“ท่องเที่ยว” เร่งพลิกฟื้นซัพพลาย ดึงทัวริสต์ 30 ล้านคนปั๊มเศรษฐกิจไทย

“ท่องเที่ยว” เร่งพลิกฟื้นซัพพลาย ดึงทัวริสต์ 30 ล้านคนปั๊มเศรษฐกิจไทย

ภาคเอกชนท่องเที่ยว “สทท.-สมาคมโรงแรมไทย” ชี้โจทย์ใหญ่ภาคท่องเที่ยวไทยปี 66 เร่งพลิกฟื้นซัพพลาย ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ แรงงาน รับดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ ขุมทรัพย์ใหญ่ “จีน” รีเทิร์น ลุ้นยอดเยือนไทยทะลุ 30 ล้านคน หนุนเครื่องยนต์ฝ่าปัจจัยลบ ปลุกเศรษฐกิจไทย

เปิดศักราชใหม่ปี 2566 อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีความท้าทายมากมายให้ต้องเผชิญ หลังเจอมหาวิกฤติโควิด-19 ถาโถมมาตลอด 3 ปี ในฐานะพระเอกพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย จากเมื่อปี 2562 เคยเป็นปีทอง สร้างรายได้รวมจากทั้งตลาดในและต่างประเทศมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 3 ล้านล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนเกือบ 18% ของจีดีพีประเทศไทย

นายชำนาญ ศรีสวัสดิ์ ประธานสภาอุตสาหกรรมท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (สทท.) กล่าวกับ “กรุงเทพธุรกิจ” ว่า ความท้าทายหลักของอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยปี 2566 รองรับการฟื้นตัวของดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติ คือการฟื้นตัวของฝั่งซัพพลาย เช่น ปริมาณเที่ยวบินระหว่างประเทศ แรงงาน และอื่นๆ หลังได้รับผลกระทบอย่างหนักจากวิกฤติโควิดตลอด 3 ปี สทท.คาดการณ์ว่าปีนี้จะมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าประเทศไทย 20-30 ล้านคน ฟื้นตัวสูงสุด 75% เมื่อเทียบกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเมื่อปี 2562 ซึ่งปิดที่ตัวเลข 39.9 ล้านคน

นอกเหนือจากปริมาณซัพพลายที่ต้องเร่งพลิกฟื้น อุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังเผชิญความท้าทายจากปัญหาเศรษฐกิจทั้งตลาดในและต่างประเทศ ทำให้ต้องปรับกลยุทธ์รับมือ ด้วยการโปรโมทจุดขายใหม่และที่มีศักยภาพอยู่แล้ว เช่น เมืองประชุมสัมมนาระดับโลก เมืองแห่งการเกษียณระดับโลก เมืองแห่งอาหารระดับโลก และเมืองกีฬากลางแจ้งระดับโลก

“เวลานี้การฟื้นตัวด้านดีมานด์นักท่องเที่ยวต่างชาติไม่น่ามีปัญหา แต่ที่ยังมีปัญหาคือฝั่งซัพพลาย จึงจำเป็นต้องเร่งปรับดีไซน์ใหม่ (Redesign) เพื่อสร้างสมดุลด้านรายได้ กระจายไปยังคนตัวเล็กและกลางด้วย ไม่ใช่กระจุกเฉพาะผู้ประกอบการรายใหญ่ รวมถึงการเติมจุดขายใหม่แก่เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ ที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมพรสวรรค์อย่างภูเก็ตและกระบี่ ด้วยการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวแบบมนุษย์สร้าง (Man-made Attraction)

 

++ เสนอนายกฯ “5 วาระเร่งด่วน”

เมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา นายชำนาญ ประธาน สทท. ได้เข้าพบ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม หลังได้รับเลือกตั้งให้เป็นประธาน สทท.ต่ออีกสมัย เพื่อนำเสนอประเด็นเร่งด่วนของภาคท่องเที่ยวไทยต่อนายกฯ ได้แก่

1.เร่งแก้ไขปัญหาขาดแคลนแรงงานภาคท่องเที่ยว เช่น การจัดคอร์สอบรมระยะสั้น ภายใต้แนวคิด “ทำโรงแรมให้เป็นโรงเรียน” เพื่อฝึกอบรมทักษะแรงงานระยะเร่งด่วนป้อนผู้ประกอบการ

2.เร่งต่ออายุบัตรมัคคุเทศก์ เสนอให้ยกเว้นค่าใช้จ่ายการต่ออายุบัตรฯและจัดอบรมหลักสูตรเร่งรัด 1 วันแก่มัคคุเทศก์ที่มีบัตรอยู่แล้ว แต่ขาดการต่ออายุในช่วงโควิด-19 ระบาด

3.เร่งพลิกฟื้นฝั่งซัพพลาย ด้วยการเติมทุน เติมความรู้ เติมลูกค้า และเติมนวัตกรรม โดย สทท.ขอเป็นเจ้าภาพจัดทำแพลตฟอร์มด้านการท่องเที่ยว (Tourism Platform) ทั้งแบบ B2B และ B2C เพื่อกระตุ้นการขาย

4.เร่งปลดล็อกข้อกฎหมายเพื่อดึงผู้ประกอบการโรงแรมขนาดเล็ก ให้ได้ใบอนุญาตประกอบกิจการโรงแรม เพื่อสามารถนำไปกู้เงินธนาคารมาต่อยอดธุรกิจ และ

5.ขอให้นายกฯ ช่วยผลักดันเรื่องท่องเที่ยวเป็นวาระแห่งชาติ เพื่อพลิกฟื้นเศรษฐกิจไทย

“ทั้งนี้ สทท.มองว่าควรเชิญตัวแทนภาคเอกชนท่องเที่ยวตัวจริงเสียงจริงจากทั่วประเทศ ร่วมกิจกรรมแบบแฮกกาธอน (Hackathon) ตลอด 3 วัน 3 คืน เพื่อระดมสมองครั้งใหญ่ รวบรวมปัญหาและวิธีการแก้ไขเสนอเป็นวาระแห่งชาติ โดยมีนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยกว่า 20 แห่งทั่วประเทศมาร่วมตรวจจับวิธีคิด” 

 

++ โรงแรมคาดปี 66 รายได้ฟื้น 10-30%

นางมาริสา สุโกศล หนุนภักดี นายกสมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า จากผลสำรวจดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการที่พักแรมเดือน ธ.ค.2565 จัดทำโดยสมาคมฯและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่า ธุรกิจโรงแรมมีการกำหนดเป้าหมายรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ตามการฟื้นตัวของภาคท่องเที่ยว โดยผู้ประกอบการ 55% มองว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 10-30% อีก 27% จะมีรายได้เพิ่มขึ้น 50-80% 

โรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งมีแผนจะปรับขึ้นค่าจ้างหรือเงินเดือนในปี 2566 โดยส่วนใหญ่มีแผนการปรับขึ้นไม่เกิน 5% เทียบกับอัตรา ณ ปัจจุบัน ขณะที่ 23% ไม่ปรับขึ้นค่าจ้าง เนื่องจากมีการปรับขึ้นตามค่าแรงขั้นต่ำไปแล้ว และอีก 13% ยังไม่มีแผนปรับ

 

++ ตั้งรับต้นทุนพุ่ง-ศก.โลกชะลอตัว

อย่างไรก็ตาม มีความท้าทายหลายประเด็นที่อาจกระทบการฟื้นตัวของธุรกิจโรงแรมในปี 2566 โดยต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น จากราคาพลังงาน ราคาวัตถุดิบ หรือต้นทุนทางการเงิน เป็นประเด็นที่ผู้ประกอบการกังวลมากที่สุด หรือคิดเป็น 76% ของผู้ตอบแบบสำรวจ รองลงมาคือเศรษฐกิจโลกชะลอตัวกระทบกำลังซื้อของนักท่องเที่ยว 57% และปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจ 41% ตามลำดับ

“สถานการณ์ภาคการท่องเที่ยวเริ่มฟื้นตัวในทางที่ดีขึ้น แต่ภาคธุรกิจยังเจอกับปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อโอกาสในการฟื้นตัว ทั้งต้นทุนการประกอบธุรกิจที่สูงขึ้นมากราคาวัตถุดิบอาหาร ค่าสาธารณูปโภค ค่าจ้างแรงงานที่ต้องปรับสูงขึ้น เพื่อดึงดูดให้แรงงานที่ถูกเลิกจ้างหรือลาออกในช่วงโควิด-19 ระบาดเป็นจำนวนมากกลับเข้ามาทำงานอีกครั้ง รวมถึงการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าที่ถือเป็นต้นทุนหลักในด้านพลังงานของภาคธุรกิจ” 

แต่ปัญหาหลักที่ภาคธุรกิจโรงแรมและบริการยังประสบมาอย่างต่อเนื่องคือ การขาดแคลนภาคแรงงานทั้งด้านปริมาณและคุณภาพ ในส่วนนี้ทางภาคธุรกิจการท่องเที่ยวและโรงแรมยังต้องการแรงผลักดันจากทางภาครัฐ สนับสนุนงบประมาณด้านการฝึกอบรมเพื่อพัฒนายกระดับทักษะต่างๆ และสร้างบุคลากรรองรับภาคการบริการให้เพียงพอในอนาคต เพื่อขับเคลื่อนธุรกิจการท่องเที่ยวและธุรกิจโรงแรมให้เดินต่อไปได้

“เทศกาลและกิจกรรมในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวจะกลับมาคึกคักอีกครั้ง รวมถึงการที่จีนเปิดประเทศ ประกาศยกเลิกมาตรการกักตัวโรคโควิด-19 ขาเข้า มีผล 8 ม.ค. เป็นต้นไป จะส่งผลดีกับเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยในทุกด้าน เพราะประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของชาวจีน แต่เนื่องจากยังมีรายงานการติดเชื้อในจีนที่ค่อนข้างสูง สิ่งสำคัญคือคนไทยต้องเตรียมความพร้อมด้วยการรับวัคซีนป้องกันโควิด-19 ให้ครบ สวมหน้ากากอนามัย เว้นระยะห่าง เพื่อช่วยป้องกันและลดความเสี่ยงในการเกิดโรค ลดการแพร่กระจายเชื้อ”

 

++ รายได้โรงแรมฟื้นตัวชัดครึ่งปีหลัง

นางมาริสา กล่าวต่อว่า ปัจจุบันโรงแรมกว่า 80% รายได้ยังไม่ฟื้นตัวกลับสู่ระดับก่อนโควิด-19 ระบาด แต่ส่วนใหญ่คาดว่าจะกลับมาได้ภายในปี 2566 ในครึ่งหลังของปี โรงแรมส่วนใหญ่คาดด้วยว่าไตรมาสแรกนี้ จะมีลูกค้าเพิ่มขึ้นหรือใกล้เคียงไตรมาส 4 ปีที่แล้ว โดยเฉพาะโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ซึ่งมีสัดส่วนนักท่องเที่ยวต่างชาติมากกว่า 50% ของลูกค้าทั้งหมด มีเพียง 13% ที่คาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวจะลดลง 

ขณะที่เดือน ธ.ค.2565 รายได้ของโรงแรมยังไม่ฟื้นตัวมากนัก สอดคล้องกับราคาห้องพัก และการใช้จ่ายบริการอื่นๆ ในโรงแรม เช่น อาหารและเครื่องดื่ม และสปา ของนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างชาติที่ส่วนใหญ่ยังต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤติโควิด-19 อย่างไรก็ดี ภาพรวมการใช้จ่ายทั้งราคาห้องพักและค่าใช้จ่ายอื่นๆ ในโรงแรมปรับดีขึ้นจากสำรวจครั้งก่อนเล็กน้อย

 

++ อัตราเข้าพัก ม.ค.66 เฉลี่ย 60%

สำหรับเดือน ธ.ค. อัตราการเข้าพักเฉลี่ยอยู่ที่ 63% เพิ่มขึ้นจากเดือน พ.ย.ที่มี 59% ตามการเข้าสู่ช่วงไฮซีซันปลายปี และจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยเริ่มเห็นกลุ่มลูกค้ายุโรปและอเมริกาเข้ามามากขึ้น ส่งผลให้อัตราการเข้าพักของโรงแรมปรับเพิ่มขึ้นในเกือบทุกภาค โดยเฉพาะภาคใต้ ทั้งนี้คาดการณ์อัตราการเข้าพักโดยรวมในเดือน ม.ค.นี้อยู่ที่ 60%

ด้านสภาพคล่อง โรงแรมกว่าครึ่งหนึ่งหรือ 53% มีสภาพคล่องเพิ่มขึ้นจากไตรมาสก่อน โดยเฉพาะโรงแรมที่รับนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นหลัก ขณะที่โรงแรมราว 1 ใน 3 ยังมีสภาพคล่องใกล้เคียงเดิม สำหรับกลุ่มที่มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินธุรกิจได้ไม่เกิน 3 เดือน ลดลงจากไตรมาสก่อน จาก 36% มาอยู่ที่ 28%