‘บ.จีน’มองแง่ดีกว่า‘ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก

‘บ.จีน’มองแง่ดีกว่า‘ญี่ปุ่น-เกาหลีใต้’ปมขัดแย้งภูมิรัฐศาสตร์ทั่วโลก

นิกเกอิ เอเชีย ได้ทำการสำรวจบริษัท 270 แห่งช่วงกลางเดือน ธ.ค. ร่วมกับหนังสือพิมพ์ธุรกิจแมอิลของเกาหลีใต้และหนังสือพิมพ์โกลบอลไทม์สของจีน พบว่า ผู้นำธุรกิจจีนหลายคนมองโลกในแง่ดีเกี่ยวกับความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ในปี 2566 มากกว่านักธุรกิจญี่ปุ่นและเกาหลีใต้

 ผู้บริหารชาวจีน 56% หวังว่าปัญหาความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จะลดลง ขณะที่ผู้ตอบแบบสอบถามอีก 20% คาดว่าปัญหาด้านนี้จะเพิ่มขึ้น

ผลสำรวจยังบ่งชี้่ว่า ไม่มีผู้บริหารคนใดที่คาดว่าความขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์จะดีขึ้น และผู้ตอบแบบสำรวจ 32% คาดว่าความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์อาจแย่ลง ส่วนนักธุรกิจเกาหลีใต้มองปัญหาขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ในแง่ลบมากกว่าคนที่มองในแง่บวกอยู่ที่ 36.2% ต่อ 22.3%

ความกังวลเกี่ยวกับปัญหาขัดแย้งด้านภูมิรัฐศาสตร์เพิ่มขึ้นทั่วโลกมาหลายปี เป็นผลมาจากความขัดแย้งทางการค้าระหว่างสหรัฐและจีน การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 และสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้กิจกรรมทางธุรกิจได้รับผลกระทบจากความไม่แน่นอนและราคาสินค้าพุ่งสูง

ทั้งนี้ ปัญหาความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีนที่เพิ่มมากขึ้น ได้แก่ ปัญหาเกี่ยวกับเซมิคอนดักเตอร์,ปัญหาความขัดแย้งบริเวณช่องแคบไต้หวัน หลัง“แนนซี เพโลซี” อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ เดินทางเยือนไต้หวันเมื่อเดือน ส.ค. 2565 จนจีนต้องออกมาประกาศเตือนสหรัฐอย่าเล่นกับไฟ, ปัญหานโยบายกีดกันการค้าในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูง 

ล่าสุด สหรัฐประกาศคุมเข้มผู้เดินทางจากประเทศจีน หลังรัฐบาลจีนประกาศเปิดประเทศวันที่ 8 ม.ค. ที่ผ่านมา โดยผู้ที่เดินทางมาจากจีน ฮ่องกง และมาเก๊า ต้องมีผลตรวจโควิดเป็นลบ 2 วันก่อนเดินทาง

อย่างไรก็ตาม หลังจากงานประชุม G20 เมื่อเดือน พ.ย. ระหว่างประธานาธิบดีสี จิ้นผิงของจีน และประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐทำให้ผู้นำธุรกิจจีนคาดหวังว่า ความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานมานานระหว่างสองขั้วอำนาจอาจจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ผลสำรวจยังพบว่า บริษัทจีนและเกาหลีใต้มากกว่าครึ่งหนึ่ง วางแผนเพิ่มการลงทุนในด้านเทคโนโลยีดิจิทัลประมาณ 10% ในปี 2566 ส่วนบริษัทญี่ปุ่นสนใจในสัดส่วน 22.4%

ผู้บริหารชาวจีนจัดเป็นนักลงทุนด้านดิจิทัลที่ทุ่มเงินมากที่สุด เมื่อถามถึงแผนการลงทุนในปี 2566 นักธุรกิจชาวจีนกว่า 80% เตรียมเพิ่มเงินลงทุนอย่างน้อยหลักสิบล้านดอลลาร์ โดยนักธุรกิจจีน 24% คาดว่าจะเพิ่มเงินลงทุนอย่างน้อย 10% ขณะ24.7% จะเพิ่มเงินลงทุน 20% และ 6.9% เล็งลงทุนเพิ่มขึ้น 40% หรือมากกว่านั้น

ส่วนนักธุรกิจชาวเกาหลีใต้ 55.9% วางแผนลงทุนเพิ่มขึ้น 10% และผู้บริหารธุรกิจชาวญี่ปุ่นมีความระมัดระวังในการลงทุนเพิ่มขึ้นมากกว่าชาวจีนและชาวเกาหลีใต้ โดยนักธุรกิจญี่ปุ่น 20.4% คาดว่าจะไม่เปลี่ยนแปลงงบการลงทุนในปีนี้

แม้การแพร่ระบาดโควิด-19 จะส่งผลให้หลายบริษัทเพิ่มการลงทุนด้านดิจิทัลและเทคโลโยนีที่ช่วยประหยัดแรงงาน แต่ผู้บริหารในญี่ปุ่น จีน และเกาหลีใต้ มีการลงทุนทุนแตกต่างกันไป

ผลสำรวจชิ้นนี้ยังพบการให้ความสำคัญเกี่ยวกับการควบรวมกิจการของเหล่าผู้บริหารมีความแตกต่างกัน โดยนิกเกอิให้เลือกกิจการที่นักธุรกิจอาจเข้าซื้อพบว่า ผู้บริหารชาวจีน 35.5% เลือกเข้าซื้อธุรกิจเทคโนโลยีวัสดุขั้นสูงและธุรกิจชิ้นส่วนประกอบ เช่น เซมิคอนดักเตอร์ รองลงมาเลือกธุรกิจเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียน 33.9%

ผู้บริหารเกาหลีใต้เลือกเข้าซื้อกิจการด้านปัญญาประดิษฐ์หรือเอไอ รองลงมาเลือกธุรกิจพลังงานหมุนเวียนสำหรับผู้บริหารชาวญี่ปุ่น เลือกซื้อธุรกิจการผลิตแบบดั้งเดิมเป็นอันดับต้น ๆ รองลงมาเป็นธุรกิจก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน

“มิโอะ คาวาดะ” ผู้บริหารหน่วยงานรัฐองค์เสริมการค้าต่างประเทศญี่ปุ่น (เจโทร)กล่าวว่า “เทคโนโลยีดิจิทัลมีบทบาทมากขึ้นในฐานะตัวขับเคลื่อนการเติบโตของเศรษฐกิจโลกตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดโควิด-19 แต่ธุรกิจญี่ปุ่นยังตามเทรนด์ไม่ทัน”

อย่างไรก็ตาม การลงทุนในปี 2566 ยังคงมีความเสี่ยง โดยเว็บไซต์มันนีดอทคอมเปิดเผยเมื่อวันที่ 9 ธ.ค. ที่ผ่านมาเกี่ยวกับคำเตือนผู้เชี่ยวชาญที่ ระบุว่า มี 5 ปัจจัยที่อาจส่งผลกระทบต่อตลาดหุ้นในปีนี้ ได้แก่ 1.ปัญหาเงินเฟ้อ 2.ตลาดแรงงานในสหรัฐ 3.จีนเปิดประเทศ 4.สงครามรัสเซีย-ยูเครน 5.กระแสตีกลับของโลกาภิวัตน์