที่เกี่ยวข้อง อาทิ ตม. และกรมการกงสุล เป็นต้น ทั้งนี้อาจจะเร็วกว่า 2 เดือน หากเอกสารสมบูรณ์ครบถ้วนไม่พบปัญหาใด

สมาชิกบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ทุกราย จะต้องปฏิบัติตามขั้นตอนภายใต้ “กฎหมายคนเข้าเมือง” ของไทยอย่างเคร่งครัด สมาชิกบัตรจะได้รับวีซ่าเข้าประเทศแบบ Privilege Entry Visa (PE) ซึ่งจะได้รับอนุญาตให้อยู่ในประเทศไทยได้ 1 ปีต่อครั้ง ทั้งนี้สมาชิกทุกรายจะต้องรายงานตัวทุก 90 วัน การรายงานนี้เป็นภาคบังคับ กรณีสมาชิกไม่ได้เดินทางออกประเทศ แต่หากสมาชิกมีการเดินทางออกนอกประเทศไทยเกินกำหนด ก็ไม่ต้องรายงานตัวเป็นเวลา 90 วัน สำหรับสมาชิกที่อาศัยอยู่นอกกรุงเทพฯ ให้ติดต่อสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองในพื้นที่

“ตามที่มีบริษัททัวร์หรือบริษัทนายหน้านำบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ด ไปขายเกินราคา หากมองในเรื่องของการตลาด เราไม่สามารถไปจำกัดเขาได้ ประกอบกับเหตุการณ์นี้เกิดขึ้นในต่างประเทศด้วย”

ส่วนกรณีที่มี “การโฆษณาเกินจริง” ว่ามี “โปรโมชั่นเสริม” เมื่อสมัครเป็นผู้ถือบัตรไทยแลนด์ พริวิเลจ คาร์ดแล้ว สามารถทำ “บัตรประชาชน” ได้นั้น ทาง ททท. และบริษัท ไทยแลนด์ พริวิเลจฯ ได้ประสานไปยังสำนักงานตำรวจแห่งชาติในการตรวจสอบ หากเกิดเหตุการณ์นี้จริง จะให้ตำรวจเข้าไปสืบสวนสอบสวนบริษัททัวร์ที่โฆษณาแบบนั้น ว่ากระทำเกินจริงหรือไม่ เนื่องจากตามหลักเกณฑ์ของบัตรไม่มีการโฆษณาเกินจริง และมีอัตราราคาที่แน่นอน

ส่วนกรณีมีนักท่องเที่ยวฮ่องกงใช้บริการของ “ตำรวจท่องเที่ยว” ในการอำนวยความสะดวกด้านการเดินทางที่สนามบินสุวรรณภูมิ และมีรถนำขบวน พบว่ามีตำรวจในสังกัด “กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยว” 2 นายที่มีส่วนเกี่ยวข้อง ขณะนี้อยู่ระหว่างสอบปากคำตำรวจท่องเที่ยวทั้งสองนาย และจะมีการนำเสนอข้อมูลให้ภายหลังการดำเนินการตามระเบียบเสร็จเรียบร้อย

พร้อมกันนี้ยังได้สั่งการให้กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวรวบรวมข้อมูลทั้งหมดที่เกี่ยวข้อง ทั้งเว็บไซต์เผยแพร่การขายสิทธิพิเศษ และการดำเนินการอื่นใดที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย เพื่อสืบสวน ติดตามทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อเข้าสู่กระบวนการทางกฎหมายโดยไม่มีการละเว้น ในขณะเดียวกันได้มีการสั่งการให้กองบัญชาการตำรวจท่องเที่ยวจัดประชุมกำชับมาตรการในการปฏิบัติหน้าที่อย่างโปร่งใส ซึ่งได้มีการดำเนินการไปแล้วเมื่อวันที่ 23 ม.ค.ที่ผ่านมา

ทั้งนี้ ในกรณีที่ประสงค์จะให้ตำรวจท่องเที่ยวอำนวยความสะดวกโดยการมีตำรวจนำ มีหลักเกณฑ์ในการขอใช้รถตำรวจในการนำรถ ไว้ชัดเจน 4 ข้อ ดังนี้ 1.เอกสารและเหตุผลประกอบการขอรถนำขบวนที่มีเหตุผลความจำเป็นอย่างเหมาะสมโดยมุ่งหมายที่จะรักษาความปลอดภัยของผู้เดินทางหรือของผู้ใช้รถใช้ถนน อารักขาบุคคลสำคัญ เช่น แขกของรัฐบาล ผู้นำรัฐบาลที่เดินทางเข้ามาประเทศไทยเป็นการส่วนตัว และราชวงศ์ของประเทศต่างๆ และอำนวยความสะดวกตามจำเป็นแก่กรณี 2.เส้นทางที่จะไปเป็นเส้นทางอันตรายเสี่ยงต่อการเกิดอุบัติเหตุ หรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง 3.มีจำนวนรถในขบวน รถโดยสารไม่ประจำทางอย่างน้อย 8 คัน หรือรถยนต์เก๋งอย่างน้อย 10 คัน หรือ รวมกัน 10 คันขึ้นไป โดยรวมถึงรถขนาดเล็กที่มีการแข่งแรลลี หรือบิ๊กไบค์ที่มาเป็นขบวนจากประเทศเพื่อนบ้าน และ 4.ต้องมีรถวิทยุตรวจการณ์เพียงพอ ไม่กระทบภารกิจหลัก และคำนึงถึงน้ำมันเชื้อเพลิงที่ใช้ในภารกิจประจำด้วย

ด้านกรณี “เน็ตไอดอลไต้หวัน” ครอบครอง “บุหรี่ไฟฟ้า” ย้ำว่าบุหรี่ไฟฟ้าเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย ดังนั้นใครที่พก นำเข้ามาในประเทศไทยถือว่าผิดกฎหมาย แต่การเจอนักท่องเที่ยวสูบ เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่สามารถจะจับปรับได้ จะต้องนำส่งศาลอย่างเดียว!