ภารกิจ 15 ปี "ฐาปณี" ทายาทเล็ก “เจ้าสัวเจริญ” นำทัพ “บีเจซี” เทียบองค์กรโลก

ภารกิจ 15 ปี "ฐาปณี" ทายาทเล็ก “เจ้าสัวเจริญ” นำทัพ “บีเจซี” เทียบองค์กรโลก

"อัศวิน-ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล" เขยและบุตรสาวคนเล็กของ "เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี" เข้ามาสานต่อกิจการครอบครัวอย่าง "บีเจซี" ครบ 15 ปีหมาดๆ จากนี้จะเห็นการ "แบ่ง" บทบาทนำทัพ ภาคผลิต "บีเจซี" และ ค้าปลีก "บิ๊กซี" สร้างแกร่ง เสริมมั่งคั่ง "ทีซีซี กรุ๊ป"

ไทยเจริญคอร์ปอเรชั่น หรือทีซีซี กรุ๊ป เป็นองค์กรธุรกิจยักษ์ใหญ่ที่ก่อตั้งโดย “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา สิริวัฒนภักดี” ภายใต้อาณาจักรแสนล้านแห่งนี้ ถูกแบ่งเป็น 5 กลุ่มธุรกิจ ประกอบด้วย สายธุรกิจเครื่องดื่ม มีไทยเบฟเวอเรจ เป็นหัวหอกทำหน้าที่ขับเคลื่อน, อสังหาริมทรัพย์ มีหลายบริษัทพัฒนาโครงการที่อยู่อาศัย ห้างค้าปลีก โรงแรม อาคารสำนักงาน เช่น ทีซีซี แลนด์ ยูนิเวนเจอร์ เฟรเซอร์ พร็อพเพอร์ตี้ , อุตสาหกรรมการค้า มีเบอร์ลี่ ยุคเกอร์หรือบีเจซี และบิ๊กซี สร้างการเติบโต, ประกันและการเงิน โดยอาคเนย์ และสายธุรกิจเกษตรและอุตสาหกรรมการเกษตร ผ่านพรรณธิอร ดูแลกิจการทั้งในและต่างประเทศ เช่น ลาว กัมพูชา

นอกจากนี้ ทั้ง 5 กลุ่มธุรกิจ ยังมี “ทายาท” ทั้ง 5 เป็นแม่ทัพ นำกิจการไปขยับขยายเพื่อเบ่งธุรกิจครอบครัวให้ยิ่งใหญ่ในประเทศ เคลื่อนตัวสู่ภูมิภาค และเวทีโลกต่อไป

ภาพใหญ่ที่ผู้คนรับรู้ในการชักธงรบ จะเห็นแม่ทัพคนสำคัญของแต่ละกลุ่ม เช่น ฐาปน สิริวัฒนภักดี บริหารกลุ่มเครื่องดื่มอย่าง ไทยเบฟฯ วัลลภา ไตรโสรัส ดูแลธุรกิจโรงแรม ผ่านบริษัท แอสเสท เวิรด์ คอร์ป จํากัด (มหาชน)หรือ AWC ยังมีบุตรเขย “อัศวิน เตชะเจริญวิกุล” ร่วมขับเคลื่อนธุรกิจการค้าบีเจซี บิ๊กซี โดยมี “ฐาปณี เตชะเจริญวิกุล” บุตรสาวคนเล็กของ “เจ้าสัวเจริญ-คุณหญิงวรรณา” ทำงานเคียงข้าง และอยู่เบื้องหลังการเติบโตขององค์กรด้วย

กรุงเทพธุรกิจ มีโอกาสสนทนากับ “ทายาทคนเล็ก” ของเจ้าสัวเจริญ ถึงแนวทางการบริหารงาน และนำคำสอนของพ่อแม่เป็นคัมภีร์ หรือเครื่องยึดเหนี่ยว รวมถึงการวาง “เป้าหมาย” สร้างการเติบโตของกลุ่มบีเจซี บิ๊กซีในอนาคต

ฐาปณี เล่าว่า วันที่ 9 มกราคม 2566 เพิ่งพ้นการครบรอบ 15 ปี ที่ทำงานสืบสานกิจการครอบครัวอย่าง “บีเจซี”

ย้อนไป 15 ปีก่อน “บีเจซี” เป็นยักษ์ใหญ่สินค้าอุปโภคบริโภคอายุ 125 ปี มีระบบงานที่แข็งแกร่ง นำมาต่อยอดสร้างการเติบโตได้อย่างดี

ก่อนเข้ามาบริหารงานที่ “บีเจซี” ทายาทคนเล็ก “ฐาปณี” ต้องการทำงานเก็บเกี่ยวประสบการณ์จากบริษัทภายนอกกิจการครอบครัวเป็นลำดับแรก หลังจบการศึกษาใหม่ๆ (FYI ฐาปณีจบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาบริหารธุรกิจ จากมหาวิทยาลัยฮาวาร์ด และปริญญาโท ด้านเศรษฐศาสตร์ จากสถาบันเอ็มไอที) จึงเลือกทำงานที่ประเทศสิงคโปร์ ในสายงานการเงิน

“โอ๊ะเองอยากทำงานข้างนอก แต่ก็โดนคุณพ่อดึง เชิญชวนมาช่วยกันขับเคลื่อนธุรกิจครอบครัว ให้รู้จัก รักธุรกิจ มีความสามัคคี ให้พี่น้องร่วมไม้ร่วมมือกัน”

 การเข้ามาบริหารงานช่วงแรกนั้น เริ่มต้นงานที่กลุ่มไทยเบฟเวอเรจ ประกันภัย และก้าวสู่อสังหาริมทรัพย์ โดยเป็นการดูแล “กรุที่ดิน” ของกิจการครอบครัวเป็นหลัก ซึ่งอยู่ในส่วนของ “ทีซีซี โฮลดิ้ง”

 นอกจากนี้ ยังมีโอกาสช่วยขับเคลื่อนกิจการในต่างประเทศราว 1 ปี ที่ฮ่องกง ดูแลด้านการเงินเป็นหลัก เมื่อถึงเวลาที่ต้องมีครอบครัว “เจ้าสัวเจริญ” จึงให้เลือกบ้าน 1 หลัง(ธุรกิจที่จะรับบทสานต่อ)ในประเทศไทย จึงตัดสินใจเลือก “บีเจซี”

ในการสานต่อธุรกิจ “ฐาปณี” เล่าว่าพ่อแม่ไม่ได้มอบการบ้านอะไรให้ทำเป็นพิเศษ แต่จะสอนแนวทางทำงานกับผู้คนรอบข้าง ทั้งทีมงาน พันธมิตร ลูกค้ากลุ่มเป้าหมาย ฯ

“คุณพ่อสอนทุกอย่าง..แต่คำสอนไม่ดีเท่ากับทำให้ดู เชื่อว่าคุณพ่อทำอย่างนั้นกับลูกๆ เพื่อนร่วมงาน คุณพ่อทำงานด้วย ร่วมด้วยจริงๆ เป็นสิ่งที่ปฏิบัติให้ดู”

นอกจากนี้ ยังให้ยึดหลักความกตัญญู เนื่องจากเชื่อว่าเป็นหัวใจสำคัญต่อการดำรงชีวิต เป็นพื้นฐานของคนๆหนึ่ง และครอบครัว

“ต้องกตัญญูกับผู้ใหญ่ และผู้เกี่ยวข้องทั้งหมดที่มีส่วนร่วมด้วยกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่คุณพ่อมีความเสมอต้นเสมอปลาย เคารพผู้ใหญ่ และตอบแทน”

ในการดำเนินธุรกิจ ฐาปณี ยังนำคัมภีร์ที่ว่า “คนอื่นดี เราจึงจะได้ดี” จากคุณเจริญมายึดถือปฏิบัติด้วย อย่างการทำ “ร้านโดนใจ” โมเดลพลิกร้านโชห่วยดั้งเดิมให้มีความทันสมัย มีระบบการค้าขายที่ดี ด้วยเทคโนโลยี เป็นสิ่งที่เจ้าสัวเจริญย้ำเสมอว่า ต้องทำให้ดีแก่ผู้ประกอบการตั้งแต่ต้น

“ถ้าเขาเจริญ เราจะเจริญ จะร่วมงานกับใคร ทำงานกับใคร ต้องทำให้คนอื่นดี เราจึงจะดีด้วย”

ที่ขาดไม่ได้คือคำสอนจากรุ่นสู่รุ่น และเป็นอักษรจีนที่คนเชื้อสายจีน แม้กระทั่งคนจีนเองมักมีติดไว้ที่ผนังบ้าน นั่นคือคำว่า “ขยัน" และ “อดทน” โดยความอดทนนั้นเป็นหนึ่งในคุณธรรม มงคลชีวิต 38 ประการ

คำว่าอดทน ประกอบจากคำ 2 คำ ได้แก่ 刃 : Rèn หมายถึงใบมีด และ 心 : xīn หมายถึงหัวใจ เมื่อเป็นอักษรภาพ ใบมีดจะอยู่ด้านบน และหัวใจจะอยู่ด้านล่าง ความหมายรวมจึงมีความแยบยลอย่างยิ่ง

“คุณตาลายมือสวยมาก และเขียนตัวอักษรจีนคำว่าอดทนไว้ ซึ่งความหมายตัวมีดอยู่ด้านบน หัวใจอยู่ด้านล่าง หากไม่อดทน เสี้ยววินาทีเดียว มีดจะปักเข้าไปในหัวใจ แสดงว่าจะเกิดความเสียใจ เสียหาย เมื่ออดทนไว้ มีดก็ไม่ปักลงหัวใจ” ความเชื่อของการขยันหมั่นเพียร อดทน ยังสะท้อนว่าอะไรที่ได้มาง่ายๆ มักจะหายไปเร็ว และไม่มีค่าอีกด้วย

15 ปี ในการขับเคลื่อน 1 ในอาณาจักรของทีทีซี กรุ๊ป “ความมุ่งมั่น” ยังมีอยู่ตั้งแต่วันแรกจวบจนปัจจุบัน ครั้นถามถึงผลงานชิ้นโบแดง หรือความภาคภูมิใจ “ฐาปณี” ยกให้ทีมงาน และกุนซือรอบด้าน มีบทบาทความสำคัญมาก ช่วงการทำ “โฮลดิ้ง” มีโอกาสเรียนรู้ภาพใหญ่จากคุณลุง “ธนินท์ เจียรวนนท์” หรือการทำธุรกิจให้เกิดประโยชน์ในภาพรวมจากคุณอา “บุญคลี ปลั่งศิริ” ซึ่งเป็น “กุนซือ” คนสำคัญให้กับ “ฐาปณี-อัศวิน” ด้วย

“ภูมิใจทุกการมีส่วนร่วม ทุกเรื่องราวที่ทำมา คุณพ่อชื่นชมบีเจซีมีระบบที่ดี ตั้งแต่ก่อนทำงาน ซึ่งตอนนั้นบีเจซีอายุ 125 ปี ตอนนี้ 140 ปีแล้ว เราทำหน้าที่สานต่อระบบเก่า ต่อยอดเสริมเติมระบบใหม่ แนวทางการทำงานใหม่ๆ”

ฐาปณี บอกว่า ทุกวันยังคงสนุกกับการทำงานกับทีมงาน ที่ผ่านมาแม้จะอยู่ “เบื้องหลัง” โดยมี “อัศวิน” นำทัพหน้ามาตลอด แต่แนวทางจากนี้ไป จะเห็นการ “แบ่ง” บทบาทการขับเคลื่อนธุรกิจที่ชัดเจนขึ้น เมื่อ “ฐาปณี” จะรับหน้าที่ดูแล “บีเจซี” สร้างการเติบโตในเวทีการค้า ส่วน “อัศวิน” จะดูแลกิจการค้าปลีก “บิ๊กซี” ซึ่งอยู่ระหว่างการวางแผนในการนำบริษัทเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งสัปดาห์ที่ผ่านมา บริษัทมีการประชุมเกี่ยวกับเรื่องดังกล่าว

เมื่อต้องรับบทนำทัพ “บีเจซี” เป้าหมายของ “ฐาปณี” คือการผลักดันองค์กรธุรกิจสินค้าอุปโภคบริโภค บรรจุภัณฑ์ เครื่องมือแพทย์ฯ ให้เติบโตเหมือนกับบริษัทสินค้าอุปโภคบริโภคที่เป็น “ยักษ์ข้ามชาติ” นั่นเอง

“บีเจซี มีธุรกิจหลายแขนง ความตั้งใจผลักดันยังเป็นโจทย์เดิม คือการเติบโตเหมือนคอนซูเมอร์ข้ามชาติอย่างต่อเนื่อง แต่ที่ผ่านมาเราใช้เวลาและพลังงานเยอะกับการทำค้าปลีก วันนี้เขา(ค้าปลีก)มีทีมงานของเขาแล้วเราก็กลับมาทำบีเจซีเต็มที่ ทั้งการวิจัยและพัฒนา การผลิต เครื่องมือแพทย์ ยา ตอนนี้เพิ่มหลายเซอร์วิส ธุรกิจบรรจุภัณฑ์จะขยายตามเทรนด์รักษ์สิ่งแวดล้อม เป็นต้น”

อย่างไรก็ตาม ปี 2565 ที่ผ่านมา บีเจซี ประกาศแผนแผน 5 ปี(2565-2569)มุ่งเป้าหมายยอดขายเติบโตก้าวกระโดดแตะ 270,000 ล้านบาท หรือเติบโตเฉลี่ย 11-16% ต่อปี จากปี 2564 บริษัทมีรายได้รวมกว่า 150,000 ล้านบาท (รวมบีเจซี-บิ๊กซี) ต้องจับตาดูทิศทางหลังจากเขย่าโครงสร้างธุรกิจจะเป็นไปในทิศทางใด

สำหรับฐานทัพธุรกิจของกลุ่มในปี 2565 มีดังนี้ 

-โรงงานผลิตสินค้า 21 แห่ง แบ่งเป็นไทย 12 แห่ง ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค สินค้าอุตสาหกรรม และโรงงานบรรจุภัณฑ์ เวียดนาม 6 แห่ง ผลิตสินค้าอุปโภคบริโภค และบรรจุภัณฑ์ และมาเลเซีย 2 แห่ง ผลิตขนมขบเคี้ยวและโรงงานร่วมทุนผลิตบรรจุภัณฑ์ และกัมพูชา 1 แห่ง

 -ห้างค้าปลีกทั้งบิ๊กซี มินิบิ๊กซี เพรียว เอ็มเอ็มเมก้า มาร์เก็ตฯ กว่า 2,000 สาขา เช่น ไทยกว่า 1,900 สาขา เวียดนาม 103 สาขา ลาวเกือบ 60 สาขา และกัมพูชา 2 สาขา

-ห้างค้าปลีกและร้านค้าทั่วไปครอบคลุม 236,000 แห่งในภูมิภาคอาเซียน

-ศูนย์กลางกระจายสินค้า(DC) 20 แห่ง

-หน่วยรถกระจายสินค้าในไทยและเวียดนาม 2,200 คัน

-หน่วยรถเล็กกระจายสินค้าเจาะพื้นที่ห่างไกล 170 คัน

-สำนักงานในจีนและเมียนมารวม 2 แห่ง