เจนฯ 2 ‘ซอสพริกตราม้าบิน’ จัดทัพใหญ่ รุกอาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุง ติดปีกโต

เจนฯ 2 ‘ซอสพริกตราม้าบิน’ จัดทัพใหญ่  รุกอาหารพร้อมทาน-พร้อมปรุง ติดปีกโต

ซอสพริกไทยรุ่งเรือง เขย่าองค์กร เปลี่ยนชื่อบริษัท จัดทัพธุรกิจ ผลิตสินค้าที่มากกว่ากลุ่มซอส สู่อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง เครื่องแกง แสวงหาโอกาสเติบโตใหม่ๆ รับเทรนด์การบริโภค วัฏจักรสินค้าเปลี่ยนเร็ว แรง

ผ่าน 6 ทศวรรษ สำหรับการเติบโตของ “ซอสพริกตราม้าบิน” จากรุ่นแรกก่อตั้งธุรกิจ ปัจจุบันผลัดใบสู่ “ทายาท” รุ่น 2 ร่วมขับเคลื่อนองค์กรขนาดย่อม มีแบรนด์สินค้าแกร่ง ครองใจผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายอย่างยาวนาน

ทว่า แบรนด์ “ม้าบิน” จะเติบโตต่ออย่างยั่งยืนในระยะยาว ขายแค่ “ซอสพริก” อย่างเดียว ไม่เพียงพอ ทำให้ทายาทตระกูล “ธีระโชติมงคล” เขย่าบริษัท จัดทัพสินค้า วางยุทธศาสตร์ 5 ปี เพื่อขยายสู่เซ็กเตอร์อาหารหมวดหมู่ใหม่ๆมากขึ้น

ไกรศักดิ์ ธีรโชติมงคล กรรมการผู้จัดการ บริษัท ซอสพริกไทยรุ่งเรือง จำกัด เปิดเผยกับ กรุงเทพธุรกิจ ถึงยุทธศาสตร์ในการดำเนินธุรกิจ 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะต้องเป็นมากกว่าผู้ผลิตสินค้า “ซอสพริก” แต่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์อาหารใหม่ๆให้ครอบคลุมตลาด สอดคล้องกับเทรนด์ในอนาคต เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคกลุ่มเป้าหมายมากขึ้น

หากวิเคราะห์สถานการณ์ตลาดทั้งระดับโลก ถึงไทย รวมถึงเทรนด์ผู้บริโภคจะพบว่า อาหารเพื่อสุขภาพ ยังมีบทบาทต่อกลุ่มเป้าหมายอย่างต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มอาหารีโต แพลนท์เบส นอกจากนี้ “สังคมสูงวัย” ยังเป็นตัวแปรสำคัญของการบริโภคอาหาร

บริษัทยังมองโอกาสในกลุ่ม “อาหารพร้อมทาน” หรือ Ready to Eat และอาหารพร้อมปรุงหรือ Ready to Cook มากขึ้น เพื่อตอบไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่ ผู้บริโภครักสะดวกสบายมากขึ้น

การตอกย้ำภาพองค์กรให้เป็นมากกว่าอาหาร และแตกไลน์สินค้าใหม่ เสริมแกร่งพอร์ตโฟลิโอ บริษัทจะมีการเปลี่ยนชื่อจาก “ซอสพริกไทยรุ่งเรือง” เหลือเพียง “ไทยรุ่งเรือง” ด้วย

“ภาพขององค์กรที่รุ่น 2 สานต่อและวางเป้าหมายคือการขยายตลาดออกจากกลุ่มสินค้าซอสพริก ไปสู่อาหารพร้อมทาน อาหารพร้อมปรุง รวมถึงเครื่องแกง ที่เรากำลังศึกษาตลาด คู่แข่งและอยู่ระหว่างการพัฒนาสินค้าด้วย เนื่องจากซอสพริกเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับจิ้ม ไม่ใช่สินค้าหลักของมื้ออาหาร”

นอกจากนี้ การปรับตัวดังกล่าว ยังเป็นปฏิกิริยา “เร่ง” จากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมาด้วย ในการพัฒนาอาหารเพื่อตอบโจทย์ “ผู้บริโภคทั่วไป” จากที่ผ่านมา ซอสพริกตราม้าบิน ทำตลาดเจาะธุรกิจบริการอาหารหรือกลุ่มฟู้ดเซอร์วิส เป็นหลัก และมีสัดส่วน 70-80% ของบริษัท เมื่อร้านอาหารถูกมาตรการให้งดนั่งทานในร้าน ล็อกดาวน์ต่างๆ จึงกระทบต่อยอดขายบริษัท

กลับกันช่วงโควิด ผู้บริโภคมีการทำอาหารรับประทานเองมากขึ้น แต่การซื้อสินค้าเน้น “ไซส์เล็ก” เพราะต้องการประหยัดเงินในกระเป๋า แต่บริษัทมีสินค้าไซส์เล็กค่อนข้างน้อย การบุกตลาดและกลุ่มเป้าหมายใหม่ จึงเป็นการสร้างความหลากหลายหรือ Diversify มากขึ้น

ล่าสุด บริษัทยังพัฒนาซอสพริกขี้หนูสวนม้าบินขนาด 300 มิลลิลิตร(มล.) เปิดตัวสู่ตลาดช่วง 1-2 เดือนที่ผ่านมา จำหน่ายผ่านมินิบิ๊กซี เพื่อเจาะผู้บริโภคและยังเป็นสินค้าระดับพรีเมียมด้วย

ปัจจุบัน ซอสพริกไทยรุ่งเรือง ไม่ได้มีแค่ ซอสพริกตราม้าบิน พระเอกทำตลาด แต่ยังมีน้ำจิ้มไก่ น้ำจิ้มบ๊วย น้ำจิ้มสุกี้ ซอสหอยนางรม ซอสเย็นตาโฟ ฯ ตอบสนองความต้องการของลูกค้าด้วย

“เป้าหมายภายใน 5 ปี บริษัทจะพัฒนาสินค้าตอบสนองการบริโภคทุกครัวเรือน เจาะผู้บริโภคโดยตรงมากขึ้น โดยพิจารณาเทรนด์อาหารหมวดไหนมีศักยภาพ ที่บริษัทจะคว้าโอกาสได้ ”

ขณะที่โจทย์ท้าทายการขับเคลื่อนธุรกิจในเจนฯ 2 ของซอสพริกไทยรุ่งเรือง คือการแข่งขันในธุรกิจอาหารมีสูงมาก กำแพงกั้นคู่แข่งมีน้อยมาก ไม่ว่าใครก็เข้ามาบุกตลาดได้ ส่วนเทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนเร็วและแรง เห็นได้จากในสังเวียนธุรกิจมีผู้ประกอบการพัฒนาสินค้าใหม่ออกสู่ตลาด แต่อยู่ได้ไม่นานนัก เพราะความต้องการ วัฏจักรรสชาติที่โดนใจลูกค้ามีความผันผวนสูงมาก

ด้านภาพรวมผลิตภัณฑ์ซอสปรุงรส ซอสพริก รวมถึงน้ำปลา ในประเทศไทยมีมูลค่าหลัก “หมื่นล้านบาท” ส่วนซอสพริกมูลค่าหลายพันล้านบาท ซอสพริกตราม้าบินถือเป็นผู้่เล่นท็อป 2-3 เช่นเดียวกับน้ำจิ้มไก่

สำหรับทิศทางสินค้าอุปโภคบริโภคปี 2566 คาดการณ์ฟื้นตัวขึ้น จากแรงส่งของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งไทยเป็นจุดหมายปลายทางของนักเดินทางทั่วโลก เมื่อเข้ามาเพิ่มจะหนุนอัตราการบริโภคอาหารในไทย ทว่า ปัจจัยที่มีความเปราะบางคือ “ต้นทุน” การผลิตสินค้าปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะค่าขนส่ง เนื่องจากซอสเป็นผลิตภัณฑ์ที่มีน้ำหนักมาก สถานการณ์ดังกล่าวทำให้บริษัทพิจารณาสร้างคลังสินค้าเพื่อกระจายไปยังพื้นที่ต่างๆทั่วไทยได้ประชิดลูกค้ามากขึ้น

“60 ปี ซอสพริกตราม้าบิน ผ่านวิกฤติมามาก และโควิดรุนแรงสุดเพราะตลาดทั้งโลกหดตัว แต่โชคดีบริษัททำธุรกิจอาหาร ยังมีออเดอร์เข้ามา แต่ปัจจุบันการทำธุรกิจ เผชิญความเปลี่ยนแปลงเร็วและแรง ผู้บริโภคต้องการสินค้าใหม่ๆ วัฏจักรสินค้าสั้นลง สินค้าใหม่ออกมาจำนวนมาก แต่อยู่ในตลาดได้ระยะสั้น เทรนด์ผู้บริโภคเปลี่ยนเร็ว แต่ไม่รู้เทรนด์จะอยู่นานแค่ไหน บริษัทจึงต้องวางแผนการผลิตสินค้าให้มีความ Agile มากขึ้น”